อัตลักษณ์ท้องถิ่นตำบลบ้านถิ่น อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ คำขวัญ “ บ้านถิ่นไทลื้อ ลือชื่อของเก่า ที่สักการะของเราเจ้าคุณโอภาสฯ พระธาตุถิ่นแถน ค้าขายทั่วแดน สุขแสนทั่วหน้า ประชาร่วมใจ” ตำบลบ้านถิ่น ตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองแพร่ไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๗ กิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบ ทางด้านตะวันออกเป็นภูเขาสูง พื้นที่ทั้งหมด ๑๗,๒๓๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๑๐,๗๖๘.๗๕ ไร่ อาณาเขตติดต่อ ทิศเหนือ ติดต่อกับตำบลร่องฟองและตำบลน้ำชำ ทิศใต้ ติดต่อกับตำบลสวนเขื่อนและตำบลกาญจนา ทิศตะวันออก ติดต่อกับตำบลสวนเขื่อน ทิศตะวันตก ติดต่อกับตำบลร่องฟองและตำบลเหมืองหม้อ เขตการปกครอง ตำบลบ้านถิ่น มี ๑๑ หมู่บ้าน โดยมีผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้ปกครองดูแลตามรายชื่อ ดังนี้ หมู่ที่ ๑ บ้านถิ่นใน มี ร.ต.ต.สุพจน์ ถิ่นสุข(หมดวาระเดือน ก.ย.๒๕๕๕) หมู่ที่ ๒ บ้านถิ่นนอก มี นายธัชพงศ์ ถิ่นศรี หมู่ที่ ๓ บ้านถิ่น มี นายสิรวิชญ์ ยะถิ่น หมู่ที่ ๔ บ้านโป่งศรี มี นายดวงพงษ์ ถิ่นหลวง หมู่ที่ ๕ บ้านถิ่น มี นายไตรเดช พรมวัง หมู่ที่ ๖ บ้านโป่งศรี มี นายวินัย สมันจิต หมู่ที่ ๗ บ้านทุ่งโอภาส มี นายรุ่งโรจน์ พายัพ หมู่ที่ ๘ บ้านถิ่น มี นายทอมสันต์ จูงใจ หมู่ที่ ๙ บ้านถิ่น มี นายอภิชัย ถิ่นจันทร์ หมู่ที่ ๑๐ บ้านโป่งศรี มี นายอินทรีย์ โป่ง หมู่ที่ ๑๑ บ้านถิ่น มี นายบันเทิง ถิ่นฐาน (กำนัน)

ประชากร ตำบลบ้านถิ่นมีจำนวนประชากรรวมทั้งสิ้น ๖,๔๐๔ คน เป็นชาย ๓,๑๒๔ คน เป็นหญิง ๓,๒๘๐ คน มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด ๑,๖๗๔ ครัวเรือน (ข้อมูล ณ วันที่ ๒๔ มี.ค.๒๕๕๔)

ข้อมูลทางวัฒนธรรม กลุ่มชาติพันธุ์ ประชาชนตำบลบ้านถิ่น ประกอบด้วยกลุ่มชน ๒ กลุ่มคือ ไตลื้อ และไทล้านนา

ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประวัติความเป็นมาของชาวไตลื้อบ้านถิ่น ราษฎรชาวไตลื้อบ้านถิ่น ดั้งเดิมนั้นสันนิษฐานว่าได้อพยพมาจากเมืองยอง (ลื้อเขิน) ในแคว้นสิบสองปันนาอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่ปัจจุบัน บ้านถิ่นเป็นบ้านของคนไตลื้อที่มีอัตลักษณ์ของตนเอง ได้แก่ ภาษาไตลื้อ มีศิลปะการแต่งกาย มีลีลาการฟ้อนรำ มีฝีมือทางด้านหัตถกรรมทอผ้าและการประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้ที่สวยงาม จากตำนานคนยองเมืองหละปูนของ แสวง มาละแชม กล่าวถึงการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวยองในภาคเหนือของไทยว่า อยู่ในช่วงสมัยที่กษัตริย์ในราชวงศ์มังรายอ่อนแอ บ้านเมืองแตกแยก วุ่นวายอย่างหนัก พม่าได้เข้ามามีอำนาจในแผ่นดินล้านนา ได้ตั้งเจ้าเมืองขึ้นมาปกครองเมืองใหญ่ เช่นเมืองเชียงใหม่ เชียงแสน เมืองแพร่และเมืองน่าน พม่าได้กวาดต้อนผู้คนจากเชียงใหม่ ลำพูน ไปอังวะ ทำให้ผู้คนแถบลำพูนเบาบางลง พม่าไม่ได้ให้ความสำคัญกับเมืองลำพูน โดยไม่ตั้งเจ้าเมืองมาปกครอง จึงเกิดมีผู้นำท้องถิ่นชาวลำพูนได้ฉวยโอกาสและหาจังหวะก่อความไม่สงบ แข็งข้อต่อพม่าอยู่หลายครั้งจนฝ่ายพม่าเริ่มเสื่อมอำนาจลง พระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ สมัยเป็นพญากาวิละ ผู้นำท้องถิ่นคนหนึ่งของลำพูน ได้รวบรวมผู้คนจากหัวเมืองต่างๆ ทางตอนบนถึง ๑๑ ครั้ง มาอยู่ในเมืองลำพูน เพื่อต่อสู้กับพม่าผู้รุกรานที่ยึดครองเมืองเชียงใหม่อยู่ จนสามารถขับไล่พม่าไปได้สำเร็จ แล้วนำไพร่พลไปอยู่เมืองเชียงใหม่ ทำให้ลำพูนมีผู้คนน้อยลงมาก พระเจ้ากาวิละมีความต้องการให้เมืองเชียงใหม่มีความมั่นคงยิ่งขึ้น จึงเริ่มมีความพยายามกวาดต้อนผู้คนมาตั้งแต่ พุทธศักราช ๒๓๒๕ ต้องการรวบรวมกำลังคนให้เป็นปึกแผ่น หรือที่เรียกว่า “ ยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง ” จึงได้เกิดสงครามการกวาดต้อนผู้คนจากเมืองอื่น ทางตอนเหนือมาอยู่ลำพูน ซึ่งรวมถึงเมืองยองหลายบ้านหลายเมือง ในแคว้นสิบสองปันนาด้วยการย้ายถิ่นฐานการอพยพและการถูกกวาดต้อนที่เกิดขึ้นกับผู้คนจากเมืองยองเป็นจำนวนมากมีจำนวนเป็นหมื่นและบ่อยครั้งในสมัยนั้น ได้พบอุปสรรคในการเดินทางหลายอย่าง ต้องเดินทางผ่านป่าเขาและแม่น้ำตลอดจนโรคภัยไข้เจ็บ การเดินทางเป็นไปโดยความลำบากและต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางยาวนานจึงสันนิษฐานได้ว่า อาจมีการแอบลักลอบหนีในระหว่างการเดินทาง จนเป็นสาเหตุให้คนยองบางส่วนได้หยุดตั้งถิ่นฐานอยู่ตามเส้นทางการอพยพ ซึ่งบ้านถิ่นถือว่าเป็นสถานที่แห่งหนึ่ง ที่ชาวยองแอบหนีการกวาดต้อนมาหยุดตั้งถิ่นฐานแห่งนี้ จากประวัติวัดทั่วประเทศบันทึกไว้ว่า วัดถิ่นในตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๓๓๒ จากเดิมที่มีไม่กี่ครอบครัว ก็เริ่มขยายออกเป็นจำนวนครัวเรือนที่มากขึ้นตามลำดับ กลายเป็นหมู่บ้านหลายหมู่บ้านขึ้นมา พร้อมทั้งเรียกตัวเองว่า เป็นคนบ้านถิ่น ตามสถานที่ที่เคยอยู่ที่เมืองยองแคว้นสิบสองปันนา ซึ่งสอดคล้องกับคำบอกเล่าของพ่อกำนันแก้ว ธรรมสรางกูร ว่า ชาวไตลื้อบ้านถิ่น เดิมเป็นชาวลื้อเมืองยองแคว้นสิบสองปันนา เขตเชียงตุง (สมัยนั้นเชียงตุงอยู่ในเขตแคว้นสิบสองปันนา) เมืองยองอยู่ทางทิศตะวันออกของเชียงตุง สำหรับสาเหตุการอพยพ จำนวนผู้อพยพและอพยพมาในปี พ.ศ.ใดนั้นไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าคนสมัยก่อนนั้นอาจเกิดสงคราม มีการกวาดต้อนเชลยศึกมาเป็นข้ารับใช้ในบ้านเมืองของตนเองจากคำบอกเล่าของพ่อแก้วที่อ้างถึงการเล่าขานต่อกันมาจากพ่อกำนันตาล ธุรกิจ พ่อผู้ใหญ่จันดี ถิ่นสอน และพ่ออาจารย์มี ธุรกิจ เล่าให้ฟังว่า คราวที่ถูกเกณฑ์ไปรบเชียงตุงในสงครามอินโดจีน ได้ไปพักอาศัยอยู่ในเมืองยอง มีบ้านอยู่บ้านหนึ่งชื่อว่า “บ้านถิน” (ไม่มีไม้เอก)บ้านถินนั้นเขามีขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ เหมือนกับบ้านถิ่น สมัยก่อนที่ผู้หญิ่งนุ่งซิ่นแหล้ (หัวซิ่นสีขาว) มีผ้าขาวโพกหัว ผู้ชายนุ่งผ้าต้อยบ้านเรือนที่อยู่อาศัยก็มี “แป้นต้อง” เป็นเขตหวงห้ามของการถือผีบ้านผีเรือนในเรือนที่อยู่ของตน พ่ออาจารย์มี ธุรกิจ ได้ชักชวนชาวบ้านถิน ชื่อไอ้แปง ให้ติดตามกลับมาด้วย ไอ้แปงใช้ภาษาพูดของเขาเป็นแบบดั้งเดิม เช่น คนบ้านถิ่นเรียก “วัว” ว่า “โง” แต่ไอ้แปงเรียกเพี้ยนว่า “โง่” จากคำบอกเล่าของ พ่ออาจารย์สะอาด ถิ่นทิพย์ ได้บันทึกไว้ว่า คนยองบ้านถิ่นได้อพยพมาจากเมืองลำพูน ป่าซาง(ลื้อเมืองยอง) ในสมัยที่เกิดมีข้าศึกรุกรานเมืองเชียงใหม่และลำพูนเป็นเมืองอยู่ในอาณาเขต เดียวกับเมืองเชียงใหม่จึงถูกรุกรานไปด้วยชนเผ่าลื้อยองเป็นชนที่รักความสงบ ไม่ชอบมีเรื่องราวยุ่งกับใคร จึงเกิดมีคนในเผ่าบางส่วนประมาณ ๓๐- ๕๐ คน ได้รวมกันอพยพหนีการรุกรานมาทางเมืองโกศัย (แพร่) มาพบสถานที่ ที่อุดมสมบูรณ์บริเวณบ้านถิ่นปัจจุบัน จึงตั้งรกรากประกอบอาชีพ ทำมาหากิน อยู่อย่างสงบจนมีประชากรเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ เมื่อมีคนหมู่มากเกิดขึ้น จึงเกิดมีปัญหาตามมามากมายหลายอย่าง ต้องมีหัวหน้าเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดเพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ชาวบ้านได้ขยายอาณาเขตการทำมาหากินและที่อยู่อาศัยกว้างขวางมากขึ้น จึงแยกการปกครองออกเป็นแคว่น ๆเช่น แคว่นบ้านเหล่าเหนือ แคว่นบ้านเหล่าใต้ แคว่นบ้านเหล่ากลาง แคว่นบ้านใน แต่ละแคว่นมีหัวหน้าคอยดูแลแคว่นของตนเองเรียกว่า “หลักบ้าน”(ผู้ใหญ่)และถ้าแคว่นใด มีประชากรหนาแน่นก็ตั้งให้หัวหน้าแคว่นใหญ่ ซึ่งเลือกจากคนสูงอายุ และเป็นที่เคารพนับถือของทุกแคว่น เป็น “ปู่แคว่น” (กำนัน) สมัยก่อน การเลือกกำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นประชาธิปไตย ชาวบ้านคัดเลือกกันเองไม่มีคนอาสา ไม่มีการสมัครกันล่วงหน้า ไม่มีใครอยากเป็นหลัก เป็นแคว่น เพราะเมื่อเป็นแล้ว “มีคนรักเท่าผืนหนัง มีคนชังเท่าผืนเสื่อ” แรกเริ่มเดิมทีนั้น บ้านถิ่นมีเพียงหมู่บ้านเดียวคือทั้งหมดคือหมู่ที่ ๑ ต่อมามีประชากรมากขึ้น ก็เพิ่มขึ้นเป็นหลายหมู่บ้านเป็นหมู่ ๒ หมู่ ๓ หมู่ ๔ หมู่ ๕ หมู่ ๖ หมู่ ๗ และหมู่ ๘ ตามลำดับ (หมู่ ๔- ๖ -๑๐) เรียกว่าบ้านโป่งศรีเป็นไทล้านนา

บ้านถิ่น มี ปู่แคว่น (กำนัน) เท่าที่ทราบมีดังนี้

๑. แคว่นถิ่น อยู่ ถิ่นสุข ใช้ชื่อหมู่บ้านว่า “หมู่บ้านถิ่นลื้อ ถือว่าเป็นแคว่นผู้นำในการก่อตั้งบ้านคนแรก ๒. แคว่นสาน (เทิง) เดิมอยู่บ้านเหล่าเหนือ มีฝายกั้นน้ำอยู่ฝายหนึ่ง เรียกว่า “ฝายแคว่น” ต่อมาท่านได้อพยพไปอยู่เมืองเทิง จังหวัดเชียงราย กับญาติพี่น้องชาวบ้านถิ่น จึงเรียกกันว่า “แคว่นสานเทิง” ๓. ขุนถิ่นธนุราษฎร์ นามเดิมชื่อ แคว่นใจ (ไชย) นันต๊ะยานา ทางการเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นขุนคนแรกและคนเดียวของบ้านถิ่น ๔. แคว่นกั๋น ถิ่นสอน ๕. แคว่นคำ อภัยกาวี ๖. แคว่นก๋า จูงใจ ขณะนั้น ขุนกุมภะรัตน์ กำนันบ้านเหมืองหม้อจะรวมเอาบ้านถิ่นไปขึ้นรวมกับตำบลเหมืองหม้ออยู่ในสมัยที่ พระคำหล้า โอภาสี (ต่อมาเป็นพระโอภาสพุทธิคุณ) เป็นรองเจ้าอาวาสวัดถิ่นในจึงได้ขอร้องให้นายก๋า จูงใจ รับอาสาเป็นกำนันตำบลบ้านถิ่นทั้งๆ ที่ไม่รู้หนังสือเลย โดยที่ พระคำหล้า โอภาสี รับอาสาทำเอกสารหนังสือราชการให้ทั้งหมด เพื่อบ้านถิ่นจะได้ไม่ต้องไปรวมขึ้นกับตำบลเหมืองหม้อ ในสมัยเจ้าคุณโอภาสฯ ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันมอบให้ท่านเป็นผู้คัดเลือก และตัดสินชี้ขาดในการเลือกผู้นำท้องถิ่น ๗. กำนันมา บุตรเสน อยู่ หมู่ที่ ๑ ๘. กำนันก๋อง ถิ่นสุข อยู่ หมู่ที่ ๑ ๙. กำนันมา บุตรเสน อยู่ หมู่ที่ ๑ ๑๐. กำนันทนต์ ธรรมสรางกูร (ถิ่นสอน) อยู่ หมู่ที่ ๑ ๑๑.กำนันตาล ธุรกิจ อยู่ หมู่ที่ ๑ (ปัจจุบัน หมู่ ๕) ๑๒. กำนันแก้ว ธรรมสรางกูร อยู่ หมู่ที่ ๑ (ปัจจุบัน หมู่ ๙) ๑๓. กำนันอินทร์ พรหมินทร์ อยู่ หมู่ที่ ๒ ๑๔. กำนันจันทร์ ถาวรเสน อยู่ หมู่ที่ ๑ ๑๕. กำนันตาล อภัยกาวี อยู่ หมู่ที่ ๑ ๑๖. กำนันทองหล่อ ธุรกิจ อยู่ หมู่ที่ ๒ ๑๗. กำนันคำมูล ถิ่นสุข อยู่ หมู่ที่ ๕ ๑๘. กำนันภาสกร หม้อกรอง อยู่ หมูที่ ๓ ๑๙. กำนันสมเกียรติ ถิ่นเจริญ อยู่ หมู่ที่ ๗ ๒๐.กำนันบันเทิง ถิ่นฐาน อยู่ หมู่ที่ ๑๑

ประวัติความเป็นมาของชาวไทล้านนา บ้านโป่งศรี ต.บ้านถิ่น อ.แพร่ จ.แพร่ บ้านโป่งศรี ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของตัวจังหวัด ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๗ กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านที่ตั้งมาเป็นเวลานานแล้วประมาณปีพุทธศักราช ๑๓๕๐ ตามคำบอกเล่าของผู้สูงอายุในหมู่บ้านกล่าวว่า ณ ที่ตรงกลางหมู่บ้านในปัจจุบันได้มีแอ่งน้ำขนาดเล็ก ที่มีน้ำใสไหลรินอยู่ตลอดเวลาซึ่งคนโดยทั่วไปมักจะ เรียกแอ่งน้ำนี้ว่า “โป่ง” เพราะเป็นดินโป่งซึ่งเป็นดินเค็ม สัตว์มักจะชอบมากินดินโป่งแห่งนี้ จึงมีครอบครัวของต้นตระกูลมาตั้งรกราก ณ ที่แห่งนี้ เพื่อทำการล่าสัตว์และใช้น้ำจากแอ่งน้ำนี้มาใช้ในการเพาะปลูก ที่โป่งนี้มีพันธุ์ไม้ขึ้นปกคลุมในแต่ละวัน จะมีสัตว์ต่าง ๆ พากันมาแทะเล็มและกินพืชอยู่เป็นประจำ ที่ใกล้แอ่งน้ำแห่งนี้มีต้นไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลำต้นสูงใหญ่ชาวบ้านทั่วไปจะเรียกว่า “ต้นค้ำ” เกิดขึ้น แผ่กิ่งก้านและใบปกคลุมที่แอ่งน้ำแห่งนั้น ชาวบ้านจึงเรียกสถานที่แห่งนี้ว่า “โป่งค้ำ” ซึ่งเป็นชื่อของหมู่บ้านในขณะนั้น ต่อมาเมื่อปีพุทธศักราช ๑๓๗๐ ชาวบ้านแห่งนี้ได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้น ณ ที่ใกล้กับแอ่งน้ำนั้น และได้เรียกชื่อวัดแห่งนี้ว่า วัดโป่งค้ำ ซึ่งเรียกตามชื่อหมู่บ้าน และได้เรียกชื่อนี้มาระยะหนึ่ง ต่อมาต้นค้ำนั้นก็ได้ตายลงและมีต้นโพธิ์ต้นหนึ่งเกิดขึ้นแทนที่ต้นค้ำต้นนั้น ( ต้นโพธิ์นี้ชาวบ้านโดยทั่วไปจะเรียกว่าต้นศรี ) ซึ่งคงจะเรียกมาจากคำย่อของต้นศรีมหาโพธิ์ที่อยู่ในประเทศอินเดียและเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนานั่นเอง ชาวบ้านจึงถือเอาเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ต้นโพธิ์ได้เจริญงอกงามขึ้นมาแทนต้นค้ำที่อยู่ใกล้แอ่งน้ำนั้น จึงพากันเรียกชื่อหมู่บ้านและชื่อวัดว่า บ้านโป่งศรี และวัดโป่งศรี หมู่บ้านโป่งศรี มีทั้งหมด ๓ หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ ๔ หมู่ที่ ๖ และหมู่ที่ ๑๐ ทั้งนี้เพื่อเป็นความสะดวกในการปกครองและการพัฒนาหมู่บ้านให้เจริญมากขึ้น ชาวบ้านโป่งศรีนี้มีความผูกพันรักใคร่กันเป็นอย่างดีถึงแม้ว่าจะแบ่งแยกการปกครองแต่ก็มีกิจกรรมอีกหลายๆอย่าง ที่ยังร่วมกันทำอยู่ เช่น การทำกิจกรรมทางศาสนาจะไปทำร่วมกันที่วัดโป่งศรี ซึ่งเป็นวัดแห่งเดียวของทั้งสามหมู่บ้าน

ความเชื่อแต่เดิมนั้นราษฎรชาวบ้านถิ่นนับถือผีเป็นใหญ่ คือมีผีดี ผีปู่ย่า ผีอี่กวัก ผีย่าหม้อนึ่ง ผีโพง ผีสือ ผีก๊ะ ผีครู ผีเสี้ยววัด ผีเสี้ยวนา ในป่าก็มี ผีโป๊กกะโหล้ง ผีต๋ามอย การนับถือผีบรรพบุรุษ ซึ่งยังปรากฏให้เห็น ปัจจุบันการตั้งศาลบรรพบุรุษขึ้น เช่นศาลเจ้าพ่อพญาแก้ว ซึ่งเป็นศาลเสี้ยวบ้านถิ่นนอก ศาลเจ้าพ่อท้าวชัยเป็นศาลเสี้ยวบ้านถิ่นใน สันนิษฐาน ผีย่าหม้อนึ่ง ว่าตั้งขึ้นสมัยย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากมาอยู่ใหม่ๆ แต่การตั้งชื่อศาลท้าวชัยหรือพญาแก้ว ไม่มีหลักฐานหรือคำบอกเล่าใด ที่สามารถยืนยันได้ แต่มีความเชื่อว่าสมัยก่อนบ้านถิ่น มียศถาบรรดาศักดิ์ เป็นท้าว เป็นพญา ตามที่เจ้าหลวงเมืองแพร่ตั้งให้ มีตัวอย่างเช่น สมัยพ่อกำนันแก้วบวชเป็นเณร อยู่วัดได้มีโอกาสอยู่ใกล้ชิดตุ๊ลุงเสนา ท่านได้เล่าว่าปู่คัด (ขัด) บ้านอยู่ติดวัดทางเหนือ ซึ่งเป็นพ่อของแม่สาและ พ่อหนานชุมภู ถิ่นนอก ซึ่งเป็นคนมีคาถาอาคม อยู่ยง คงกระพัน มีคนเล่าลือกันไปถึงหูเจ้าหลวงเมืองแพร่เจ้าหลวงจึงให้คนมาทดสอบดูว่าจริงหรือไม่ ตอนนั้นเป็นเวลาพลบค่ำ ปู่คัดพร้อมครอบครัวกำลังทานอาหารเย็นลูกน้อง เจ้าหลวงเมื่อมาถึงก็ถามหาคนชื่อปู่คัด ปู่คัดก็บอกว่า “ฮานี้แหละ” ลูกน้องเจ้าหลวงก็ช่วยกันใช้มีดฟันมีดแทงปู่คัด จนขัดข้าวกระจัดกระจาย ผู้หญิงและเด็กร้องให้กันสนั่นบ้าน แต่ปู่คัดไม่เป็นไร ไม่มีบาดแผลจากการถูกแทงถูกฟันเลย คนของเจ้าหลวงจึงกลับไปรายงานเจ้าหลวงว่า ปู่คัดอยู่ยงคงกระพันจริง จึงได้สั่งให้รับปู่คัดเข้าไปหาในเมืองแต่งตั้งให้เป็นท้าว ชาวบ้านก็เรียกปู่คัดว่า ท้าวคัด โดยตุ๊ลุงเสนาบอกว่าท้าวคัดมีคาถาที่เรียกว่า “พระบาทแก้วมาลา” และ “หนังพันผืน” ใช้เป่าเสกเหล้ากิน หรือใช้เสกน้ำมันงาทา ตุ๊ลุงเสนาจึงได้สืบทอดคาถามาใช้และสอนลูกศิษย์ลูกหา ภายหลังท่านเลือกคนเป็นลูกศิษย์เพื่อสืบทอดคาถา เพราะถ้าใครได้เรียนคาถาบทนี้แล้วจะกลายเป็นคนติดเหล้า อีกอย่างวิชานี้เป็นของร้อนคือมีไว้สำหรับป้องกันตัวและช่วยเหลือผู้อื่นเท่านั้น ทำมาหากิน ค้าขายไม่เจริญ ไม่พอใช้ ขาดตกบกพร่อง การสืบทอดต้องยกครู ซึ่งครูของคาถานี้ผู้สืบทอดจะต้องปฏิบัติตนตามสัจจะ อธิฐานและคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ หากทำผิดครูไม่ได้ จะกลายเป็นคนเสียสติ และคาถาจะสูญหายไปโดยปริยาย ส่วนผีต้นตระกูลของตนเอง เรียกว่า “เก๊าผี” ในปัจจุบันก็ยังนับถือกันอยู่แต่ก็เริ่มจางลงเรื่อย ๆ และชาวบ้านถิ่นได้ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนา ยึดเอาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้เป็นที่พึ่งทางใจด้วยแล้วน้อมนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ศาสนสถานในทางศาสนาพุทธจึงเกิดมีขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนสืบมา ชาวถิ่นไตลื้อมีความเชื่อเฉพาะในท้องถิ่นเรื่อง “คึด” คึด หมายถึง สิ่งเลวร้ายสิ่งไม่เป็นมงคล สิ่งอันก่อให้เกิดความไม่สงบสุข อาจอันตรายถึงชีวิต เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง บรรพบุรุษของชาวไตลื้อถือปฏิบัติ หรือหลีกเลี่ยงการกระทำที่มีความเชื่อสืบต่อกันมาว่า คึด ได้แก่ ๑.การเจาะทะลุฝาผนังบ้าน ซึ่งปลูกถาวรมานานเพื่อทำประตูทางออกจะทำให้ผู้อยู่อาศัยมีอันถึงตาย ๒. การฮานเฮือน คือ การรื้อหรือตัดแต่งส่วนของตัวบ้านภายใต้หลังคาเพื่อให้ดูกะทัดรัด หรือรื้อหลังคาและตัดเสาตั้ง เพื่อให้หลังคาต่ำลงจะก่อให้เกิดความหายนะแก่ผู้อาศัย ๓. การตัดต๋งลงจ่อง เป็นความเชื่อคนโบราณ เพื่อจะนำศพหญิงตายทั้งกลมลงจากบ้านโดยไม่ให้ลงทางบันไดให้ตัดช่องพื้นบ้านตรงผู้ตายนอนอยู่ แล้วหย่อนศพลงทางช่องสู่ใต้ถุนบ้าน เพื่อแก้เคล็ดไม่ให้วิญญาณผู้ตายเป็นวิญญาณเร่ร่อน หรือวิญญาณกลับเข้าบ้านไม่ได้ ๔.การปลูกบ้านทับบ่อน้ำหรือทับครกกระเดื่องทำให้ผู้อาศัยในบ้านหลังนั้นมีอันตรายต่างๆโดยไม่คาดคิด

ภาษาในท้องถิ่น ภาษาในตำบลบ้านถิ่นที่ใช่สื่อสารกันในปัจจุบันมี ได้แก่ ๑. ภาษาไตลื้อ ซึ่งใช้มาตั้งแต่บรรพบุรุษของชาวไตลื้อบ้านถิ่น หมู่ที่ ๑, ๒ , ๓ , ๕ , ๗ , ๘ , ๙และหมู่ที่๑๑ ภาษาไตลื้อ เป็นภาษาที่ชาวไตลื้อทุกท้องถิ่น ใช้สื่อสารกันได้ทั่วโลก จะเห็นได้จากการเดินทางไปศึกษาดูงานของสภาวัฒนธรรมตำบลบ้านถิ่น ในแคว้นสิบสองปันนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ชาวไตลื้อสามารถใช้ภาษาไตลื้อสื่อสารกันได้โดยไม่ต้องใช้ล่าม ภาษาเขียนของชาวลื้อใช้อักษรธรรม (อักษรไทยเหนือหรือตัวเมือง) ซึ่งแต่เดิมจะใช้บันทึกประวัติตำนาน นิทานธรรมะจารึกลงในคัมภีร์เพื่อให้สามเณร พระสงฆ์ที่บวชในบวรพระพุทธศาสนาได้ศึกษาเรียนรู้ก่อนภาษาไทยกลาง ปัจจุบันสถานศึกษาระดับท้องถิ่นได้จัดหลักสูตรภาษาไทยดังกล่าวไว้ในหลักสูตรทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และระดับอุดมศึกษา เพราะสามารถใช้สื่อสารได้ทั่วโลก ตัวอักขระไตลื้อ อักษรไท้ลื้อและอักษรไทยล้านนา (ล้านนา) ใช้ร่วมกันโดยบางครั้งจะสะกดเหมือนกันแต่ออกเสียงต่างกันโดยเฉพาะเสียงสระ อักษรธรรมที่จารึกลงในคัมภีร์จะเป็นอักขระเดียวกัน ภาษาไตลื้อที่ใช้อยู่ในตำบลบ้านถิ่น อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ จัดอยู่ในกลุ่มภาษาตระกูลไทย (ไต) ลักษณะเด่นของภาษาอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงสระภายในคำโดยการเปลี่ยนระดับของลิ้น เช่น สระอัว เอีย เอือ ในภาษาไทย ภาษาถิ่นไตลื้อจะใช้เป็นสระโอ สระเอ สระเออ ตามลำดับ เช่น ภาษาไทยกลาง ภาษาล้านนา ภาษาไตลื้อ มัว มัว โม เขียน เขียน เขน เกลือ เกลื๋อ เก๋อ เป็น เป๋น ปิ๋น คน คน คุน คนจน คนจ๋น คุนจุ๋น เสีย เสีย เส ฯลฯ บางคำที่ภาษาไทยกลางใช้สระอะ ภาษาไตลื้อจะใช้เป็นเสียงสระแอ เช่น ภาษาไทยกลาง ล้านนา ภาษาไตลื้อ ตัด ตัด แต๊ด พลัด ปัด แป๊ด ฯลฯ ภาษาไตลื้อ ยังมีการใช้คำต่อท้ายชื่อคนเรียกว่า “สร้อย” เช่น นายปั๋นโอ่ง , นางนาแป้ม , หนานพาแจ้ ฯลฯ ตัวอย่างภาษาไตลื้อ ก๊อก หมายถึง ภาชนะตักน้ำดื่มขนาดเล็ก กั่งก่ะ หมายถึง ม้านั่ง ก๋างโข่ง หมายถึง ลานดินหน้าบ้าน กุ้นตู หมายถึง หลังบ้าน เก้ง หมายถึง สะอาดหมดจด โค่น หมายถึง บนเพดาน ปิ๊ด หมายถึง ดินสอ ตะลี่ หมายถึง ไฟฉาย ป๊ดนก หมายถึง ยิ่งนกด้วยหนังสะติ๊ก อิด้า หมายถึง ตะเกียงเจ้าพายุ โกก หมายถึง กะลามะพร้าว ป๊าก หมายถึง ทัพพี ปาด หมายถึง แล่ จิ้นโง หมายถึง เนื้อวัว ป่าเฮี้ยว หมายถึง ป่าช้า ง่าว หมายถึง โง่ หรือ มากมาย การเรียกชื่อ สัตว์ เครื่องแต่งกาย ผัก ผลไม้ต่าง ๆ ของภาษาไตลื้อ เมื่อเปรียบเทียบกับภาษาไทยกลาง เช่นภาษาไตลื้อ ภาษากลาง สุ้ม ส้ม หม่าแก๋ว ฝรั่ง หม่าหนุน ขนุน หม่าเต้ด มะละกอ หม่าน้อยแน่ น้อยหน่า หม่าต้อง กระท้อน หม่าก๊องแกง ทับทิม หม่าขะแน๊ด สับปะรด หม่าป้าว มะพร้าว หม่าเต้า แตงโม หม่าโอ ส้มโอ โก๊ยอ่อง กล้วยน้ำวา หอมโบ่ หอมแดง หอมเตม กระเทียม ผักแคบ ผักตำลึง หม่าเขื่อสุ้ม มะเขือเทศ หม่าเขอหำม้า มะเขือยาว พิกยาว พริกหยวก มันแก๋ว มันแกว หม่าน้ำแก้ว ฟักทอง หม่าโบบ บวบ หม่าน้ำ น้ำเต้า หม่าโถ่ยาว ถั่วฝักยาว หม่าฟัก ฟักเขียว หม่านอย บวบ หม่าแต๋ง แตงกวา เสอ เสือ โง วัว ป่าเลาะ ปลาช่อน ปู๋ ปู จ้าง ช้าง ก๋ำบี้ แมลงปอ ก๋ำเบ้อ ผีเสื้อ แปะ แพะ ขี้เดิน ไส้เดือน แมงบุ้ง หนอน จั๊กลิ่ม จิ้งจก ต๊กโต ตุ๊กแก เส้อ เสื้อ เต่ว กางเกง สิ้น ผ้าถุง หย่อง เข็มกลัด สายหั้ง เข็มขัด เกิบ รองเท้า ถุงตี๋น ถุงเท้า ถุงหมาก กระเป๋าสะพาย ผ้าตุ้ม ผ้าขนหนู กะโปง กระโปรง น้ำ-โบย กระบวย โถ้ยเบอะ กะละมัง สะโตก ขันโตก ซ้า ตะกร้า ป้าก ทัพพี สะลี ที่นอน ผ้าหล๊บ ผ้าปูที่นอน ปิ๊ด ดินสอ เฮิน บ้าน โฮ้ รั้ว โก๋ย ตะกร้าขนาดใหญ่ มีดแซม กรรไกร เบ๊อะ ชาม สะลุง ขัน ฯลฯ เพลงหมู่เฮาเป็นจาวบ้านถิ่น หมู่เฮาเป็นจาวบ้านถิ่น ทำกินในทางโสนเม้ง ต้องเส่งขึ้นดอยลงเขา ต้องเส่งขึ้นดอยลงเขา งานหนักงานเบาหมู่เฮาสู้ตาย คุมสัตว์ทั้งหลายมีโงควายล้อลาม้าต่าง ต่อไปจะไม่นอนค้าง ต่อไปจะไม่นอนค้าง ออกจากป๋างขายเม้งทันที ออกมาครั้งนี้ก็พอดีมาเจอผ้าป่า ของป่อ แม่ป้า น้าอา เจินท่านมาร่วมกั๋นทำบุญ การทำบุญสุนทานหวังนิพพานไว้ในจาดหน้า หมู่เฮาอย่าได้ระอา หมู่เฮาอย่าได้ระอา จาดนี้จาดหน้าจะเป็นสุขเอย

๒. ภาษาล้านนา(ไทยวน) ภาษาไทยล้านนาใช้มาตั้งแต่บรรพบุรุษของชาวไทยยวน หมู่ที่ ๔, ๖ และหมู่ที่ ๑๐ ใช้เมื่อมีการติดต่อสื่อสารทางสังคม การศึกษา ค้าขาย กับชาวล้านนา ประเพณี พิธีกรรมที่สำคัญหรืองานเทศกาลของท้องถิ่น ชาวไตลื้อมีการธำรงรักษาไว้ซึ่งประเพณี พิธีกรรมที่มีมานับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เช่นพิธีแห่นางแมว พิธีแกว่งข้าว พิธีลงผีมะกวัก พิธีสืบชะตา ประเพณีการไหว้ศาลเจ้าพ่อพญาแก้ว เจ้าพ่อท้าวชัย เจ้าแม่อารักษ์ เจ้าแม่จ๋อมต๋าน เจ้าขุนประทาน ประเพณีสรงน้ำบูรพาจารย์ ประเพณีบวชนาค ขึ้นบ้านใหม่ แต่งงาน งานศพ ประเพณีและพิธีกรรมดังกล่าวจะจัดขึ้นตามเทศกาลต่าง ๆ ตัวอย่าง เช่น ๑. ประเพณีสรงน้ำบูรพาจารย์สืบสานวัฒนธรรมไตลื้อไทยยวน ประเพณีสรงน้ำบูรพาจารย์เป็น ประเพณีที่มุ่งเน้นความรัก ความสามัคคีมีความกตัญกตเวที อนุรักษ์วัฒนธรรม เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวตำบลบ้านถิ่นจัดขึ้นวันที่ ๑๒ เมษายน ของทุกปี การเตรียมงานเริ่มตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ทุกหมู่บ้าน สร้างบ้านไตลื้อจำลอง ปลูกพืชผักสวนครัว สร้างบรรยากาศสมัยโบราณ ตกแต่งบริเวณบ้าน วันที่ ๑๒ เมษายน ลูกหลานชาวไตลื้อตำบลบ้านถิ่นจะต้องกลับมาร่วมประเพณีโดยไม่มีใครบังคับ ตอนเช้าทำบุญตักบาตร ตอนกลางวันชาวไตลื้อแต่ละหมู่บ้านดำเนินวิถีชีวิตในบ้านไตลื้อ เป็นครอบครัวเดียวกัน มีการทำอาหารไตลื้อ ดนตรีพื้นบ้านขับกล่อม มีซอพื้นเมืองฟ้อนรำสมัยโบราณ รับประทานอาหารร่วมกัน โดยมีผู้ใหญ่บ้านเป็นหัวหน้าครอบครัว ตอนบ่ายประกวดบ้านไตลื้อจำลองและวิถีชีวิตในครอบครัว ตอนเย็นแต่ละหมู่บ้านจัดขบวนแห่น้ำส้มป่อย มีขบวนฟ้อนรำ ทุกคนแต่งชุดไตลื้อสมัยโบราณถือขันน้ำส้มป่อย เดินเป็นขบวนตามถนนในหมู่บ้านทยอยกันสรงน้ำรูปปั้นเจ้าคุณโอภาสพุทธคุณ รูปปั้นพระครูบาวัดถิ่นนอก รูปปั้นพระครูบาวัดโป่งศรี ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวไตลื้อ ไทยล้านนา กลางคืนมีมหรสพ การแสดงของแต่ละหมู่บ้าน ๒. ประเพณีรดน้ำดำหัว วันที่ ๑๓ เมษายน ของทุกปี เป็นประเพณีรดน้ำดำหัวของชาวไตลื้อ ตอนเช้า ผู้สูงอายุและผู้รักสุขภาพพร้อมใจกันออกกำลังกาย ตอนกลางวัน ชาวไตลื้อ นัดพบปะสังสรรค์กันเป็นกลุ่ม ๆ ปรึกษาหารือวางแผนการพัฒนา ตอนบ่าย ผู้สูงอายุ ผู้เฒ่าผู้แก่และครูอาจารย์สูงอายุ ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ชาวไตลื้อทั้งตำบลนับถือมาพบปะชาวไตลื้อ ชาวไตลื้อแต่ละกลุ่มรดน้ำดำหัวและขอศีลขอพรจากท่าน ๓. พิธีไหว้เจ้าพ่อพญาแก้ว จากคำบอกเล่าและสอบถามจาก นายสวย ถิ่นจันทร์ นายจรูญ นันตา นายเสน่ห์ ไร่นากิจ ซึ่งมีบ้านใกล้ศาลเจ้าพ่อพญาแก้ว ท่านได้เล่าถึงประเพณีโบราณของบรรพบุรุษไตลื้อของเราว่าท่านได้ความเคารพนับถือภูตผีวิญญาณบูชาธรรมชาติ การบวงสรวงเจ้าที่ บรรพบุรุษ เชื่อถือไสยศาสตร์พ่อมดหมอผี พลังและปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ มีตัวตน มีความรู้สึกนึกคิด ความต้องการทางอารมณ์เช่นเดียวกับ มนุษย์ ความเชื่อโบราณนี้สืบทอดกันมาหลายร้อยปีจนถึงปัจจุบันนี้สิ่งของต่าง ๆ วัตถุและพลังต่าง ๆ ที่ยังคงบูชาและทำพิธีบวงสรวงเซ่นไหว้ส่วนใหญ่มักจะใกล้ชิดกับความกินดีอยู่ดีของมนุษย์ เช่น การทำเกษตรกรรม ค้าขาย การสมัครงาน การเดินทาง การศึกษาหาความรู้ เป็นต้น เพื่อให้ประสบผลสำเร็จในความมุ่งหวัง จึงได้บนบานศาลกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือเป็นรูปธรรมขึ้นดังที่นายสวย ถิ่นจันทร์ นายจรูญ นันตา นายเป็ง ถิ่นปา นายทอง พรหมมินทร์ นายเสน่ห์ ไร่นากิจ นายวินิจ ถิ่นจันทร์ นายอินตา กาวิละ และอีกลายท่านที่ปฏิบัติและยึดถือตามบรรพบุรุษโบราณที่ทำไว้ก่อน บุคคลเหล่านี้ได้เริ่มสร้างศาลเล็ก ๆ แทนที่ชำรุดทรุดโทรมไป ครั้งนั้นนายสวย ถิ่นจันทร์ นายเป็ง ถิ่นปา นายจรูญ นันตา นายทอง พรหมมินทร์ ได้มาร่วมกันสร้างกระท่อมเล็กๆ ที่บริเวณบ้านเหล่าเหนือ อยู่หมู่ที่ ๒ บ้านถิ่น ซึ่งเป็นที่ตั้งของศาลปัจจุบันนี้ โดยในบริเวณดังกล่าวจะมีต้นไผ่สีสุก ๒ กอใหญ่มีลำเหมืองผ่าน ๒ สาย ต้นไม้ร่มรื่น น้ำไหลผ่านทุ่งนาไปทางวัดถิ่นนอกผู้เฒ่าเหล่านี้บอกว่าตรงนี้บรรพบุรุษถือว่าเป็นจุดปลายเขตแดนของตำบลบ้านถิ่น จึงเรียกบริเวณนี้ว่า เสี้ยวบ้าน หรือ เสื้อบ้าน เมื่อสร้างศาลขึ้นมาได้อัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้มาสิงสถิตอยู่ที่ศาลเพื่อจะปกปักรักษาราษฎรในตำบลบ้านถิ่นและให้กินดี อยู่ดี อุดมสมบูรณ์ด้วยอาหารและโภชนาการต่างๆ มีความสงบสุข ผู้สัญจรไปมาด้วยความสวัสดิภาพปลอดภัย พอถึงวันแรม ๙ ค่ำ เดือน ๙ เหนือ (ประมาณเดือนมิถุนายน) ชาวบ้านตำบลบ้านถิ่นจะมาร่วมกันทำพิธีบวงสรวงเซ่นไหว้เสี้ยวบ้าน หรือเสื้อบ้านทุกปี ยึดถือเป็นประเพณีโดยเครื่องมีสักการะเซ่นไหว้ประกอบด้วย ดอกไม้ ธูปเทียน น้ำอบน้ำหอม พร้อมด้วยไก่ ๑ คู่ สุรา ๑ ขวด หรือจะเป็นหัวหมู เป็ด วัว ควาย แล้วแต่ผู้ที่ศรัทธาจะเป็นผู้บนบาน จะทำการแก้บนเมื่อประสบผลสำเร็จได้ทุกวันเวลายกเว้นวันพระเท่านั้น ในการบนบานขอพร ดังกล่าวเป็นที่ศรัทธาของประชาชนทั่วไป หลังจากไปค้าขายกลับมาไปสมัครงานได้ ทำการเกษตรกรรมประสบผลดี ไปศึกษาความรู้แล้วประสบผลสำเร็จกลับมาเป็นต้น เพื่อเป็นการระลึกถึงบรรพบุรุษ เป็นกำลังใจในการทำกิจวัตรประจำวัน และรักษาประเพณีเดิมไว้ให้คนรุ่นหลังได้ปฏิบัติตาม ผู้บนบานสามารถนำเครื่องบวงสรวงเซ่นไหว้มามอบให้ นายสวย ถิ่นจันทร์ นายจรูญ นันตา ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้ประกอบพิธีให้หรือผู้บนบานจะประกอบพิธีเองก็ได้จากคำบอกเล่าของ นายสวย ถิ่นจันทร์ ถึงปาฎิหาริย์ของศาลเจ้าพ่อพญาแก้วว่าเคยมีผู้ศรัทธานำเอาเครื่องเซ่นไหว้บูชามาทำการแก้บนโดยมีดอกไม้ ธูปเทียน ไก่คู่ สุรา ๑ ขวด มาให้ในวันพระ ซึ่งเมื่อเสร็จพิธีแล้วนำเอาสุราลงมาเท ปรากฏว่าสุราที่เตรียมมากลายเป็นเลือดทั้งขวด ทำให้เกิดความตกใจมาก และท่านได้เล่าว่ามีอีกครั้งหนึ่ง ขณะที่มีคนนำเอาเครื่องเซ่นไหว้มีไก่คู่ สุรา ๑ ขวด ดอกไม้ ธูปเทียน น้ำอบ น้ำหอม วางไว้บนศาล มีสุนัขตัวหนึ่งเดินผ่านมาและวิ่งขึ้นไปเพื่อจะคาบไก่ที่บนหิ้งศาลที่สูงไม่มากนัก แต่เกิดพลาดตกลงมากระเสือกกระสนไปตายใกล้ๆ ศาลนั่นเอง ส่วนนายจรูญ นันตา มีบ้านอยู่ใกล้ศาลท่านได้เล่าว่าคืนวันหนึ่งได้กลับมาจากทุ่งนาผ่านมา ได้เห็นดวงแก้วดวงใหญ่ ขนาดเท่าลูกมะพร้าวรูปกลมสีขาวลอยขึ้นจากศาลหายไปในท้องฟ้าและมีประชาชน ผู้เฒ่า ผู้แก่สมัยก่อนเล่าว่าเคยเห็นลูกแก้วลอยออกจากศาลบ่อยๆ นายจรูญเล่าต่ออีกว่าเคยเห็นผู้ชายวัยกลางคนสวม ชุดหม้อห้อมเดินเข้าไปในศาลในตอนลางวัน ตามเข้าไปดูก็ไม่พบผู้ใดเป็นปาฏิหาริย์ที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน ๔.ประเพณีการกิ๋นสลาก หรือสลากภัต การกินก๋วยสลากนี้แต่ละก๋วยจะมีเส้นสลากเป็นแผ่นเล็กๆ เขียนชื่อเจ้าของและ จุดประสงค์ว่าจะอุทิศส่วนกุศลนั้นไปให้ใคร จากนั้นเจ้าของสลากจะนำเส้นไปให้ผู้รวบรวมจักแบ่งเส้นสลากตามจำนวนพระเณรที่นิมนต์จากวัดต่างๆ เพื่อทำพิธีถวายแล้วเจ้าของสลากจะตามไปดูว่าเส้นสลากของตนจะตกอยู่กับพระรูปใดก็นำก๋วยสลาก ไปถวายพระรูปนั้น ส่วนเส้นสลากที่ไม่ตกกับพระรูปใด ก็เป็นส่วนของพระเจ้า คือ พระประธานในวิหาร ซึ่งยอดเงินจำนวนนี้จะต้องเป็นเงินกองกลางของวัด สำหรับใช้เป็นค่าใช้จ่ายในกิจการของวัดต่อไป

การละเล่นประจำถิ่น ได้แก่ ๑. การเล่นไม้เคาะ ๒. การเล่นลูกก๋ง ๓. การเล่นลับลี่ตีกระป๋อง ๔. การเล่นมะก๊อบแก๊บ (หมากเก็บ) ๕. การเล่นตีวง ๖. การเล่นโก่ะกะ ตัวอย่างของการละเล่นไตลื้อ การเล่นลูกก๋ง ลูกก๋งเป็นลูกกลมๆ ขนาดเท่าลูกชิ้นหมู ปั้นจากดินเหนียวนำไปตากให้แห้ง ลูกโตกลม เป็นลูกกลมๆ ปั้นมาจากดินเหนียวมีขนาดใหญ่กว่าลูกก๋ง ๔ เท่าลูกโตแบน เป็นหินมีลักษณะกลมแบน การเล่นลูกก๋งมี ๓ ประเภท ๑. ก๋งหลุม อุปกรณ์ ๑. ลูกก๋ง ๒. หลุม ๓. ลูกโต วิธีเล่น ๑. ขุดหลุม ๒. ผู้เล่น นำลูกก๋งไปวางไว้ในหลุมตามจำนวนที่ตกลงกัน ๓. ผู้เล่นยืนห่างหลุมประมาณ ๖ เมตร ผลัดกันโยนลูกโตให้ถูกหลุมที่ละคน ใครโยนเข้าหลุมเป็นผู้ชนะได้ลูกก๋งไปทั้งหมดหลุม ๒. ก๋งยาย (เรียง) อุปกรณ์ ๑. ลูกก๋ง ๒. ลูกโดกลม วิธีเล่น ๑. ผู้เล่นแต่ละคนนำลูกก๋งจำนวนเท่ากันมาเรียงแถวหน้ากระดาน ลูกก๋งหัวแถวโตกว่าเพื่อน ๒.ผู้เล่นผลัดกันกลิ้งลูกโตกลมไปที่ลูกก๋งเรียงลูกโตถูกลูกก๋งลูกใดผู้เล่นจะได้ลูกก๋งตั้งแต่ลูกที่โดนลูกโต จนถึงลูกสุดท้าย ๓. ผู้เล่นกลิ้งลูกโตกลมถูกลูกก๋งหัวแถวจะได้ลูกก๋งทั้งหมด ๓. ลูกก๋งกอง อุปกรณ์ ๑. ลูกก๋ง ๒.ลูกโตกลม ๓. ลูกโตแบนวิธีเล่น ๑. ผู้เล่นแต่ละคนนำลูกก๋งจำนวนเท่ากันไปกองก่อรวมกัน ๒. ผู้เล่นยืนห่างจากกองลูกก๋ง ประมาณ ๑๕ เมตร ๓. ผู้เล่นผลัดกันขว้างกองลูกก๋งด้วยลูกโตกลม ใครขว้างถูกผู้นั้นได้ลูกก๋งทั้งกอง ๔. ผู้เล่นแต่ละคนขว้างไม่ถูกกองลูกก๋ง ให้คนที่ขว้างลูกโตกลมไกลจากกองลูกก๋งมากที่สุดเป็นผู้ใช้ลูกโตแบนโยนให้ถูกกองลูกก๋ง ถ้าโยนไม่ถูกคนห่างไกลต่อไปเป็นผู้โยน ถ้าถูกจะเป็นผู้ได้ลูกก๋ง ถ้าไม่ถูกให้คนที่อยู่ห่างไกลใกล้เข้ามาโยนจนกระทั่งผู้ที่โยนตกใกล้ที่สุด ๕. หากผู้ที่โยนตกใกล้หลุมที่สุดห่างจากหลุมไม่เกิน ๑ ศอก ให้ถือลูกโตแบนชูขึ้นเหนือศีรษะตามองตรงไปข้างหน้าห้ามมองกองลูกก๋ง แล้วปล่อยลูกโตแบนให้ตกลงมาถูกกองลูกหิน ถ้าถูกเป็นผู้ชนะได้ลูกก๋งทั้งหมดการเล่นลับลี้ตีกระป๋อง อุปกรณ์ ๑. กระป๋อง ๒. ไม้ตี ๓. สถานที่หลบซ่อนวิธีเล่น ๑. ผู้เล่นคนใดคนหนึ่ง หลับตาตีกระป๋องพร้อมทั้งนับ ๑-๒๐ หรือแล้วแต่จะตกลงกัน ๒. ผู้ที่เหลือวิ่งหาที่หลบซ่อมไม่ให้ผู้ตีพบ ๓. ผู้ตีกระป๋องนับครบแล้วลืมตาคันหาผู้หลบซ่อน ๔.ถ้าพบแล้วเอ่ยชื่อพร้อมทั้งบอกว่าอยู่ที่ไหน แล้วรับวิ่งมาตีกระป๋อง ผู้ถูกพบเมื่อถูกเอ่ยชื่อรีบวิ่งมาตีกระป๋อง ผู้ตีกระป๋องค้นหาผู้หลบซ่อนจนครบ ๕. ผู้ที่ถูกพบคนแรก เป็นผู้ตีกระป๋องคนต่อการเล่นมะก๊อบแก๊บ (หมากเก็บ) อุปกรณ์ ลูกหิน ๕ ลูกวิธีเล่น๑. ผู้เล่นจำนวนไม่จำกัด๒. ผลัดกันเล่น คนแรกวางลูกหิน ๔ ลูก แล้วโยน ลูกที่ ๕ เก็บที่ละลูกจนครบ ๔ ลูก โดยไม่ตก๓. โยนลูกที่ ๕ เก็บที่ละ ๒ ลูก ทีละ ๓ ลูก และทีละ ๔ ลูก โดยลูกหินไม่ตก หากตกด้วยเปลี่ยนผู้เล่น ๔. ผู้เล่นเก็บ ๔ ลูก เล่นต่อไป หมายถึง โปรยลูกหินทั้ง ๕ ลูกลงพื้นให้ฝ่ายตรงข้ามชี้ลูกหินลูกใด ลูกหนึ่ง ผู้เล่นดีดลูกหินที่ฝ่ายตรงข้ามชี้ไปถูกลูกหินทั้งสี่ลูกทีละลูกโดยไม่ให้ไปกระทบลูกอื่น ถ้ากระทบถือว่าแพ้ฝ่ายตรงข้ามเล่นต่อ หากไม่กระทบผู้เล่นเล่นต่อโดยใช้อุ้งมือโยนลูกหินทั้ง ๕ แล้วใช้หลังมือเก็บ ๑ ลูก ต่อไปใช้หลังมือเก็บ ๒ ลูก ๓ ลูก ๔ ลูก และ ๕ ลูก หากรับได้หมดทุกครั้งถือว่าชนะผู้เล่นใช้มะเหงกเขกหัวเข่าฝ่ายตรงข้ามจำนวนครั้งตามที่ตกลงกันไว้การเล่นโกะกะ โกะกะ ทำมาจากไม้ไร่ หรือไม้ไผ่ตัดยาวประมาณ ๓ เมตร จำนวน ๒ อัน เท่ากัน วัดยาว ๑ เมตร เจาะไม้สอดใส่สำหรับเท้าเหยียบวิธีเล่น ๑. ผู้เล่นขึ้นเหยียบตรงไม้สำหรับเหยียบทั้งสองอัน ฝึกเดินให้คล่อง ฝึกทรงตัวให้ได้๒. ผู้เล่นแต่ละคนขึ้นเหยียบโกะกะเดินเร็วแข่งกัน๓. ใครล้มถือว่าแพ้ ผู้ใดสามารถเดินเร็วกว่าโดยไม่ล้มและถึงเส้นชัยก่อนเป็นผู้ชนะ การเล่นตีวงวิธีเล่น ๑. ขีดวงกลมใหญ่พอสมควร ๑ วงกลม ๒. แบ่งผู้เล่นออกเป็น ๒ ฝ่าย จำนวนเท่า ๆ กัน ๓. ฝ่ายหนึ่งอยู่ในวงกลม อีกฝ่ายหนึ่งอยู่นอกวงกลม ๔. เมื่อได้ยินสัญญาณ ฝ่ายนอกวงพยายามเข้าปล้ำคนในวงกลมและลากออกนอกวงกลม ๕.ฝ่ายในวงกลมพยายามตีฝ่ายนอกวงกลมและกันไม่ให้ฝ่ายนอกวงกลมดึงพวกตนออกไปนอกวงกลม ๖. หากฝ่ายนอกวงกลมสามารถดึงฝ่ายในวงกลมออกมานอกวงกลมหมด ฝ่ายนอกวงกลมเป็นผู้ชนะ แต่ถ้าไม่สามารถดึงออกมาหมดตามเวลาที่กำหนดฝ่ายในวงกลมชนะฝ่ายนอกวงกลมต้องมาอยู่ในวงกลม ฝ่ายในวงกลมอยู่นอกวงกลม การเล่นไม้เดาะ (ไม้กวิด) อุปกรณ์ ๑. ไม้กลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๓๕ เซนติเมตร เรียกว่า “แม่ไม้ ๒. ไม้กลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๑๕ เซนติเมตร เรียกว่า “ลูกไม้” วิธีการเล่น ๑. ขุดหลุมแนวยาวประมาณ ๑๐ เซนติเมตร ๒. แบ่งผู้เล่นเป็น ๒ ฝ่าย ๆ ละ ๑ ทีม ๓. ทั้ง ๒ ทีม ตกลงกันว่าฝ่ายไหนจะเป็นฝ่ายเล่นและฝ่ายรับโดยใช้วีเป่ายิงฉุบยี หยี่ ยี่ ยา หย่า ย่า ซื้อน้ำปลาตราหัวสิงห์ จับผู้หญิงมาทรมาน จับผู้ชายมาทรยศ จับแม่มดมาดึงสะดือ จับกิ้งกือมาทำก๋วยเตี๋ยว จับแมวเหมียวมาเต้นระบำ จับแมวดำมาเป่ายิ่งฉุบ ๔. คนแรกของฝ่ายเล่นเริ่มเล่นโดยนำลูกไม้วางขวางบนปากหลุมและจับปลายแม่ไม้ข้างหนึ่ง ปลายอีกข้างวางลงในหลุมใต้ลูกไม้แล้วกระดกปลายไม้ให้ลูกไม้ตกไกลมากที่สุด แล้วนำแม่ไม้วางขวางปากหลุมแทนลูกไม้ขณะผู้เล่นกระดกปลายแม่ไม้ อีกฝ่ายพยายามหาทางรับให้ได้หากรับได้ผู้เล่นคนแรกออกจากการเล่น คนที่สองของทีมเริ่มเล่นใหม่ หากรับลูกไม้ไม่ได้ ฝ่ายรับเก็บลูกไม้โยนไปปากหลุมให้ถูกแม่ไม้ผู้เล่นออกจากการเล่นแต่ถ้าไม่ถูกแม่ไม้ ผู้เล่นเดาะลูกไม้ไปหาฝ่ายรับ ฝ่ายรับรับลูกไม้ได้ผู้เล่นออกจากการเล่น ถ้าผู้รับรับลูกไม้ไม่ได้ ผู้รับเก็บลูกไม้โยนให้ถูกหลุมหรือห่างจากปากหลุมไม่ถึงหนึ่งแม่ไม้ ผู้เล่นออกจากการเล่นแต่ถ้าห่างจากหลุมมากกว่าหนึ่งแม่ไม้ ผู้เล่นใช้แม่ไม้วัดระยะได้กี่ไม้ ต่อจากนั้นผู้เล่นเดาะลูกไม้ไปยังฝ่ายรับอีก ปฏิบัติเช่นเดิมผู้เล่นวัดระยะจนครบ ๑๐ ไม้ ผู้เล่นทุกคนในทีมช่วยกันเดาะลูกไม้ โดยใช้มือกำแม่ไม้นับรวมกันได้กี่ครั้ง ผู้เล่นใช้แม่ไม่ตีลูกไม้ไปให้ไกลที่สุด ผู้รับรับลูกไม้หากรับได้ถือว่าจบเกม ฝ่ายรับเป็นผู้เล่น ฝ่ายผู้เล่นเป็นฝ่ายรับ ถ้าผู้รับรับไม่ได้ ฝ่ายรับแพ้ ต้องวิ่งจากหลุมไปที่ลูกไม้ตก โดยการออกเสียงอื่อและกลั้นลมหายใจด้วยเท่ากับจำนวนการเดาะลูกไม้ เช่น ผู้เล่นเดาะไม้รวมกันได้ ๕ ครั้ง ผู้รับต้องวิ่งอื่อ......๕ เที่ยว ขณะวิ่งอื่อ..... หากหายใจ ต้องเริ่มวิ่งใหม่

อาชีพหลักของชาวตำบลบ้านถิ่น ได้แก่ อาชีพการทำนา และการปลูกพืชผลทางการเกษตร อาชีพรอง ได้แก่ อาชีพค้าขาย

อาหารประจำถิ่น ได้แก่ การทำนาข้าวเหนียว ผลิตจากข้าว เช่น ข้าวแคบ, ผลผลิตจากถั่วเหลือง เช่น ถั่วเน่า ,ถั่วเน่าแผ่น , ผลผลิตจากหน่อไม้ เช่นหน่อโอ่, เมี่ยง , ยำวุ้นหมาน้อย เป็นต้น

ผลิตภัณฑ์ชุมชน/ของที่ระลึก การสร้างบ้านไม้เรือนเก่า(บ้านน๊อคดาวน์) แหล่งผลิต บ้านโป่งศรี หมู่ที่ ๖ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์จากล้อเกวียน แหล่งผลิต หมู่ที่ ๗ บ้านถิ่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น เครื่องเงิน เครื่องทอง แหล่งผลิต บ้านโป่งศรี หมู่ที่ ๔,๖ และ ๑๐ ภูมิปัญญาท้องถิ่น เครื่องนอน แหล่งผลิต บ้านถิ่น หมู่ที่ ๓ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผ้าทอไตลื้อ แหล่งผลิต บ้านไตลื้อ วัดถิ่นใน หมู่ที่ ๑

ศิลปกรรมเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ งานแกะสลักพระพุทธรูป งานแกะสลักกะลามะพร้าว เครื่องเงินเก่า เครื่องทองเก่า วัตถุโบราณ ผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้าย ถุงย่ามไตลื้อ สไบ ผ้าถุง การห้างขันขวัญ เป็นต้น ๑. ข้อมูลทางภูมิทัศน์ ภูมิทัศน์ทางธรรมชาติ สภาพทั่วไปของตำบลบ้านถิ่นเป็นพื้นที่ราบเพื่อการเกษตรมีพื้นที่ทางการเกษตรประมาณ ๑๐,๓๘๘ ไร่ แบ่งออกเป็นทุ่งนา สวนมะขามหวาน สวนมะม่วง สวนแก้วมังกร สวนลำไย สวนสัก เป็นต้น แหล่งน้ำที่สำคัญได้แก่ อ่างเก็บน้ำร่องฮ่าง อ่างเก็บน้ำมิ่ง อ่างเก็บน้ำห้วยผักหละ อ่างเก็บน้ำห้วยยางงา และลำน้ำแม่แคม พื้นที่ป่าชุมชนของตำบลบ้านถิ่น ตั้งอยู่บริเวณหมู่ที่ ๒ พื้นที่ประมาณ ๑,๒๕๐ ไร่

ภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรม หมู่บ้านไตลื้อ ด้วยลักษณะเฉพาะของชาวตำบลบ้านถิ่นส่วนใหญ่มีอาชีพหลักด้านการเกษตร อาชีพรองคือการค้าขาย ตลอดถึงการอยู่รวมกันของชุมชนทั้ง ๑๑ หมู่บ้านเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีศิลปะ วัฒนธรรม อารยะธรรมสืบทอดมาแต่บรรพบุรุษอันยาวนาน มีเอกลักษณ์ของตนเอง เช่น การแต่งกายไตลื้อ ผู้หญิงนุ่งซิ่นแหล้ มีผ้าขาวโพกหัว ผู้ชายนุ่งผ้าต้อย ภาษาพูดไตลื้อ

หมู่บ้านไทล้านนา ชาวบ้านโป่งศรี เป็นชุมชนชาวไทยวน มีภาษาพูดของตนเองเป็นภาษาพื้นเมือง การแต่งกายในสมัยดั้งเดิมผู้ชายนุ่งกางเกงสะดอ สวมเสื้อสีดำ คอกลม ผ่าอก ผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่น สวมเสื้อแขนกระบอกสีดำ บ้านโป่งศรี เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบลุ่ม มีลำห้วยแม่แคมไหลผ่านกลางหมู่บ้านลำห้วยแม่แคมเป็นลำห้วยขนาดเล็ก ซึ่งเปรียบเสมือนสายเลือดที่หล่อเลี้ยงชาวบ้านโป่งศรีมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งหมู่บ้าน มาหลายชั่วอายุคนแล้ว แต่ในปัจจุบันน้ำในลำห้วยมีแคมมีน้ำน้อยไม่เพียงพอที่จะใช้ในการเพาะปลูกและบริโภคได้ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานประเพณีมีความรักพวกพ้องมีการเชื่อฟังผู้นำชุมชน

พื้นที่ประกอบพิธีกรรม กิจกรรม ของชุมชน ประกอบด้วย ๑.วัด จำนวน ๔ แห่ง ได้แก่ วัดถิ่นใน วัดถิ่นนอก วัดพระธาตุถิ่นแถนหลวง วัดโป่งศรี ๒.โรงเรียน จำนวน ๓ แห่ง ได้แก่ โรงเรียนบ้านถิ่น(ถิ่นวิทยาคาร) โรงเรียนถิ่นโอภาสวิทยา และโรงเรียนบ้านโป่งศรี ๓.ศาลาอเนกประสงค์ประจำหมู่บ้าน จำนวน ๙ แห่ง ๔.พื้นที่ป่าชุมชน ๑ แห่ง ตั้งอยู่บริเวณหมู่ที่ ๒ ประมาณ ๑,๒๕๐ ไร่ ๕.สถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เช่น ดอยปังหลวง ห้วยปู่เคี่ยนซึ่งเป็นที่อาศัยของหมาป่า ตาดพระงามมีหินงอกหินย้อยธรรมชาติงดงาม ผาเสือแผ้ว เป็นต้น ๖. สถานที่ศักสิทธิ์ที่เคารพบูชาของชุมชน ได้แก่ ศาลเจ้าพ่อพญาแก้ว ศาลเจ้าพ่อท้าวชัย ฯลฯ

สถาปัตยกรรมเด่นที่มีลักษณะพิเศษ ได้แก่ วัดพระธาตุถิ่นแถนหลวง องค์ประกอบที่สำคัญคือวิหารพระเจ้า ๕,๐๐๐ องค์ คุ้มเจ้านาง อาคารวิปัสสนาของพระธาตุ ซุ้มประตูไตลื้อวัดถิ่นนอก วัดถิ่นใน วัดโป่งศรี บ้านไตลื้อ เป็นต้น

ปรับปรุงข้อมูล อัตลักษณ์ท้องถิ่นตำบลบ้านถิ่น อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่

ประวัติความเป็นมาของชาวไตลื้อบ้านถิ่น ชาวไตลื้อบ้านถิ่น ดั้งเดิมนั้นสันนิษฐานว่าได้อพยพมาจากเมืองยอง (ลื้อเขิน) ในแคว้นสิบสองปันนาซึ่งอยู่ในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ ในปัจจุบันบ้านถิ่นเป็นบ้านของคนไตลื้อที่มีอัตลักษณ์ของตนเองจากคำบอกเล่าของพ่อกำนันแก้ว ธรรมสรางกูร ว่าชาวไตลื้อบ้านถิ่นเดิมเป็นชาวลื้อเมืองยองแคว้นสิบสองปันนา อยู่เขตเชียงตุง ( สมัยนั้นเชียงตุงอยู่ในเขตแคว้นสิบสองปันนา ) เมืองยองอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองเชียงตุง สำหรับสาเหตุการอพยพสันนิษฐานว่าอาจเกิดสงคราม มีการกวาดต้อนเชลยศึกมาเป็นข้ารับใช้ในบ้านเมืองของตนเองจากคราว ที่ถูกเกณฑ์ไปรบเชียงตุงในสงครามอินโดจีนได้ไปพักอยู่ในเมืองยองมีบ้านอยู่บ้านหนึ่งชื่อว่า “บ้านถิน”(ไม่มีไม้เอก) บ้านถินนั้นเขามีขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆเหมือนกับบ้านถิ่นของเรา สมัยนั้นผู้หญิ่งนุ่งซิ่นแหล้ (หัวซิ่นสีขาว) มีผ้าขาวโพกหัว ผู้ชายนุ่งผ้าต้อย จากคำบอกเล่าที่ได้บันทึกไว้ว่า คนยองบ้านถิ่นได้อพยพมาจากเมืองลำพูน ป่าซาง(ลื้อเมืองยอง)ในสมัยเกิดข้าศึกรุกรานเมืองเชียงใหม่ แต่เมืองลำพูนก็เป็นเมืองอยู่ในอาณาเขตเดียวกับเมืองเชียงใหม่จึงถูกรุกรานไปด้วยชนเผ่าลื้อยองเป็นชนเผ่าที่รักความสงบไม่ชอบมีเรื่องราวยุ่งกับใคร จึงรวบรวมคนบางส่วนประมาณ ๓๐-๕๐ คน ได้พากันอพยพหนีจากการรุกรานมาทางเมืองโกศัย (จ.แพร่) มาพบสถานที่อุดมสมบูรณ์บริเวณบ้านถิ่นในปัจจุบัน จึงตั้งบ้านเรือนประกอบอาชีพทำมาหากินอยู่อย่างสงบจนมีประชากรเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ การปกครองนั้นแบ่งออกเป็นแคว่นเช่น แคว่นบ้านเหล่าเหนือ แคว่นบ้านเหล่าใต้ แคว่นบ้านเหล่ากลาง แคว่นบ้านใน มีหัวหน้าคอยปกครองเรียกว่า “หลักบ้าน”(ผู้ใหญ่) ถ้าแคว่นใดมีประชากรหนาแน่นก็ตั้งให้หัวหน้าแคว่นใหญ่ ซึ่งเลือกจากคนสูงอายุและเป็นที่เคารพนับถือของทุกแคว่น เป็น “ปู่แคว่น” (กำนัน)

ประวัติความเป็นมาของชาวไทล้านนา บ้านโป่งศรี บ้านโป่งศรี ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของตัวจังหวัดห่างจากตัวเมืองประมาณ ๗ กิโลเมตรเป็นหมู่บ้านตั้งมาประมาณปีพุทธศักราช๑๓๕๐ ตามคำบอกเล่าว่าบริเวณที่ตรงกลางหมู่บ้านในปัจจุบันมีแอ่งน้ำเล็กๆ ที่เรียกว่า “โป่ง”เพราะเป็นดินโป่งซึ่งเป็นดินเค็มสัตว์มักจะชอบมากินดินโป่งแห่งนี้จึงมีครอบครัวของต้นตระกูลมาตั้งรกรากเพื่อทำการล่าสัตว์และใช้น้ำนี้มาใช้ในการเพาะปลูก ใกล้แอ่งน้ำแห่งนี้มีต้นไม้ชนิดหนึ่งซึ่งมีลำต้นสูงใหญ่ชาวบ้านเรียกว่า “ต้นค้ำ” เกิดขึ้นแผ่กิ่งก้านและใบปกคลุมที่แอ่งน้ำแห่งนั้น ชาวบ้านจึงเรียกสถานที่แห่งนี้ว่า “โป่งค้ำ” ต่อมาเมื่อปีพุทธศักราช ๑๓๗๐ ชาวบ้านแห่งนี้ได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้น ณ ที่ใกล้กับแอ่งน้ำนั้นและได้เรียกชื่อวัดแห่งนี้ว่า “วัดโป่งค้ำ” ได้เรียกชื่อนี้มาระยะหนึ่งต่อมาต้นค้ำนั้นก็ได้ตายลงและมีต้นโพธิ์ต้นหนึ่งเกิดขึ้นแทนที่ต้นค้ำต้นนั้น ( ต้นโพธิ์นี้ชาวบ้านโดยทั่วไปจะเรียกว่าต้นศรี ) ซึ่งคงจะเรียกมาจากคำย่อของต้นศรีมหาโพธิ์ที่อยู่ในประเทศอินเดียและเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา ชาวบ้านจึงถือเอาเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ต้นโพธิ์ได้เติบโตขึ้นแทนต้นค้ำนั้น จึงเรียกชื่อหมู่บ้านโป่งศรีและวัดโป่งศรี บ้านโป่งศรีมี ๓ หมู่บ้านได้แก่ หมู่ ๔,๖,๑๐ เหตุการณ์สำคัญในอดีต ที่ทำให้ประชาชนประทับใจมาจนถึงทุกวันนี้ เกี่ยวกับการเสด็จเยี่ยมราษฎร ต.บ้านถิ่นและใกล้เคียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯและพระบรมนุศานุวงค์ บริเวณอ่างเก็บน้ำพระราชดำริร่องฮ่าง เมื่อวันที่ ๑ เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๓

ความเชื่อ แต่เดิมนั้นราษฎรชาวบ้านถิ่นนับถือผีเป็นใหญ่ คือมีผีดี ผีปู่ย่า ผีอี่กวัก ผีย่าหม้อนึ่ง ผีโพง ผีสือ ผีก๊ะ ผีครู ผีเสี้ยววัด ผีเสี้ยวนา ในป่าก็มี ผีโป๊กกะโหล้ง ผีต๋ามอย การนับถือผีบรรพบุรุษ ซึ่งยังปรากฏให้เห็น

ปราชญ์ชาวบ้านหรือภูมิปัญญาชาวบ้าน

นายบุญรัตน์ ถิ่นสุข อายุ ๗๔ ปี ๕๒ หมู่ ๕ ต.บ้านถิ่น ด้านศาสนาและพิธีกรรม เครื่องมือเกษตรโบราณ(หล่อไถ) นางอินแปลง กันตะนา อายุ ๗๑ ปี ๗ หมู่ ๖ บ้านโป่งศรี ด้านสมุนไพร

นายสุพัฒน์ สายถิ่น อายุ ๗๘ ปี ๑๔๘ หมู่ ๖ บ้านโป่งศรี ด้านการเกษตร

นายอุดม ไผ่เหลือง อายุ ๖๒ ปี ๗๘ หมู่ ๗ ต.บ้านถิ่น ด้านการเกษตร

ผู้ให้ข้อมูล

พระครูวรกิตติสุนทร อายุ ๕๑ ปี วัดถิ่นใน ตำบลบ้านถิ่น โทรศัพท์ ๐๕๔-๖๔๕๐๓๘ มือถือ ๐๘๕-๐๒๙๒-๑๓๓ ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลบ้านถิ่น

นายเจริญ ธุรกิจ อายุ ๗๕ ปี ๔๔ หมู่ ๑ ต.บ้านถิ่น

นายชูชัย กันตะนา อายุ๕๐ ปี ๓๙/๑ หมู่ ๕ ต.บ้านถิ่น

ด.ต.ธรรมรัตน์ อินทรรุจิกุล อายุ ๕๙ ปี ๑๗๑ หมู่ ๓ ต.บ้านถิ่น

นางนฤมล พันธวัฒน์ อายุ ๖๔ ปี ๑๒๗/๑ หมู่.๙ ต.บ้านถิ่น

น.ส.ประนม ไชยวุฒิพงศ์ อายุ ๖๕ ปี ๒ หมู่ ๕ ต.บ้านถิ่น

นายพิชญ์ ไชยวุฒิพงศ์ อายุ ๕๗ ปี ๒๗๖ หมู่ ๕ ต.บ้านถิ่น

นางบัญชอน ศรีเมืองแก้ว อายุ ๔๕ปี ๒/๓ หมู่ ๘ ต.บ้านถิ่น

นางวันทนีย์พร อุปถัมภานันท์อายุ ๖๑ ปี ๘๘/๑ หมู่๑๑

นางศราพร พิริยะชนานุสรณ์อายุ ๖๑ ปี ๖๙/๒ หมู่ ๒ต.บ้านถิ่น

นางศุภวัลย์ แตงร้าน อายุ ๔๔ ปี ๕๔/๑ หมู่ ๕ ต.บ้านถิ่น

นางสีวัย เนื่องพืช อายุ ๖๙ ปี ๒๕๔/๑ หมู่ ๑๑ ต.บ้านถิ่น

นางสุพัชรินทร์ นันทวรรณ อายุ ๖๓ ปี ๒ หมู่ ๘ ต.บ้านถิ่น

นางอรพิน เนื่องพืชอายุ ๕๘ ปี ๒๐๔ หมู่ ๑ ต.บ้านถิ่น

พระคำหล้า  โอภาสี (ต่อมาเป็นพระโอภาสพุทธิคุณ)

ผีย่าหม้อนึ่ง

สร้างบรรยากาศสมัยโบราณ

ศาลเจ้าพ่อพญาแก้ว

ประเพณีการกิ๋นสลาก  หรือสลากภัต

การเล่นโกะกะ

หน่อโอ่

เมี่ยง

ข้าวแคบหิง

ข้าวแคบปัน

แผ่นถั่วเน่า

บ้านไม้เรือนเก่า

ผลิตภัณฑ์จากล้อเกวียน

ศิลปกรรมเด่นที่เป็นเอกลักษณ์

ภูมิทัศน์ทางธรรมชาติ

ชาวไตลื้อ

ชาวไทล้านนา

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•พุธ•ที่ 26 •ธันวาคม• 2012 เวลา 23:13 น.• )