สุภาพบุรุษผิวขาวผู้สูงอายุนั้น เป็นสิ่งแปลกประหลาดมหัศจรรย์สำหรับชาวนครพิงค์ยิ่งนักเขามีรูปร่างอันสูงใหญ่ มีเครายาวสีทอง มีดวงตาสีน้ำเงินแกมเทาอ่อนๆเต็มไปด้วยแววความปราณี ศีรษะล้านเถิกเข้าไป แต่สวนหลังยังมีปอยผมสีทองปกคลุมอยู่มากและมีผิวเนื้อเป็นสีชมพูเรื่อไปทั้งตัว จมูกโด่งแหมเป็นของุ้ม ไม่มีส่วนใดที่จะคล้ายคลึงกับ “คนเมือง” ทั่วไปแม้แต่น้อย มันเป็นวันหนึ่งในฤดูร้อนขณะที่เรือใหญ่สองลำบรรทุกบุคคลแปลกหน้ารวมทั้งสัมภาระถูกบังคับให้ลอยทวนน้ำมาขึ้นบกที่เกาะน้อยทางทิศใต้ของนครพิงค์เชียงใหม่สองบุรุษสตรีผู้มาจากถิ่นไกลได้ก้าวขึ้นจากเรือเหยียบลงแผ่นดินซึ่งไม่เคยรู้จักมาก่อนด้วยปณิธานอันแน่วแน่และพลังใจอันแข็งแกร่งที่จะต่อสู้กับทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อศาสนกิจของ “พระผู้เป็นเจ้า”

อย่างไม่ย่อท้อถอย ทั้งสองได้สำรวมจิตอธิษฐานขอพรจากพระเจ้าอ้อนวอนขอให้พระองค์ทรงช่วยให้กิจของพระเจ้าที่ตนรับมาปฏิบัติจงพบกับความสำเร็จเขาร้องเพลงนมัสการด้วยใจอันเชื่อมั่นว่าจะรู้มาก่อนว่าตนกำลังก้าวขึ้นไปบนผืนแผ่นดินแห่งพุทธศาสนาและไม่มีใครปราถนาการมาของเขาเลยแม้แต่คนเดียว ชาวเมืองหลายคนได้มาด้อมๆมองๆคอยมาดูเขาอยู่ด้วยความสนใจ และอดแปลกใจไม่ได้ว่านี่มันมนุษย์หรือยักษ์มาจากไหนกันหนอ จึงได้มีรูปร่างผิวพรรณผิดแปลกจากที่เคยเห็นถึงปานฉะนี้แต่บุรุษสตรีทั้งคู่ก็ไม่ได้แสดงกิริยาอาการว่าจะเป็นศัตรูกับใคร ตรงกันข้ามเขากลับยิ้มและหัวเราะอย่างเป็นกันเองกับทุกๆคนอย่างฉันมิตรมีอะไรก็เอามาอวดใครขอก็ให้ไม่หึงหวงสถานที่ ที่เขาขึ้นจากเรือนั้นอยู่ห่างจากเวียงหลายร้อยกิโลเมตรดังนั้นในต่อมาเขาก็เดินทางต่อเข้าไปถึงในเวียง และขอเฝ้าเจ้ามหาชีวิตเจ้าเหนือหัวแห่งนครพิงค์เชียงใหม่ทันที แต่เมื่อปรากฏว่าเจ้าชีวิตไม่อยู่ ปัญหาจึงเกิดขึ้นว่าจะให้บุคคลต่างชาติทั้งสองพักอยู่ที่ไหนดี สมัยนั้นชาวเมืองไม่รู้จักคำว่า “ฝรั่ง” คงรู้จักว่าอันมนุษย์ที่จมูกโด่งๆตาคม ผิวดำ ว่านั่นคือ “กุลวา” ที่มีผิวดำก็เรียกกันว่า “กุลวาดำ” ที่ผิวขาวก็เรียกกันว่า “กุลวาขาว” ทั้งหลายก็เอ่ยถึงบุคคลทั้งคู่ในนามของ “กุลวาขาว” เพราะไม่ทราบชื่อ “กุลวาขาว” ได้อาศัยศาลาแห่งหนึ่งเป็นที่พัก มีคนมามุงดูกันคับคั่ง แต่กุลวาขาวทั้งสองก็ไม่ได้ว่าอะไรกลับแสดงความดีใจ ถามทุกข์สุขและตรวจร่างกายให้กับคนที่เจ็บไข้ได้ป่วยและให้ยารักษาเสียอีก “เขามาสอนศาสนา “เยโซ” และชักชวนให้เรารับเอา “พระเจ้า” นอกจากนี้เขายังเอายาเม็ดขาวๆรูปร่างเหมือนไข่จิ้งจกมาแจกให้พวกเรากินโดยไม่คิดเงิน” “เขาจับเอาตัวเราไปลูบคลำตามท้อง ตามคอ และที่อื่นๆแล้วก็เอายาให้กิน หลายคนเป็นไข้ป่า สั่นงกๆราวกับผีเข้า พอกินยาของเขาเข้าไปสองวันเท่านั้น หายเป็นปลิดทิ้ง”  “เขารักษาโรคคอพอกก็ได้ แล้วยังมีหนองฝีมาปลูกให้เพื่อป้องกันมิให้เป็นโรคไข้ทรพิษอันร้ายแรงซึ่งทำให้พวกเราเจ็บป่วยล้มตายและมีหน้าตาเป็นแผลหน้าเกลียดอีกด้วย”  เหล่านี้คือเสียงลือจากปากหนึ่งไปอีกปากหนึ่ง กระทั่งกระจายไปไกลแทบทุกตำบล เจ้าชีวิตถึงแม้จะทรงทราบเรื่องการเผยแพร่ของบุรุษผู้นี้ก็ไม่ว่ากระไร เพราะทรงเห็นความจำเป็นที่ราษฎรจะไดมีหมอมาช่วยบำบัดโรคภัยไข้เจ็บโดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน กาลเวลาล่วงไปคนทั้งหลายก็พากันขนานนามท่านทั้งสองเสียใหม่ว่า “พ่อครู” หรือ “พ่อครูเฒ่า” ไม่มีใครรู้จักชื่ออันแท้จริงของบุคคลทั้งสอง รู้แต่ว่าเป็นพวก “เยโซ” แต่ก็ยังมีคนนับถือและนิยมกันมากเพราะมีคุณสมบัติพิเศษดังกล่าว จนสองปีผ่านไป งานเผยแพร่ศาสนาของเขาก็แผ่กว้างออกไปทุกที มีคนยอมมารับศีลเข้าเป็นคริสต์ศาสนิกกันมากในจำนวนนี้มีชายสองคนเคยบวชเรียนมาแล้วชื่อ “หนานไชย” กับ “น้อยสัญญา” แต่การผละจากศาสนาพุทธนั้นไปนับถือคริสต์นั้นก็ไม่มีใครว่า สาเหตุที่จะเกิดเรื่องใหญ่นั้นมาจากการขุดเหมืองทำฝายอันเป็นงานส่วนรวมที่ทุกคนต้องช่วยกันทำ รวมทั้งหนานไชยกับน้อยสัญญาด้วยคนทั้งสองได้ไปทำงานเป็นปกติแต่พอถึงวันอาทิตย์ที่ชาวคริสต์ถือว่าเป็นวันซะบาโตต้องหยุดทำงานทั้งสิ้น หนานไชยกับน้อยสัญญาก็เลยหยุดไม่ไปทำงานดังกล่าว ความทราบถึงพ่อเจ้าชีวิตกาวิโลรศ ซึ่งในสมัยนั้นยังทรงอำนาจอยู่มาก จึงได้สั่งให้นำคนทั้งสองมาไต่สวนด้วยพระองค์เอง ทรงถามว่า “วันอาทิตย์เจ้ากินข้าวหรือไม่”  “กิน พระเจ้าข้า” หนานและน้อยคู่นั้นตอบ “วันอาทิตย์ น้ำมันหยุดไหลหรือเปล่า” “ไม่หยุด พระเจ้าข้า” “ถ้าเช่นนั้น จ้าทั้งสองก็ต้องทำงาน จะหยุดเสียมิได้เพราะคนอื่นเขาทำงานกันเจ้าไม่ทำก็จะต้องได้รับโทษเพราะเป็นการกินแรงเอาเปรียบผู้อื่น” แต่คนทั้งสองไม่ยอมทำ อ้างว่าเป็นการละเมิดบทบัญญัติของพระเจ้า เจ้าชีวิตก็พิโรธหนักที่เห็นพลเมืองของพระองค์ขัดขืนกระด้างกระเดื่องเพราะเอาใจไปนับถือพระเจ้าชาติอื่น จึงได้มีรับสั่งให้นำคนทั้งสองไปประหารชีวิต โดยอ้างว่าพระองค์มีเอกสิทธิ์ที่จะปฏิบัติเช่นนั้นได้ในฐานะเจ้าหลวง หรือเจ้าชีวิตคนทั้งปวง ตามประวัติของเจ้าชีวิตพระองค์นี้นัยว่าเป็นผู้มีอาชญาสิทธิ์และเด็ดขาดยิ่งนัก บางคนก็ว่าเป็นเจ้าที่ดุร้ายเต็มไปด้วยอำนาจบารมี แต่พ่อครูเฒ่ามิได้ย่อท้อแต่คงทำงานหนักตามปกติเขาได้เข้าไปสนิทคุ้นเคยกับพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ ซึ่งตอนนั้นยังเป็นเพียงเจ้าอุปราชอินทนนท์ จนคุ้นเคยกับเจ้าหญิงในราชวงค์หลายพระองค์ แต่ถึงกระนั้นประชาชนที่ทราบเรื่องการประหารชีวิตหนานไชยและน้อยสัญญาต่างก็พากันเข็ดขยาดไม่กล้าเข้าไปคริสต์ศาสนิกอีก การเผยแพร่ก็ซบเซาไปชั่วระยะหนึ่ง แต่พ่อครูเฒ่าก็ยังพยายามต่อไป เขาเชื่อมั่นในน้ำพระทัยของพระผู้เป็นเจ้าซึ่งให้เขานำเอาข่าววิเศษมาเผยแพร่เหมือนบทนมัสการตอนหนึ่งว่า “เรามีเรื่องราวที่จะเล่าแก่มนุษย์ชาติ ให้เขาอาจกลับใจบังเกิดใหม่ เป็นเรื่องความจริงและพระเมตตาเป็นเรื่องความสุขความสว่าง” จากเสียงร้องและทำนองเพลงอันไพเราะและการแสดงออกอย่างอ่อนหวานเอาอกเอาใจเช่นนี้ ประชาชนก็พากกันเห็นใจแต่ไม่กล้าออกหน้า ตราบจนกระทั่งพระเจ้าเหนือหัวเสด็จลงไปกรุงเทพฯ และกลับมาพร้อมกับอาการประชวรถึงแก่ทิวงคต เจ้าอุปราชอินทนนท์ไดครองราชย์สมบัติต่อมา จึงเป็นการสะดวกที่พ่อครูจะได้ประกอบภารกิจต่อไป โดยไม่มีใครขัดขวาง มีเหตุอันเป็นส่วนช่วยให้การเผยแพร่ศาสนาของพ่อครูอยู่อย่างหนึ่งคือ สมัยนั้นพากันรังเกียจไม่อยากคบหาสมาคมกับคนที่เป็นผีกะหรือผีปอบ จนบางรายถึงกับถูกขับไล่ไสส่งหรือคว่ำบาตรเอาทีเดียว เลยเป็นโอกาสให้พ่อครูได้เข้าไปใกล้ชิดกับพวกผีกะหรือผีปอบพวกนี้มากขึ้น จนพวกนี้พากันหันมานับถือคริสต์กันหมดนี่เองเป็นชัยชนะชั้นต้นของพ่อครูเฒ่าแต่ตอนหลังมีอุปสรรค์ประเพณีแต่งงานของชาวบ้าน ทำให้เป็นเรื่องอื้อฉาวใหญ่โตไม่อาจตกลงกันได้ แม้เจ้าหลวงอินทวิชยานนท์ก็ไม่อาจตัดสิน พ่อครูจึงทูลถวายฎีกา แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอให้ทรงรับรองสิทธิมนุษยชนในการนับถือศาสนาและราษฎรต้องมีสิทธิ์ในการประกอบพิธีหรือมงคลสมรสตามใจชอบพ่อครูเฒ่าได้รับชัยชนะอย่างงดงามและเป็นคนแรกที่หาญเข้าสู้เพื่อสิทธิอันนี้ ประกาศพระบรมราชโองการนั้นลงวันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๒๑ “กิจการทางศาสนา และทางอาณาจักรย่อมไม่มีการขัดแย้งกัน ผู้ใดที่ใคร่จะนับถือศาสนาใดด้วยจิตใจศรัทธาและเหมาะที่จะนับถือได้ ก็อนุมัติไม่มีข้อขีดขั้นความรับผิดชอบอันจะเกิดแต่การนับถือศาสนานั้นขึ้นอยู่กับตับบุคคลนั้นเอง หากได้มีกฎหมายหรือประเพณีของไทย หรือสนธิสัญญากับต่างประเทศที่รู้จักถือถือกีดกันการนับถือศาสนาและพิธีกรรมของผู้ใดไม่” พ่อครูเฒ่าได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด ในวาระที่สุดมันเป็นชัยชนะที่มีผลให้เกิดมีโบสถ์ หรือโรงสวดขึ้นทั่วนครเชียงใหม่พ่อครูเฒ่าผู้นี้มีชื่อเป็นที่รู้จักว่า ดร.แดเนียล แมคกิลวารี มิชชั่นนารีคนแรกที่เข้าไปเผยแพร่ศาสนาในเมืองนพบุรีศรีพิงค์ไชยเชียงใหม่”

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อาทิตย์•ที่ 20 •พฤษภาคม• 2012 เวลา 14:15 น.• )