สมัยก่อนระยะทางกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ ต้องใช้เวลาเดินทางถึงสามเดือน อเมริกันถึงกรุงเทพฯ ใช้เวลาเพียง ๑๐๐ วันก็ถือว่าเก่งที่สุดแล้วท่านเขียนเล่าไว้ในหนังสือเล่มหนึ่งว่า “ข้าพเจ้ามาอยู่ในกรุงเทพฯแล้ว  ดูราวข้าพเจ้าหลับไป แล้วตื่นขึ้นมาอยู่ในโลกใหม่ ... ในกรุงเทพฯ ที่ซึ่งข้าพเจ้าหวังจะยึดเป็นภูมลำเนาของข้าพเจ้าต่อไป”  ดร.แดเนียล แมคกิลวารี สุภาพบุรุษนักบุญอเมริกันคนแรกที่ไปเชียงใหม่ผู้กล่าว หรือที่ชาวเมืองชอบเรียกกันว่าพ่อครูเฒ่าและเป็นผู้ที่มีส่วนเปลี่ยนแปลงโฉมหน้านครเชียงใหม่อยู่ไม่น้อย นอกเหนือจากงานเผยแพร่ศาสนาแล้วยังมีอย่างอื่นที่น่าสนใจอีกเป็นอันมาก  หมอแมคกิลวารีและภรรยาได้มีโอกาสเข้าเฝ้าเจ้านายเชียงใหม่สมัยโน้นแล้วเขียนไว้ในบันทึก ทำให้เราได้ทราบถึงจริยาวัตรของเจ้านายเชียงใหม่บางพระองค์สมัยโน้น ใครโง่ ใครฉลาด ใครมีแนวคิดเห็นเป็นอย่างไรต่อความเจริญแผนใหม่ ก็จะได้รู้จากบันทึกของท่าน ในปี ค.ศ. ๑๘๕๘ ซึ่งตรงกับปีพุทธศักราช ๒๔๐๑ ที่นายแพทย์หนุ่มโสดชาวอเมริกันเดินทางมาถึงสยามประเทศ วันที่ ๒๐ มิถุนายน ซึ่งขณะนั้น หมอบลัดเลย์ได้เข้ามาอยู่ในกรุงเทพก่อนแล้ว หมอบลัดเลย์มีที่พักอยู่ใกล้ ๆ กับวัดอรุณราชวราราม และก็ที่ลานวัดอรุณชาวบ้านทั่วไปแรกว่าวัดแจ้ง ก็เป็นที่พักจอดเรือของเจ้านายทางเชียงใหม่พร้อมทั้งบ่าวไพร่บริวารที่เดินทางมาเยือนพระนครหลวง จากความพยายามของหมอบลัดเลย์พวกเจ้าจึงได้เข้าไปรู้จักสนิทสนมกับเจ้านายฝ่ายเหนือได้ไม่ยากนัก พยายามเป็นเพื่อนที่ดี เชื้อเชิญให้ไปเที่ยวโรงพิมพ์และที่บ้าน ปลูกฝีให้เมื่อท่านเหล่านั้นต้องการจะปลูก และแล้วก็เลยเล่าถึงกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ ตอนนั้นตรงกับการปกครองของพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยุคที่เริ่มคบหากับฝรั่ง

หมอแมคกิลวารีเคยเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในขณะเสด็จออกขุนนาง เพื่อทรงรับสาสน์ของประธานาธิบดีเจมส์บิวคานัน แห่งรัฐอเมริกา ท่านยังเขียนไว้ว่า “มีเรือหลวงสองสามลำมาที่กงสุลเขาเชิญสาสน์ของท่านประธานาธิบดีลงในเรือลำแรก วางไว้บนพานทองขนาดใหญ่บนบุษบกมีองครักษ์รักษาการณ์ ๔ นาย และอีกลำหนึ่งสำหรับคณะทูต” หลังจากที่นั่งชมลำน้ำเจ้าพระยาเรื่อยมาเป็นระยะทางประมาณ ๔ ไมล์ เรือก็เทียบท่า มีเสลี่ยงมาคอยรับ ส่วนสาสน์นั้นมีเสลี่ยงพิเศษจัดต่างหากมีกลดกั้น เสลี่ยงสาสน์นำหน้า เสลี่ยงของพวกเรานั่งตามเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง มีเจ้านายพระองค์หนึ่งประทับคอยต้อนรับอยู่ และพาเข้าไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งประทับอยู่บนราชบัลลังก์ ท่านกงสุลได้กราบบังคมทูลพระกรุณาเป็นข้อความสั้น ๆ แล้วก้าวเข้าไปใกล้นำพระราชสาสน์ขึ้นทูลเกล้าถวายต่อพระหัตถ์ ทรงรับแล้วพระราชทานเลขานุการ ราชเลขารุการก็อ่านสาสน์นั้นดัง ๆ พระองค์ทรงแปลข้อความนั้นให้บรรดาเจ้านาย และข้าราชการฟังแล้วประทับยืนทรงกระชับพระภูษาคาดพระองค์ทรงขัดพระแสงดาบทองคำเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานพระหัตถ์แก่คณะกงสุลทุกคน และทรงผายพระหัตถ์ มีพระราชดำรัสตอบ  เราได้รับราชสาสน์ ของประธานาธิบดีบิวคานันเป็นครั้งแรกที่พระที่นั่งใหม่ของเราเพื่อเป็นเกียรติยศแก่ประธานาธิบดีบิวคานัน แล้วก็เสด็จพระราชดำเนินนำคณะกงสุลไปชมรอบ ๆ ท้องพระโรง ทรงชี้ให้ดูรูปยอร์จวอชิงตัน ประธานาธิบดีเพียร์ส สมเด็จพระราชินีวิคตอเรียและเจ้าชายอัลเบอร์ต และมีพระราชกระแสโปรดเกล้าฯ ให้พนักงานที่ตามเสด็จ พาพวกแขกต่างประเทศไปที่ห้องข้างเคียงเพื่อรับประทานอาหารกลางวันซึ่งได้กระแสรับสั่งให้จัดไว้รับรอง ทรงลงแล้วเสด็จขึ้น

หมอแดเนียล กับการเดินทางของท่าน ซึ่งมุ่งไปทางเหนือ หรือที่เรียกกันในสมัยโน้นว่า ภาคพายัพ จะเห็นว่าตอนนั้นเมืองต่าง ๆ ทางเหนือนั้นมีผู้ปกครองตนเองเป็นอิสระ และเจ้าหลวงหรือพ่อเจ้าชีวิตนั้นทรงมีอำนาจใหญ่โต ในสมัยพ่อเจ้ากาวิโลรศสุริยวงศ์นั้น พ่อเจ้าชีวิตต้องเดินทางลงมากรุงเทพฯ สามปีครั้ง เพื่อถวายเครื่องราชบรรณาการ และถือน้ำพระพิพัฒน์ สัตยาต่อพระเจ้าแผ่นดินสยาม เพราะเหตุนี้เองที่ทำให้มีโอกาสเดินทางขึ้นไปเชียงใหม่เพื่อเผยแพร่คริสต์ศาสนาเป็นคนแรกที่นำเอาหนองฝีและยาควินินไปแนะนำให้ชาวเชียงใหม่รู้จัก ตามบันทึกของหมอแดเนียลบอกว่าการปกครองบ้านเมืองได้แบ่งออกเป็นแคว้นและยังได้พูดถึงแคว้นที่หก คือหลวงพระบาง หมอแดเนียลได้เดินทางครั้งแรกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๐พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๖ ถึงชียงใหม่วันที่ ๗ มกราคม ๒๔๐๗ โดยมีหนังสือเดินทางครั้งแรกจากกรุงเทพฯ แต่ทว่าความหวังที่จะได้พบการต้อนรับจากเจ้าเชียงใหม่มิได้เป็นอย่างที่คาดไว้...

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•เสาร์•ที่ 19 •พฤษภาคม• 2012 เวลา 08:57 น.• )