ครั้นนั้น เมืองหิรัญนครเงินยางมีพวกราชวงศ์สืบต่อมาจากขุนเจื๋องได้ครองสมบัตินับตั้งแต่ลาวเงินเรือง ราชบุตรขุนเจื๋องครองราชย์สมบัติได้ ๒๖ ปีก็ทิวงคตไป สืบต่อมาก็มีโอรสนัดดาสืบราชสมบัติขัตติวงศากันต่อ ๆ มาจนถึงสี่ชั่วราชวงศ์ จนมาถึงรัชสมัยของพระยาลาวเมืองได้ครองราชย์สมบัติ ครองเมืองหิรัญนครเงินยางเชียงราวอันยิ่งใหญ่ ประกอบไปด้วยเดชานุภาพบุญญาบารมี ด้วยราชวงส์ขุนเจื๋องนั้นเป็นที่เลื่องลือมาตั้งแต่บรรพบุรุษคือขุนเจื๋องซึ่งเคยปราบข้าศึกศัตรูมาตลอดรัชสมัยของพระองค์กระทั่งต้องอาวุธสูญเสียพระชนม์ชีพในที่รบเมื่อพระชนมายุได้ ๗๗ พรรษา พระยาลาวเมืองและพระมเหสี

เสวยราชสมบัติเหนือบัลลังก์นครเงินยางอย่างสงบสันติสุขปราศจากข้าศึกศัตรูมารบกวนแล้วท้าวเธอก็ได้โอรสองค์หนึ่ง พระราชทานนามว่า “เจ้าลาวเมง” เป็นที่สนิทเสน่หาแก่พระราชมารดาเป็นยิ่งนัก ครั้นเจริญชันษาก็ช่างพูดเล่นเจรจามีปรีชาเฉลียวฉลาดสมกับตำแหน่งรัชทายาทแห่งหิรัญนครเงินยางเชียงราว อันเคยดำรงอำนาจมาแต่ก่อน และแน่นอนที่สุดที่เจ้าชายย่อมจะได้ทรงทราบถึงวีรกรรมของบรรพบุรุษต้นตระกูลซึ่งเคยนำพลโยธาเที่ยวปราบปรามนครต่าง ๆ พ่ายแพ้ไป กระทั่งยกพลล่วงล้ำไปถึงเมืองแกวแมนตาทอบขอบฟ้าตายืน (คือเมืองญวน คำว่าขอบฟ้าตายืนหมายถึงฝั่งทะเลและเมืองล้านช้าง  ตอนรบได้เมืองญวน ได้ราชธิดาพระเจ้าญวนเป็นชายา มีราชบุตรสามองค์เป็นชาย เรื่องราวนี้ เจ้าลาวแห่งราชบุตรก็ได้รับฟังมาอย่างละเอียด ครั้นพระเจ้าลาวเมงเจริญวัยใหญ่กล้า สมควรจะอภิเษกสมรสพระบิดาก็ปรึกษากับพระนางผู้เป็นมเหสี  ว่าสมควรจะสู่ขอนางธิดาเมืองใดเมืองหนึ่งมาเป็นคู่อภิเษก พระนางทูลถวายความคิดเห็นว่าเจ้าหญิงอั้วมิ่งจอมเมือง ราชธิดาท้าวรุ้งแก่ชายผู้ครองเมืองเชียงรุ้งทรงมีสิริโฉมงดงามและจำเริญด้วยลักษณะเบญจกัลยาณีสมควรแก่ตำแหน่งชายาขององค์รัชทายาท พระเจ้าลาวเมืองทรงเห็นด้วยก็ทรงจัดเฒ่าแก่ไปสู่ขอ พระเจ้านครเชียงรุ้งก็ทรงยินดีรับคำขอ จึงขนานนามราชธิดาเสียใหม่ให้เป็นพระนางเทพคำขยายส่งมาทำพิธีการอาวาหะมงคลภิเษก ณ เมืองหิรัญนครเงินยางเชียงราว เจ้าชายลาวเมงกับพระนางเทพคำขยาย อยู่ด้วยกันได้ไม่นานพระนางก็ทรงครรภ์ พระนางทรงสุบินนิมิต และได้ทูลพระสวามีทรงทราบ “ข้าแต่ภัสดาเจ้า เมื่อราตรีล่วงแล้ว หม่อมฉันได้นิมิตเห็นสิ่งแปลกประหลาดมหัศจรรย์ยิ่ง และไม่เคยได้เห็นมาก่อน” พระสวามีก็ตรัสถามว่า “พระนางได้นิมิตเห็นสิ่งใดหรือ” พระนางก็บังคมแทบบาท แล้วเล่าถวายถึงนิมิตอันมหัศจรรย์นั้น “ยามที่หม่อมฉันบรรทมหลับสนิทอยู่บนพระที่ ได้เกิดนิมิตในความหลับว่า มีดวงดาวประกายหยาดร่วงลงมาจากนภากาศทางด้านทักษิณทิศ เลื่อนลอยลงมายังตัวหม่อมฉัน ดาวดวงนั้นทรงรัศมีเจิดจ้าจำรัสแสงเป็นยิ่งนัก ในนิมิตนั้นหม่อมฉันได้ยื่นมือออกไปรับมาแนบไว้กับตัวแล้วก็สะดุ้งตื่น ขอพระองค์ได้ทรงโปรดประทานพรทำนายความฝันของหม่อมฉันด้วยเถิด” พระเจ้าลาวเมงราชบุตรก็ได้โปรดเรียกหมอโหรประจำราชสำนักขึ้นมาเฝ้า มีพระราชดำรัสให้ถวายคำพยากรณ์เนื่องในพระสุบินนิมิตขิงชายาในกาลบัดนั้น ฝ่ายโหรพยากรณ์ถวายบังคมรับกระแสดำรัส จัดการลงเลขผานาที พินิจพิจารณาใคร่ครวญอย่างถี่ถ้วนรอบคอบแล้วจึงได้ทูลองค์รัชทายาทว่า “ข้าแต่พระราชบุตร อันนิมิตฝันของพระนางครั้งนี้ นับเป็นมงคลนิมิต พระองค์จักได้พระโอรสทรงศักดานุภาพอันอาจปราบปรามประเทศทั้งด้านทักษิณ ตราบเท่าถึงแดนสมุทร จักได้แผ่บรมเดชานุภาพไปทั่วปริมณฑลแคว้นลานนาประเทศ มีพระเกียรติอันเกรียงไกรไพศาลที่เปรียบปานมิได้เป็นฉันนี้ พระเจ้าข้า” พระเจ้าลางเมงทรงชื่นชมโสมนัส และยิ่งถนุถนอมพระชายาด้วยความเสน่หายิ่งขึ้น และพระเจ้าลาวเมืองและพระมเหสีต่างก็คาดคอยที่จะได้ทอดพระเนตรราชนัดดาอยู่อย่างนับวันคอยที่เดียว “นับเป็นบุญญาบารมีของราชตระกูลขุนเจื๋องโดยแท้ที่เราจะได้ราชนัดดาเป็นผู้ทรงอานุภาพตามคำพยากรณ์ของโหร” พระเจ้าลาวเมืองทรงปรารภกับพระมเหสีอย่างชื่นชม “หม่อมฉันคิดว่าสายโลหิตของพระองค์ซึ่งสืบเนื่องมาจากขุนเจื๋องผู้ยิ่งใหญ่คงจะยังไม่จางหายไปหลานเราที่จะเกิดมาในอนาคตอันใกล้นี้ คงจะทรงอานุภาพไม่แพ้บรรพบุรุษผู้กล้าหาญของเรานะเพคะ” “คงจะเป็นเช่นนั้น พระนาง อีกประการหนึ่ง เด็กคนนี้ก็ยังมีเลือดทางมารดาซึ่งสืบเชื้อสายเลือดกษัตริย์ทางราชวงศ์เชียงรุ้งอีกสายหนึ่ง ท้าวรุ้งแก่นชายทรงยินดีปรีดาขนาดไหนหนอที่จะได้หลานเป็นผู้ทรงบุญญาธิการยิ่งใหญ่” สองพระองค์ทรงรำพึงและทรงคาดคอยด้วยพระทัยกระวนกระวาย ใคร่จะได้ประจักษ์พระพักตร์นัดดาภายในวันในพรุ่ง ส่วนพระนางคำขยายก็บำเพ็ญรักษาวรกายและน้ำพระทัยให้ผ่องใสไม่ให้มีมลทิน เพื่อให้โอรสได้กำเนิดมาด้วยความผ่องแผ้วทั้งกายและใจ ครั้นทรงครรภ์มาจนถ้วนทศมาสพระนางก็ประสูติราชบุตรในวันอาทิตย์แรมเก้าค่ำเดือนอ้ายปีกุนเอกศกจุลศักราช ๖๐๑ เวลาย่ำรุ่ง (อีกตำนานหนึ่งว่า วันอาทิตย์แรมเก้าค่ำเดือนสามปีจอสัมฤทธิ์ศก จุลศักราช ๖๐๐ เวลาย่ำรุ่ง) เจริญด้วยลักษณะชายชาติ ปราศจากโรคาพยาธิเป็นที่ชื่นชมโสมนัสแก่พระเจ้าลาวเมืองผู้เป็นอัยยิกาและพระเจ้าลาวเมงผู้บิดาตลอดจนพระญาติพระวงศ์ทุกถ้วนหน้า พระเจ้าลาวเมืองได้แต่งคนให้นำข่าวประสูติของราชนัดดาไปสู่ยังราชสำนักนครเชียงรุ้ง แจ้งให้เจ้าท้าวรุ้งแก่นชายผู้บิดาพระนางคำขยายให้ทรงทราบ ท้าวรุ้งแก่นชายก็ยินดีปรีดาหาที่เปรียบมิได้ ทรงให้ประชุมพระญาติพระวงศ์และจัดหาของอันจะนำไปพระราชทานเป็นของขวัญแก่พระหลานเธอ แล้วยกพลโยธาเดินทางมายังเมืองหิรัญนครเงินยางเพื่อร่วมงานเฉลิมขวัญเจ้าชายน้อย ทางฝ่ายพระเจ้าลาวเมืองก็จัดต้อนรับพระเจ้ารุ้งแก่นชายเป็นการใหญ่ ทั่วนครหิรัญเงินยางมีการเล่นเฉลิมฉลองเป็นการเอิกเกริกยิ่ง เจ้าผู้ครองนครทั้งสองต่างก็เรียกหมอโหรมาชุมนุมกันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะถวายพระนามแก่องค์ราชกุมารที่กำเนิดใหม่ โหรประชุมกันหาชื่อที่จะนำถวายเจ้าชายอยู่หลายเพลา ในที่สุดโดยความเห็นชอบของพระญาติพระวงศ์ทั้งสองฝ่าย ก็ได้ตกลงขนานนามกุมารน้อยว่า “เม็งราย” โดยให้ต้องตามพระนามพระราชบิดาคือ “เจ้าลาวเมง” แล้วก็ “ท้าวรุ้ง” ผู้อัยยิการวมกับพระนามราชมารดาคือ “เทพคำขยาย” นามทั้งสามประมวลเข้าด้วยกัน ได้ชื่อว่าเม็งราย เพราะเป็นบุตรท้าวเมงหลานท้าวรุ้ง เกิดแก่นางเทพคำขยายจึงถือเป็นนิมิตอันประเสริฐ ครั้นร่วมในงานเฉลิมฉลองพระกุมารเสร็จแล้ว ท้าวรุ้งแก่นชายก็เสด็จกลับคืนไปยังเมืองเชียงรุ้ง

เจ้าลาวเมงภายหลังที่เจ้าลาวเมืองถึงแก่พิราลัยแล้ว ก็ได้ครองสมบัติสืบมา จนเจ้าชายเม็งรายทรงเจริญพระชนม์ชันษาได้ ๒๑ ปี เจ้าลาวเมงก็ทรงประชวรถึงแก่ทิวงคต เม็งรายราชบุตรได้ขึ้นเสวยราชสมบัติครองเมืองหิรัญนครเชียงราวต่อจากพระราชบิดา อยู่ต่อมาหลายปี ช้างมงคลของพระเจ้าเม็งรายซึ่งทอดไว้ในป่าหัวดอยทิศตะวันออกพลัดไป พระเจ้าเม็งรายก็เสด็จออกตามรอยช้างไปจนถึงดอยจอมทองริมแม่น้ำกกนที ได้ทัศนาการภูมิประเทศที่แห่งนั้นมีชัยภูมิดี จึงโปรดให้สร้างพระนครในที่นั้นโดยให้ก่อปราการโอบเอาดอยจอมทองเข้าไว้ให้อยู่ตรงใจกลางเมืองครั้นก่อสร้างเสร็จแล้วก็ขนานนามว่าเมืองเชียงราย โดยถือตามพระนามของพระเจ้าเม็งรายผู้สร้าง แล้วพระเจ้าเม็งรายก็ยกจากเมืองหิรัญนครเงินยางมาประทับอยู่ ณ เมืองใหม่ที่พระองค์ทรงสร้าง มาประทับอยู่เมืองเชียงรายได้สามปี พระมเหสีก็ประสูติโอรสองค์ที่สอง ทรงพระนามว่าเจ้าขุนครามหรือสงคราม ราชบุตรองค์แรกประสูติที่เมืองลาวกู่เต๊า ชื่อเจ้าขุนเครื่อง ส่วนองค์ที่สามชื่อเจ้าขุนเครือ ประสูติที่เมืองฝาง พระเจ้าเม็งรายมีพระประวัติอันน่าศึกษาและน่าสนใจมาก ทรงเป็นนักรบผู้สามารถและทรงพระปรีชาเฉลียวฉลาดแผ่พระราชอำนาจออกไปอย่างกว้างขวาง เคยยกทัพไปตีประเทศรามัญและตั้งล้อมกรุงหงสาวดีไว้จนได้พระราชธิดาของพระเจ้าหงสาวดีมาเป็นราชเทวีโดยพระเจ้าหงสาวดีนำถวาย ชื่อพระนางปายโคหรือตละแม่ศรี นอกจากนี้ยังถวายพวกช่างต่าง ๆ ให้พระเจ้าเม็งรายพามายังเมืองเชียงใหม่เช่นช่างทอง ช่างหล่อ ช่างเหล็ก และช่างอื่น ๆ เลยได้สืบต่อกันมาจนยุคปัจจุบัน ซึ่งชาวเมืองเชียงใหม่ยังคงเหลือพวกช่างชาวพื้นเมืองสืบลูกสืบหลานจ่อมานับพันปี

พระเจ้าเม็งรายสร้างเมือง

ครั้งนั้นพระเจ้าเม็งรายครองราชย์สมบัติในนครกุมกามโดยสุขสวัสดิภาพ อยู่มาวันหนึ่งได้เสด็จประพาสไปทางทิศเหนือถึงตีนเขาอ้อยช้าง(ดอยสุเทพ)มีหมู่บ้านหนึ่งชื่อบ้านแหน พระองค์ได้ทอดพระเนตรเป็นชัยภูมิดีจึงได้ประทับแรมอยู่ ณ ที่นั้นสามคืนคืนหนึ่งทรงสุบินนิมิตว่ามีบุรุษผู้หนึ่งเข้ามาทูลว่า “มหาราชเจ้าอันชัยภูมิสถานที่นี้เป็นที่อันประเสริฐท้าวใดพระยาใดได้มาสู่และสถิต ณ ที่นี้ก็จะได้เจริญวัฒนาด้วยยศศักดิ์ทรัพย์ศฤงคารและบริวารเป็นยิ่งนัก” ด้วยเหตุนี้พระเจ้าเม็งราย จึงทรงพระดำริสร้างพระนครใหม่ขึ้น ณ ที่นั้น ครั้นเสด็จต่อไปอีกทางเหนือก็ได้เห็นชาวบ้านนำเองแน่ง (อวนหรือตาข่าย) มาขึงกางเป็นรั้วล้อมรอบค่ายหลวงที่ประทับ สถานที่นั้นเลยได้ชื่อว่า “บ้านรั้วเน่ง” พระเจ้าเม็งรายประทับแรมที่นั้นสามราตรี แล้วเสด็จต่อไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประทับแรม ณ ตำบลหนึ่ง มีคนสานเรือกมาล้อมค่ายหลวงที่ประทับที่ตำบลนั้นก็มีชื่อว่า “เชียงเรือก” ครั้นแล้วพระองค์ก็เสด็จต่อไปอีกถึงในป่าแห่งหนึ่งได้ตั้งค่ายประทับแรมอยู่ ณ ที่นั้นอีกสามราตรี ในราตรีที่สามก็ทรงสุบินนิมิตเห็นอิสตรีโฉมงามนางหนึ่ง พระองค์จึงได้ประทานชื่อที่แห่งนั้นว่าตำบล “เชียงโฉม” ต่อจากนั้นก็เสด็จกลับมาเพื่อจะเข้าเวียงกุมกาม แต่มาแวะประทับแรมอีกคืนหนึ่งที่ได้ต้นลาน สถานที่นั้นก็ได้ชื่อตำบล “เชียงลาน” ครั้งรุ่งเช้าก็เสด็จกลับเข้ากุมกาม

ประทับอยู่ ณ เวียงกุมกามจนสิ้นฤดูฝน แล้วพระเจ้า เม็งรายก็เสด็จทรงช้างต้นไปประพาสไล่มฤคยังเชิงดอยสุเทพอีก พอไปถึงยังป่าคำป่าเลาแห่งหนึ่ง ได้ทอดพระเนตรเห็นสิ่งอันเป็นอัศจรรย์นัก กล่าวคือภายนอกอันล้อมรอบป่านั้นเป็นทุ่งราบงามส่วนป่าเลานั้นมีวงโอบรอบที่ราบชั้นใน ซึ่งประกอบด้วยหญ้าแพรกและหญ้าแห้วหมู มีฟาน(เก้ง) เผือกสองแม่ลูกอยู่ในที่ล้อมนั้น ครั้งเมื่อฟานทั้งสองจะออกไปหากิน ก็พบหมู่สุนัขล่าเนื้อของนายพรานรุมไล่กัด ฟานครู่นั้นก็หนีเข้าไปอยู่ในวงล้อมของป่าคา หมู่หมาทั้งหลายก็ไม่อาจไปขบกัดได้ ก็ได้แต่วิ่งไปมาอยู่รอบ ๆ วงนั้น ฟานทั้งสองก็เกิดมีใจกล้าหาญออกปะทะกับหมู่สุนัขจนฝูงสุนัขล่าถอยไปสิ้น พระเจ้าเม็งรายทอดพระเนตรชัยภูมิสถานที่นั้นประกอบคำบอกเล่าของเหล่านายพรานก็ตั้งพระทัยว่าจะต้องตั้งพระเนตร ณ ที่นั้น จึงมีรับสั่งให้เอาข่ายมากางล้อมป่าคาเพื่อจับฟานคู่นั้นไปเลี้ยงไว้ที่ทางเหนือใกล้แม่น้ำหยวก ให้ตั้งค่ายระเนียดอ้อมฟานทั้งสองไว้ สถานที่นั้นก็ได้ชื่อว่า “เวียงฟาน” แต่นั้นมา แล้วพระเจ้าเม็งรายก็สั่งให้เกณฑ์พลนิกายไปสร้างพระนครใหม่ เอาที่ล้อมป่าคาอันเป็นชัยภูมิไว้เป็นกลางใจเมือง เข้าตั้ง ณ ที่ชัยภูมินั้นในวันพฤหัสบดี เดือนเจ็ด (เดือนห้าใต้) ขึ้นแปดค่ำดิถี ๘ นาที ดิถี ๓๐ จันทร์ เสวยฤกษ์ ๗ ปุณสุฤกษ์ในราศีกรกฎ ยามแตรรุ่ง ๓ ลูกนาทีเศษ ๒ บาท ไว้ลักขณาเมืองในราศีมีนอาโปธาตุยามศักราชขึ้นเถลิงศกเป็นจุลศักราช ๖๕๔ ปีมะโรงจัตวาศก พระเจ้าเม็งรายเสด็จขึ้นพระราชนิเวศน์มณเฑียรสถานใหม่เป็นฤกษ์ในวันนั้น แล้วให้สร้างบ้านเรือนใหญ่ร้อยแวดล้อมอีกเป็นจำนวนมาก เรียกว่าบ้านต่ำบ้านสูงเป็นต้น พระเจ้าเม็งรายสถิตอยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือที่เวียงเล็กอันเป็นที่ประทับนั้นขนานนามว่า “เวียงช้างมั่น” แล้วให้แผ้วถางออกไปด้านตะวันออกให้ชื่อว่า “หนองหลวง” เป็นที่อาศัยของสัตว์ต่าง ๆ เช่น โค กระบือ ได้ลงอาบกินได้โดยสะดวก

ภายหลังจากที่ได้สั่งให้ไพร่พลจัดการแผ้วถางกรุยพื้นขุดคูก่อกำแพง วัดจากศูนย์ใจกลางเมืองออกไปด้านละ ๑,๐๐๐ วา โดยรอบแล้ว พระเจ้าเม็งรายก็ทรงรำลึกว่าการสร้างพระนครทั้งนี้เป็นการใหญ่ ควรเราจักเชิญสหายทั้งสอง คือพระร่วงเจ้าเมืองแห่งกรุงสุโขทัย และพระยางำเมืองแห่งเมืองพะเยามาปรึกษาหารือให้พร้อมหน้ากัน คิดแล้วก็มีพระราชสาส์นให้พระราชบุรุษอันเชิญไปยังสหายเจ้าสองนคร พระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัยและพระยางำเมือง เจ้าเมืองพะเยาได้รับพระราชสาส์นของพระเจ้าเม็งรายดังนั้น ก็เสด็จมาตามคำเชิญทั้งสองพระองค์ พระเจ้าเม็งรายก็จัดการต้อนรับพระสหายทั้งสองอย่างสมพระเกียรติ แล้วแจ้งเหตุที่ตนประสงค์ให้ทราบคือการวัดอาณาเขตเมืองจากศูนย์กลางออกไปด้านละ ๑,๐๐๐ วา เป็นเมืองกว้าง ๒,๐๐๐ วา และถามว่า “พระสหายจะเห็นเป็นประการใด” พระยางำเมืองตรัสว่า “ชอบแล้ว” แต่พระร่วงเจ้ากล่าวว่า “พระสหายเจ้าควรจะรำพึงถึงกาละทั้งสอง คือการสัมปติและกาลวิปติก่อน ภายหน้าบุคคลผู้มีปัญญาจักดูแคลนว่า บ่รู้รำพึงถึงการภายหน้าภายหลัง เบื้องว่าถึงวิปติมีอมิตรข้าศึกมาแวดวังขังเวียง หาคนจะเฝ้าแทบมิได้ พอได้เต็มก็จะยากภายหน้าข้ามักใคร่ตั้งแต่ชัยภูมิไปเพียงด้านละ ๕๐๐ วา เป็นเมืองกว้าง ๑,๐๐๐ วา ก็พอสมควร เมื่อสืบไปภายหน้าผิว่ากาลสัมปติบ้านเมืองเจริญมีคนมากขึ้นเมืองก็หากจักกว้างใหญ่ไพบูลย์ไปตามกาลสมัย” แล้วก็ตรัสเสริมต่อไปว่า “สุเทวฤาษีและสุกทันตฤาษีได้ยัง ฌานสมาบัติและอภิญญาณมีอานุภาพมากนัก เมื่องจัดสร้างเวียงหิริภุญชัยก็ยังเอาหอยสังข์มาครอบเอาเป็นประมาณพระเจ้าเม็งรายได้ฟังดังนั้นก็ตรัสว่า “ข้าแต่สหายทั้งสองผิดังนั้นจะตั้งลวงแป (ด้านยาว ๑,๐๐๐ วา ลวงชื่อ (ด้านสกัด) ๔๐๐ วาเถิด” พระยาทั้งสามก็มีฉันทจิตและฉันทวาที่ถูกต้องกันแล้ว พระเจ้าเม็งรายก็เชิญสหายทั้งสองไปสู่ที่ชัยภูมิเพื่อจะตั้งราชมณเฑียร ขณะนั้นมีหนูเผือกตัวใหญ่เท่าดุมเกวียน มีบริวาร ๔ ตัวเล่นตามกันออกจากที่ชัยภูมินั้น ไปหนบูรพาก่อนแล้วไปหนอาคเนย์ไปลงรูแห่งหนึ่งภายใต้ผักเรือก (ไม้นิโครธหรือไทร) พระยาทั้งสามได้เห็นอัจฉริยะนิมิตดังนั้น จึงเอาเครื่องสักการะข้าวตอกดอกไม้ธูปเทียนไปบูชาที่ไม้นิโครธต้นนั้น แล้วสั่งให้ล้อมรักษาไว้ด้วยดี ไม้นั้นจึงปรากฏเป็นเสื้อเมือง หรือศรีเมืองมาจนทุกวันนี้ พระยาทั้งสองให้ไพร่พลกวาดแผ้วพื้นที่อันสร้างเวียงขึงเชือกระดับดูก็รู้ว่าพื้นปภพีนั้นสูงเบื้องตะวันตกดอียงไปทางตะวันออก พระร่วงเจ้ากับพระยางำเมืองจึงกล่าวว่า “เผือข้าได้เห็นชัยภูมิเมืองนี้ ประกอบด้วยสุภนิมิตมงคลเจ็ดประการ ประการที่หนึ่งดังได้ยินมาว่ามีกวางเผือกสองตัวแม่ลูกมาแต่ป่าใหญ่หนเหนือเข้ามาอาศัยชัยภูมิที่นี้ต่อสู้ฝูงสุนัขทั้งหลายของนายพราน และสุนัขพ่ายแพ้ไป เป็นชัยมงคล ประการที่สอง อนึ่ง เราทั้งหลายได้เห็นมหาเสวตรมุสิกะหนูเผือกตัวใหญ่กับบริวาร ๔ ตัว ออกจากชัยภูมินี้นั้น เป็นชัยมงคลที่สี่ อนึ่ง อยู่ที่นี่เห็นน้ำตกจากเขาอุจฉุบรรพตคือยอดดอยสุเทพไหลลงมาเป็นลำน้ำไหลขึ้นไปหนเหนือแล้วเลี้ยวไปหนตะวันออกแล้ววกลงไปทิศใต้ แล้วไปทิศตะวันตกโอบเวียงกุมกามไว้ ลำน้ำนี้เป็นนครคุณเกี้ยวกอดเมืองอันนี้ไว้ นับเป็นชัยมงคลประการที่ห้า อนึ่ง แม่น้ำที่ไหลแต่ดอยลงมาที่ขุนน้ำ ได้ชื่อว่าแม่ขานไหลไปตะวันออกแล้วไปทิศใต้ คู่ขนานกับแม่น้ำปิงได้ชื่อว่าแม่น้ำโท อนึ่ง หนองใหญ่ที่อยู่หนตะวันออกเฉียงเหนือแห่งชัยภูมิ คือหนอีสารดังนี้ ท้าวพระยานานาประเทศจักมาบูชา นับเป็นชัยมงคลประการที่หก อนึ่ง แม่ระมิงค์อันเป็นแม่น้ำใหญ่ไหลมาแต่มหาสระ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้มาอาบยังดอยสลุง (ดอยหลวงเมืองเชียงดาว เรียกว่าดอยอ่าวสลุงหรืออ่างสรง) ไหลมาเป็นขุนน้ำแม่ระมิงค์ผ่านไปตะวันออกเวียง นับเป็นชังมงคลประการที่เจ็ด รวมเป็นชัยมงคลเจ็ดประการประกอบพร้อมดังนี้” พระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัยและพระยางำเมืองเจ้าเมืองพะเยากล่าวแสดงอันเป็นชัยมงคล ๗ ประการดังนี้ พระเจ้าเม็งรายมหาราชก็มีน้ำพระทัยชื่นชมยินดีเป็นยิ่งนัก รำพึงในพระทัยว่าสหายทั้งสองแห่งกูมีความรู้มลักยิ่งหนักหนา แล้วท้าวเธอจึงนำพระยาเจ้าทั้งสองไปประเทศเลียบดูสถานที่อันจะขุดเป็นคูนครทั้งสี่ด้านและที่อันจะก่อการวางป้อมและซุ้มประตูเวียงทั่วทุกแห่ง แล้วก็พากันมานั่งพักอยู่หนอีสานเลี้ยงโภชนาหารกัน ณ ที่นั้นครั้นเสด็จแล้วพระยาทั้งสองก็ให้ตั้งบวงสรวงพลีกรรมบูชาเทวดาทั้งหลาย ครั้นได้พิไชยฤกษ์ก็ให้ลงมือขุดคูเวียง และสร้างนิเวศน์พร้อมกัน ตั้งพิธีฝังนิมิตหลักเมืองตามประเพณี การสร้างำระนครก็สำเร็จในสี่เดือน พระเจ้าเม็งรายก็ให้ตั้งมหรสพสมโภชฉลองเมืองเชียงใหม่อันสร้างเสร็จนั้นจนครบสามวันสามคืนแล้วให้เลี้ยงหมู่เสนาโยธาที่ทำการสร้างไว้ด้วยมัจฉะมังสาหารและสุราบานเป็นการรื่นเริงทั่วหน้า ทั้งได้พระราชทานรางวัลเสร็จแล้ว พระยาทั้งสามนครจึงพร้อมกันขนานนามเมืองนี้ว่าเมือง “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่”

พระเจ้าเม็งราย พระองค์เป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งล้านนาไทยและเป็นยุคเดียวกับ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช (พระร่วง) แห่ง กรุงสุโขทัย ซึ่งทั้งสองพระองค์ยังเป็นพระสหายร่วมสาบานเดียวกันอีกด้วย

พระเจ้าเม็งรายมหาราชได้พระสูติเมื่อ พ.ศ.๑๗๘๒ ในเชื้อพระวงศ์ ทรงพระนามว่า "เม็งราย" พระบิดาทรงพระนามว่า พระเจ้าลาวเม็ง (ขุนลาวเม็ง)หรือขุนลาวเมือง มารดาคือนางเทพคำขยาย (พระนางเทพคำข่าย หรือพระนางอั้วมิ่งจอมเมือง) กษัตริย์ผู้ครองเมืองหิรัญนครเงินยาง ปัจจุบันเป็นอำเภอเชียงแสน จ.เชียงราย

เมื่อพระชมน์มายุได้ ๒๑ พรรษา ได้เสวยราชย์ที่เมืองหิรัญนครเงินยาง

พ.ศ.๑๘๐๒ เจ้าเมืองทั้งหลายในแคว้นล้านนา ยอมสวามิภักดิ์ต่อพระองค์

พ.ศ.๑๘๐๕ ทรงสร้างเมืองใหม่ โดยเอาดอยจอมทองเป็นกำแพง ขนานนามว่า "เมืองเชียงราย" (ปัจจุบัน จ.เชียงราย)

พ.ศ.๑๘๑๑ ทรงสร้างเมืองใหม่ขึ้น ณ ตำบลฝาง ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ มีพระราชโอรส ๓ พระองค์ คือ เจ้าขุนเครื่อง เจ้าราชบุตรคราม เจ้าราชบุตรเครือ

พ.ศ.๑๘๑๔ - ๑๘๒๔ ยกทัพตีเมืองหริภุญชัยได้ (ปัจจุบัน จ.ลำพูน)

พ.ศ.๑๘๑๙ ยกทัพตีเมืองพะเยา (ปัจจุบัน จ.พะเยา) พญางำเมือง ผู้ครองเมืองพะเยาต้อนรับด้วยไมตรีและเป็นมิตรต่อกัน ๔ ปีต่อมา พระขุนรามคำแหงมหาราช พระเจ้าเม็งรายมหาราชและพญางำเมือง ได้กระทำสัตย์ปฏิญานต่อกัน โดยทรงเอาโลหิตที่นิ้วพระหัตถ์ผสมน้ำสัตย์เสวยทั้ง ๓ พระองค์ว่าจะไม่เบียดเบียนกันตลอดชีวิต สถานที่นี้เรียกว่าแม่น้ำอิงจ.พะเยา

พ.ศ.๑๘๒๙ ทรงสร้างเมืองกุมกาม (ปัจจุบัน ต.ท่าวังตาล อ.สารภี จ.เชียงใหม่)

พ.ศ.๑๘๓๓ - ๑๘๓๔ ยกทัพไปตีเมืองพุกามพม่าได้สำเร็จ ได้พาเอาช่างฝีมือมาทำงานที่อาณาจักรล้านนา

พ.ศ.๑๘๓๙ ทรงสร้างเมืองใหม่ ขนานนามว่า "นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่" (ปัจจุบัน จ.เชียงใหม่) ทรงปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์เม็งรายและสถาปนาอานาจักรล้านนา ในปีเดียวกันทรงสร้างวัดเชียงมั่น และวัดพระเจ้าเม็งราย (ก๋าละก้อด)

พ.ศ.๑๘๖๐ พระชนมายุได้ ๗๘ พรรษา ได้เสด็จสวรรคตที่ต้นโพธิ์กลางเวียง จึงมีประเพณีมิให้นำศพผ่านกลางเวียงตั้งแต่บัดนั้นมา

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•เสาร์•ที่ 21 •มกราคม• 2012 เวลา 23:17 น.• )