เมืองแพร่  หรือเมืองแป้ เมืองเล็ก ๆ ในภาคเหนือ เป็นเมืองที่มีความน่ารักและมีเสน่ห์ ในตัวเอง  แม้ว่าจะไม่ได้เป็นเมืองท่องเที่ยวที่ติดอันดับ ติดอยู่ในโปรแกรมท่องเที่ยวภาคเหนือในระดับต้น ๆ  แต่ถ้าใครที่ได้เข้าเยี่ยมเยือนเมืองแพร่ ก็ต้องติดใจ และต้องหาโอกาสมาเยือนที่แห่งนี้อย่างแน่นอน เมื่อได้มีโอกาสได้เยือนเมืองแพร่ และทำความรู้จักเมืองแพร่มากยิ่งขึ้น  ทำให้เกิดข้อสงสัยอย่างมากมาย คนแพร่ หลายคน นามสกุลที่มีความพ้องกันอยู่ อย่างเช่น นามสกุลที่ขึ้นต้นด้วยคำว่าหงส์  เช่น หงส์หนึ่ง หงส์สอง      หงส์สาม เรื่อยไปจนถึง หงส์สามสิบแปด และก็มีนามสกุล ปราบหงส์ และมีคำว่าหงส์ไปเป็นส่วนหนึ่งของอีกหลาย ๆ สกุล

นอกจากนั้น ยังมีหมู่บ้านในจังหวัดแพร่  ซึ่งชื่อว่า บ้านวังหงส์  ซึ่งเป็นที่มาของสกุลหงส์ คำว่าหงส์ หมายถึง นก ในนิยายถือว่าเป็นนกในตระกูลสูง มีเสียงไพเราะเป็นพาหนะของพระพรหม ในวรรณคดี หรือ หมายถึง  นก จำพวกเป็ด ในวงศ์ Anatidae  ที่มีลำตัวขนาดใหญ่ คอยาว ทีหลายชนิด เช่น   หงส์ขาว หงส์ดำ  ซึ่งหากเขียนคำว่า หงษ์  แล้วพบว่าจะไม่มีความหมายในพจนานุกรม ความเป็นมาของหมู่บ้านวังหงส์ เป็นตำนานเล่าขานสืบต่อกันว่า “บ้านวังหงส์”  ตั้งขึ้นมาก่อน  พ.ศ.  ๒๔๔๐  มีอายุนับถึงปัจจุบันกว่า  ๒๐๐  ปี  บรรพบุรุษของชาววังหงส์ตามประวัติการเล่าขาน  เป็นผู้อพยพมาจากบ้านน้ำคือ  บ้านเชตวันและบ้านประตูมาน  ตำบลในเวียง  อำเภอเมืองแพร่  โดยมาทำมาหากิน  ทำไร่ข้าวโพด  ปลูกข้าวและพืชไร่อื่น ๆ  ในพื้นที่ใกล้หนองน้ำ  ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน  เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่  น้ำใสสะอาดและลึกมากชาวบ้านจึงเรียกหนองน้ำนี้ว่า “วังน้ำลึก”  หนองแห่งนี้เกิดจากการเปลี่ยนทางเดินของลำน้ำยม  บริเวณรอบหนองน้ำมีป่าขนาดใหญ่ซึ่งมีพืชพันธุ์นานาชนิดขึ้นอยู่หนาแน่นเขียวชอุ่มตลอดปี  เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิดอาศัยอยู่  อยู่มาวันหนึ่งได้เกิดสิ่งมหัศจรรย์ขึ้นคือ  มีหงส์สีขาวบริสุทธิ์รูปร่างสวยงามมากคู่หนึ่ง   เป็นหงส์ตัวผู้และตัวเมีย  บินลงมาเล่นน้ำอย่างสนุกสนาน  แล้วจึงบินกลับไป  ซึ่งเป็นภาพมหัศจรรย์ที่ชาวบ้านไม่เคยพบเห็นมาก่อน  จึงได้ปรึกษากันว่าจะตั้งชื่อหนองน้ำนี้ว่า “หนองหงส์”  และตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า  บ้านหนองหงส์  ชื่อหมู่บ้านนี้จึงปรากฎตั้งแต่นั้นมา  ต่อมา ได้มีพระราชบัญญัติการปกครองท้องที่แบ่งออกเป็นหมู่บ้าน  ตำบล และจังหวัด จึงได้เปลี่ยนชื่อบ้านหนองหงส์มาเป็น  บ้านวังหงส์  จนทุกวันนี้  (สันนิษฐานว่าเกิดจากการนำคำว่า “วังน้ำลึก” และ “หนองหงส์”  มารวมกัน)  ต่อมาประมาณ  ๒๔๗๙  ลำน้ำยมได้เปลี่ยนทางเดินกลับมาที่หนองน้ำแห่งนี้อีกครั้งหนึ่ง  ทำให้หนองน้ำกลายเป็นลำน้ำยม  จวบจน  พ.ศ.  ๒๕๑๘  ลำน้ำยมได้เปลี่ยนไปทิศทางเดิมอีกครั้ง  ต่อมากรรมการพัฒนาที่ดินได้จัดสรรงบประมาณพัฒนาแหล่งน้ำบริเวณหนองหงส์ขึ้นในปี  พ.ศ.  ๒๕๔๓  ทำให้บริเวณนี้เป็นที่ร่มรื่นและเป็นแหล่งธรรมชาติอยู่จนปัจจุบันบริเวณบนฝั่งใกล้ๆ  กับหนองน้ำได้มีรูปปูนปั้นหงส์  ๒ ตัวเกาะอยู่บนเสาคอนกรีต   มีรูปร่างสวยงามและสง่างามมาก  ซึ่งไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สร้างและสร้างขึ้นเมื่อใด  ต่อมาเกิดการชำรุดขึ้นตามกาลเวลา  มีพ่อล่านนท์  จันต๊ะสงคราม  ได้ปั้นรูปหงส์คู่ใหม่ขึ้นแทนหงส์คู่เดิม  ต่อมาในปี  ๒๕๒๕  ชาวบ้านวังหงส์ได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างศาลาเพื่อเป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นหงส์  โดยมีพ่อกี  ตื้อยศ  และครูวรเดช  ตื้อยศ  เป็นผู้ปั้น  เพื่อเป็นสัญลักษณ์และเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพบูชาของชาวตำบลวังหงส์  มีการกล่าวขานกันว่า  ก่อนที่จะมีการสร้างรูปปั้นหงส์ขึ้นมานั้น  ผู้เฒ่าผู้แก่เคยบอกว่า  ชาวบ้านมักอยู่ไม่เป็นสุข  มักจะมีเหตุเภทภัยเกิดขึ้นเสมอ  หลังจากได้สร้างหงส์คู่นี้แล้ว  ชาวบ้านได้จัดให้มีพิธีบวงสรวงในวันปากปีของทุกปี  (วันที่ ๑๖  เมษายน  ของทุกปี)  และทำให้ชาวบ้านอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุขตลอดมา  นับแต่นั้นเป็นต้นมาชาววังหงส์จึงได้จัดให้มีพิธีดำหัวหงส์ เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน

จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ ได้เล่าว่าต่อมาเมื่อมีกฎหมายให้ทุกคนต้องมีนามสกุล ชาวบ้านที่อยู่ในบ้านวังหงส์  จึงพากันไปแจ้งชื่อสกุลของตนเอง ซึ่งคนที่ไปเป็นคนแรกเลยตั้งนามสกุลของตนเอง ว่า หงส์หนึ่ง  และคนต่อๆ มาก็ตั้งต่อๆ  กันไปเรื่อยๆ  เป็น หงส์สอง หงส์สาม จนถึง หงส์สามสิบเก้า  ก็เลยมีนามสกุลปราบหงส์ เพื่อยุติการตั้งนามสกุลหงส์เรียงตามตัวเลข

มาลี ทันใจ สภาวัฒนธรรมจังหวัดแพร่