เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี แม่ทัพใหญ่นอกจากได้รับมอบอำนาจทางการทหารแล้ว ยังได้รับมอบอำนาจจากกระทรวงกระทรวงยุติธรรมจัดการเกี่ยวกับการศาล  และมีอำนาจลงโทษตั้งแต่ประหารชีวิตลงมา การพิจารณาคดีผู้กระทำผิดก่อการจลาจลครั้งนี้ ในชั้นแรกมีพระราชดำริจะให้จัดตั้งศาลทหารแต่เพียงศาลเดียว ตามบทพระอัยการ และตามคำแนะนำของเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ แต่มิสเตอร์เบคเคต กงสุลอังกฤษยืนยันว่าคนในบังคับอังกฤษ ต้องพิจารณาในศาลต่างประเทศ ตามสัญญาเชียงใหม่ ค.ศ. ๑๘๘๓ ก็จำต้องปฏิบัติตาม สำหรับคนในบังคับสยาม มิสเตอร์โรบินซ์ให้ความเห็นว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะตั้งศาลทหารขึ้น เพื่อจะใช้อำนาจรวบรัดพิจารณาแก่เขาเหล่านั้นได้ เป็นการไม่เป็นธรรม เพราะผู้ที่ถูกจับได้ล้วนแต่เป็นลูกน้องตัวเล็กๆ ทั้งนั้น และไม่ได้จับขณะที่ต่อต้านอำนาจทางการ หรือกรณีอื่นใดที่แสดงออกมาว่า

เขาเหล่านั้นได้มีส่วนร่วมได้มีส่วนในการก่อความไม่สงบขึ้น และโดยที่การก่อความวุ่นวายขึ้นไม่เหมือนกับการจลาจล ซึ่งหมายถึงการวุ่นวายใหญ่หรือปั่นป่วนที่ประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก่อขึ้น ซึ่งจะต้องมีมากถึงขนาดสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลผู้ปกครองประเทศอยู่ในขณะนั้นได้ จึงเรียกความวุ่นวายนั้นว่า “จลาจล” รัฐบาลก็ได้ปฏิบัติตามโดยมิได้จัดตั้งศาลทหาร แต่จัดตั้งศาลพลเรือนธรรมดา พิจารณาคนในบังคับสยามขึ้น ร. ๕ ทรงให้ชื่อว่า “ศาลข้าหลวงพิเศษ”  ได้เปิดทำการ ณ ที่เรือนใกล้บ้านพักพระยาราชฤทธานนท์ องค์คณะของศาลประกอบด้วย เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เปรสิเดนท์, พระจรรยายุตกฤตย์ ผู้พิพากษา, หลวงปฏิเวทย์สารวิทย์ ผู้พิพากษา, หลวงนิติธรรมพิทักษ์ พนักงานอัยการ, มิสเตอร์โรบินซ์ ที่ปรึกษากฎหมาย, มิสเตอร์ไลล์ รองกงสุลอังกฤษ นั่งฟังการพิจารณา

ศาลข้าหลวงพิเศษมี ๕ เรื่องจำเลย ๑๒ คน นัดพิจารณาวันที่ ๑๐ – ๒๐ ต.ค. ๑๒๑ วันตัดสิน ๒๑ ต.ค.๑๒๑ ศาลต่างประเทศมี ๕ เรื่องจำเลย ๑๑ คน นัดพิจารณาวันที่ ๒๐ ต.ค.๑๒๑ วันตัดสิน ๒๑ ต.ค.๑๒๑ อัยการได้แยกประเภทฟ้องเป็น ๓ สถาน คือปล้นแลเจตนาพยายามฆ่าคน ทำจลาจลปล้นบ้านเมืองแลแย่งชิง ฉ้อของหลวงแลของราชการ ขณะนั้นไทยยังไม่มีกฎหมายลักษณะอาญาใช้ อีก ๖ ปีต่อมาจึงมีประกาศใช้ใน ร.ศ. ๑๒๗ คงใช้กฎหมายราชบุรี ๒ เล่ม กับกฎหมายมนู (พระธรรมศาสตร์) ส่วนศาลต่างประเทศใช้บังคับตามหนังสือสัญญาเชียงใหม่ ค.ศ. ๑๘๘๓ ผลแห่งคำพิพากษา มีดังนี้ คนในบังคับอังกฤษ ประหารชีวิต ๒ คน จำคุก ๖ คน ปล่อย ๓ คน คนในบังคับสยาม ประหารชีวิต ๘ คน จำคุก ๑ คน ปล่อย ๓ คน มีรายละเอียดตามบัญชี ดังนี้ จำเลยผู้ต้องคำพิพากษาได้นำไปขังไว้ยังเรือนจำแพร่ ซึ่งได้ซ่อมแซมความเสียหายจากการถูกเงี้ยวทำลาย เรียบร้อยดีแล้ว มีหลวงจงจีรเกษมเป็นเจ้าพนักงานกองเรือนจำ “เมื่อวันที่ ๒๓ ต.ค.๑๒๑ ได้นำนักโทษ ๘ คนซึ่งต้องโทษประหารชีวิต คืออี่ตู้อ้ายเปง อ้ายเชียว อ้ายมาล่าม อ้ายน้อยนะ อ้ายตื้อ พระยาญาติ และอ้ายตันด้าน ออกมาจากเรือนจำ มีกองทหารคุมมาด้วย ๔ โหล ใช้ฆ้องตีนำหน้า เดนตระเวนไปรอบเมืองแพร่แล้วนำออกไปนอกประตูมาร มีฝรั่งและพลเมืองติดตามไปดูจำนวนมาก เวลา ๕ โมงเช้า ๒๕ นาที ทหาร ๒๔ คน ได้ลงมือยิงนักโทษ ๘ คน ตายหมดในครั้งแรก เพราะไม่มีการดิ้นรน”นี้เป็นรายงานของเจ้าพระยาสุรศักดิ์ฯ ไปยังมหาดไทย


นักโทษเงี้ยวเมืองแพร่ที่ส่งมาจำคุกที่กรุงเทพ ฯ ดังนี้ ๑. หนานพียะ ลาว ๒. โสม ลาว ๓.สล่าปา เงี้ยว ๔.หม่องหลวง พม่า ๕. ส่างกราน พม่า ๖. คำพีละ เงี้ยว ๗. น้อยใจ ลาว ๘. ส่างยอน เงี้ยว ๙. หม่องปลิว พม่า ๑๐. หม่องกาซิน แขก ๑๑. หม่องย่ง พม่า ๑๒. ส่างน้อย เงี้ยว ๑๓. คำยี เงี้ยว ๑๔. ส่างหมูลินต๊ะ เงี้ยว ๑๕. ส่างคำ เงี้ยว ๑๖. ปู่มอง เงี้ยว ถ่ายภาพที่กรุงเทพ ฯ เมื่อ ๑ ม.ค. ๑๒๒ เนื่องด้วยราษฎรมีความหวาดหวั่นเกรงกลัวเงี้ยวผู้ร้ายผู้ต้องคำพิพากษา จะมีความอาฆาตแก่โจทก์ผู้กล่าวหาและเป็นพยาน ทางราชการจึงได้จึงได้ส่งตัวรวม ๑๖ คนไปจำคุกที่กรุงเทพ ฯ โดยแยกกัน นักโทษบังคับสยามไปจำคุกมหันตโทษ ขณะนั้นขึ้นกับกระทรวงยุติธรรม มิสเตอร์โรแรนซ์ แวนเดอร์ เป็นผู้บัญชาการเรือนจำ ส่วนนักโทษบังคับอังกฤษไปจำคุกสถานทูตอังกฤษ ซึ่งอยู่ริมน้ำเจ้าพระยา ใกล้วัดม่วงแค บางรัก กงสุลอังกฤษที่เชียงใหม่ทราบข่าวนี้ ยืนคำคัดค้านขอให้จำคุกคนในบังคับที่แพร่หรือเชียงใหม่ อ้างเหตุว่านักโทษต้องประสพความยากลำบากมาก ที่ต้องถูกบังคับให้เคลื่อนย้ายเดินทางไปกรุงเทพ ฯ ซึ่งใช้เวลาราว ๑ เดือน รัฐบาลไทยต้องปฏิบัติตามโดยสั่งให้ส่งตัวกลับคืนไปแพร่ตามเดิม ถ้าการเดินทางยังไม่พ้นพิษณุโลก แต่ปรากฏว่าเลยไปถึงนครสวรรค์แล้ว จึงต้องเลยมากรุงเทพ ฯ ถึงเมื่อ ๑ ม.ค. ๑๒๒ คนในบังคับอังกฤษก็ส่งตัวไปยังสถานทูตอังกฤษทันที สำหรับจำเลยผู้ต้องประหาร ๒ คนในบังคับอังกฤษ คือหม่องน้อยเล และทวากนันต๊ะ มิได้ส่งลงมาด้วย รอฟังการอุธรณ์อยู่ ต่อมาด้วยความกดดันจากอังกฤษ รัฐบาลไทยต้องยกโทษประหารชีวิต เปลี่ยนเป็นจำคุกจนตาย และให้เนรเทศไปจำคุกที่พม่าแทน นอกจากนี้ เจ้านายพื้นเมืองที่ทรงวินิจฉัยโทษแล้ว ในการสมรู้ร่วมคิดก่อความไม่สงบขึ้นในครั้งนี้รวม ๔ คน คือ ๑. พระไชยสงคราม จำคุก ๗ ปี ๒. พระเมืองไชย จำคุก ๗ ปี ๓. น้อยปุ่ม จำคุก ๗ ปี ๔. น้อยสวน จำคุก ๕ ปี ทั้งหมดถูกถอดจากยศและตำแหน่ง และถูกส่งตัวยังกรุงเทพ ฯ ออกจากแพร่ ๑๓ ก.พ. ๑๒๒ เช่นเดียวกัน

การปลงศพบรรดาข้าราชการที่เงี้ยวฆ่าตาย และทหารตำรวจคนเกณฑ์ที่ยกขึ้นไปปราบปรามป่วยเจ็บตายที่เมืองแพร่ ได้ทำการใหญ่โตมโหราฬเพียงไร และการทำมอนิแมน(อนุสาวรีย์) ที่จะประดิษฐ์ที่หน้าเค้าสนามที่ว่าการเมือง ยังหารายละเอียดไม่ได้ มีแต่ลายพระหัตถ์เลขา ร.๕ ลงวันที่ ๒๖ มิ.ย.๑๒๒ ทรงตอบรับทราบเรื่องการปลงศพและทรงแนะนำว่าเรื่องการที่จะทำมอนิแมนนั้นดี ควรจะออกเงินรัฐบาลช่วย เห็นว่าถ้าจะทำด้วยอิฐปูนก็ไม่เป็นของถาวร ควรจะทำด้วยศิลา แต่จะได้ศิลาแห่งใด และจะทำรูปร่างอย่างได ให้กระทรวงมหาดไทยคิดกับกระทรวงโยธาธิการ อนุสาวรีย์พระยาราชฤทธานนท์ไม่ได้ประดิษฐานไว้ที่หน้าศาลากลางตามความประสงค์เดิม แต่ไปสร้างอยู่ ณ ที่บ้านร่องกาด ณ ที่ซึ่งท่านได้ถูกประหาร ๔ ก.ม. ห่างจากศาลากลาง สมัยเมื่อผู้เขียนไปอยู่เมืองแพร่ ก็เป็นแต่เพียงหลักซีเมนต์ปักอยู่ข้างถนนสายเด่นชัย – แพร่เท่านั้น อนุสาวรีย์นี้สร้างขึ้นใหม่เป็นซุ้มจัตุรมุขสถาปัตยกรรมทรงไทย รูปพระยาราชฤทธานนท์ครึ่งตัว หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ในเครื่องแบบเต็มยศ อยู่ซีกตะวันออกของถนนเด่นชัย-แพร่ หันหน้าทางตะวันตกสู่ถนน มีคำจารึกที่ฐานหินอ่อนว่า “อนุสาวรีย์พระยาราชโทธานนท์พหลภักดี (ทองอยู่) นามบรรดาศักดิ์เดิม พระยาไชยบูรณ์ เป็นข้าหลวงประจำจำเมืองแพร่ เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๔๕ พวกเงี้ยวซึ่งอาศัยอยู่ในจังหวัดแพร่ได้เป็นกบฏคุมสมัครพรรคพวกเข้าปล้นสถานที่ราชการต่างๆ พระยาไชยบูรณ์ได้รวบรวมกำลังออกต่อสู้แต่ถูกจับตัวได้และถูกฆ่าตาย เพราะไม่ยอมมอบหมายการปกครองบ้านเมืองให้”

....................................................................................................................................................................................

คดีเรื่องปู่ผิว หรือแสนผิว

ส่างผิวหรือแสนผิวหรือปู่ผิวหรือแสนเมืองฮอม เป็นต้องซูหรือยางดำตามหลักฐานทางไทย เข้ามาอยู่เมืองพะเยาที่ตำบลแม่ต๋ำกับบิดาตั้งแต่เยาว์วัย ได้มาเป็นคนของพระยาอุดรประเทศทิศเจ้าเจ้าเมืองพะเยา เจ้าเมืองพะเห็นว่าเป็นผู้รู้ราชการดี จึงตั้งให้เป็นแสนเมืองฮอม กรมการเมืองพะเยา รับราชการอยู่ถึง ๒ เจ้าเมืองสืบทอดกันมาเป็นเวลาราว ๓๐ ปี จึงเป็นคนในบังคับสยามอย่างสมบูรณ์ แต่กงสุลอังกฤษที่เชียงใหม่มิสเตอร์เบคเกตได้ออกหนังสือสำหรับตัวให้ภายหลังได้เพียง ๑ ปีก่อนการเสียชีวิต คือเมื่อ ๒ ก.พ. ๑๙๐๒ ทั้งที่ขัดต่อ Orders in Council ปี ค.ศ. ๑๙๐๐ ระเบียบว่าด้วยการลงบัญชีคนในบังคับอังกฤษ รัฐบาลสยามเพิ่งรู้ว่าหนังสือสำหรับตัวจากหลักฐานยื่นฟ้องศาลหลังการสิ้นชีวิตไปแล้ว ๓ เดือน

เมื่อเงี้ยวจากเชียงคำเข้ามายึดครองพะเยาเมื่อ ๔ ต.ค. ๑๒๑ ส่างผิวได้ออกไปรับเงี้ยวผู้ร้ายที่ห้วยแก้วแล้วนำเข้าเมืองมา ครั้นเมื่อวันที่ ๑๕ ต.ค. ๑๒๑ เจ้าราชบุตร เจ้าราชภาติกวงษ์และหลวงพิทยุทธยรรยงนำกองทหารลำปางขึ้นไปปราบเงี้ยว ขับไล่เงี้ยวออกจากพะเยาไปในวันนั้น สืบได้ความว่าส่างผิวซึ่งเป็นกรมการเมืองพะเยา เป็นคนในบังคับสยามสมรู้ร่วมคิดกับเงี้ยวเป็นขบถต่อบ้านเมือง จึงได้จับตัวส่างผิวเมื่อ ๒๔ ต.ค. ๑๒๑ และตั้งศาลทหารขึ้นพิจารณาเมื่อ ๑๕ พ.ย. ๑๒๑ ตัดสินให้ประหารชีวิตฐานล่วงละเมิดพระราชกำหนดบทพระอัยการลักษณะอาญาหลวงมาตรา ๑๒ ลักษณะขบถศึกมาตรา ๑๕ ให้ถอดแสนเมืองฮามออกเสียจากตำแหน่งยศลงไปเป็นไพร่ ให้เรียกว่าอ้ายผิว แล้วให้เอาอ้ายผิวไปประหารชีวิต ริบราชบาทว์ตามบทพระอัยการ ต่อมาเมื่อ ๓ ก.พ. ๑๒๒ จึงได้ทำการประหารชีวิตส่างผิว ก่อนประหารให้เฆี่ยน ๓๐ ที และริบทรัพย์สมบัติเสีย กงสุลอังกฤษที่เชียงใหม่มิสเตอร์เบคเกตชั้นแรกได้คัดค้านฐานเป็นคนในบังคับอังกฤษแต่เมื่อพระจรรยายุกตกฤติ อธิบดีผู้พิพากษาศาลต่างประเทศนครเชียงใหม่แสดงหลักฐานว่าส่างผิวเป็นคนในบังคับสยามก็จำนนต่อหลักฐานถึงชาติกำเนิด เงียบไปพักหนึ่ง หาว่าจำเลยทั้ง ๓ มีเจ้าราชบุตร เจ้าราชภาติกวงษ์และหลวงพิทยุทธยรรยง ได้พิพากษาลงโทษประหารชีวิตและริบราชบาทว์ส่างผิวผู้บิดา เรียกค่าทำขวัญและเสียหาย จำนวนเงิน ๑๓,๒๖๑ รูเปียกำหนดนัดพิจารณาวันที่ ๑ ก.ค. ๑๒๒ รัฐบาลสยามได้แต่งตั้งให้มิสเตอร์ P. McKenzie Skinner เป็นทนายว่าต่าง ทนายร้องคัดค้านว่าศาลต่างประเทศนครเชียงใหม่ไม่มีอำนาจพิจารณาคดีเรื่องนี้ เพราะส่างผิวเป็นคนในบังคับสยาม มิใช่คนในบังคับอังกฤษ ในการพิจารณาของศาลทหารส่างผิวก็มิได้แสดงด้วยวาจาหรือหนังสือแต่อย่างใดว่าเป็นคนในบังคับอังกฤษมีหนังสือสำหรับตัว มิสเตอร์เบคเกตไม่ยอมรับฟังกดดันให้ส่งเรื่องมาให้กรุงเทพ ฯ พิจารณาวินิจฉัย ทั้ง ๆ ที่พระจรรยายุกตกฤติคัดค้านว่าหนังสือสำหรับตัวพึ่งออกให้ภายหลังเป็นการขัดต่อ Orders in Council ปี ๑๙๐๐ ก็ตาม เจตนาเอาเรื่องอย่างจริงจังในเรื่องนี้มีอย่างไรแสดงออกในหนังสือของอุปฑูตอังกฤษมีไปยังเสนาบดีต่างประเทศ มีข้อความบางตอนว่า  “ไม่มีความปลอดภัยแก่คนอังกฤษในภาคเหนือของสยามจากการโหดร้ายรุนแรงไม่เป็นธรรม กระทำให้บาดเจ็บ กระทั่งตายด้วยน้ำมือของข้าราชการสยามผู้โง่เง่า ขอให้ยุติการกระทำเช่นนี้โดยรีบด่วน โดยลงโทษผู้กระทำผิดเป็นตัวอย่างขอให้ ฯพณฯ แจ้งให้รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะลงโทษข้าราชการเหล่านั้นเพียงไร” อุปทูตอังกฤษขอความพอใจในเรื่อง ๓ ข้อคือ ๑. ให้เนรเทศเจ้าราชบุตรไปอยู่กรุงเทพ ฯ ๑๕ ปี ให้ขอโทษและมีคำติโทษลงในราชกิจจานุเบกษา ๒. ให้เนรเทศเจ้าราชภาติวงษ์ออกจากเมืองเหนือและถอดออกจากตำแน่งด้วย ๒ ปี และให้ขอโทษลงในราชกิจจานุเบกษา เช่นกัน ๓. จ่ายเงินทำขวัญแก่ญาติของงแสนผิวเป็นตัวเงิน ๕,๐๐๐ รูเปีย ต่อมาขอเพิ่มเป็น ๑๓,๒๖๑ รูเปีย ระหว่างเนรเทศห้ามรับเข้าทำงานใด ๆ ทั้งสิ้น และจะออกนอกกรุงเทพ ฯ ไม่ได้

เมื่อมหาอำนาจอังกฤษเรียกร้องมาเช่นนี้ เป็นการกดดันที่รัฐบาลสยามไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากต้องปฏิบัติตาม แต่ไม่ก่อนที่จะมีการเจรจาขอลดหย่อนข้อเรียกร้องและค่าเสียหายลงบ้าง ทั้งที่ลอนดอนได้ให้อัครราชทูตสยาม ณ พระราชสำนักเซนต์เจมส์เจรจาต่อหลอดแลนสเดาวน์เสนาบดีต่างประเทศอังกฤษอีกทางหนึ่ง ผู้ไม่ยอมพูดจาด้วยอ้างว่าได้สั่งเข้ามาและกำลังพูดจากันอยู่ในกรุงเทพ ฯ จะรับพูดจาอีกจะยุ่งไป การเจรจาที่กรุงเทพ ฯ กระทรวงการต่างประเทศได้ให้มิสเตอร์แปซยิต อุปทูตอังกฤษ ในที่สุดก็บรรลุข้อตกลงกันได้ โดยอังกฤษให้รัฐสยามสั่งให้เจ้าราชบุตรและเจ้าราชภาติวงษ์ปฏิบัติการ ๓ ข้อดั่งต่อไปนี้ ๑. ให้ไปชี้แจงเป็นความปรากฏแก่หาชนทั้งหลายต่อกงสุลอังกฤษที่เมืองนครลำปางว่าด้วยเหตุการณ์ทั้งปวง ซึ่งนำไปให้ต้องทำต่อปู่ผิวเช่นเป็นมาแล้ว ๒. ให้แสดงความเสียใจโดยเป็นการให้ปรากฏแก่ชนทั้งหลายต่อกงสุลอังกฤษในการที่ได้กระทำการเช่นนั้นมาแล้ว ๓. ให้มอบเงิน ๗,๕๐๐ รูเปีย แก่กงสุลอังกฤษเป็นจำนวนเงินที่รัฐบาลสยามและรัฐบาลอังกฤษได้ตกลงกันว่าเป็นค่าทำขวัญแกญาติของผู้ที่ถึงแก่กรรม โดยเป็นการปรากฏแก่มหาชนด้วย ตามข้อตกลงดังกล่าวนี้ อังกฤษมิได้ติดใจกล่าวถึงหลวงพิทยุทธยรรยงเลย จึงเป็นอันหลุดพ้นไป สำหรับการไปแสดงความเสียใจต่อกงสุลอังกฤษ กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการล่วงหน้าซักซ้อมไปยังพระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพถึงพิธีการที่เจ้าราชบุตร เจ้าภาติวงษ์จะพึงปฏิบัติและกล่าวคำขอโทษต่อกงสุลอังกฤษโดยเคร่งครัด เพื่อมิให้ความอัปยศอับอายแก่เจ้าทั้งสองต้องรับบาปโดยปฏิบัติไปตามคำสั่งของทางราชการกระทรวงมหาดไทยทั้งสิ้น พระยาสุรสีห์ ฯ ได้ไปนัดกับมิสเตอร์สริงเกอร์ กงสุลอังกฤษที่ลำปาง กำหนดวันที่ ๒ ก.ค. ๑๒๓ เวลา ๓ โมงเช้าที่บ้านพักกงสุลลำปาง ปรารภว่ากงสุลอังกฤษจะแต่งตัวเต็มยศต้อนรับ อยากให้เจ้าราชบุตร เจ้าราชภาติวงษ์แต่งตัวเต็มยศด้วย พระยาสุรสีห์ ฯ แย้งว่าจะแต่งตัวเต็มยศมาแสดงความเสียใจดูไม่สู้ควร กงสุลอังกฤษก็เห็นด้วย และตกลงให้แต่งเพียงครึ่งยศ ในวันที่ ๒ ก.ค. ๑๒๓ เวลา ๓ โมงเช้า เจ้าราชบุตร เจ้าราชภาติกวงษ์ แต่งตัวครึ่งยศ นำเงิน ๗,๕๐๐ รูเปียไปยังที่พักกงสุล ในเวลานั้นมีพวกฝรั่งนายห้าง กับพม่าเงี้ยวอยู่ในที่พักกงสุลหลายคน เจ้าราชบุตร เจ้าราชภาติกวงษ์พักอยู่ครู่หนึ่ง กงสุลอังกฤษจึงแต่งตัวเต็มยศออกมาต้อนรับ เจ้าราชบุตรได้แสดงความเสียใจต่อกงสุลโดยกล่าวว่า “ข้าพเจ้าทั้งหลายมีความเสียใจที่ได้พิจารณาให้ถ้วนถี่ก่อน แลได้ตัดสินใจประหารชีวิตแสนผิวผู้ซึ่งได้จดชื่อลงทะเบียนไว้ในสถานกงสุลว่าเป็นคนในอังกฤษ ข้าพเจ้าตัดสินทำโทษไปโดยไม่ทราบ เพราะฉะนั้นจึงขอแสดงความเสียใจในการที่ได้กระทำต่อแสนผิวต่อท่านกงสุล ณ บัดนี้ แลข้าพเจ้าขอส่งเงินซึ่งรัฐบาลให้ทำขวัญแก่ครอบครัวของแสนผิวไว้ต่อท่านกงสุลด้วย” เมื่อเจ้าราชบุตรกล่าวคำแสดงความเสียใจแล้ว กงสุลก็ขอให้เจ้าราชภาติกวงษ์แสดงความเสียใจด้วยถ้อยคำเช่นเดียวกัน เมื่อกล่าวเสร็จแล้วก็ได้มอบหนังสือข้อความที่แสดงนั้นกงสุล พร้อมกับมอบเงิน ๗,๕๐๐ รูเปียให้กงสุลด้วย เป็นอันเสร็จพิธีการ แล้วลากลับ กระทรวงการต่างประเทศได้ออกประกาศแจ้งความกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยเรื่องความปู่ผิวลงวันที่ ๓๑ พ.ค. ๑๒๓ ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาในเวลาต่อมา ดังนนี้ ด้วยในเดือนตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๑ ขณะเมื่อเกิดความวุ่นวายในฝ่ายเหนือของกรุงสยามนั้น มีต้องซู่ผู้หนึ่งชื่อปู่ผิว อยู่เมืองพะเยาได้จดบัญชีไว้ว่าเป็นคนในบังคับอังกฤษคนหนึ่ง ต้องจับกุงโดยสงสัยว่าเป็นผู้สมรู้เป็นใจกับพวกผู้ร้าย แล้วต่อมาได้ชำระปู่ผิวในศาลทหารแห่งหนึ่ง ซึ่งเจ้าราชบุตรเมืองนครลำปาง เจ้าราชภาติกวงษ์ กับผู้อื่นอีกนายหนึ่งเป็นผู้พิพากษาและได้ตัดสินโดยเร็วพลันให้ลงโทษถึงตายแล้ว และได้ประหารชีวิตด้วย ด้วยเหตุอ้างตามหนังสือสัญญาทางพระราชไม่ตรีซึ่งมีอยู่ในระหว่างกรุงสยามกับกรุงอังกฤษได้มีข้อต่าง ๆ กล่าวกับกรรมสิทธิ์แลผลประโดยของคนในบังคับอังกฤษซึ่งอยู่ในสยามไว้ว่าถ้าคนในบังคับอังกฤษต้องจับกุมแล้ว จะต้องรีบส่งตัวไปชำระ ณ ศาลต่างประเทศที่เมืองนครเชียงใหม่ และให้กงสุลอังกฤษที่นั้นตรวจตราดูแลจัดการด้วย รัฐบาลอังกฤษได้สอบถามรัฐบาลสยามว่า เจ้าราชบุตรแลเจ้าราชภาติกวงษ์มีอำนาจอย่างไร จึงได้ชำระโทษคนในบังคับอังกฤษแล้วเร่งรัดขอให้ทำโทษข้าราชการทั้ง ๒ ซึ่งออกชื่อมาข้างต้นนี้ด้วย แต่ข้าราชการทั้ง ๒ ซึ่งได้ออกชื่อมาแล้วนี้ ได้ร้องแก้ตัวว่า ในเวลาที่ได้กระทำการอันเกี่ยวด้วยปู่ผิวโดยเร็วพลันเช่นนั้น ไม่ได้ทราบความเลยว่าปู่ผิวมีข้ออ้างว้าเป็นคนในบังคับอังกฤษ แลยังอีกส่วนหนึ่งนอกจากคำร้องแก้ตัวที่กล่าวนี้ รัฐบาลสยามรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลจะต้องว่ากล่าวเจ้าราชบุตรแลเจ้าราชภาติกวงษ์นั้น ได้กระทำตามคำสั่งที่ได้มีมาตรงไปจากกรุงเทพ ฯ แลเพราะเหตุนี้การรับผิดชอบในข้อสำคัญนั้นย่อมตกอยู่แก่รัฐบาลสยาม

เมื่อรัฐบาลอังกฤษได้พิเคราะห์ความตามเหตุการณ์ทั้งปวงที่เป็นอยู่เช่นนี้แล้ว จึงได้คืนคำขอซึ่งจะให้ลงโทษอันเรี่ยวแรงแก่ข้าราชการทั้ง ๒ ซึ่งเกี่ยวข้องแก่การอันนี้ แต่รัฐบาลอังกฤษไม่สามารที่จะละทิ้งความอันสำคัญเช่นนี้ให้เลิกแล้วไปโดยไม่มีการแก้ไขในสิ่งผิดนั้น จึงจะยอมถือว่าคดีอันนี้เป็นอันแล้วแก่กันได้ ด้วยรัฐบาลสยามจะให้เจ้าราชบุตรแลเจ้าราชภาติกวงษ์กระทำการ ๓ อย่าง

๑ ให้ไปชี้แจงเป็นความปรากฏแก่มหาชนทั้งหลายต่อกงสุลอังกฤษที่เมืองลำปางว่าด้วยเหตุการณ์ทั้งปวงซึ่งนำไปให้ต้องทำต่อปู่ผิวเช่นเป็นนานแล้ว

๒ ให้แสดงความเสียใจโยเป็นการให้ปรากฏแก่ชนทั้งหลายต่อกงสุลอังกฤษในการที่ได้กระทำการเช่นนี้มาแล้ว

๓ ให้มอบเงิน ๗,๕๐๐ รูเปียแก่กงสุลอังกฤษเป็นจำนวนเงินที่รัฐบาลสยามแลรัฐบาลอังกฤษได้ตกลงกันว่าเป็นค่าทำขวัญแก่ญาติผู้ที่ถึงแก่กรรม โดยให้เป็นการปรากฏแก่มหาชนด้วย

ฝ่ายรัฐบาลสยามมีความประสงค์ที่จะแสดงความเสียใจอย่างยิ่งว่า เหตุการณ์อันไม่ควรจะเป็นอย่างนี้เช่นการชำระและประหารชีวิตปู่ผิวนี้ก็มาเกิดมีขึ้นด้วย รัฐบาลสยามไม่ได้มีความประสงค์เลยว่าจะทำให้เสียกรรมสิทธอย่างใดอย่างหนึ่งของประเทศซึ่งเป็นไม่ตรีต่อกัน แลเพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุเช่นนี้อีกได้นั้น จึงได้มีคำสั่งแก่เจ้าพนักงานฝ่ายสยามทั่วพระราชอาณาเขตร์ให้เอาใจใส่ระวังคดีอย่างเช่นนี้ซึ่งจะมีคนอ้างว่าอยู่ในบังคับอังกฤษเกี่ยวข้องแล้ว และก่อนเวลาชำระคนเช่นนี้ให้สอบสวนสังกัดของคนผู้นั้นโดยหารือกับกงสุลหรือโดยทางอย่างอื่นๆ ให้ได้ความโดยถี่ถ้วน

ศาลาว่าการต่างประเทศ

วันที่ ๓๑ พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๓

เทววงษ์วโรปการ เสนาบีดว่าการต่างประเทศ

.......................................................................................................................................................

คดีเรื่องพะก่ามุ้ง

พะก่ามุ้งเงี้ยวเฮดแมนบังคับอังกฤษ ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองเชียงราย เมื่อเงี้ยวพญาศรีสองเมืองเข้าปล้นเมืองเชียงแสนหลวงได้เมื่อ ๑๓ ต.ค. ๑๒๑ แล้วยกลงมาตีเมืองเชียงรายเมื่อ ๑๗ ต.ค. ๑๒๑ ได้ยิงต่อสู้กับพวกข้าหลวงในเมืองตั้งแต่บ่าย ๔ โมงจนถึง ๔ ทุ่มเศษ ไม่สามารถข้ามสะพานแม่น้ำกกเข้าเมืองได้ เงี้ยวถูกยิงตายที่สะพาน ๖ศพ จึงแตกหนีถอยหลังกลับขึ้นไปเชียงแสนหลวง ระหว่างทางถอยหนีได้ตั้งค่ายต่อสู้ทหารไทยชนิดสู้พลางหนีพลางถึง ๖ ค่าย แต่ถูกตีไปทั้งสิ้น พระสุรฤทธิพฤติไกรเป็นผู้บังคับการกองทหารขึ้นมาจากพะเยาไล่ติดตามขับเงี้ยวออกไปจากเชียงแสนหลวงหนีข้ามน้ำโขงไปฝั่งซ้ายของฝรั่งเศสได้ โดยทหารไทยไม่สูญเสียเลย กองทหารใช้ปืนใหญ่ยิงทำลายในการรบ ในการนี้จับผู้ร้ายเงี้ยวได้ ๒ คน คือส่างออ และหนานสัง ซึ่งถูกปืนใหญ่แตกอากาศได้รับบาดเจ็บสาหัส ส่างออให้ปากคำไม่ได้มาก แต่ก็ระบุถึงพะก่ามุ้งกับพวกร่วมมือด้วยถูกตัดศีรษะเสียบประจานไว้ริมทาง ส่วนหนานสังให้การซัดทอดไปถึงเงี้ยวในเมืองร่วมมือด้วยกับพญาศรีสองเมืองรวม ๖ คนเช่นเดียวกันคือ พะก่ามุ้ง, ส่างยัน, จองแก, จองมน, แสนเมืองน้อยและส่างคำ เงี้ยวนัดแนะกันว่าเมื่อพญาศรีสองเมืองเข้าตีเชียงรายเมื่อใด

ก็จะจัดเรืองข้ามฝากไว้คอยรับที่แม่น้ำกก ๔ ลำ ข้างใต้ ๒ ลำ ข้างเหนือ ๒ ลำ เมื่อพญาศรีสองเมืองข้ามสะพานประชิดกำแพงเมืองได้แล้ว เงี้ยวในเมืองคือพะก่ามุ้งกับพวกอีก ๕ คนก็จะจุดไฟเผาที่ว่าการแขวง ที่ว่าการรัฐบาล บ้านเรือนข้าราชการ จับข้าราชการฝ่ายใต้ ฝ่ายเหนือฆ่าเสียให้สิน หนายสังถูกนำตัวกลับเชียงราย แต่พยายามหนีจึงถูกทหารยิงตาย เมื่อกองทหารประสพชัยชนะยกกลับจากเชียงแสนหลวงมาเชียงราย พะก่ามุ้งรู้ตัวกลัวความผิดอพยพครอบครัวทรัพย์สมบัติพร้อมกับพวกอีก ๕ คนจากเชียงรายไปเมืองเซยิง ก่อนกองทหารจะมาถึง กองทหารออกติดตามตัวโดยเข้าค้นบ้านเรือนพะก่ามุ้งกับพวก ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาทันที กงสุลอังกฤษมิสเตอร์เบคเกตยื่นประท้วงพระยานริศรราชกิจ ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพทันที กล่าวหาว่ากองทหารบังอาจหักประตูเรือนเข้าไปในบ้านพะก่ามุ้งกับพวกอีก ๕คนแล้วเก็บเอาทรัพย์สินสิ่งของไปทั้งสิ้น ขอให้ฝ่ายไทยชดเชยค่าเสียหาย และยืนยังว่าพะก่ามุ้งกับพวกเป็นคนเรียบร้อย หาใช่เป็นผู้ร้ายไม่ เคยช่วยปราบปรามผู้ร้ายตามคำสั่งกงสุลและราชการไทย มิได้มีใจสมรู้ร่วมคิดกับผู้ร้าย ที่ต้องหนีไปก็เพราะเกรงอันตรายถึงชีวิตจากการกระทำของทหารไทย ฝ่ายไทยโต้แย้งว่าพะก่ามุ้งกับพวกกระทำความผิด โดยสมรู้ร่วมคิดกับพญาศรีสองเมืองเข้าปล้นเชียงราย ตามคำให้การของส่างออและหนานสัง กงสุลอังกฤษไม่ยอมรับฟัง กดดันให้ฝ่ายไทยต้องยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่พะก่ามุ้งกับพวก ๕ คนผ่านทางมิสเตอร์เบคเกตเป็นจำนวนเงินค่าทรัพย์สมบัติ ๔,๓๗๗.๕๐ รูเปีย และเงินค่าทำขวัญอีก ๓,๕๐๐ รูเปีย และไปรับตัวกลับมายังที่อยู่เดิมมิให้ผู้ใดรบกวน เรื่องจึงยุติลง

.......................................................................................................................................................

คดีเรื่องพระยาดัษกรปลาศที่บ้านท่าฟ้า

เงี้ยวแตกพ่ายไปจากเมืองแพร่และลำปางเมื่อเดือนสิงหาคม ๑๒๑ ก็หนีขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ มีจุดหมายปลายทางที่เมืองริมน้ำโขงคือเชียงของ และข้ามฟากไปพึ่งใบบุญบารมีฝรั่งเศสคุ้มชีวิต ระหว่างทางที่ผ่านเมืองต่าง ๆ ของบริเวณน่านเหนือ ที่สำคัญคือเมืองสา หรือสะหรือสะก่อน บ้านท่าฟ้าก็ขึ้นกับเมืองนี้ คนละเมืองกับอำเภอสาใต้เมืองน่านลงมา สาเป็นชุมทางหนีจากแพร่ก็ขึ้นเหนือไปเมืองสอง สะเอียบแล้วสู่เส้นทางเมืองดังกล่าว เส้นทางหนีจากลำปางก็ขึ้นเหนือสู่พะเยา ไปเทิง ออกเชียงของ หรือลงใต้ไปสะเอียบสู่เส้นทางดังกล่าวข้างต้นเหมือนกัน ราวต้นเดือนตุลาคม ๑๒๑ เงี้ยวสะสมรวบรวมกำลังเพิ่มเติมได้มากเพียงพอ ก็เริ่มส่งกำลังเข้ามาปล้นสะดมรบกวนในเมืองข้างในอีก เริ่มเข้าปล้นเชียงแสนหลวงก่อน แล้วยกเข้ามาตีเชียงราย แต่ถูกตีแตกย่อยยับกลับไป อีกสายหนึ่งส่งกำลังมายึดพะเยาแล้วจะเลยลงมางาวจุดหมายปลายทางคือปล้นลำปาง ฝรั่งทำไม้มิสเตอร์ทิลลี่แห่งห่างบอมเบ เบอร์ม่า ก็รายงานการเคลื่อนไหวของเงี้ยวเข้ามายังลำปาง แต่ขยายความจำนวนคนเพิ่มอีกหลายเท่าตัว ว่าเงี้ยวชุมนุมอยู่ที่บ้านท่าฟ้า ๘๐๐ คน และมีกองหนุนอีก ๓,๕๐๐ คน กำลังมุ่งหน้ามาลำปาง และจะเลยไปตีเชียงใหม่ด้วย กำหนดจะตีลำปางวันที่ ๒๑ ต.ค. ๑๒๑ ข่าวนี้ทำให้ชาวลำปางแตกตื่นตกใจมากที่สุด เงี้ยวจะปล้นเมืองเป็นครั้งที่ ๒ พร้อมที่จะหนีเข้าป่าไปทุกขณะ ฝรั่งทำไม้ก็แสดงทีท่าตื่นเต้นตกใจมาก อพยพขนข้าวของหนีบ้างเหมือนกัน ทั้งที่เงี้ยวประกาศว่า จะไม่แตะต้องฝรั่งทำไม้เจ้านายของตนก็ตาม แต่รัฐสยามมีความเห็นไปอีกทางหนึ่ง ว่าเป็นการเสแสร้งกระทำเพื่อหวังผลที่จะเล่นงานรัฐบาลสยามในภายหลัง ที่ไม่สามารถปราบปรามโจรผู้ร้ายทำให้บ้านเมืองสงบลงได้ ทำให้เขาต้องหยุดกิจการทำไม้ ขาดรายได้เสียผลประโยชน์ในเวลาอันยาวนานไม่มีเวลาสิ้นสุด จะต้องเรียกร้องชดเชยค่าเสียหายจากรัฐบาลภายหลัง และเรียกร้องขอจองป่าสักอื่นๆ ให้หมดอีกด้วย เพราะถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะเอาได้ พระยาอนุชิตชาญชัยแม่ทัพที่ลำปาง ส่งกองตำรวจภูธรนำโดยร้อยเอกเย็นเซ่นขึ้นไปปราบเงี้ยวที่พะเยาล่วงหน้าก่อนกองทหาร ๑ วัน แต่ไปเสียชีวิตที่ห้วยเกี๋ยง บ้านแม่กาท่าข้ามเสีย กองทหารซึ่งนำโดยเจ้าราชภาติวงษ์ติดตามขึ้นไปภายหลัง ขับไล่เงี้ยวออกจากบ้านแม่กาท่าข้ามได้ ยกเลยติดตามขึ้นไปถึงพะเยาในตอนกลางคืน พอวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๑๒๑ ตอนบ่ายก็ขับไล่เงี้ยวแตกหนีออกจากพะเยาได้หมด จับเงี้ยวได้ ๓ คน เป็นหัวหน้า ๑ คน ได้ประหารชีวิตเสีย และเผาบ้านเรือนเงี้ยวรวม ๔ หลัง เงี้ยวแตกหนีไปตั้งรับทางบ้านท่าฟ้าแขวงเมืองสาบริเวณน่านเหนือ ทางฝ่ายแพร่ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีก็ส่งเจ้าพระยาดัษกรปลาศนำทหาร ๒๐๐ คนขึ้นไปปราบเงี้ยวที่เมืองเชียงม้วนและเชียงคำ พร้อมกับสั่งให้ทหารลำปางตีโอบลงมาจากพะเยาประสานกับกองทัพยกขึ้นไป เมื่อพระยาดัษกรปลาศยกกองทัพจากแพร่เมื่อ ๕ ตุลาคม ๑๒๑ เมื่อไปถึงสะเอียบ ตอนย่ำรุ่งของวันรุ่งขึ้น ที่  ๑๖ ตุลาคม ๑๒๑ ส่างโปหัวหน้าเงี้ยวนุ่งเตี่ยวขาวเสื้อขาว มีเงี้ยว ๓๐ คนและไชยวงษ์หัวหน้าลื้อเมืองเชียงคำมีลื้อ ๕๐ คน และคนเมืองเงิน ปง ออย เชียงม้วน ๗๐ คน รวมทั้งสิ้น ๑๕๐ คน ยกเข้าตีกองทัพหน้าพระยาดัษกรปลาศแต่ก็บาดเจ็บล้มตายเสียหายยับเยิน ต้องล่าถอยขึ้นไปตั้งรับอยู่ที่บ้านท่าฟ้า พระยาดัษกรปลาศก็ยกติดตามขึ้นไปยังไม่ทันถึงบ้านท่าฟ้า กองทหารจำนวน ๘๐ คนของนายร้อยเอกบุศย์จากพะเยาก็มาถึงบ้านท่าฟ้าเสียก่อนเมื่อ ๒๖ ตุลาคม ๑๒๑ เงี้ยวและลื้อ ๖๐ คนอาวุธครบมือและดาบเป็นกองหน้ายกกำลังไปตั้งรับสกัดทางอยู่ที่ดอยปู่ม่อม (ภูมม) ทางก่อนเข้าบ้านท่าฟ้า ได้ยิงต่อสู้กันประมาณ ๓๐ นาที เงี้ยวก็ล่าถอยไปทางบ้านท่าฟ้า ยิงถอยพลางสู้พลาง เมื่อถึงศาลาทางเข้าหมู่บ้านก็มีการยิงต่อสู้กันอีก เมื่อเห็นสู้กองทหารไม่ได้ก็แตกหนีเข้าป่าไปบ้าง เข้าไปในหมู่บ้านท่าฟ้าบ้าง ขึ้นไปหลบหนีซ่อนตัวอยู่บนบ้านในบริเวณของห้างบอมเบ เบอร์ม่าบ้าง กองทหารนายร้อยเอกบุศย์ติดตามกระชั้นชิดเข้าไปในหมู่บ้าน ด้วยความระมัดระวังตัวอย่างที่สุด เพราะได้ข่าวล่วงหน้าจากชาวบ้านที่เงี้ยวเกณฑ์มาใช้แรงงานก่อนแล้วว่ามีเงี้ยวอยู่ที่บ้านท่าฟ้าถึง ๓๐๐ คน จึงต้องระมัดระวังชีวิตป้องกันตัวไว้ก่อน ยิงทุกอย่างที่เคลื่อนไหว ในเหตุการณ์ชุลมุนสับสนอลหม่านเช่นนั้น ผู้คนวิ่งสับสนไปทุกทิศทุกทาง ก็ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นโจรเงี้ยวทั้งสิ้นเพราะไล่ติดตามมา ปรากฏภายหลังว่ามีการบาดเจ็บล้มตายหลายคน จับเป็นผู้ร้ายได้ ๒ คน ปรากฏหลักฐานทางฝ่ายไทยว่าเป็นผู้ร้ายที่ปล้นเมืองแพร่และลำปางด้วย หนีมาอยู่บ้านท่าฟ้าพร้อมกับพวก ๓๐ คน กับม้าตัวเมีย ๔ ตัว คนหนึ่งถูกยิงจากลำปางที่ตาตุ่มซ้ายและทั้ง ๒ ยังทำการต่อสู้กองทหารที่บ้านท่าฟ้าอีกด้วย เมื่อพระยาดัษกรปลาศยกขึ้นมาถึงบ้านท่าฟ้า ๒ วันต่อมาคืนวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๑๒๑ ก็ตั้งศาลขึ้นพิจารณาโทษ ตัดสินให้ประการชีวิตผู้ร้ายทั้ง ๒ เสีย ซึ่งอังกฤษอ้างภายหลังว่าเป็นพม่า เหตุการณ์ที่บ้านท่าฟ้า ปรากฏตามรายงานของมิสเตอร์ร์โรบินซ์ ลงวันที่ ๕ ธันวาคม ๑๙๐๒ มิสเตอร์รัซเซลแห่งห้างบอมเบ เบอร์ม่า รีบลงมาจากบ้านท่าฟ้ามายังแพร่ รายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแก่มิสเตอร์ไลล์ รองกวงสุลอังกฤษเลยทันที มิสเตอร์ไลล์ยื่นหนังสือต่อเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ได้ตอบชี้แจงว่า “กำลังรบกันที่ฟ้า จับคนร้ายได้ ๒ คน บอกว่าเป็นชาติลื้อ และจำชื่อเสียงไม่ได้ สืบจากผู้ใหญ่บ้านและอำแดงคำเอื้อยเมียฝรั่งห้างบอมเบได้ความว่าคนทั้ง ๒ เดิมเป็นผู้ร้ายปล้นเมืองแพร่และเมืองลำปาง เมื่อพิจารณาได้ความว่าคนทั้ง ๒ ได้เป็นผู้ร้ายมาถึง ๒ ครั้งแล้ว ศาลทหารจึงได้พิจารณาและตัดสินให้ประหารชีวิตก็ไม่เห็นว่ามีความผิดอย่างไรที่ดำเนินการไปเช่นนั้น” อังกฤษไม่ยอมฟังเหตุผลใด ๆ ทั้งสิ้น ถือว่าทหารไทยบุกรุกเข้าไปในที่ห้างบอมเบ เบอร์ม่า ห้างของคนอังกฤษ ทำความเสียหายให้ทรัพย์สินแก่คนอังกฤษและลูกจ้าง ทำความบาดเจ็บล้มตายแกคนในบังคับอังกฤษและคนในบังคับสยาม ไม่เคารพธงของอังกฤษและสถานที่ของคนอังกฤษ เรียกร้องให้รัฐบาลสยาม นำตัวพระยาดัษกรปลาศและนายร้อยเอกบุศย์ ขึ้นศาลต่างประเทศที่เมืองแพร่ ให้ไทยยิงสลุต ๒๑ นัดแก่ธงอังกฤษและธงห้างบอมเบ เบอร์ม่า อยู่ข้างใต้ ต้องทำในที่สาธารณะ มีกองทหารมีนายทหารอ่านคำขอโทษโดยทหาร ข้อความคำขอโทษต้องเสนอแก่กงสุลอังกฤษที่เชียงใหม่พิจารณาเสียก่อน ที่กงสุลจะได้แจ้งวันเวลาและสถานที่ประกอบพิธีให้ทราบ  ให้ชดเชยค่าเสียหายและค่าทำขวัญแก่ญาติของสล่ามอและหม่องทาซัน มิสเตอร์เบคเกตได้ยื่นฟ้องในนามรัฐบาลอังกฤษ โดยให้หม่องยีพม่าเป็นทนายความว่าต่าง ๒ สำนวน สำนวนที่หนึ่งกล่าวหาว่าพระยาดัษกรปลาศฆ่าคนในบังคับอังกฤษซึ่งไม่มีความผิดที่บ้านท่าฟ้า ๒ คน อีกสำนวนหนึ่งกล่าวหาว่านายร้อยเอกบุศย์ฆ่าคนในบังคับสยามซึ่งเป็นลูกจ้างห้าบอมเบ เบอร์ม่า และแย่งชิงเก็บข้าวของที่ท่าฟ้า ของให้ศาลเรียกตัวให้จำเลยทั้ง ๒ ไปพิจารณาที่เมืองแพร่ในวันที่ ๖ พฤษภาคม ๑๒๒ ด้วยความอังกดดันจากมหาอำนาจอังกฤษ ซึ่งถือเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญยิ่งต่อศักดิ์ศรีของอังกฤษอย่าจริงจัง รัฐบาลไทยก็จำต้องยอมปฏิบัติตามโดยไม่มีทางเลือก แต่ก็ได้เจรจาขอผ่อนปรนข้อเรียกร้องลงมาบ้าง คือ ให้ศาลทหารที่กรุงเทพ ฯ แทนศาลต่างประเทศที่เมืองแพร่ งดการยิงสลุตธงเสีย แต่ให้กล่าวคำขอโทษที่ศาลทหารที่กรุงเทพ ฯ แทน และลงประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาด้วย การชดเชยค่าเสียหาย ค่าทำขวัผยเป็นไปตามเดิม กรณีท่าฟ้านี้ไทยต้องชดเชยค่าเสียหายและค่าทำขวัญแก่สล่ามอ หม่องทาซันและคนอื่น ๆ ๑๑,๕๒๐ รูเปียสำหรับคนในบังคับอังกฤษ และคนในบังคับฝรั่งเศสตาย ๑ บาดเจ็บ ๒ ตามที่กงสุลฝรั่งเศสเรียกร้องเช่นเดียวกันเป็นเงิน ๕,๘๐๐ บาท รัฐไทยยังต้องจ่ายค่าเสียหายเป็นค่าทรัพย์สินสมบัติแก่เงี้ยวบังคับอังกฤษเมื่อเกิดจลาจลที่พะเยาและเชียงรายอีก ๒,๐๐๐ รูเปียอีกด้วย สำหรับการดำเนินคดีทางศาลทหารบกที่กรุงเทพ ฯ อังกฤษตั้งข้อเรียกร้องล่วงหน้ามาว่าต้องจำคุกพระยาดัษกรปลาศอย่าน้อย ๑๒ ปี ส่วนนายร้อยบุศย์ไม่มีข้อเรียกร้องล่วงหน้า ศาลทหารบกได้ยกฟ้องปล่อยตัวไปหลังจากขังไว้ระหว่างพิจารณา ๕ เดือน และอังกฤษก็ไม่ติดใจอันใด พิธีการพิจารณาทางศาลทหารบกได้ดำเนินการสืบจากพยานโจทย์ จำเลยเสร็จแล้ว ก็เสนอเรื่องกราบทูลพระกรุณาของพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยกำหนดโทษ ๑๒ ปี ตามความกดดันลงมาเป็นคำพิพากษาซึ่งได้ประกาศลงในหนังสือราชกิจจานุเบกษา รวมทั้งกล่าวคำขอโทษด้วย เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๑๒๒

.......................................................................................................................................................

บทส่งท้าย

ระหว่างประกาศภาวะฉุกเฉินของมาลายา อังกฤษมีทหาร ๕๐,๐๐๐ คน ประจำอยู่เพื่อปราบปรามกองโจรคอมมิวนิสต์มาลายา ๕,๐๐๐ คน ใช้เวลา ๑๒ ปี ก็ไม่ประสบผล และเมื่อคอมมิวนิสต์เข้าครอบครองประเทศอินโดจีนได้สำเร็จลงในเวลาต่อมา อังกฤษก็เกรงผลพวงจากทฤษฎี ดอมิโน ประเทศไทยก็จะพลอยซวดเซล้มลงไปด้วยตามทฤษฎี อังกฤษก็พร้อมแล้วที่จะใช้นโยบายเหนือเหตุผลต่อประเทศไทย คือเข้ายึดครองสงขลาเสียก่อน ป้องกันมาลายาไม่ให้ตกเป็นคอมมิวนิสต์ ความลับที่ปกปิดถึง ๓๐ ปี ของรัฐบาลอังกฤษ เพิ่งเปิดเผยเมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๒๗ เดือนมกราคมนี้เอง ก็คือนโยบายเหนือเหตุผลที่จะใช้ปฏิบัติต่อประเทศไทยในปี ค.ศ. ๑๙๕๓ (พ.ศ. ๒๔๙๖) หนังสือพิมพ์ไทมส์เสนอข่าวว่า วินสตัน เชอร์ชิลส์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษเตรียมพร้อมที่จะยึดสงขลา เพื่อป้องกันมาลายาไม่ให้ตกไปเป็นคอมมิวนิสต์ เนื่องด้วยกองทหารอังกฤษได้สู้รบกับกองโจรจีนคอมมิวนิสต์ในมาลายาเป็นเวลาหลายปี ประสบความสำเร็จเพียงเล็กน้อย เสนาธิการอังกฤษเกรงผลพวงจากทฤษฎีดอมิโน ถ้าอินโดจีนล้มลงประเทศไทยก็จะพลอยล้มตาม ตกไปเป็นคอมมิวนิสต์ไปด้วย จึงขออำนาจจากวินสตัน เชอร์ชิลส์ วางแผนการรายละเอียด เตรียมพร้อมที่จะยึดสงขลา เมื่อ ๒๖ เมษายน ๑๙๕๓ ในเดือน พฤษภาคม ๑๙๕๓ ข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำมาลายา นายพลเซอร์ เยอราลด์ เทมปลาร์ ได้ส่งหน่วยหาข่าวแทรกซึมเข้ามาในสงขลาแล้วเพื่อยึดครองตามแผนการ แต่บังเอิญโชคดีเป็นของประเทศไทย ในปลายปีนั้น กองโจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายามีการแตกแยกไม่ลงรอยระหว่างกัน สูญเสียทั้งขวัญและกำลังใจ จึงต้องประสบความพ่ายแพ้จากการรบ แผนการยึดสงขลาของอังกฤษจึงเลิกล้มไป

เมื่อหวนระลึกถึงเหตุการณ์เมื่อเงี้ยวก่อการจลาจลขึ้นในมณฑลพายัพเพื่อที่จะแบ่งดินแดนออกไป เป็นสมัยที่มหาอำนาจอังกฤษและฝรั่งเศสกำลังแข่งขันล่าเมืองขึ้นในแถบภูมิภาคนี้ ไทยต้องเสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงไปก่อนหน้านี้ไม่กี่ปีแก่ฝรั่งเศส และ ๔ หัวเมืองดินแดนใต้สุดของประเทศแก่อังกฤษ เหตุการณ์เกิดขึ้นครั้งนี้ อังกฤษไม่ได้ใช้นโยบายเหนือเหตุผลแบบกรณีสงขลา ต่อประเทศไทย แม้แทรกแซงอย่างหนักหน่วงก็ตาม ทั้ง ๆ ที่สถานการณ์และสภาพการณ์เอื้ออำนวยให้ ทั้ง ๆ ที่เงี้ยวขยั้นขยอให้อังกฤษผนวกมณฑลพายัพเสียเพื่อตนจะได้อยู่อย่าเป็นสุขแบบอังกฤษผนวกพม่าแล้ว แต่อังกฤษไม่ทำ ทั้งนี้ก็ต้องยกประโยชน์ให้ว่าเป็นผลแห่งการทรงดำเนินวิเทโศบายและรัฐาภิปาโลบายด้วยความสุขุมคัมภีรภาพเยือกเย็นทันต่อเหตุการณ์ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเสนาบดีต่างประเทศและมหาดไทย ทรงยอมกล่ำกลืนความขมขื่นที่ถูกกดดันอย่างไม่เป็นธรรมไร้เหตุผล ทรงยอมเสียสละส่วนน้อยคือเงินตราเพื่อรักษาส่วนใหญ่คือแผ่นดินไว้ จึงทรงสามารถนำสยามรัฐนาวาฝ่าคลื่นลมแรงร้ายออกไปอย่างปลอดภัย ดินแดนภาคพายัพจึงยังคงเป็นดินแดนแบ่งแยกมิได้ของประเทศตราบเท่าทุกวันนี้

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•พฤหัสบดี•ที่ 12 •มกราคม• 2012 เวลา 11:43 น.• )