รถยนต์โดยสารคันแรกของเมืองแพร่ หมายเลขทะเบียน พร.๐๐๑๘ ประวัติรถยนต์ เกิดขึ้นก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ (พ.ศ.๒๔๘๑)  เป็นรถยนต์ยี่ห้อตระกูล  FORD  ตราหมาชนิด  ๔ สูบเรียง  เครื่องยนต์เบนซิน  สตาร์ทแบบมือหมุมที่มูเล่ย์  สั่งซื้อมาจากประเทศอังกฤษ  ในราคาคันละ ๔,๐๐๐ บาท  (รวมภาษี)  จุผู้โดยสารได้  ๑๔ คน อัตราค่าโดยสารมี ๒ ราคา  นั่งข้างหน้าได้ ๒ คน  ค่าโดยสารคนละ .๒๐ สตางค์ ได้ชมวิว  ทิวทัศน์  และธรรมชาติสองข้างทาง  ที่มีป่าไม้สักอันหนาทึบ  มีสัตว์ป่า สัตว์เลื้อยคลาน  เช่น  เลียงผา  เก้ง  งูเหลือม  ทาก และเต่า วิ่งข้ามถนนเพื่อไปหาแหล่งน้ำธรรมชาติ  นั่งข้างหลังได้ ๒ แถวๆละ ๖ คน ค่าโดยสารคนละ .๑๒ สตางค์  หรือ ๑ เฟื้อง  วิ่งสายในเวียง – ป่าแดง  ระยะทาง ๘ กิโลเมตร  ใช้เวลา  ๑  ชั่วโมง

เมื่อรถวิ่งมาได้ครึ่งทาง จะมาพักที่ศาลาหม่องโพเส่ง  เพื่อให้ผู้โดยสารได้ดื่มน้ำ เข้าห้องน้ำ  และทำธุระส่วนตัว  แล้วจึงวิ่งต่อไปถึงตำบลป่าแดง และวัดพระธาตุช่อแฮ  และขากลับจะบรรทุกเมี่ยงไปส่งในเวียงด้วย  ในหนึ่งวันจะวิ่ง ๒ เที่ยว คือ เที่ยวเช้า และเที่ยวบ่าย (น้ำมันลิตรละ .๒๐ สตางค์ ถังจุได้ ๕๐ ลิตร เติมเต็มถัง ๑๐ บาท)

เจ้าของรถยนต์ นายกิติพงษ์  หรรษ์ภิญโญ (แซ่ห่าน) (คนที่ ๒) นับจากซ้าย เป็นคนจีนไหหลำ  มาตั้งรกรากที่เมืองแพร่  ได้แต่งงานกับแม่ตุ่นแก้ว หรรษภิญโญ (แผ่นทอง)  มีลูก ๑๑ คน ชาย ๕ คน หญิง ๖ คน (บิดานายชาลี  หรรษ์ภิญโญ  ผู้จัดการการไฟฟ้าจังหวัดน่าน ผู้เขียน)  บุคคลในภาพดังนี้  ๑.นายท้ายรถ  (คนเก็บสตางค์ค่าโดยสาร)  ๒.นายกิติพงษ์  หรร์ภิญโญ (เจ้าของรถ)  ๓.สามีแม่นางป๋อก (คนพม่า)  ๔.คนจีนค้าขาย (ไหหลำ)  ๕.บุตรชาย ๖.ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน  ๗.ผู้ใหญ่บ้าน  เตี่ยกิติพงษ์ฯ เล่าให้ฟังว่า  สาเหตุที่ใช้รถยนต์ยี่ห้อ FORD  เพราะเป็นรถที่สำบุกสำบัน  แรงดีเยี่ยม ขึ้นดอยแรงไม่มีตก  วิ่งทางราบประหยัดน้ำมันดี  อะไหล่ก็หาง่ายและดัดแปลงได้เมื่อภาวะคับขัน  เช่น ซี่ล้อรถเมื่อหัก ก็หาไม้แดงเปลี่ยนแทนได้วิ่งหาสตางค์ได้ ไม่ต้องเสียเวลา แตรรถยนต์ก็เป็นแตรยางใช้บีบไม่เปลืองไฟสะดวกดี

สถานที่ถ่ายภาพ สะพานร่องแวง (ขัวร่องแวง) ตำบลร่องกาศ  อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ เมื่อ ๑ เมษายน  ๒๔๘๑ (ช่วงปีใหม่ไทย)  สะพานร่องแวง เป็นสะพานไม้ที่สร้างด้วยไม้สักเกือบทั้งหมดที่เชื่อมระหว่างตัวในเวียงกับอำเภอสูงเม่นและอำเภอเด่นชัย  ในช่วงปีใหม่ไทยของเรานั้น  เตี่ยได้พาครอบครัวและญาติๆ ไปเที่ยวชมสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในจังหวัดแพร่  เช่น  วัดพระบาทมิ่งเมือง  แม่น้ำยม  พระยาไชยบูรณ์  และสะพานไม้สัก  เพื่อไปขอขมาต่อหลวงพ่อ (พระมหาโพธิวงศาจารย์  ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๖ ในปัจจุบัน)  เจ้าอาวาสวัดพระบาทมิ่งเมือง  และสายน้ำยมที่เปรียบเสมือนสายเลือดของคนเมืองแพร่ที่เราได้ดื่มได้กิน  ได้ใช้ในทุกๆ ด้านจะต้องไม่ลืมบุญคุณของธรรมชาติที่ให้เรามา  เตี่จะสอนลูกหลานทำอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี โดยให้คำสอนไว้ว่า “ขอให้ขยันอดทน  อ่อนน้อมถ่อมตน  ซื่อสัตย์  จะไม่มีอดและมีกินตลอดไป”

ชาลี  หรรษ์ภิญโญ (ผู้เขียนบทความ ขอบคุณครับ)

ขอบคุณ สภาวัฒนธรรมจังหวัดแพร่ อวดเก่า แพร่ย้อนยุคเมื่อ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๐๑๑ เวลา ๙:๔๔ น.ที่ส่งบทความให้ครับผม

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•พุธ•ที่ 23 •พฤศจิกายน• 2011 เวลา 08:50 น.• )