พุทธศาสนากาลล่วงแล้วได้ ๑๔๖๑ พรรษา มหานครโยนกภายใต้การปกครองของพระองค์พังคราช หย่อนอำนาจลง พวกขอมเมืองเสลากลับกำเริบตั้งแข็งเมืองขึ้น เจ้านครโยนกไม่สามารถจะปราบปรามเอาชนะได้ พวกขอมซึ่งมีกำลังรีพลกล้าแข็งก็ยกเข้าตีป้อม เอานครโยนกไว้ได้ พระยาขอมขับพระองค์พังคราชกับราชเทวีออกไปอยู่ที่เวียงสีทวงริมน้ำแม่สายทิศตะวันตกเฉียงเหนือแห่งโยนกแล้วขอมก็เข้าเมืองเป็นใหญ่อยู่ในเวียงโยนกตั้งแต่บัดนั้นหนึ่งปีที่เมืองเวียงสีทวง ราชเทวีแห่งองค์พังคราชก็ประสูติราชกุมารองค์หนึ่ง พระบิดาผู้นิราศจากวังเวียงออกมาอยู่ ณ เวียงน้อยทรงปรารภกับชายาว่า “ลูกเราเกิดมาในยามที่เราได้รับทุกขเวทนาต้องพลัดที่นาคลาที่อยู่ จำจะให้ชื่อว่า เจ้าชายทุกขิตกุมาร” องค์พังคราชทรงเอ็นดูพระโอรสองค์นี้มาก เพราะทรงรู้สึกผิดที่ทำให้พระราชเทวีและพระโอรสต้องลำบากเพราะความ ไม่เข้มแข็งของพระองค์ พระเจ้าพังคราช ทรงรวบรวมไพร่พลและชาวบ้านที่จงรักภักดี สถาปนาเมืองใหม่ ตั้งอยู่ ณ ที่ เวียงสีทวง นี้ โดยเป็นเมืองขึ้น ที่ต้องส่งส่วยแก่ขอม และขอมจะไม่ยกทัพมารุกรานอีกหากเวียงสีทวงยังคงส่งส่วยไปให้ตามกำหนด

เมื่อเจ้าชายทุกขิตกุมารได้สองพรรษา พระมารดาก็ทรงสุบินนิมิตว่ามีช้างเผือกผู้ตัวหนึ่งในกลางบ้าน แล้วแล่นไล่ไปทางทิศทักษิณขณะนั้นพระนางทรงครรภ์ได้ประมาณหนึ่งเดือน ครั้นเมื่อเวลาล่วงไปเจ็ดเดือน ราชเทวีแห่งองค์พังคราชก็เกิดความใคร่คิดจะปรารถนาที่จะได้มาซึ่งเครื่องสรรพายุทธภัณฑ์ต่าง ๆ เป็นที่มหัศจรรย์ พระสวามีก็ขวนขวายหามาให้ครบทุกสิ่ง ครั้นพระครรภ์ครบถ้วนทศมาสพระนางก็ประสูติพระราชกุมารในวันอาทิตย์แรม ๘ ค่ำเดือนหก (คือเดือนสี่ใต้) ปีมะเส็ง มหาศักราชได้ ๒๘๓ ปี พุทธศักราช ๑๔๖๓ เวลารุ่งอรุณ พระราชกุมารมีวรรณะผุดผ่องและสรีระรูปลักษณะงามดุจพรหม พระบิดาจึงขนานนามว่า “พรหมกุมาร”

พระเจ้าพังคราชให้ เจ้าชายทุกขิต ศึกษาวิทยาการต่างๆสำหรับผู้ที่จะเป็นกษัตริย์จนเชี่ยวชาญ ส่วนเจ้าชายพรหมนั้นครั้นอายุได้ ๗ ขวบ ชอบศึกษาด้านการรบ การใช้อาวุธรวมถึงตำรับพิชัยสงครามต่างๆ พระมารดาจึงพระราชทานอาวุธต่างๆ ให้ฝึกฝน โดยมี พระอาจารย์เดช ซึ่งติดตามพระเจ้าพังคราชมาจาก โยนกนครเป็นผู้ฝึกสอนให้ และมีจ้อยบุตรชายของพระอาจารย์เดชเป็นคู่ฝึกซ้อมและเพื่อนสนิทกับเจ้าชายพรหมด้วยจนกระทั้งเจ้าชายพรหมในวัย ๑๓ พรรษา ชวนจ้อยเข้าไปซุกซนในป่า ทั้งสองพบงูตัวใหญ่อยู่ในป่า จ้อยคิดลำพองคิด จะลองวิชาที่เรียนมาจึงตรงเข้าไปหวังจะฆ่างูใหญ่นั้น เจ้าชายพรหมเข้าไปห้ามไว้จนเกือบจะถูกงูใหญ่กัด งูใหญ่จึงได้เลื้อยหนีเข้าป่ารกไป ความเป็นมหาราชได้ปรากฏในสุบินนิมิต ภายในเดือน ๗ ขึ้น ๘ ค่ำ วันอังคารยามค่อนแจ้ง พรหมกุมารนิมิตฝันเห็นเทพยาดาลงมาบอกว่า “พรหมกุมารถ้าเจ้าใคร่อยากได้ช้างมงคลตัวประเสริฐ รุ่งเช้าวันนี้เจ้าจงตัดขอไม้ไผ่ไร่ถือไป แล้วเจ้าจงไปล้างหน้าที่แม่น้ำของ (แม่น้ำโขง) แล้วเจ้าจักได้เห็นช้างเผือกล่องน้ำมาสามตัวถ้าเจ้าจับได้ตัวที่ ๑ จะปราบได้ทั้งสี่ทวีป ถ้าจับได้ตัวที่ ๒ จะปราบได้แต่ชมพูทวีปแต่ทวีปเดียว ถ้าจับได้ตัวที่ ๓ จะปราบได้แว่นแคว้นล้านนาไทยประเทศของดำทั้งมวล” แล้วเทพยดาบอกแล้วก็กลับไป พรหมกุมารสะดุ้งตื่น พอรุ่งแจ้งจำความฝันได้อย่างแม่นยำ แต่พรหมกุมารถูกคาดโทษจากพระบิดาและพระมารดาห้าม ไม่ให้ออกนอกเขตราชฐานเนื่องจากไปซุกซนจนเกือบถูกงูใหญ่กัด แต่เจ้าชายอยากได้ช้างเผือกมาถวายพระบิดาให้สมพระเกียรติยศ จึงชวนจ้อยหนีออกจากวังพร้อมบริวาร ๕๐ คน และมุ่งหน้าไปยังแม่น้ำขละนทีคือแม่น้ำโขงตามที่เทพยาดาบอกไว้ เมื่อไปถึงก็ทรงล้างหน้าล้างตาแล้วนั่งคอยอยู่ริมฝั่งตาจ้องออกไปที่กลางน้ำอย่างแทบจะไม่กระพริบในมือถือขอไม้ไผ่ไร่กระชับแน่น พวกบริวารก็ใจเต้นตึก ๆ ไป ตาม ๆ กันพรหมกุมารก็นึกใจอยู่ตลอดเวลาว่า “ช้างเผือก ช้างเผือก นี่เราจะพบช้างเผือกจริงหรือไม่หนอ”

ครู่หนึ่งผ่านไป พรหมกุมารก็เหลือบเห็นสิ่งมหัศจรรย์ คืองูตัวหนึ่งมีลักษณะสีเหลืองเลื่อมเป็นมันระยับใหญ่ยาวยิ่งนักเลื้อยล่องน้ำมาใกล้ฝั่งที่พรหมกุมารกับบริวารนั่งอยู่ เจ้าจ้อยซึ่งคะนองอยากจะจับงูอีก แต่ถูกเจ้าชายพรหมห้ามไว้ งูใหญ่ตัวนั้นเลื้อยหายไปไม่นานนักมีงูตัวใหญ่ผ่านมาอีก เจ้าชายพรหมก็ห้ามเจ้าจ้อยไม่ให้ทำร้ายงู เจ้าชายพรหมเริ่มแปลกใจว่าทำไมถึงไม่มีช้างเผือกผ่านมาให้คล้องเสียที นี่เรายังจำได้ว่าเทพยดาให้มาคอยจับช้าง แต่ไม่เห็นมีช้างเห็นแต่งูใหญ่ชะรอยจะเป็นงูนี่เอง คิดแล้วก็รวบรวมกำลังใจคราวนี้เป็นไรก็เป็นกันต้องจับให้ได้เพราะเป็นตัวสุดท้ายแล้ว แล้วดำริว่า “เราจงมาช่วยกันจับงูตัวนี้ให้จงได้ จะเป็นอันตายร้ายดีประการใดก็ตามทีเถิด” ทันใดนั้นงูใหญ่ตัวที่สามก็โผล่มา เจ้าชายตัดสินใจใช้ขอในมือ เหวี่ยงไปคล้องงูใหญ่ไว้ได้

อัศจรรย์ยิ่ง บัดดลนั้นเอง งูใหญ่ตัวเท่าลำตาลกลายเป็นช้างเผือกบริสุทธิ์ผุดผ่อง พ่วงพีงาม เจ้าชายไม่รอช้าโดดขึ้นขี่เหนือคอช้างแล้วขอไม้ไผ่ไร่เกาะเกี่ยวขับไสจะให้ขึ้นจากน้ำช้างนั้นไม่ยอมขึ้น คงลอยทวนน้ำอยู่เจ้าชายพรหมจนปัญญาก็ใช้เด็กบริวารให้ไปกราบทูลความแก่ราชบิดาให้ทรงทราบเรื่องช้างเผือก องค์พังคราชทราบความแล้วปรึกษาโหราจารย์มาทำนายถึงวิธีคล้องช้างเผือก ซึ่งทรงได้รับการถวายคำแนะนำว่าให้นำทองคำหนักพันหนึ่ง(เท่ากับหนึ่งชั่ง) ตีเป็นพาง(กระดึง) แล้วนำไปคล้องช้างขึ้นมา โดยให้เจ้าชายทุกขิตเป็นผู้ทำหน้าที่นี้แทนเจ้าชายพรหม ทำให้พระราชเทวีทรงไม่พอใจพระเจ้าพังคราช เพราะเจ้าชายพรหมเป็นคนที่พบช้างเผือกก่อนเจ้าชายทุกขิตคล้องช้างขึ้นมาได้สำเร็จ ทำให้พระราชบิดาภาคภูมิใจมาก ทรงพระราชทานชื่อให้ช้างเผือกว่า “ช้างพางคำ” หลังจากที่ เวียงสีทวง ได้ช้างพางคำมาก็มีแต่ ความเจริญก้าวหน้า ทั้งด้านทรัพย์สินแก่กำลังพลซึ่งพระเจ้าพังคราชทรงให้ฝึกซ้อมไพร่พลให้พร้อมรบให้ชำนาญในวิธียุทธ์อยู่เสมอ และสร้างสมอาวุธยุทธภัณฑ์ไว้เป็นจำนวนมาก รวมทั้งเปลี่ยนชื่อเวียงสีทวงเป็น “เวียงพางคำ” ตามชื่อช้างเผือกคู่พระบารมี เจ้าชายพรหมทรงดีพระทัย ที่สามารถเป็นผู้ชี้ทางให้พระบิดาได้ช้างเผือก มาแม้ว่าพระองค์จะไม่ได้เป็นผู้คล้องช้างเผือกขึ้นมาจากน้ำได้ด้วยพระองค์เอง แต่ก็ทรงพอพระทัยในหน้าที่ ที่พระองค์ทรงกระทำไป

เมื่อถึงกำหนดที่จะต้องส่งส่วยแก่ขอม พระเจ้าพังคราชจึงคิดแข็งเมือง ทำให้พระยาขอมกริ้วมาก และแต่งทัพมายังเวียงพางคำเจ้าชายพรหมเจริญวัยจนถึง ๑๖ พรรษา มีน้ำพระทัยแล้วกล้าและมีความเชี่ยวชาญในการใช้ศาสตราวุธทุกประเภท จึงอาสาพระบิดาออกไปรบกับพระยาขอม พระเจ้าทุกขิตกุมารซึ่งทรงพระประชวรจึงไม่ได้ไปร่วมรบด้วย การศึกครั้งนี้เจ้าชาย เจ้าชายพรหมเรียมประชุมพลและทรงทรงประทับช้างพางคำโดยมีจ้อยเป็นขุนศึกคู่ใจร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่

ในปีมหาศักราช ๒๙๘ ปีวอก เดือน ๗ คือเดือน ๕ ขึ้น ๔ ค่ำ วันอาทิตย์ พระยาขอมแห่งอุมงค์เสลาซึ่งถืออำนาจเข้าครองนครโยนกได้สิบเก้าปีก็ยาตราทัพมาจนใกล้เวียงพางคำซึ่งพรองค์พังคราชประทับอยู่พร้อมราชเทวีและราชบุตรทั้งสอง เจ้าชายพรหมไม่รอช้า องค์โอรสผู้แกล้วกล้าของพังคราชก็ขึ้นทรงช้างเผือกพางคำยกพลออกจากเวียงตรงเข้าโจมตีทัพพระยาขอม ณ ตำบลทุ่งสันทรายเป็นสามารถ พวกขอมสู้ไม่ได้ก็แตกตื่นพ่ายหนีบรรดาช้างม้าที่มากับพวกขอม พอได้เห็นช้างเผือกพางคำตัวประเสริฐก็เกิดความสะทกสะท้านเกรงกลัวไม่ยอมอยู่เผชิญหน้า เจ้าชายพรหมเห็นข้าศึกแตกหนีไปดังนั้นก็ขับช้างพางคำไล่ติดตาม พร้อมทั้งไพร่พลบริวาร ทหารผู้กล้า ซึ่งได้เคยลิ้มรสของความเป็นทาสของขอมมานานปี ต่างมีใจเจ็บแค้นไล่ขอมไปจนถึงโยนกนครหลวง เจ้าชายพรหมผู้กล้าหาญสั่งทหารเข้าล้อมเมืองแล้วตีหักเมืองได้ พวกขอมก็แตกพ่ายออกจากเมืองโยนกกระเจิดกระเจิงล่องลงไปทางใต้ เจ้าพรหมกุมารได้เมืองโยนกแล้วก็พักพลพอหายอิดโรยแล้วก็ยกกองทัพไล่ติดตามตีพวกขอมต่อไป กองทัพเจ้าชายพรหมเดินทางฝ่าเข้าไปในหมู่บ้านมิลุกขุทั้งหลายได้เดือนหนึ่งก็ถึงแดนลวะรัฐฐะ ตีบ้านเมืองน้อยใหญ่ในแว่นแคว้นลวะรัฐฐะได้หลายตำบล พวกขอมยกไปตั้งอยู่ที่ใดเจ้าชายพรหมก็ตามไปตีถึงที่นั้น

ในตำนานบอกว่า ขณะนั้นร้อนถึงสมเด็จอมรินทราธิราชรำพึงว่า เจ้าพรหมกุมารไล่กำจัดขอมครั้งนี้ ไม่มีที่สิ้นสุดหยุดยั้งชีวิตมนุษย์จักต้องสูญสิ้นเป็นจำนวนมาก จึงมีเทวโองการให้วิศณุกรรมเทวบุตร ลงไปนิมิตเมืองกำแพงศิลากั้นทางที่เจ้าชายพรหมจะเดินทัพผ่าน เมืองนั้นได้ชื่อว่าเมือง “กำแพงเพชร” ด้วยเทวานุภาพ พรหมกุมารจึงจำเป็นต้องยุติการขับไล่ขอมลงแต่เพียงนั้น บ้างก็บอกว่าขอมมาถึงเมืองกำแพงเพชร ทัพของพระยาขอม ก็หายไปและไม่มีใครพบร่องรอยอีกเลย ส่วนที่เมืองศรีสัชนาลัย ปกครองโดยพระยาพสุราช ซึ่งขณะนั้นถือว่าเป็นเมือง ที่เข้มแข็งมากและเตรียมการที่จะคอยรับศึกอยู่เสมอทรงวิตกกังวลว่าวันหนึ่งเจ้าชายพรหมจะต้องเสด็จมาปราบเมืองศรีสัชนาลัย เพื่อขยายอาณาจักร จึงได้เตรียมการหล่อปืนใหญ่ ทำดินปืน ไว้พร้อมสรรพ ทัพของเจ้าชายพรหมที่ปราบขอมจนสิ้นแล้วเดินทาง มาประชิดเมืองศรีสัชนาลัย และตั้งทัพอยู่ที่นั่นโดย ไม่ได้ทรงมุ่งหวังแต่แรกว่าจะตีเมืองศรีสัชนาลัย เพราะเจ้าชายพรหมหวัง เพียงได้โยนกนครคืน ให้พระบิดาเท่านั้น แต่ด้วยความเข้าใจผิดทหารของทัพเจ้าชายพรหมกับทหาร ของศรีสัชนาลัยจึงปะทะกัน พระยาพสุราชจึงใช้ให้ม้าเร็วไปบอกพระเจ้าอาที่เมืองพิชัย ให้เตรียมระวังศึกแต่พระยาพิชัยได้สิ้นพระชนม์เสียแล้วขณะที่กำลังจะได้รับใบบอก เจ้าชายพรหมวิธี พระราชบุตรของพระยาพิชัย ซึ่งเป็นพระอุปราช จึงต้องทำหน้า ที่เป็นแม่ทัพแทนโดยกวาดต้อนผู้คนเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองศรีสัชนาลัยเพื่อความปลอดภัย ทัพของพระยาพสุราช ซึ่งมีทั้งสรรพาวุธและปืนใหญ่สามารถต้านทัพของเจ้าชายพรหมไว้ได้ แต่ก็ทำให้ทหารของทั้งสองฝ่ายล้มตายเป็นจำนวนมาก พระพุทธโฆษาจารย์ แห่งวัดเขาแร้งซึ่งเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ ทนเห็นผู้คนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก จึงอาสาออก ไปพบเจ้าชายพรหมและเจรจาหย่าศึก พร้อมทั้งบอกกับเจ้าชายพรหมว่า สาเหตุที่ทัพของเจ้าชายพรหม และทัพของพระยาพสุราชรบไม่แพ้ชนะกันเสียทีนั้นเพราะเจ้าชายพรหม กับพระธิดาประทุมเทวีเป็นเนื้อคู่กัน มาตั้งแต่ชาติปางก่อน ทำให้ชาตินี้จะต้องอยู่เป็นคู่กันอีก หากเจ้าชายพรหมยอมยุติการรบ พระพุทธโฆษาจารย์จะเป็นผู้ทูลขอพระธิดาประทุมเทวีให้เป็นพระชายาของพระองค์ เจ้าชายพรหมจึงยอมตกลงด้วย พระพุทธโฆษาจารย์จึงทำตามสัญญา พระยาพสุราชจึงทรงประทานพระธิดา ประทุมเทวีให้แก่เจ้าชายพรหมโดยยังไม่ได้ทำพิธีอภิเษกสมรส โดยสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้แก่เจ้าชายพรหมวิธี ซึ่งหลงรักเจ้าหญิงประทุมเทวีมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทั้งเจ้าหญิงประทุมเทวีและเจ้าชายพรหมวิธีจำใจต้องตัดใจจากกัน ด้วยความรักสงบเป็นที่ตั้งทั้งสองพระองค์จึงยอมสละความสุขส่วนพระองค์และทำเพื่อชาติ เจ้าหญิงประทุมเทวีซึ่งทรงไม่พอพระทัย ที่จะถูกยกให้เป็นพระชายาของเจ้าชายพรหมซึ่งเจ้าหญิงไม่ได้รักและไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เจ้าหญิงจึงคิดหนีออกจากกระบวน ทัพของเจ้าชายพรหมที่เดินทางกลับไปที่เวียงพางคำ แต่ทรงหนีไปได้ไม่ไกลนักเจ้าชายพรหมตามไปได้ทันเจ้าหญิงประทุมเทวีจึงถูกจับตัวกลับมาและตกเป็นพระชายาของเจ้าชายพรหมในระหว่างทางนั่นเอง เจ้าชายพรหมเสด็จกลับไปถึงที่เวียงพางคำ เพื่อทูลพระราชบิดาถึงชัยชนะในการรบกับขอม และทูลเชิญพระราชบิดาให้กลับไปปกครองที่เมืองโยนกนครดังเดิม ทำให้พระราชบิดาปลาบปลื้มพระทัยในชัยชนะของเจ้าชายพรหม ซึ่งก่อนหน้านี้พระเจ้าพังคราชทรงรักและเอ็นดูเจ้าชายทุกขิต ซึ่งเปรียบเสมือน ลูกพ่อ มากกว่า เจ้าชายพรหมซึ่งเป็น ลูกแม่ ที่สนิทสนมและใกล้ชิดกับพระมารดา เมื่อเสด็จกลับถึงโยนกนครแล้วพระเจ้าพังคราชจึงทรงกลับขึ้นครองราชย์ดังเดิม และตั้งให้เจ้าชายทุกขิตเป็นพระอุปราช และเรียกเมืองหลวงนี้ว่า เวียงไชยบุรี ส่วนเจ้าชายพรหมที่เป็นแม่ทัพรบชนะขอมนั้น พระเจ้าพังคราชทรงสู่ขอ เจ้าหญิงแก้วสุภา ธิดาเจ้าเมืองไชยนารายณ์ ซึ่งเป็นญาติผู้น้องของพระองค์ ให้มาอภิเษกกับเจ้าชายพรหมเป็นรางวัล โดยที่พระเจ้าพังคราชทรงไม่รู้มาก่อนว่าเจ้าชายพรหมได้เจ้าหญิงประทุมเทวีเป็นพระชายาแล้ว เมื่ออภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงแก้วสุภาแล้ว เจ้าชายพรหมยังทรงไม่ไว้ใจพวกของพระยาขอมว่าอาจจะยกทัพย้อนกลับมาตีโยนกนครอีก จึงคิดที่แยกไปสร้าง เมืองใหม่ขึ้น ที่เมืองอุมงคเสลาของขอม ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านหากขอมจะมาตีโยนกนครจะต้องผ่านเมืองนี้ก่อน แล้วจึงขนานนามราชธานีใหม่นี้ว่า ไชยปราการ(๓) ทำให้แคว้นโยนก มีสี่พระมหานคร คือ ไชยบุรี(๔) เป็นนครหลวง เวียงไชยนารายณ์(๕) เวียงไชยปราการ และ เวียงพางคำ(๖) เจ้าชายพรหมจึงนำเจ้าหญิงแก้วสุภา และเจ้าหญิงประทุมเทวีเสด็จตามไปประทับที่เวียงไชยปราการด้วย เจ้าหญิงแก้วสุภาและ เจ้าหญิงประทุมเทวีทรงพระครรภ์ในเวลาใกล้เคียงกัน และเมื่อมีพระประสูติกาล เจ้าชายพรหมจึง พระราชทานนามพระโอรส ของเจ้าหญิงแก้วสุภาว่า เจ้าชายไชย ศิริกุมาร และพระโอรสของเจ้าหญิงประทุมเทวีว่า เจ้าชายไกรสรราช เจ้าหญิงประทุมเทวียังทรงกริ้วที่เจ้าชายพรหมใช้กำลังข่มเหงพระองค์จึงไม่ยอมให้เจ้าชายพรหมได้พบกับเจ้าชายไกรสรราชพระโอรส แต่เจ้าชายพรหมก็ทรง พยายามขอคืนดีจนกระทั่งเจ้าหญิง ประทุมเทวีทรงให้อภัยพระองค์ หลังจากนั้นไม่นานเจ้าหญิง ประทุมเทวีก็ทรงพระครรภ์ อีกครั้งหนึ่งเมื่อมีพระประสูติกาลแล้วจึง พระราชทานนามว่าเจ้าชายชาติสาคร พระเจ้าพังคราชเสด็จสวรรคต เจ้าชายทุกขิตกุมารพระอุปราช จึงทรงขึ้นครองราชย์ ปกครองแคว้นโยนกนครสืบต่อจากพระบิดา พระเจ้าทุกขิตจะ ทรงกังวลว่าพระอนุชาจะยึดอำนาจแคว้นโยนกนครแต่ เจ้าชายพรหมตั้งสัตย์ปฏิญาณ ว่าไม่คิดจะกลับไปยึด ครองเมืองไชยบุรีซึ่งเป็นนครหลวง แม้ว่าพระองค์จะทรงมีกองทัพที่เข้มแข็งกว่าพระเชษฐา แต่ก็ทรงรู้ว่าควรจะให้พระเชษฐาได้ครองเมืองไชยบุรีซึ่งเป็นเมืองหลวง เจ้าชายจึงทรงปกครองอยู่ที่เมืองไชยปราการสืบต่อมาโดยไม่คิดที่จะแย่งราชบัลลังก์จากพระเชษฐาแต่อย่างใด

พุทธศักราช ๑๔๙๖ พระเจ้าพรหมทรงสร้างเมืองพิษณุโลกเพื่อป้องกันขอมซึ่งมีอำนาจอยู่แถบเมืองละโว้ และให้เจ้าชายไกรสรราช มาปกครอง พระเจ้าพรหมทรงดำริที่จะสร้างพระพุทธรูปขึ้นเป็นพุทธบูชา จึงสั่งให้สร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุขึ้นเป็นวัดคู่เมืองและ สร้างพระมหาธาตุเป็นรูปปรางค์

พุทธศักราช ๑๕๐๐ พระเจ้าพรหมทรงสร้างพระพุทธรูปขึ้น ๓ องค์ คือ “พระพุทธชินราช” “พระพุทธชินสีห์” และ “พระศรีศาสดา” และเมื่อสร้างพระพุทธรูปเสร็จเรียบร้อยพระองค์จึงเสด็จมาฉลองพระ ใหม่พร้อมกับพระราชเทวีและ พระโอรสหน้าองค์พระพุทธชินราช ที่งดงาม เวลาผ่านมาจนถึงย่ำรุ่ง หลวงปู่เปิดประตูพระอุโบสถ ออกมาแสงอาทิตย์ต้ององค์พระพุทธชินราชเปล่งประกายสีทอง เจิดจ้า หลวงปู่ยืนอยู่หน้าประตูโบสถ์โดย มีเจ้าจุกยืนนอบน้อมอยู่ข้างๆ พร้อมกับความเข้าใจของเจ้าจุกที่มีต่อความหมายคำว่า ปิดทองหลังพระ และวีรกรรมต่างๆของพระเจ้าพรหม ตลอดพระชนม์ชีพที่หลวงปู่ได้เล่าให้เจ้าจุกฟังตลอดทั้งคืนนั้น พระองค์ทรงเปรียบเสมือน “วีรบุรุษผู้ปิดทองหลังพระ”

๓ เมืองไชยปราการ ปัจจุบัน อยู่ในเขตอำเภอ ฝาง จังหวัดเชียงใหม่

๔ เมืองไชยบุรี ปัจจุบัน อยู่ในเขต อำเภอเชียงแสน จังหวัด เชียงราย

๕ เมืองไชยนารายณ์ ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย

๖ เวียงพางคำ ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

พุทธศักราช ๑๕๐๐ เมืองพิษณุโลก พระเจ้าพรหม เจ้าผู้ครองเมืองไชยปราการ เสด็จพร้อมกับ พระราชเทวีแก้วสุภา พระราชเทวีประทุมเทวี เจ้าชายไชยศิริ เจ้าชายไกรสรราช เจ้าชายชาติสาคร เพื่อฉลอง พระพุทธชินราช ที่ทรงดำริให้หล่อขึ้นและทรงเชิญมาประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (วัดใหญ่) โดยเมื่อเสด็จมาถึง เหล่าประชาชนต่างมาเข้าเฝ้าและฉลองพระใหม่ พระเจ้าพรหมทรงเสด็จเข้าไปปิดทองที่หลังพระพุทธชินราชซึ่งแตกต่าง จากประชาชนทั้งปวงที่แห่กันเข้ามาปิดทองที่หน้าองค์พระเป็นจำนวนมาก การเสด็จเข้าไปปิดทองหลังพระของพระเจ้าพรหมนั้นแม้ จะไม่มีใครสังเกตเห็นแต่ก็อยู่ในสายตา ของพระภิกษุชรารูปหนึ่งคือพระพุทธโฆษาจารย์ หรือ หลวงปู่ที่ชาวบ้านเรียกขานกัน และเจ้าจุก ลูกศิษย์ก้นกุฏิของท่าน เจ้าจุกเอ่ยถามหลวงปู่ด้วยความสงสัยว่าเหตุใดวันนี้ พระเจ้าพรหม ถึงได้เสด็จเข้าไปปิดทองหลังพระแต่เพียงพระองค์เดียว หลวงปู่รู้ว่าเจ้าจุกเป็นเด็กที่มีปัญญาและช่างสังเกต จึงเริ่มเล่าเรื่องราวทั้งหมดในอดีตที่เกิดขึ้นให้กับเจ้าจุกฟังหน้าองค์พระพุทธชินราช

พระองค์พรหมกุมาร ได้รับสมญานามว่า “มหาราช” องค์แรกของไทย

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อาทิตย์•ที่ 19 •กุมภาพันธ์• 2012 เวลา 13:48 น.• )