สารรักษ์หัวใจตอนที่ ๑๗ ไขมันไตรกลีเซอไรด์คืออะไร ไตรกลีเซอไรด์เป็นไขมันชนิดหนึ่งซึ่งร่างกายได้มาจากสองทาง ทางหนึ่งคือได้มาจากอาหารไขมันจากสัตว์เช่น เนื้อ หมู ไก่ ที่รับประทานเข้าไปโดยตรง อีกทางหนึ่งคือได้จากการที่ตับสังเคราะห์ขึ้นใช้เองในร่างกายจากวัตถุดิบอันได้แก่ น้ำตาล แป้ง และแอลกอฮอล์ ผู้ที่กินจุ กินอาหารที่มีไขมันสูง กินอาหารหวานหรือขนมหวานมาก ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ อ้วน หรือขาดการออกกำลังกาย มักพบว่ามีไตรกลีเซอไรด์สูง ภาวะไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดเช่นกัน แต่วงการแพทย์ยังไม่ทราบว่ามันเป็นปัจจัยเสี่ยงเพราะตัวมันเอง หรือเพราะมันสัมพันธ์ผกผันกับเอ็ชดีแอล (คือเมื่อเอ็ชดีแอลในร่างกายต่ำ มักจะพบว่าไตรกลีเซอไรด์สูงเสมอ) ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์เท่าไรจึงเรียกว่าสูง โครงการศึกษาโคเลสเตอรอลแห่งชาติอเมริกัน (NCEP) กำหนดมาตรฐานระดับของไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดดังนี้

<๑๕๐ mg/dl ถือว่าพอดี (optimal)

๑๕๐-๑๙๙ ถือว่าสูงคาบเส้น (borderline high)

๒๐๐-๔๙๙ ถือว่าสูง (high)

>๕๐๐ ถือว่าสูงมาก (very high)

จะลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในร่างกายได้อย่างไร การลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในร่างกาย ทำได้โดย

(๑) ลดอาหารคาร์โบไฮเดรต เช่นน้ำตาล แป้ง เพราะอาหารในกลุ่มนี้หากเหลือใช้ จะถูกอินสุลินเปลี่ยนเป็นไตรกลีเซอไรด์

(๒) ออกกำลังกาย เพื่อเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตไม่ให้เหลือใช้ ซึ่งท่านสามารถอ่านรายละเอียดเรื่องการออกกำลังกายชนิดต่างๆได้จาก เอกสารแนะนำ ๖: การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต

(๓) รับประทานไขมันโอเมก้า ๓ ให้มาก ไขมันโอเมก้า ๓ มีสามตัว ตัวแรกเรียกว่ากรดอัลฟาไลโนเลอิก (ALA) พบมากในน้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันพืชอื่นบางชนิด ตัวที่สองเรียกว่า กรดไอโคสะเปนเตโนอิก (EPA) และตัวที่สามเรียกว่ากรดโดโคซาเฮกเซโนอิก (DHA) ทั้งสองตัวหลังนี้พบมากในน้ำมันปลาทุกชนิด โดยเฉพาะปลาทะเลน้ำเย็น จึงแนะนำให้รับประทานปลาให้มาก หรือในกรณีที่ไม่ชอบรับประทานปลา แนะนำให้รับประทานน้ำมันปลาชนิดโอเมก้า ๓ ซึ่งมีบรรจุเป็นแคปซูลขาย

(๔) เพิ่มอาหารเส้นใยชนิดละลายได้ อาหารกาก หรืออาหารเส้นใย (fiber) แบ่งออกเป็นสองชนิดคือชนิดไม่ละลาย (insoluble) เช่นพืชผักต่างๆ กับชนิดละลายได้ (soluble) ซึ่งได้จากธัญพืชทั้งเมล็ด หรือจากส่วนเคลือบรอบนอกเมล็ดของธัญพืชแบบไม่ขัดสี (whole grain) เช่น ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง โอ๊ต แบรนด์ ข้าวสาลีแบบโฮลวีท งานวิจัยในอาสาสมัครพบว่าเส้นใยชนิดละลายได้นี้ ช่วยลดไขมัน LDL ลดไตรกลีเซอไรด์ และเพิ่มไขมัน HDL

(๕) เลิกดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะแอลกอฮอล์นอกจากจะทำให้ตับต้องลดการเผาผลาญไขมันเพื่อใช้พื้นที่ของตับมาสลายพิษของแอลกอฮอล์แล้ว ในตัวเครื่องดื่มเอง ยังมีคาร์โบไฮเดรทซึ่งเป็นวัตถุดิบให้นำมาเปลี่ยนเป็นไตรกลีเซอไรด์ได้

(๖) รับประทานยาในกลุ่มไฟเบรท (fibrates) ซึ่งลดระดับไตรกลีเซอไรด์ได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งการรักษาและการดูแลของแพทย์ เพราะยานี้ก็เหมือนยาลดไขมันตัวอื่น ที่มีฤทธิ์ข้างเคียงและมีผลเสียต่อร่างกายในด้านอื่นด้วย

บทความจาก นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว รพ.พญาไท ๒

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•จันทร์•ที่ 12 •พฤศจิกายน• 2012 เวลา 12:18 น.• )