ขุนเจื๋องราชบุตรผู้เกิดมาในราศีอันประเสริฐของขุนจอมธรรมแห่งเมืองภูกามยาวหรือพะเยา ผู้เกิดมามีเทพยาดานำเอาแส้ทิพ ดาบทิพ และคณฑีทิพ มาวางไว้ข้างพระวรกาย และผู้เป็นที่โหรทำนายว่าจะได้เป็นจักรพรรดิราชปราบชมพูทวีป “ขุนเจื๋องเป็นวีรบุรุษแห่งการสงคราม” เมื่อพระองค์มีพระชนมายุได้สามขวบปี พระมารดาก็ประสูติราชบุตรอีกองค์หนึ่งพระบิดาพระราชทานนามว่า “ขุนชอง” พระกุมารทั้งสองครั้นเจริญวัยขึ้นมาก็ได้ศึกษาศิลปศาสตร์เชิงช้างเชิงม้าและเพลงอาวุธต่าง ๆ จนเชี่ยวชาญชำนาญ พอพระชนมายุได้สิบหกพรรษา ขุนเจื๋อง ได้ออกไปคล้องช้างที่เมืองน่าน พระยาน่านชื่อว่า “พละเทวะ” เกิดชอบพอพระทัยจึงยกราชธิดาทรงนามว่า “จันทรเทวี” ให้เป็นชายาของขุนเจื๋อง ต่อมาขุนเจื๋องเสด็จคล้องช้างที่เมืองแพร่ พระยาแพร่ก็ยกธิดาชื่อว่า “นางแก้ว” กษัตรีให้เป็นชายาอีก ขณะนั้นพระองค์ยังมีอายุเพียงสิบกว่าปีถือว่ายังเยาว์วัยมาก (คนโบราณเขาว่าสูงใหญ่กว่าคนปัจจุบันมาก)

ต่อมาขุนจอมธรรมพระราชบิดาก็เสด็จทิวงคต ขุนเจื๋องราชโอรสก็ได้ขึ้นครองราชย์สมบัติแทน พอล่วงมาได้หกปีขุนชิณซึ่งเป็นพระเชษฐาของขุนจอมธรรม (พี่ชายของพ่อ) ครองเมืองหิรัญนครเงินยาง ไม่สามารถจะต่อสู้รักษาบ้านเมืองไว้ได้จึงใช้คนถือหนังสือไปส่งให้ขุนเจื๋องเป็นผู้หลานชายบอกว่า บัดนี้ มีข้าศึก “ชาวแกว” สมัยนั้นเขาเรียกว่าพวกญวนอานามว่าแกว ข้าศึกชาวแกวก็คือญวน ว่าบัดนี้ข้าศึกชาวแกวรี้พลสกลไกรมาเป็นจำนวนมากนัก ขอเชิญเจ้าขุนเจื๋องผู้หลานได้ยกพลโยธาไปช่วยลุงด้วยเถิด พอได้รับพระราชสาส์นของสมเด็จลุงก็มิได้รอช้าสั่งเกณฑ์พลเมืองและหัวเมืองขึ้นทั้งปวงคือเมืองพร้าว เมืองลอง เมืองพาน เมืองเทิง และอีกหลายหัวเมือง รวมไพร่พลได้สองแสนคน พร้อมด้วยช้าง ๗๐๐ ม้า ๓,๐๐๐ ออกตั้งประชุมพลที่ตำบลดอนไชยแล้วก็ยกพลโยธาเดินทางไปยังเมืองหิรัญนครเงินยาง ขุนเจื๋องยกทัพไปถึงก็เข้าต่อกรกับทัพแกวทันทีแบบไม่ให้ข้าศึกรู้ตัวว่ามีทัพอื่นยกมาช่วย การเข้าสู้รบแบบสายฟ้าแลบทำให้ฝ่ายข้าศึกพ่ายแพ้อย่างราบคาบ ขุนเจื๋องเมื่อชนะศึกได้เข้าเฝ้าพระเจ้าลุง ทูลความให้ทรงทราบ ขุนชิณมีความยินดีในชัยชนะของหลานชายเป็นยิ่งนัก เพื่อตอบแทนความดีความชอบของเจ้าหลานชาย พ่อขุนแห่งหิรัญนครเงินยางจึงยกธิดาชื่อเจ้าหญิงอั้วคำคอนเมืองให้อภิเษกเป็นฉายาขุนเจื๋องแต่เพลานั้น (ตอนนี้ขุนเจื๋องมีภรรยา ๓ คนแล้ว) ขุนเจื๋องทรงมอบราชสมบัติเมืองพะเยาให้แก่ราชบุตรที่มีชื่อว่าลาวเงินเรืองครอบครอง ส่วนเมืองหิรัญนครเงินยางก็ให้สมเด็จลงขึ้นครองดังเก่า ส่วนพระองค์ยกรี้พลไปรบกับเมืองล้านช้าง ได้อาณาจักรล้านช้าง แล้วยกไปรบเมืองแกวคือ ญวนอานามศัตรูเก่าของเมืองหิรัญนครเงินยางอีก เพราะตอนนั้นพระองค์ได้รู้กำลังและความสามารถของข้าศึกว่าพระองค์สามารถรบชนะได้จึงเกิดความฮึกเหิมประกอบกับความสามารถและความชำนาญการรบที่นับวันยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ความมานะในการทำศึกขุนเจื๋องได้ยึดอาณาเขตของประเทศอานาม และล้านช้าง ทำให้เกียรติยศระบือลือลั่นไปทั่วทุกทิศานุทิศ นับเป็นกษัตริย์ที่ทรงมีเดชานุภาพมากที่สุดในยุคนั้น ถึงตอนนี้พระยาแกวหรือเจ้าเมืองญวนได้ยกราชธิดาให้ชื่อว่าพระนางอู่แก้ว ด้วยเดชานุภาพในการทำสงครามได้ชัยชนะดังนี้ ท้าวพระยาสามนต์มั้งหลายอันมีพระยาห้อร่มฟ้าเก๊าพิมานเป็นประธานก็มาชุมนุมกัน ณ ตำบลภูเหิดในเมืองแกว กระทำการอันเป็นพิธีกรรมปราบดาภิเษกขุนเจื๋องให้เป็นพระยาจักรราชในเมืองแกวคืออานามในปีนั้น ถือว่าพระองค์ได้เป็นใหญ่นอกประเทศไทย เป็นเทพเจ้าแห่งสงครามโดยแท้ ลองคิดดูการยกทัพโยธาข้ามป่าข้ามเขาไปไม่ใช่ระยะทางใกล้ แต่ด้วยความมุ่งมั่นจึงได้รับชัยชนะอย่างงดงามกระทั้งพวกนั้นยอมยกให้เป็นอ๋องครองเมืองแกว อันพระยาห้อร่มฟ้าเก๊าพิมานนั้นก็เป็นกรุงจีนใหญ่โตมิใช่น้อย พอขุนเจื๋องได้รับตำแหน่งเจ้าเมืองแกวเสร็จแล้วก็เลยขอให้พระยาห้อร่มฟ้าเก๊าพิมานแปงลายจุ้มลายเจีย (ลายจุ้มลายเจียหมายถึงตราตั้ง) ขุนเจื๋องขอให้เจ้ากรุงจีนทำตราตั้งให้แก่ลูกชายที่ชื่อลาวเงินเรืองให้เป็นพระยาครองเมืองเชียงราย ส่วนตัวขุนเจื๋องพระยาจักราชแห่งเมืองแกวก็ครองราชย์สมบัติอยู่ ณ เมืองแกวอานามได้ ๑๔ ปี มีราชบุตรกับพระนางอู่แก้ว ๓ องค์ องค์ที่หนึ่งชื่อท้าวอ้ายผาเรือง องค์ที่สองชื่อท้าวยีคำหาว องค์ที่สามชื่อท้าวสามชุมแสง พอเติบโตเจริญวัยขึ้นมาพระยาจักรราชก็ยกราชสมบัติเมืองแกวให้แก่ท้าวอ้ายผาเรือง ราชโอรสองค์ใหญ่ ให้เจ้าท้าวยี่คำหาวไปครองเมืองล้านช้าง ให้เจ้าสามชุมแสงไปครองเมืองนนทบุรีคือเมืองน่าน ส่วนขุนเจื๋องยกพลโยธาเที่ยวปราบปรามเมืองต่าง ๆ เรื่อยไปจนถึงเมืองแกวแมนตาทอบขอบฟ้าตายืน คือเมืองเขมรแล้วยกไปถงฝั่งทะเล นับเป็นการทำสงครามที่แผ่ขยายอาณาเขตกว้างไกลที่สุดในสมัยนั้น แต่พระองค์ทรงชราเสียแล้ว แม้น้ำพระทัยจะกล้าแข็งเพียงใด ในวาระที่สุด เมื่อพระยาแกวแมนมีรี้พลโยธาหาญมากมายทำสะพานหินข้ามแม่น้ำออกมาต่อรบด้วยกำลังพลที่เหนือกว่ากันมาก แต่ขุนเจื๋องก็ไม่ยอมถอยแม้แต่ก้าวเดียวด้วยขัตติยะมานะของกษัตริย์นักรบผู้เหี้ยมหาญ พระองค์ทรงทอดพระเนตรเหล่าข้าศึกที่ไหลเข้ามาดุจดังคลื่นในมหาสมุทร แต่ก็มิได้สะดุ้งกลัวกลับทรงมุมานะขับช้างพระที่นั่งออกไปณรงค์กับข้าศึกเป็นสามารถ แต่ชะตาถึงฆาต พระยาจักราชขุนเจื๋องผู้เคยปราบข้าศึกราบเรียบมาเกือบตลอดพระชนม์ชีพก็ต้องอาวุธข้าศึกสิ้นชีพตักษัยอยู่กับคอช้างพระที่นั่ง เป็นการตามอย่างกล้าหาญสมชาติกำเนิด พวกไพร่พลได้กันเอาพระศพหนีข้าศึกกลับมายังนครหิรัญเงินยางจนได้ ตอนสิ้นพระชนม์ชีพอายุได้ ๗๗ พรรษา ที่ทรงชรามากแล้ว ท่านขึ้นครองเมื่ออายุ ๒๖ ครองลานนาไทยได้ ๒๔ ปี ได้ปราบล้านช้าง เมืองแกวและครองเมืองแกวอยู่ ๑๗ ปี สำหรับชีวิตของมหาบุรุษผู้หนึ่งซึ่งเกิดมาเพื่อการศึกสงครามแล้ว ก็นับว่าพระองค์เป็น “หนึ่ง” ในประวัติศาสตร์ที่ควรจดจำรำลึกไว้เลยทีเดียว

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•พุธ•ที่ 11 •มกราคม• 2012 เวลา 21:17 น.• )