วัดพระธาตุถิ่นแถนหลวง สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๙ มีประวัติสังเขปดังนี้ เดิมพื้นที่นี้มีสภาพเสื่อมโทรมแห้งแล้ง เป็นบ่ขุดดินลูกลังขาย ทางหมู่บ้านสงวนไว้เป็นสาธารณะประโยชน์ประมาณ ๓ ไร่ พระครูวิจิตรธรรมมาภรณ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดหลวง และคณะผู้นำท้องถิ่นโดยมีนายทรงวุฒิ งามมีศรี อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ นางรัตนา งามมีศรี อดีตนายกเหล่ากาชาดจังหวัดแพร่ นางธัญญาลักษณ์ จ้อยจรูญ อดีตผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดแพร่ นายชุมพล ปราชญ์วีระกุล นายกพุทธสมาคมจังหวัดแพร่ นายตาล อภัยกาวี ธรรมสรางกูร นายคำมูล ถิ่นสุข คณะกำนันอาวุโส และบุคคลผู้เป็นกำลังสำคัญอีกหลายท่าน ตลอดถึงข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน นักเรียน นักศึกษา พร้อมใจกันเลือกบริเวณเนินเขาดอยเด่นนางฟ้า ตำบลบ้านถิ่น เป็นสถานที่จัดตั้งพุทธอุทยาน พระบรมธาตุถิ่นแถนหลวงเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ เนื่องในปีกาญจนาภิเษก ครองราชย์ครบ ๕๐ ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลยเดชมหาราช ทำการก่อสร้างเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๓๙ โดยมีพระเดชพระคุณหลวงปู่มหาโพธิวงศาจารย์ ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๖ วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหารเป็นฝ่ายสงฆ์ ท่านพระครูศรีมงคลชยาภรณ์ เจ้าคณะอำเภอเมืองแพร่ วัดชัยมงคล เป็นรองประธาน

เมื่อพุทธอุทยานฯ เมีการก่อสร้างสิ่งสำคัญต่าง ๆ เช่น พระมหาเจดีย์ขนาดใหญ่ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ๑๐๙ องค์ ทั้งเป็นของโบราณและของสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก วิหารหลวงประดิษฐานพันองค์ หอวิปัสสนากัมมัฏฐาน ตึก ๓ ชั้น และเสนาสนะอื่น ๆ จนเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชน พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงขออนุญาตตั้งเป็นวัดขึ้น เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๗๒ พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช โดยมีพระครูวิจิตรธรรมาภรณ์ เป็นประธานดำเนินการก่อสร้างและมีนายวิทยา สุริยะ สถาปัตยกรรมดีเด่นแห่งชาติ เป็นผู้ออกแบบ

วัดพระธาตุถิ่นแถนหลวง ตั้งอยู่เลขที่ ๑ หมู่ที่ ๓ ตำบลบ้านถิ่น อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตัวเมืองแพร่ ห่างจากตัวเมืองแพร่ ๑๒ กิโลเมตร โดยกรมศาสนาได้รับอนุญาตให้พื้นที่ป่าสงวนสภาพเสื่อมโทรมจากกรมป่าไม้ เนื้อที่อนุญาตแล้ว ๑๘๙ ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่ขอซื้อสิทธิ์คืนจากราษฎรผู้จับจอง

ลำดับเจ้าอาวาส

๑. พระบาทพระครูวิจิตรธรรมมาภรณ์ (แดง วิจิตฺโต) พ.ศ. ๒๕๔๒ – ปัจจุบัน

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อาทิตย์•ที่ 23 •ธันวาคม• 2012 เวลา 12:31 น.• )