การสร้างตัวตนของเมืองลองผ่าน “อนุสาวรีย์” ผีเมืองและเจ้าเมืองลอง “อนุสาวรีย์” ตามความหมายของภาครัฐ คือ เน้นให้เป็นสื่อของ “ความเป็นชาติไทย” เพื่อระลึกถึงคุณความดีของบุคคลผู้ทำประโยชน์ต่อประเทศชาติ ด้วยการสละกำลังกาย กำลังความคิด หรือแม้ชีวิตเพื่อปกป้องชาติไทย และต้องเป็นอนุสาวรีย์บุคคลที่รัฐบาลเห็นว่ามีความ สำคัญอย่างแท้จริง แต่ทว่า “อนุสาวรีย์” ในตามแบบของคนท้องถิ่นเมืองลองนั้น อาจหมายถึง “รูปเคารพ” บุคคลสำคัญของท้องถิ่นที่ถูกสร้างขึ้น ซึ่งสามารถสื่อสารเรื่องราวให้ผู้ที่ได้สัมผัส โดยเฉพาะเกียรติประวัติคุณงามความดีของผู้เป็นเจ้าของให้เห็นเป็นรูปธรรม ดังนั้นรูปเคารพที่ถูกสร้างขึ้นภายในอำเภอลอง โดยคนในพื้นที่และสื่อ “ความเป็นเมืองลอง” ให้แก่คนในท้องที่หรือผู้พบเห็น “รูปเคารพบุคคล” จึงจัดว่าเป็น “อนุสาวรีย์” ประเภทหนึ่งในแง่ของความหมายนี้

“เมืองลอง” มีการสร้างรูปเคารพในลักษณะแบบอนุสาวรีย์ขึ้นครั้งแรกในพ.ศ.๒๕๒๘ คือ รูปเคารพพระนางจามเทวี เพื่อตอกย้ำให้เห็นถึงความเก่าแก่ของเมืองลอง เป็นการนำเอาทุนวัฒนธรรมความเชื่อเรื่องผีบ้านผีเมืองมาสร้างขึ้นให้เป็นรูปธรรม ด้วยพระนางจามเทวีถือว่าเป็นผีสากลหรือวีรสตรีของสังคมภาคเหนือ และถูกผู้นำไทยใช้เป็นสัญลักษณ์ของการเชื่อมภาคเหนือ(ล้านนา)เข้ากับส่วนกลาง การสร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลองผ่านสัญลักษณ์ของพระนางจามที่เป็นผีเมืองลองตนหนึ่งจึงสอดคล้องกับบริบทสังคมภาคเหนือและสังคมไทยในขณะนั้น และเป็นอนุสาวรีย์เพียงหนึ่งเดียวของอำเภอลองที่มีการสร้างขึ้นช่วงนี้ จนกระทั่งทศวรรษ ๒๕๔๐ ด้วยภาครัฐเริ่มสนับสนุนและเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นแสดงความเป็นตัวตนมากขึ้น จึงมีการสร้างอนุสาวรีย์วีรบุรุษวีรสตรีของเมืองลองในลักษณะรูปเคารพเกิดขึ้นหลายแห่ง อันเป็นช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับทางจังหวัดลำปาง จังหวัดแพร่ที่จัดสร้างอนุสาวรีย์เจ้าหลวงบุญวาทย์วงศ์มานิต เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองนครลำปางและเจ้าผู้ครองนครแพร่องค์สุดท้าย เช่น

(๑) รูปปั้นพ่อเฒ่าหลวง รูปปั้นพญาแก้ว และรูปปั้นท้าวคำลือ บ้านวังเลียง ตำบลทุ่งแล้ง สร้างโดยปราชญ์หมู่บ้านและผู้นำหมู่บ้านเป็นแกนนำ

(๒) รูปปั้นพ่อเฒ่าหลวงและรูปปั้นท้าวคำลือ วัดดงลาน ตำบลบ้านปิน สร้างโดยเจ้าอาวาสวัดดงลานและปราชญ์ท้องถิ่น

(๓) รูปปั้นพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ เจ้าเมืองลองคนสุดท้าย วัดแม่ลานเหนือ ตำบลห้วยอ้อ สร้างโดยกลุ่มทายาทเจ้าเมืองลอง เจ้าอาวาสวัดแม่ลานเหนือ และปราชญ์ท้องถิ่นเป็นแกนนำ

(๔) รูปปั้นพระนางจามเทวี วัดสะแล่ง ตำบลห้วยอ้อ สร้างและปั้นโดยเจ้าอาวาสวัดสะแล่ง, พระราชานุสาวรีย์พระนางจามเทวี ริมห้วยแม่กาง(สร้างพ.ศ.๒๕๕๒) ตำบลห้วยอ้อ จำลองแบบมาจากพระราชานุสาวรีย์พระนางจามเทวีที่วัดพระธาตุศรีดอนคำ

การสร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลองในตอนนี้ จึงหยิบยกมาจากทุนมรดกวัฒนธรรมความเชื่อผีเมืองและเจ้าเมืองให้มีตัวตนเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน ขณะเดียวกันก็พยายามเชื่อมโยงเข้ากับส่วนกลางเพื่อให้สิ่งที่ท้องถิ่นกำลังกระทำอยู่มีพลังในการสร้าง สามารถกระจายการรับรู้ออกไปได้กว้างขวางที่สุดไม่ให้จำกัดเพียงเป็นบุคคลสำคัญของท้องถิ่น

พ่อเฒ่าหลวง : ผีอารักษ์หลวงเมืองลองจากตำนานสู่รูปธรรม “พ่อเฒ่าหลวง” เป็นวีรบุรุษที่อยู่ในสำนึกและความทรงจำร่วมของคนภายในท้องถิ่น เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ชุมชนก่อนที่จะพัฒนาขึ้นเป็นเมืองลอง จึงได้รับการสถาปนาดวงวิญญาณขึ้นเป็น “ผีอารักษ์หลวงเมืองลอง” ที่มีการเคารพนับถืออย่างกว้างขวางทั้งในเขตอำเภอลองและอำเภอวังชิ้นมาจวบจนปัจจุบัน แต่ทว่า “พ่อเฒ่าหลวง” ก็ไม่มีตัวตนให้เห็นเป็นรูปธรรม มีเพียงเรื่องราวในตำนาน มีศาล มีพิธีกรรม หรือมีที่นั่ง(ร่างทรง)ผู้เป็นสื่อติดต่อโลกวิญญาณกับโลกมนุษย์ แต่มาในยุคทศวรรษ ๒๕๔๐ กลุ่มพระสงฆ์ ปราชญ์ท้องถิ่น(ผู้รู้ประวัติ,ผู้ประกอบพิธีกรรม)และผู้นำชุมชนจึงมีการสร้างรูปปั้นผีอารักษ์พ่อเฒ่าหลวง พร้อมกับรูปปั้นของบุตรหลาน(พญาแก้ว)และบริวาร(ท้าวคำลือ)ขึ้นตามจุดต่างๆ ภายในเมืองลอง มีการรวบรวมตำนานบอกเล่าเกี่ยวกับประวัติของพ่อเฒ่าหลวงจัดพิมพ์เป็นเอกสาร

“พ่อเฒ่าหลวง” ที่เคยอยู่ในตำนานหรือมีตัวตนอยู่ในมโนทัศน์ของคนยุคหนึ่ง จึงถูกสร้างขึ้นให้เป็นรูปธรรมที่จับต้องสัมผัสได้ เห็นได้ด้วยตา เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ที่มีโลกทัศน์ถูกเจือจางด้วยระบบการศึกษาแบบใหม่ ระบบการปกครองแบบใหม่ ได้สัมผัสรับรู้ได้ง่ายขึ้น ประกอบกับส่วนใหญ่ผู้นำมาสร้างและรื้อฟื้นคือพระสงฆ์ ดังนั้นผีเมืองจึงถูกพยายามดึงเข้ามาใกล้ความเป็นพุทธศาสนาให้มากที่สุด ดังมีการสร้างเหรียญพ่อเฒ่าหลวงออกมาหลายรุ่นเพื่อให้บูชา โดยผ่านพิธีการปลุกเสกจากพระสงฆ์ ความเป็นผีอารักษ์เมืองแบบเดิมจึงถูกทำให้มีลักษณะเป็นผีในพุทธศาสนา มีความเป็นรูปธรรมผูกติดกับสัญลักษณ์ผีเมืองลองที่สามารถนำติดตัวไปได้ทุกหนแห่ง และเป็นการเน้นย้ำความเป็นชุมชนเก่าแก่ยาวนานของเมืองลองผ่านรูปปั้นพ่อเฒ่าหลวง

ด้วยการสร้างรูปปั้นพ่อเฒ่าหลวงสามารถสนองตอบความเชื่อของท้องถิ่น แต่ไม่สามารถจะแสดงความเป็นตัวตนของเมืองลองได้ชัดเจน จึงมีการสร้างอนุสาวรีย์ของเจ้าเมืองลองขึ้นอีกในเวลาต่อมา เพราะมีพลังในการแสดงตัวตนของเมืองลองมากกว่า มีหลักฐานรองรับว่าเป็นผู้มีตัวตนในประวัติศาสตร์ และรับรู้กันว่าเป็นผู้ทำคุณความดีให้แก่ประเทศไทย ขณะเดียวกันก็สร้างความภูมิใจให้กับคนในท้องที่ให้ดูมีค่ามีความหมายในสังคมไทย

พระราชานุสาวรีย์พระนางจามเทวี ที่วัดสะแล่ง อำเภอลอง (ที่มา : วัดสะแล่ง)

 

พระราชานุสาวรีย์พระนางจามเทวีที่ริมห้วยแม่กาง บ้านห้วยอ้อ

 

รูปปั้นพ่อเฒ่าหลวง ภายในโฮงไชย(ศาล)ที่บ้านปิน (ที่มา : ภูวดล แสนสา, ๒๕๕๔)

 

รูปปั้นพ่อเฒ่าหลวง ภายในถ้ำจำลองวัดดงลาน บ้านปิน (ที่มา : ภูวดล แสนสา, ๒๕๕๔)

 

รูปปั้นท้าวคำลือ(ปู่ล่าม) ภายในถ้ำจำลองวัดดงลาน บ้านปิน (ที่มา : ภูวดล แสนสา, ๒๕๕๔)

 

รูปปั้นพ่อเฒ่าหลวง พญาแก้ว และท้าวคำลือ(ปู่ล่าม) ภายในโฮงไชย(ศาล)ที่บ้านวังเลียง (ที่มา : ภูวดล แสนสา, ๒๕๕๔)

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•พุธ•ที่ 29 •พฤษภาคม• 2013 เวลา 18:20 น.• )