บ้านน้ำชำ หมู่ที่ ๑ - ๔ ตำบลน้ำชำ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ คำขวัญตำบลน้ำชำ "แพะเมืองผีลือเลื่อง เฟื่องฟูภูมิปัญญา พัฒนาเกษตรอินทรีย์ วิถีชีวิตพอเพียง  หลีกเลี่ยงยาเสพติด พิชิตความยากจน  ชุมชนพึ่งตนเอง" "แพะเมืองผีลือเลื่อง" หมายความว่า ตำบลน้ำชำมีแหล่งท่องเทียวเกิดขึ้นตามธรรมชาติซึ่งเป็นแหล่งท่องเทียวที่สำคัญของตำบลน้ำชำและจังหวัดแพร่ "เฟื่องฟูภูมิปัญญา" หมายความว่า ตำบลน้ำชำมีการพัฒนาศักยภาพของชุมชนจากพื้นฐานและภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ ขยายผลจากชุมชนสู่ชุมชนสร้างความเชื่อมโยงการพัฒนาที่ยึดชุมชนเป็นหลัก กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น "พัฒนาเกษตรอินทรีย์" หมายความว่า ประชากรในชุมชนตำบลน้ำชำ ส่วนมากประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้พัฒนาการเกษตรที่เน้นความสมดุลการเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนการผลิต โดยใช้เกษตรอินทรีย์ ทำปุ๋ยธรรมชาติใช้เองใช้แรงงานตนเองปลูกพืชหมุนเวียน "วิถีชีวิตพอเพียง" หมายความว่า ประชากรในชุมชนตำบลน้ำชำ สามารถดำรงชีวิตด้วยความพอเพียง รู้จักประมาณตนเอง มีเหตุมีผลในการใช้จ่าย และดำรงชีวิตในทางสายกลางคือรู้จักความพอดี พอเหมาะ "หลีกเลี่ยงยาเสพติด" หมายความว่า ประชาชนและเยาวชนในตำบลน้ำชำรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เช่นการสร้างอาชีพเสริม รวมกลุ่มเล่นดนตรี และเล่นกีฬาเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการมั่วสุมอบายมุขต่างๆ "พิชิตความยากจน" หมายความว่า ประชาชนในชุมชนตำบลน้ำชำสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองให้มีความมั่นคง ดำรงชีวิตโดยการใช้หลักความอดทน ความขยันและรู้จักประหยัดอดออม "ชุมชนพึ่งตนเอง" หมายความว่า ชุมชนตำบลน้ำชำได้จัดทำกลุ่มที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่นกลุ่มแปรรูปถั่วเหลือง กลุ่มกล้วยหลอด กลุ่มข้าวแต๋นโบราณ กลุ่มข้าวแคบ ฯลฯขึ้นเป็นต้น เพื่อเป็นการสร้างอาชีพในชุมชนให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็งและสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน

อาณาเขตติดต่อ ทิศเหนือ มีทุ่งเก่า ทุ่งอ้องล้อง และติดต่อกับตำบลห้วยม้า และ ตำบลแม่หล่าย ทิศใต้ มีทุ่งบวกแค่ ทุ่งบวกกว๋าว ทุ่งป่าคา และติดต่อกับตำบลเหมืองหม้อ และตำบลบ้านถิ่น ทิศตะวันออก มีทุ่งเหนือ ทุ่งใหม่ ทุ่งป่าดำ ทุ่งห้วยน้ำขุ่น และติดต่อกับตำบลห้วยม้า และตำบลสวนเขื่อน ทิศตะวันตก เป็นป่าละเมาะและเนินเตี้ยๆรวมทั้งวนอุทยานแพะเมืองผี และติดต่อ ตำบลร่องฟอง และตำบลแม่หล่าย

ข้อมูลด้านการปกครองเจ้าอาวาสวัดคนแรกของตำบลน้ำชำชื่อ ครูบากันทา ผู้ใหญ่บ้าน ( พ่อหลัก) คนแรกนายวงศ์ สกุลแอ๋  กำนัน(พ่อแคว่น) คนแรกชื่อ ขุนระบือ ครูใหญ่คนแรกของโรงเรียนชื่อ นายอุทธา ศรีทัน

ประวัติและความเป็นมา บ้านน้ำชำ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ ตำบลน้ำชำหรือภาษาท้องถิ่นเรียกว่าตำบลน้ำจำ เมื่อประมาณ ๑๘๐ ปีที่ผ่านมาตำบลน้ำชำแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้ และน้ำซึ่งพื้นดินจะมีน้ำไหลซึมบนผิวดินตลอดทั้งปีถึงแม้จะเป็นฤดูแล้งก็ตาม มีลำห้วยที่มีปริมาณน้ำไหลซึมมากที่สุดอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตำบล ที่ชาวบ้านเรียกว่า ห้วยใต้ และมีบริเวณที่มีน้ำเจิ่งนองที่ไม่ไหลอยู่ทางทิศใต้ของตำบลชาวบ้านเรียกว่า จำ แต่ปัจจุบัน น้ำที่ไหลซึมบริเวณดังกล่าวไม่มีหลงเหลือให้คนรุ่นหลังได้เห็นอีกแล้วเพราะบ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองและสภาพเปลี่ยนไปจากเดิมผู้คนแก่งแย่งกันทำมาหากิน มีการตัดไม้ทำลายป่าจึงเหลือไว้ซึ่งความแห้งแล้งให้เห็นในปัจจุบัน สมัยก่อนเมื่อน้ำและป่าไม้อุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับเป็นที่ทำมาหากินจึงมีชาวบ้านจาก บ้านโป่งศรี บ้านถิ่น บ้านเหมืองหม้อ และชาวบ้านแต ได้พากันเริ่มเข้ามาบุกเบิกหักล้างถางพง ทำไร่ ทำนา ทำสวน และปลูกกระท่อมเพื่อเป็นที่พักอาศัยครอบครัวเล็กๆหลายๆครอบครัว พอนานๆเข้าหลายปี ครอบครัวเหล่านี้ได้รวมตัวกันเป็นหมู่บ้าน ซึ่งครั้งแรกจะมาตั้งอยู่บริเวณบ้านหมู่ ๒ ปัจจุบัน ซึ่งสมัยนั้น มี ๒ หมู่บ้าน จึงตั้งหัวหน้าหมู่บ้านขึ้นมา ๒ คน คนหนึ่งเป็นหลัก หมายถึงผู้ใหญ่บ้าน อีกคนหนึ่งเป็นแคว่น หมายถึงกำนัน เพื่อปกครองหมู่บ้านและตำบล มีนายวงศ์ สกุลแอ๋ เป็นหลัก และมีขุนระบือเป็นแคว่นต่อราว พ.ศ.๒๔๙๐ – ๒๕๐๔ ถึงวาระนายวิชัย สุขวุฒิไชย เป็นกำนัน และนายอุดม วิรัตนชัยวรรณเป็นผู้ใหญ่บ้าน ในช่วงนั้นทางราชการได้สั่งยุบตำบลน้ำชำไปรวมกับตำบลห้วยม้า แต่ให้นายวิชัย สุขวุฒิไชยเป็นกำนันปกครองตำบลห้วยม้าสืบไป แต่ต่อมานายวิชัย สุขวุฒิไชย มีวิสัยทัศน์ที่ดีไม่อยากรวมกับตำบลห้วยม้า จึงได้ทำหนังสือร้องเรียนขอเวนคืนตำบลน้ำชำต่อทางราชการ ทางราชการก็เห็นชอบให้กลับมาเป็นตำบลน้ำชำเหมือนเดิมตราบเท่า ทุกวันนี้

เหตุผลที่ตั้งชื่อหมู่บ้าน เรียกชื่อตามแหล่งน้ำธรรมชาติ น้ำจำ ภายหลักเปลี่ยนเป็นน้ำชำ

เหตุการณ์สำคัญในอดีตที่ทำให้ประชาชนตำบลน้ำชำประทับใจมาจนทุกวันนี้กำนันและผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นผู้นำมีวิสัยทัศน์ในการแยกหมู่บ้านตำบลเป็นอิสระที่เล็กที่สุดในประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๐ –๒๕๐๔

เหตุการณ์สำคัญในอดีตที่ทำให้ประชาชนในหมู่บ้านตำบลจดจำมาถึงวันนี้คือความแห้งแล้ง ตำบลน้ำชำทำไร่ทำนาไม่ได้ผล ช่วงปีพ.ศ. ๒๕๐๕-๒๕๐๙และมีน้ำท่วมใหญ่ ปีพ.ศ. ๒๕๑๓

เครื่องมือที่ใช้ในการประกอบอาชีพที่สำคัญของประชาชนในตำบล ในอดีตไถนา คราดจอบเสียม มีดพร้า เกวียน ครกตำ

อาหารพื้นเมืองในตำบลน้ำชำ แกงแคเนื้อสัตว์ต่างๆ น้ำพริกน้ำปู๋จิ้มผักลวกหรือนึ่ง แกงหน่อไม้ ต๋ำเตา ลาบปลา ส้ามะเขือแจ้ แกงใบตูน(เผือก) หลามบอน แกงหอย

ประเพณีวัฒนธรรมที่สำคัญของหมู่บ้าน การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ การสืบชะตาหมู่บ้าน การเลี้ยงผีปู่ย่า การเลี้ยงผีฝาย ฯลฯ

การแสดงศิลปวัฒนธรรมในหมู่บ้านทั้งอดีตและปัจจุบัน ดนตรีพื้นเมือง การฟ้อนกลองอืด

การแต่งกายของประชาชนในหมู่บ้านทั้งอดีตและปัจจุบัน หญิงนุ่งสิ้นแหล้ เสื้อหม้อห้อม ชายเตี่ยวกี เสื้อหม้อห้อม ปัจจุบัน ตามกาลสมัยนิยม

แหล่งท่องเทียวของหมู่บ้าน ขุนเขาต้นน้ำและอ่างห้วยน้ำปึง วนอุทยานแพะเมืองผี

ลักษณะภาษาพูดของประชาชนในหมู่บ้าน พูดกำเมืองแป้ และปัจจุบันมีคนต่างถิ่นมาอาศัยอยู่มากขึ้นก็มีภาษาพูดมากขึ้น

โบราณสถานและโบราณวัตถุของหมู่บ้าน วัดน้ำชำ แพะเมืองผี

พิธีกรรมความเชื่อของหมู่บ้านตำบล การเอาขวัญคน การส่งเคราะห์ การเลี้ยงแม่ธรณี การเลี้ยงผีปู่ย่า การเลี้ยงผีเจ้าที่ การสืบชะตา คนทรงเจ้า การใช้น้ำมนต์รักษาโรค การใช้คาถารักษาโรค

ปราชญ์ชาวบ้านหรือภูมิปัญญาชาวบ้านในหมู่บ้าน

๑ ชื่อ นายสุนทวน ชลทา เป็นอาจารย์ประจำวัดน้ำชำเพื่อทำพิธีต่างๆ อายุ ๕๖ ปี อาชีพ ทำนา จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ บ้านเลขที่ ๑๖๐ หมู่ที่ ๑ ตำบลน้ำชำ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ ๐๘๔-๗๑๓๑๗๓๖ ด้านการส่งหรือสะเดาะเคราะห์ พิธีเอาขวัญ พิธี มังคะละ งานแต่งงาน พิธีบูชาท้าวทั้งสี่ พิธีสืบชะตาคน เป็นต้น โดยได้สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ศึกษาจากบุคคล หรือ ศึกษาด้วยตนเอง

๒ ชื่อ นางหลั่น คำยวง อายุ ๕๙ ปี อาชีพ ทำนา จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ บ้านเลขที่ ๕๕ หมู่ที่ ๓ ตำบลน้ำชำ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ การทำบายศรีสู่ขวัญ ตามประเพณีล้านนา ใช้ในงานมงคลต่างๆ เช่นงานบวชนาค งานแต่งงาน งานต้อนรับแขกบ้านเมือง ทำจากใบตองกล้วยตานี ดอกไม้สดนำใบตองม้วนเป็นเล็บมือนาง จัดประกอบเป็นช่อ ตกแต่งด้วยดอกไม้ ตามรูป โดยได้ศึกษาจากบรรพบุรุษและเรียนรู้ด้วยตนเองประกอบ มี

๓ ชื่อนายเส่ง สุวรรณรัตน์ อายุ ๗๙ ปี อาชีพ ทำนา จบการศึกษาชั้นประถมศึกาปีที่ ๔ บ้านเลขที่ ๘๗ หมู่ที่ ๑ ตำบลน้ำชำ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ เป็นช่างจักสานไม้ไผ่ ใช้จักสานเป็นของใช้เครื่องมือจับสัตว์เช่น สานทอ สานตระกร้า สานสุ่มขังไก่ สานไซดักกบ ปลา สานเข่ง เป็นต้น โดยเรียนจากบรรพบุรุษและศึกษาด้วยตนเอง สามารถทำขายป็นรายได้ยามว่าง และนำไปใช้เองประหยัดและวัสดุหาง่ายในท้องถิ่นด้วย งานจักสานโดยทั่วไปต้องมีการจักตอกเป็นแผ่นบางๆ ตามขนาดของสิ่งที่จะต้องสาน บางชนิดจักตอกเส้นเล็ก บางชนิดจักเป็นเส้นใหญ่นำมาจักสานตามขั้นตอน

๔ ชื่อนายเสน่ห์ พรหมเสนา อายุ ๘๐ ปี อาชีพ ทำนา จบการศึกษา ชั้น ป.๔ บ้านเลขที่ ๔๐ หมู่ที่ ๔ ตำบลน้ำชำ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ ๐๘๔-๘๐๖๓๙๘๒ เป็นช่างทำเครื่องดนตรีพื้นเมืองเครื่องดนตรีล้านนา ที่ทำมี การทำสะล้อ ซออู้ และซึง โดยได้ศึกษาด้วยตนเองมีพรสวรรค์ด้านช่าง และดูจากตัวอย่างบ้าง นำเอาไม้ขนุน มาเจาะเป็นซึงซึ่งเป็นเครื่องดีด เอากะลามะพร้าวมาทำซออู้ และสะล้อ

๕ ชื่อนางศรีวรรณ วุฒิ อายุ ๖๙ ปี อาชีพ ทำนา จบการศึกษา ชั้น ป.๔ บ้านเลขที่ ๑๐๔ หมู่ที่ ๑ ตำบลน้ำชำ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ ๐-๕๔๖๓-๗๐๘ เป็นช่างทอผ้าพื้นเมืองโดยนำฝ้ายมาทอเป็นผืนด้วยกี่กระตุก แล้วได้ผ้าเป็นผืนสามารถนำไปตัดเป็นเสื้อผ้าได้ตามต้องการ หรือเป็นถุงใส่ของก็ได้ โดยสืบทอดจากบรรพบุรุษและศึกษาด้วยตนเอง

๖ นายเชย วิรัตนชัยวรรณ อายุ ๘๖ ปี อาชีพ ทำนา จบการศึกษา ชั้น ม.๓ บ้านเลขที่ ๙๖ หมู่ที่ ๒ ตำบลน้ำชำ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ ๐-๕๔๖๔-๙๔๖๔เป็นช่างทำไม้กวาดดอกหญ้าใช้กวาดบ้าน กวาดหยากใย่ เป็นวัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่น ได้ศึกษาบรรพบุรุษและศึกษาด้วยตนเอง นำดอกหญ้าที่ตากแห้งมามัดโดยเชือกหรือหวายหรือเส้นพลาสติกประกอบกับไม้ด้ามไม้ไผ่รวก

๗ ชื่อนายสุทัศน์ ครองสุข อายุ ๗๙ ปี การศึกษา ป. ๔ อาชีพ ทำนา บ้านเลขที่ ๑๑๕ หมูที่ ๔ ตำบลน้ำชำ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ โทรศัพท์ ๐๘๗-๑๖๙๑๐๘๙ ทำยาแก้โรคเก้า ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษตัวยาคือไม้ใบยอ รากไม้ไผ่รวกแดงไม้ชมพอดอกสีแดง ตากให้แห้งแล้วนำมาต้มดื่ม

๘ ชื่อนางสมทรง ชุ่มใจ หัวหน้ากลุ่มข้าวแต๋นโบราณ อายุ ๕๒ ปีกาศึกษา ม. ๓ อาชีพทำนา บ้านเลขที่ ๖๑ หมู่ที่ ๓ ตำบลน้ำชำ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ ๐๘๗-๙๕๕๔๕๙๘ได้ทำข้าวแต๋นโบราณซึ่ง อาหารคบเขี้ยว อาหารว่าง ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ ทำจากข้าวเหนียว น้ำตาล น้ำอ้อย น้ำมันพืช เกลือ งาดำ น้ำแตงโม วิธีทำ แช่ข้าวเหนียวไว้ ๑ คืน นึ่งให้สุก ผสมน้ำอ้อย น้ำตาล งาดำ เกลือ น้ำแตงโม คนให้ทั่วเหนียวพอสมควรตักมาใส่แบบพิมพ์กดให้แบน ตากให้แห้ง แล้วนำมาทอดในน้ำมันร้อน ตักออกผึ่งให้แห้ง จัดลงใส่บรรจุภัณฑ์ส่งจำหน่าย

๙. ข้อมูลที่เกี่ยวกับศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมประเพณี บ้านน้ำชำนับถือศานาพุทธ มีศิลปวัฒนธรรมประเพณีแบบล้านนา

ผู้ให้ข้อมูล นายอำนวย วิรัตนชัยวรรณ อายุ ๕๘ ปี บ้านเลขที่ ๑๗๗ หมู่ที่ ๑ ตำบลน้ำชำ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ โทรศัพท์ ๐-๕๔๖๔-๙๓๓๙ มือถือ ๐๘๗-๑๙๐๘๔๔๙

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•ศุกร์•ที่ 04 •มกราคม• 2013 เวลา 09:08 น.• )