สารรักษ์หัวใจตอนที่ ๑๔ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงควรรับประทานอาหารชนิดใดบ้าง อาหารที่เรารับประทานเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการควบคุมความดันโลหิต อาหารที่ควรรับประทานก็คืออาหารที่ไม่ทำให้อ้วน คือให้พลังงานต่ำ เช่น ผัก ผลไม้ เมล็ดพืช ธัญพืชต่างๆ ปกติบ้านเราจะกินข้าวเป็นอาหารหลัก ถ้ากินข้าวขาวจะสู้กินข้าวกล้องไม่ได้ เพราะข้าวกล้องมีเส้นใยทำให้ความดันโลหิตลดลง ถ้ากินขนมปังก็ควรจะกินขนมปังที่ทำจากข้าวกล้อง ซึ่งสีจะไม่ขาวจัดเหมือนขนมปังทั่วไป ควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงซึ่งมีผลดีต่อร่างกายทำให้ลดความดันโลหิต และยังเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกด้วย ถ้าตอนเช้าท่านเคยดื่มชา กาแฟ ลองหันมาเปลี่ยนเป็นดื่มนมสักแก้ว ก็จะมีประโยชน์มาก เพราะมีแคลเซียมสูงยิ่งเป็นนมสดยิ่งดี นอกจากนมแล้วยังมีอาหารที่มีแคลเซียมคือปลาตัวเล็กทอดกรอบทั้งตัว สำหรับอาหารพวกเนื้อสัตว์ควรรับประทานเนื้อปลา ซึ่งจะมีไขมันประเภทที่ไม่เป็นอันตรายต่อเส้นเลือด สิ่งที่สำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่งของอาหารที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูงก็คือ ความเค็มหรือเกลือ เราต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่มีเกลือให้มากที่สุด คือพยายามลดความเค็มในอาหารที่กิน อาหารที่ช่วยลดไขมัน ได้แก่ ลูกเกด ผักสดทุกชนิด ผลไม้สดทุกอย่าง อาหารที่ทำจากถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้ ถั่วงอก ถั่วลันเตา ข้าวกล้อง ข้าวโพด ยิ่งเรากินเค็มมากจะยิ่งส่งเสริมให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นมากด้วย หรือเพิ่มโอกาสต่อการเป็นความดันโลหิตสูงนั่นเอง การกินเค็มนอกจากจะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นแล้วยังทำให้อัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มตามไปด้วย

*การลดการกินเค็มในผู้ที่ไม่เป็นความดันโลหิตสูงจะช่วยป้องกันการเกิดโรค และในคนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงแล้วจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษา

*ไม่ควรกินเกลือมากกว่า ๑ ช้อนชา

*หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีรสเค็มจัด เช่นไข่เค็ม ปลาเค็ม กะปิ

*หลีกเลี่ยงการเติมเกลือ น้ำปลา ซีอิ้ว ผงชูรส หรือซอสปรุงรสในอาหารที่ปรุงเสร็จแล้ว

*หลีกเลี่ยงของขบเคี้ยวที่รับประทานแล้วเพลิดเพลิน และมีเกลือมาก เช่นข้าวเกรียบกุ้ง มันฝรั่งทอด

*ค่อยๆปรับเปลี่ยนนิสัยการกินในการรับประทานอาหาร จืดลง ช่วงแรกอาจรู้สึกไม่อร่อย แต่เมื่อลิ้นปรับตัวเข้ากับอาหารรสจืดได้ ก็จะไม่รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลง

นายแพทย์มงคล มะระประเสริฐศักดิ์  อายุรแพทย์โรคหัวใจ ร.พ.แพร่

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•จันทร์•ที่ 22 •ตุลาคม• 2012 เวลา 08:42 น.• )