ประวัติตำบลแม่หล่าย บทที่ ๑ ความเป็นมาของตำบลแม่หล่าย สถานที่ตั้ง ตำบลแม่หล่ายตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอำเภอเมืองแพร่ อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๑๒ กิโลเมตร มีพื้นที่ทั่วไปเป็นที่ราบประมาณ ๗๐% ของพื้นที่ทั้งหมด และมีพื้นที่เป็นป่าละเมาะ ประมาณ ๓๐% พื้นที่ทั้งหมดของตำบลมีประมาณ ๑๓.๕๒ กิโลเมตร หรือ ๘,๔๕๐ ไร่ มีแม่น้ำยมและแม่น้ำแม่หล่ายไหลผ่านหลักฐานการก่อตั้งตำบลแม่หล่าย สันนิษฐานไม่แน่นอน ตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ เล่าให้ฟังว่ามีคนหลายท้องถิ่นหลายพื้นที่เข้ามาอาศัยอยู่ เพราะเห็นว่าภูมิประเทศของตำบลมีแม่น้ำไหลผ่านเหมาะแก่การทำมาหากินด้านการเกษตร บางคนก็บอกว่ามีคนพวกหนึ่งอพยพมาจากในเวียง(เมืองแพร่) จากเชียงราย จากบ้านถิ่น จากบ้านเหมืองหม้อและจากบ้านแม่คำมี ฯลฯ

อาณาเขตติดต่อ ทิศเหนือ ติดต่อกับเขตตำบลแม่คำมี - ตำบลห้วยม้า อำเภอเมืองแพร่ ทิศใต้  ติดต่อกับเขตตำบลทุ่งโฮ้ง – ตำบลน้ำชำ อำเภอเมืองแพร่ ทิศตะวันออก ติดต่อกับเขตตำบลห้วยม้า – ตำบลน้ำชำ อำเภอเมืองแพร่ ทิศตะวันตก ติดต่อกับเขตตำบลวังหงส์ – ตำบลแม่ยม อำเภอเมืองแพร่

ตำบลแม่หล่ายมีเขตการปกครอง ๘ หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านบุญเจริญ หมู่ที่ ๑ บ้านแม่หล่าย หมู่ที่ ๒ บ้านกาซ้องเหนือ หมู่ที่ ๓ บ้านกาซ้องเหนือ หมู่ที่ ๔ บ้านเด่นเจริญ หมู่ที่ ๕ บ้านแม่หล่าย (ศรีวิชัย) หมู่ที่ ๖ บ้านแม่หล่าย (ศรีวิชัย) หมู่ที่ ๗ บ้านบุญเจริญ หมู่ที่ ๘ แต่ละหมู่บ้านมีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ปกครอง (หัวหน้าหมู่บ้าน)

กำนันคนแรกของตำบลแม่หล่าย คือ นายน้อย อินทรีย์ ปัจจุบันตำบลแม่หล่ายเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเทศบาลตำบลแม่หล่าย

ลักษณะภูมิประเทศ ตำบลแม่หล่ายมีพื้นที่เป็นที่ราบมีความเหมาะสมในการทำเกษตรกรรม มีลำน้ำไหลผ่านในเขตพื้นที่ ๓ สาย คือ ๑. แม่น้ำยมไหลผ่านทางทิศตะวันตก ๒. แม่น้ำแม่หล่าย ไหลผ่านจากทิศตะวันออกลงสู่แม่น้ำยม ๓. คลองชลประทานไหลผ่านจากทิศเหนือลงสู่ทิศใต้ ในตำบลแม่หล่ายมีพื้นที่สาธารณะประโยชน์ (สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา) โดยตั้งอยู่ ณ แยกโจ้โก้แม่หล่าย หมู่ที่ ๕ ซึ่งเป็นที่ตั้งอนุสาวรีย์สองมหาวีรบุรุษเมืองแพร่ คือปู่พญาพล และ พระยาเมืองไชย (พระยาศรีสุริยวงศ์) การคมนาคมสู่ตำบลแม่หล่าย สามารถเดินทางโดยใช้ถนนทางหลวงหมายเลข ๑๐๑ ซึ่งเป็นทางเชื่อมต่อจังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ จังหวัดน่าน จังหวัดพะเยา จังหวัดเชียงราย

เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน

หมู่บ้านทั้ง ๘ หมู่บ้านในตำบลแม่หล่ายมีผู้คนอาศัยอยู่ประมาณ ๔,๕๖๔ คน ๑,๗๒๐ หลังคาเรือน คนแม่หล่าย ได้อาศัยพื้นที่นี้ทำมาหากิน มีความสุขตามอัตภาพ

เหตุการณ์ที่ ๑ คนในหมู่บ้านทุกหมู่บ้านในตำบลแม่หล่าย จะลืมเสียไม่ได้คือเกิดเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ขึ้น เมื่อประมาณเดือนกันยายน ปี พ.ศ.๒๕๑๓ คือในปีนั้นน้ำจากบนดอยได้ท่วมทำให้ดอยพังและน้ำในอ่างแม่ถางล้น และเป็นเหตุให้อ่างแม่ถาง ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำได้แตก น้ำก็ไหลมาท่วมบริเวณตำบลใกล้เคียงทั่วถึงจนท่วมบริเวณหมู่บ้านทุกหมู่บ้านในตำบลแม่หล่าย ทำความเสียหายมาสู่คนแม่หล่ายเป็นอย่างมาก และสะพานที่ใช้เป็นทางคมนาคมเชื่อมทางหลวงหมายเลข ๑๐๑ ที่เป็นสะพานเหล็กได้ชำรุดและพังทลายและเป็นเหตุให้พนังกั้นน้ำเหมืองฝายชำรุดเสียหายไปด้วย และในปีพ.ศ. ๒๕๑๓ พอเหตุการณ์สบงลงก็ได้มีผู้นำหมู่บ้าน หมู่ที่ ๖ คือนายปรีชาชาญ จิตประจง (ผู้ใหญ่ตุ๋ย) ได้ทำโครงการเจาะน้ำบาดาลประจำหมู่บ้านขึ้น และทำฝายขึ้นอีกลูกหนึ่ง ซึ่งชาวบ้านทั่วไปในตำบล เรียกฝายเก็บน้ำลูกนี้ว่า “ฝายผู้ใหญ่ตุ๋ย”

เหตุการณ์ที่ ๒ เกิดขึ้นในตำบลแม่หล่าย คือมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบจาก “สุขาภิบาลแม่หล่าย” มาเป็น “เทศบาลตำบลแม่หล่าย” ตามพ.ร.บ.เปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๒ และปัจจุบันตำบลหล่ายมีฐานะเป็นเทศบาลตำบลแม่หล่าย

บทที่ ๓ อัตลักษณ์ ท้องถิ่น ตำบลแม่หล่าย คำขวัญตำบลแม่หล่าย “ ภูมิประเทศสูงเด่นโจ้โก้ โอชาแท้ขนมครก สืบสานมรดกประเพณี  อนุสาวรีย์ศรีสง่า ศูนย์ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  คู่เคียงพลังงานชุมชน ” เนื่องจากว่าพื้นที่ภูมิประเทศของตำบลแม่หล่ายซึ่งจัดได้ว่าเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์มีธรรมชาติ มีลำน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งทำมาหากินของประชาชน ซึ่งได้ดำเนินชีวิตตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง ตามพระราชดำริขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และอาชีพเกษตรอีกอาชีพหนึ่งของบรรพบุรุษ และสืบทอดมาจนถึงรุ่นลูกหลานคืออาชีพการทำไร่ยาสูบ เพราะตำบลแม่หล่ายมีสถานีบ่มใบยาสูบเวอร์จีเนียร์ อยู่ที่บ้านหมู่ที่ ๕ (บ้านเด่นเจริญ) ชาวบ้านจะนำใบยาสูบไปขายที่โรงบ่มและใบยาสูบที่ทางโรงบ่มไม่ซื้อ เพราะเป็นใบยาที่ไม่ได้มาตรฐาน ชาวบ้านจะนำใบยาเหล่านี้มาหั่นเป็นเส้นฝอย แล้วนำไปตากแห้งและนำไปอัดเป็นยาตั้ง หรือยาขื่นและส่งไปขายต่างถิ่น ต่างจังหวัดทำให้ชาวบ้านมีรายได้ คนแม่หล่ายเป็นคนมีอัธยาสัยไมตรีที่ดีต่อคนทั่วไป และยึดมั่นในประเพณีที่ดีงาม เช่น ทุก ๆ ปี จะมีประเพณีไหว้สาครูบาเจ้า ๓ วัด คือ

๑. ประเพณีไหว้สาเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก หมู่ ๒ วันขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๔ เหนือ (เดือนมกราคม) ของทุกปี

๒. ประเพณีไหว้สาพระครูสังววรสีลวิมล(ตุ๊ลุงลือ) วัดกาซ้องเหนือ หมู่ที่ ๓ ตรงกับวันที่ ๑๙-๒๐ กุมภาพันธ์ ของทุกปี

๓. ประเพณีไหว้สาครูบาศรีวิชัย(ตุ๊ปู่หมดศรีขาว) วัดแม่หล่าย หมู่ที่ ๗ ตรงกับวันที่ ๑๒-๑๓ เมษายน ของทุกปี

๔. ประเพณีไหว้สาพระครูกัณฑวิชัย วัดบุญเจริญ หมู่ที่ ๑ ตรงกับวันที่ ๖-๗ มีนาคม ของทุกปี

จากนั้นก็มีประเพณีที่ดีงามที่คนในตำบลแม่หล่ายได้ปฏิบัติกันมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน คือประเพณีทางพุทธศาสนา และประเพณีพื้นบ้านได้แก่

๑. ประเพณีแห่เทียนพรรษา จัดขึ้นทุกวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำ เดือน ๘

๒. ประเพณียี่เป็ง จัดขึ้นวันขึ้น ๑๕ ค้ำ เดือน ๑๒ มีการฟังเทศน์มหาชาติ

๓. ประเพณีดำหัวผู้สูงอายุ จัดขึ้นทุกวันที่ ๑๓ เดือนเมษายน ของทุกปี (วันปีใหม่เมือง)

๔. ประเพณีบวงสรวงดวงวิญญาณสองมหาวีรบุรุษเมืองแพร่(ปู่พญาพล กับ พระยาเมืองไชย (พระยาศรีสุริยวงศ์) จัดขึ้นทุกวันที่ ๒๘ กันยายน ของทุกปี

นอกจากนี้ในหมู่บ้านทุกหมู่บ้านของตำบลแม่หล่ายจะรักษาประเพณีพื้นบ้านได้แก่ประเพณีแต่งงาน ประเพณีทำบุญขึ้นเรือนใหม่ ประเพณีบวชนาค ประเพณีงานศพ ในแต่ละประเพณีเจ้าภาพจะจัดงานตามฐานะ ตามอัตภาพของตนเองให้เหมาะสม

อาหารในท้องถิ่นที่ชาวบ้านทำเพื่อรับประทานในชีวิตประจำวันและจัดในงานเลี้ยงต่าง ๆ เป็น ข้าวนึ่ง(ข้าวเหนียว) และกับข้าวจะเป็นแกงผักต่าง ๆ (ผักในท้องถิ่น ได้แก่ ผักปั๋ง ผักกาดจ้อน ผักขม(ผักหม) ผักแคบ(ผักตำลึง) แกงแค แกงงฮังเล ห่อนึ่ง ยำไก่ แกงขนุน น้ำพริกผักลวก น้ำพริกน้ำปู แกงโฮะ แกงอ่อม ลาบจิ้น (ลาบหมู ลาบวัว ลาบควาย) ขนมประเภทของหวาน ได้แก่ ขนมเทียน ขนมเหนียบ ข้าวแต๋น ข้าวควบ ขนมเกลือ ข้าวต้มหัวหงอก ฯลฯ ปัจจุบันตำบลแม่หล่ายมีร้านขายอาหารหลายที่ ที่อำนวยความสะดวกต่อผู้คนและนักท่องเที่ยว อาหารที่ขึ้นชื่อในตำบลแม่หล่าย คือ ก๋วยเตี๋ยวสูตรโบราณ ข้าวซอย ขนมเส้น ข้าวกั้นจิ้น ตำส้ม(ส้มตำ) และขนมที่ขึ้นชื่อทำให้ตำบลแม่หล่ายมีชื่อเสียงอีกอย่างคือ ขนมครกแม่หล่าย ซึ่งจัดจำหน่ายโดย คุณยายปุ๋ย ใจแก้ว บ้านหมู่ที่ ๒ ตำบลแม่หล่าย ซึ่งขายมาประมาณ ๔๐ ปีมาแล้ว ซึ่งมีรสอร่อยเป็นที่รู้จักของแขก(นักท่องเที่ยว) ผู้มาเยือนและคนต่างถิ่นทั่วไป

ภาษาพูดคนแม่หล่ายใช้ภาษาพื้นเมือง คือ พูดคำเมือง การแต่งกาย แต่ก่อนผู้ชายใส่กางเกงกี เสื้อดำหม้อห้อม ผู้หญิงใส่ซิ้น(ผ้าถุงที่ทอด้วยมือ) เสื้อหม้อห้อม(เสื้อผ้าทอพื้นเมือง) แต่ปัจจุบันทั้งชายหญิงนิยมใส่เสื้อผ้าแต่งกายตามสมัยนิยม

พิธีกรรมต่างๆ และความเชื่อ คือ ชาวบ้านทุกบ้านยังนับถือผีและมีพิธีกรรมต่าง ๆ แบบบรรพบุรุษอยู่ ได้แก่ ประเพณีเลี้ยงผีประจำปี การเลี้ยงผีปู่ย่า เลี้ยงผีเจ้าบ้าน ผีฝาย ผีทุ่ง-นา ผีเฮือน และยังมีการเลี้ยงแม่ธรณี เจ้าที่ การบูชาท้าวทั้งสี่ สืบชะตา ส่งเคราะห์(สะเดาะเคราะห์) บูชาข้าวคู่อายุ บูชาดอกไม้พันดวง ฯลฯ

บทที่ ๔ แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ในตำบลแม่หล่าย ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางผ่าน การคมนาคมติดต่อกับหมู่บ้าน และตำบล อำเภอต่าง ๆ ส่วนมากการท่องเที่ยวมีไม่มากนัก ส่วนมากจะเป็นวัดและสำนักสงฆ์ได้แก่ วัดบุญเจริญ หมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๘ วัดแม่หล่าย หมู่ที่ ๗ วัดกาซ้องเหนือ หมู่ที่ ๓ และสำนักสงฆ์ หมู่ที่ ๒ และมีอนุสรณ์สถานของสองมหาวีรบุรุษ ตั้งอยู่บริเวร ณสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ หมู่ที่ ๕ หรือบริเวณฝั่งขวาของโจ้โก้แม่หล่าย ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจฯ บ้านคุณมนูญ วงศ์อารินทร์ หมู่ที่ ๕ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจฯ หนึ่งไร่หนึ่งแสน ได้แก่บ้านคุณสุรดา อินยะ และบ้านคุณสวิง วุฒิ หมู่ที่ ๓ ศูนย์การเรียนรู้ศิลปะ อยู่ที่บ้านคุณศุภวรรณ สศิทธิเดชกุล หมู่ที่ ๒ ศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ บ้านคุณประยูร ดอกหอม หมู่ที่ ๒

บทที่ ๕ ปราชญ์ชาวบ้าน ตำบลแม่หล่าย เป็นดินแดนแห่งความร่มรื่น ชาวบ้านมีวิถีชีวิตแบบคนเมือง อยู่ง่าย กินง่าย นิยมปฏิบัติตัวตามวิถีของบรรพบุรุษ เช่น ความเชื่อที่บรรพบุรุษได้ถ่ายทอดไว้ให้ลูกหลานมาจนถึงปัจจุบัน คนแม่หล่ายเป็นคนรักบ้านเกิด จะเห็นว่าทุก ๆ ปี คนแม่หล่ายที่ได้ไปทำมาหากิน ตั้งรกราก ถิ่นฐานอยู่ต่างถิ่น ก็จะกลับมาเยี่ยมญาติพี่น้อง และบ้านเกิดของตนเอง และส่วนมากจะถือโอกาสมาแสดงความกตัญญู ต่อบ้านเกิด ถิ่นเกิด ของตนเอง ได้แก่ การมาทำบุญให้แก่วัดเพื่ออุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่ ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ หาเงินเข้าวัดเพื่อบูรณะซ่อมแซมวัด วาอาราม โรงเรียน ฯลฯ ได้แก่การทอดผ้าป่า การทำบุญทอดกฐิน และบ้านแม่หล่ายมีบุคคลอีกหลายท่านที่เป็นบุคคลสำคัญ ได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ลูกหลานไว้สืบทอดเป็นมรดก ให้แก่ลูกหลานรุ่นใหม่ ได้แก่ ปราชญ์ชาวบ้าน เช่น ๑. ปราชญ์ชาวบ้านที่เชี่ยวชาญด้านพิธีกรรมต่าง ๆ ได้แก่ นายนอง พุฒิวงศ์ นายลัย เสนาคำ นายถวิล วงศ์พยา นายเล็ก อินกันยายน นายสมทบ อันกันยา ๒. ปราชญ์ชาวบ้านที่เชี่ยวชาญด้านสมุนไพร ได้แก่ นางสาวนงลักษณ์ นามสอนนายเถลิง ดอกหอม นางนงคราญ ม้าอุตส่าห์ ๓. ปราชญ์ชาวบ้านที่เชี่ยวชาญด้านเกษตรอินทรีย์ ได้แก่ นายรพ ทะเจริญ  นายประยูร ดอกหอม นายมนูญ วงศ์อารินทร์ นายสำราญ ม้าอินทร์ นายสนั่น ปัญญา ๔. ปราชญ์ชาวบ้านที่มีความเชี่ยวชาญด้านศิลปะ ดนตรีไทยพื้นเมือง (ซะล้อ ซอซึง) ได้แก่ ดต.ทำนอง วงศ์พุฒิ นายอุ่น ม้าอุตส่าห์ นายโท อินกันยา นายธนาคาร พุฒิวงศ์ นางศุภวรรณ สมัทธิเดชกุล  นายโท อินกันยา

บรรณานุกรม

นายถวิล วงศ์พยา  อายุ ๖๖ ปี บ้านเลขที่ ๒๗๘/๑ หมู่ที่ ๖

นายทา กันทะวงศ์  อายุ ๗๐ ปี บ้านเลขที่ ๒๑ หมู่ที่ ๓

นางสาวนงลักษณ์ นามสอน อายุ ๖๒ ปี บ้านเลขที่ ๔๐ หมู่ที่ ๗

นายประยูร ดอกหอม  อายุ ๖๘ ปี บ้านเลขที่ ๑๔๗ หมู่ที่ ๒

นายผดุง เต่าทอง  อายุ ๔๗ ปี บ้านเลขที่ ๑๓/๑ หมู่ที่ ๔

นายเล็ก อินกันยา  อายุ ๖๙ ปี บ้านเลขที่ ๒๗/๑ หมู่ที่ ๕

นายลัย เสนาคำ อายุ ๖๔ ปี บ้านเลขที่ ๑๒/๑ หมู่ที่ ๑