วันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๔ พระราชปัญญาภรณ์ (สิงห์คำ ชยวํโส ป.ธ.๙) วัดนางชี แขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร รองเจ้าคณะภาค ๖ อันดับที่ ๑ ,พระราชวรมุนี (พล อาภากโร ป.ธ.9)วัดสังเวชวิศยาราม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร องเจ้าคณะภาค ๖ อันดับที่ ๑ ,พระวิสุทธิธีรพงศ์ เลขานุการรองเจ้าคณะภาค วัดนางชี ภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร และพระครูศรีกิตติวงศ์ เลขานุการรองเจ้าคณะจังหวัดแพร่ ได้ตรวจเยี่ยม หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล (อ.ป.ต)หัวเมือง ณ บ้านวังฟ่อน ซึงดำเนินการทั้งหมด ๕ ด้านเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยมีพระอธิการสุเวช รตฺนวโร เจ้าอาวาสวัดวังฟ่อน ประธานหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลหัวเมือง ให้การต้อนรับ

 

รายงานการปฏิบัติงานของหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลหัวเมือง วัดวังฟ่อน อำเภอสอง จังหวัดแพร่ คณะกรรมการบริหารหน่วยงานของหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลหัวเมืองอำเภอสอง  จังหวัดแพร่ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารฝ่ายสงฆ์ จำนวน ๗ รูป ผู้บริหารฝ่ายคฤหัสถ์   จำนวน ๖   คน  ได้ร่วมกันปฏิบัติงานของหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลหัวเมือง ในด้านต่างๆตามวัตถุประสงค์ดังนี้
ด้านศีลธรรมและวัฒนธรรม
จัดโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนวันที่ ๒ – ๑๑   เมษายน เป็นประจำของทุกปี เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ในช่วงปิดภาคเรียนและศึกษาหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา
จัดให้มีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน
ประกอบพิธีทำบุญตักบาตรและเทศนาธรรมใน
เวียนเทียนในวันมาฆบูชา,วิสาขบูชา,และวันอาสาฬหบูชา
ตักบาตรเทโว ทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งในเทศกาลวันออกพรรษา
พิธีสรงน้ำพระและพระภิกษุ-สามเณรในวันสงกรานต์เพื่อสืบทอดอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีเป็นประจำทุกปี
ด้านศึกษาสงเคราะห์
มอบอุปกรณ์การเรียนให้แก่นักเรียนโรงเรียนวังฟ่อนวิทยา
ได้จัดตั้งศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ในวัด โดยเปิดการเรียนการสอนแก่เด็กและเยาวชน  เพื่อส่งเสริมการพัฒนาจิตใจและเข้าใจในพระพุทธศาสนามากขึ้น มีนักเรียนจำนวน ๑๐๐ คน        
จัดตั้งกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองวัดวังฟ่อนขึ้นเพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้
แก่ชุมชนในตำบล  และสร้างรายได้แก่ชุมชน
ด้านสาธารณะสงเคราะห์
ร่วมกับคณะกรรมการฝ่ายสงฆ์อำเภอสองมอบปัจจัยและเครื่องนุ่งห่มของใช้แก่ครอบครัวนายสุชาติ นางแสงหล้า พวงถิ่น ๑๔๐ หมู่ ๒ ตำบลแดนชุมพล อำเภอสอง  จังหวัดแพร่ซึ่งประสบกับอัคคีภัย ไฟไหม้บ้าน
พระภิกษุ-สามเณรร่วมกับคณะกรรมการฝ่ายคฤหัสถ์ร่วมเป็นเจ้าภาพศพในหมู่บ้านคืนแรกทุกๆงานโดยไม่รับปัจจัยโดยมอบปัจจัยช่วยเหลือญาติในการจัดงานศพ
สามัคคีธรรม
ร่วมกันสร้างหอฉันแก่สามเณรโรงเรียนวังฟ่อนวิทยา
ร่วมกันพัฒนาที่สาธารณะประโยชน์(สวนดงเจ้าพ่ออาฮัก)
ด้านสันติสุข
ร่วมกับคณะกรรมการฝ่ายสงฆ์และคณะครูโรงเรียนวังฟ่อนวิทยา จัดโครงการอบรมปฏิบัติธรรมแก่นักเรียน เป็นประจำทุกปี
ด้านสุขอนามัย
บริการตรวจสุขภาพแก่สามเณร
จัดสถานที่บริเวณวัด เป็นที่ออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ
ด้านกตัญญูกตเวที
จัดโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนวันที่ ๒ – ๑๑   เมษายน เป็นประจำของทุกปี เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ในช่วงปิดภาคเรียนและศึกษาหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา    จัดโครงการบรรพชา-อุปสมบทหมู่ ณ วัดวังฟ่อนเป็นโครงการต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี
จัดพิธีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุในหมู่บ้าน  เป็นประจำทุกปี
ด้านสัมมาชีพ
จัดตั้งกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองวัดวังฟ่อนขึ้นเพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้แก่ชุมชนในตำบล  และสร้างรายได้แก่ชุมชน

หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล(อ.ป.ต.)
ระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการจัดตั้งหน่วยอบรมประชาชน พ.ศ.๒๕๔๖ ได้ให้ความหมายไว้ว่า “หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล หมายถึง หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลแห่งราชอาณาจักรซึ่งมีวัดตั้งอยู่” เป็นความริเริ่มของคณะสงฆ์ ซึ่งมีเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดสามพระยา กรุงเทพมหานคร เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงได้ก่อตั้งขึ้นมา
วัด เป็นศูนย์กลางของชุมชนในการประกอบกิจกรรมของสังคมร่วมกัน และเป็นสถานที่ดำเนินการให้การศึกษาอบรม แนะนำ สั่งสอน ตลอดจนสงเคราะห์ประชาชนเพื่อประโยชน์และความรู้ของชุมชนและสังคมนั้น ทั้งในปัจจุบันและอนาคตความสำคัญของหน่วย อ.ป.ต. มุ่งที่สังคมชนบทเป็นสำคัญ ผู้ร่วมงานประกอบด้วยฝ่ายบรรพชิต ได้แก่ เจ้าอาวาสและพระภิกษุในวัดในตำบลนั้น ฝ่ายคฤหัสถ์ ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และทายกทายิกาในตำบลนั้น
หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล คือ หน่วยช่วยเหลือประชาชน เพื่อให้ประชาชนช่วยเหลือตนเองได้ตามสมควรแก่อัตภาพ ตั้งขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์หลัก 5 ประการ คือ
๑. เพื่อสงเคราะห์และอนุเคราะห์ประชาชนในท้องถิ่นโดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในตำบลที่หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลตั้งอยู่ ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้ช่วยเหลือตนเอง ได้พัฒนาตนเองให้เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องตามสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นนั้นๆ
๒. เพื่อเป็นศูนย์กลางประสานงานระหว่างวัด บ้านและหน่วยราชการในการที่จะร่วมกันพัฒนาท้องถิ่น ให้เจริญก้าวหน้าในทุกๆ ด้าน เช่น ช่วยกันพัฒนาหมู่บ้านให้มีความเจริญก้าวหน้าตามสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นนั้นๆ  ซึ่งจะทำให้ประชาชนไม่ต้องอพยพย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่นหรือการไปขายแรงงานที่อื่น ช่วยกันพัฒนาในท้องถิ่นให้มีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับภูมิปัญญาของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วยกันปลูกจิตสำนึกให้ทุกคนเห็นคุณค่าของความเป็นคนดีมีศีลธรรม ซึ่งจะเป็นรากฐานในการพัฒนาด้านอื่นๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยกันพัฒนาอาชีพโดยเฉพาะอาชีพที่ถูกต้อง  ตามกฎหมาย ที่เราเรียกกันว่าสัมมาชีพ ทั้งนี้เพื่อที่จะหารายได้มาพัฒนาครอบครัวหมู่บ้านและสังคมที่ตนอาศัยอยู่ โดยไม่เลือกงาน หนักเอาเบาสู้ยึดคติที่ว่า “คนขยันย่อมหาทรัพย์ได้”
๓. เพื่อเป็นศูนย์รวมความคิดของประชาชนทุกหมู่เหล่า กล่าวคือใครมีความคิดอะไรที่เป็นประโยชน์สร้างสรรค์จะนำมาพัฒนาหมู่บ้านให้เจริญรุ่งเรืองให้มาแสดงออกที่ศูนย์ อ.ป.ต. เข้าทำนองที่ว่า “ร่วมกันคิดร่วมกันทำจะนำชาติให้เจริญ”
๔. เพื่อเป็นศูนย์รวมพลังในการป้องกันหมู่บ้านให้เกิดสันติสุข ช่วยกันปกป้องพิทักษ์รักษาชีวิตและทรัพย์สินของ  ทุกคนในหมู่บ้านให้เกิดความปลอดภัยไม่ว่าจะเป็นโจรภัย อัคคีภัย อุทกภัย วาตภัย หรือภัยอื่นๆ “ให้ทุกคนนอนตาหลับ” เข้าทำนองที่ว่า “ถึงคราวมีทุกข์ช่วยกันแก้ไขถึงคราวสุขสบายก็ไม่ตกอยู่ในความประมาท”
๕. เพื่อเป็นศูนย์รวมข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะข้อมูลข่าวสารของทางราชการ จำเป็นจะต้องรับทราบอย่างทันท่วงทีตรงไปตรงมา ยุคนี้เป็นยุคข้อมูลข่าวสาร เรื่องราวต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  ถ้าหากได้รับข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้องจะทำให้เราเข้าใจสถานการณ์ของบ้านเมืองไม่ถูกต้องและนำไปสู่การแก้ไขปัญหา ไม่ถูกต้อง

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อาทิตย์•ที่ 31 •กรกฏาคม• 2011 เวลา 20:51 น.• )