ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดวังฟ่อน เปิด ทำการเรียนการสอน  มาตั้งแต่ ๒๕๔๘  จนถึงปัจจุบัน ก่อตั้งโดย หลวงพ่อพระครูอินทปัญญาภรณ์  อดีตเจ้าอาวาสวัดวังฟ่อน วัตถุประสงค์  เพื่อให้นักเรียนผู้สนใจในชุมชนได้ศึกษาเรียนรู้หลักธรรมคำสั่งสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าได้ และได้ทำหน้าที่ของชาวพุทธ  การอยู่ร่วมกันในสังคม อย่างมีความสุข

 

ประวัติความเป็นมา ของศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์

ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์  เริ่มจัดตั้งขึ้นครั้งแรกในประเทศศรีลังกา จากนั้นได้ขยายไปยังประเทศอื่นที่มีพระภิกษุชาวลังกาไปจัดตั้ง สำหรับประเทศไทย ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์เริ่มกำเนิดขึ้นเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. ๒๔๙๖-๒๕๐๐ โดยพระพิมลธรรม (อาจ อาสภมหาเถร) สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง (สมัยพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔) อธิบดีสงฆ์ (เจ้าอาวาส) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์องค์ทุติยสภานายกมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งมีสมณศักดิ์ สุดท้ายเป็นที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้เดินทางไปดู กิจการพระพุทธศาสนาที่ประเทศพม่าและศรีลังกา เห็นพระสงฆ์ในประเทศพม่าและศรีลังกาจัดระเบียบการสอนศีลธรรมแก่เด็กและเยาวชนได้ผลดีมาก และจัดการสอนเฉพาะวันอาทิตย์ เมื่อท่านเดินทางกลับมาประเทศไทย จึงได้ปรารภถึง การสอนศีลธรรมของพระสงฆ์ในประเทศพม่า และศรีลังกาแก่พระเจ้าหน้าที่บริหารและพระนิสิตของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมีดำริว่า "โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ สมควรจะได้จัดให้มีขึ้นในประเทศไทยบ้าง เพราะว่าเด็กและเยาวชนมีความสนใจในพระพุทธศาสนา อยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้เป็นกำลังสำคัญของพระพุทธศาสนาต่อไป และยังเป็นการส่งเสริมในด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอีกประการหนึ่ง อีกทั้งเป็นการให้โอกาสแก่เด็ก และเยาวชนได้ศึกษา และรู้จักหลักธรรมในพระพุทธศาสนาได้ถูกต้องตามสมควรแก่วัยของตน " ประกอบกับในสมัยนั้น พระเจ้าหน้าที่และพระนิสิตของมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยได้นำบุตรหลานของข้าราชการ พ่อค้า และประชาชนทั่วไป ที่สนใจมาฟังบรรยาย ฝึกสมาธิในวันอาทิตย์ ซึ่งพากันวิ่งเล่นบริเวณลานอโศกวัดมหาธาตุฯ มาเล่านิทานและสอนธรรมะ  นอกจากนั้นทางโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้อาราธนาพระสงฆ์ดังกล่าวไปสอนธรรมะอบรมศีลธรรมแก่นักเรียนและนักศึกษาอีกด้วย ดังนั้นพระเจ้าหน้าที่และพระนิสิตมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  จึงดำเนินการขอเสนออนุมัติ ต่อทางสภามหาวิทยาลัย  เพื่อเปิดสอนโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ขึ้น ได้รับอนุมัติให้เปิดทำการสอน เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๑จึงนับได้ว่าเป็นโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์แห่งแรกในประเทศไทย หลังจากนั้นก็ได้รับความสนใจ  มีการจัดตั้งขยายไปยังวัดต่างๆ ทั่วประเทศต่อมาทางราชการจึงได้พิจารณาเห็นว่า สภาพสังคมไทยกำลังเปลี่ยนแปลงไปจากสังคมเกษตรกรรมเป็นสังคมอุตสาหกรรม ประชาชน ส่วนใหญ่ต่างก็มุ่งแต่จะประกอบภารกิจเกี่ยวกับอาชีพการงานที่รัดตัว โดยไม่มีเวลาสนใจเข้าวัดปฏิบัติธรรมหรือประพฤติตนในฐานะเป็น พุทธศาสนิกชนที่ดี เด็กและเยาวชนที่เกิดมาในครอบครัวชาวพุทธ จึงขาดแบบอย่างที่ดีในการประพฤติปฏิบัติตนตามหลักของพระพุทธศาสนา ดังนั้นหากทางราชการสนับสนุนให้วัดในฐานะที่เป็นศูนย์กลางของชุมชนได้จัดตั้งโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ขึ้นโดยเน้นให้พระสงฆ์ เป็นผู้อบรมสั่งสอน ก็จะเป็นการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้รับการอบรม ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมตั้งแต่วัยการศึกษา และได้ใช้เวลาว่าง จากวันหยุดการศึกษาได้ศึกษาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา และนำไปประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ถูกต้องตามสมควรแก่วัย ทั้งยังเป็น การส่งเสริมและสนับสนุนให้วัดมีบทบาทในการปฏิบัติภารกิจด้านการศึกษาสงเคราะห์และเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบ้าน วัด และโรงเรียน ให้เป็นเอกลักษณ์ของวิถีชีวิตในสังคมไทยตลอดไปด้วยเหตุนี้ กรมการศาสนาในฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ด้านการรับสนองงานการพระศาสนา โดยเฉพาะพระพุทธศาสนาที่ต้องทำนุบำรุงส่งเสริมเป็นพิเศษในฐานะที่เป็นศาสนาประจำชาติไทยมาตั้งแต่บรรพกาล จึงได้จัดตั้งโครงการส่งเสริมการศึกษาศูนย์ศึกษา พระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๒๐ เป็นต้นมา โดยในระยะแรกได้จัดสรรงบประมาณอุดหนุนวัดต่างๆ ที่เปิดดำเนินการ โรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ด้วยงบประมาณที่จำกัด และได้เห็นความสำคัญของการเผยแผ่ ปลูกฝังศีลธรรมแก่เด็กและเยาวชนในรูปแบบ การศึกษาสงเคราะห์ โดยการจัดตั้งโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เพื่อสอนวิชาพระพุทธศาสนาขึ้นในวัด ที่ดำเนินการโดยพระสงฆ์ยิ่งขึ้นจึงได้เสนอโครงการส่งเสริมต่อรัฐบาลเพื่อให้ได้รับงบประมาณสนับสนุนมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลทุกสมัย ก็ได้เห็นความสำคัญของงานด้านนี้ว่า เป็นการดำเนินงานพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมสู่ประชาชนที่มีเด็กและเยาวชนเป็นเป้าหมายที่สำคัญยิ่ง จึงได้มีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนด้านงบประมาณอย่างต่อเนื่องทุกปี     ในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะทางและสอดคล้องกับระเบียบทางราชการโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ทั่วประเทศได้เปลี่ยนชื่อจากคำว่า "โรงเรียน" เป็น "ศูนย์ศึกษา" จึงมีชื่อเป็นทางการมาจนปัจจุบันนี้ว่า "ศูนย์ศึกษา" จึงมีชื่อเป็นทางการมาจนปัจจุบันนี้ว่า"ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์" และกำหนดให้ใช้อักษรย่อว่า "ศพอ." นับตั้งแต่นั้นมา ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ก็ได้เจริญแพร่หลาย เพิ่มจำนวนขึ้นตามลำดับ อีกทั้งในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ อันเป็นปีที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบนักษัตร ๖๐ พรรษา คณะสงฆ์และกรมการศาสนาได้สนับสนุนให้วัดทั่วประเทศเปิดศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ โดยกำหนดเป้าหมายให้ได้จำนวน ๖๑ ศูนย์ เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศลและเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ปี พ.ศ. ๒๕๓๔ เพื่อการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ในความอุปถัมภ์ของกรมการศาสนาเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็วมีเอกภาพ และมีประสิทธิภาพ กรมการศาสนาจึงได้ออกระเบียบกรมการศาสนาว่าด้วยศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ พ.ศ. ๒๕๓๔ ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงาน โดยประกาศใช้เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๓๔ (ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นระเบียบกรมการศาสนาว่าด้วยศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ พ.ศ. ๒๕๔๗ โดยประกาศใช้เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๗) ซึ่งในระเบียบนี้กำหนดให้มี (๑) แนวทางการจัดตั้งและดำเนินงาน (๒) การจัดชั้นเรียนและหลักสูตรการสอน (๓) การประเมินผลการศึกษา และ (๔) การส่งเสริมอุดหนุนโดยกรมการศาสนาได้นำเสนอระเบียบนี้ให้มหาเถรสมาคมรับทราบต่อมาเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๔ เพื่อให้เป็นไปตามความในข้อ ๑๗ แห่งระเบียบกรมการศาสนาว่าด้วยศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ พ.ศ. ๒๕๓๔ เพื่อให้การดำเนินงานของศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ทั่วประเทศเป็นไปอย่างมีเอกภาพ โดยมีสำนักงานกลางเป็นศูนย์ประสาน ควบคุม ดูแล และส่งเสริมการจัดการศึกษา การพัฒนาบุคลากร การกำหนดและพัฒนาปรับปรุงหลักสูตร การจัดทำคู่มือครู และการผลิตสื่อการเรียนการสอนสำหรับใช้ในศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ กรมการศาสนาได้ประกาศตั้งสำนักงานบริหารการศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์แห่งประเทศไทย (กำหนดใช้อักษรย่อว่า สพท.) พร้อมทั้งประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการบริหาร ซึ่งมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นประธานกรรมการในคราวเดียวกันด้วย โดยมีหน้าที่ในการพิจารณากำหนดนโยบาย แผนงาน และโครงการเกี่ยวกับแนวทางพัฒนาการศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ขึ้นต่อมหาเถรสมาคม และให้มีสำนักงานตั้งอยู่ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ ส.ว. ชั้น ๒ ของโรงเรียนพระปริยัติธรรม วัดอนงคาราม เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งประกาศแต่งตั้งพระปริยัติกิจโกศล (ขิม อิสฺสรธมฺโม) ปัจจุบันเป็นพระราชปัญญามุนี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอนงคาราม เป็นเลขาธิการ พระครูอุดมธรรมวาที (สำราญ อคฺควโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส เป็นรองเลขาธิการ และพระมหาบัว ปิยวณฺโณ วัดอนงคาราม เป็นเลขานุการสำนักงานโดยนอกจากจะแบ่งส่วนงานเป็นสำนักงานเลฃานุการ ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ และฝ่ายพัสดุ ยังกำหนดให้มีสำนักงานศูนย์กลางระดับหนทำหน้าที่ประสานงานการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ทั้งในส่วสนกลางและส่วนภูมิภาคตามเขตการปกครองคณะสงฆ์จำนวน ๔ แห่ง คือ (๑) ศูนย์หนกลางตั้งอยู่ที่วัดประยุรวงศาวาส กรุงเทพมหานคร มีพระครูอุดมธรรมวาที เป็นประธานศูนย์ (๒) ศูนย์หนเหนือตั้งอยู่ที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ มีพระธรรมสิทธาจารย์ เป็นประธานศูนย์ (๓) ศูนย์หนตะวันออก ตั้งอยู่ที่วัดมหาวนาราม จังหวัดอุบลราชธานี มีพระราชกิตติรังษี เป็นประธานศูนย์ และ (๔) ศูนย์หนใต้ ตั้งอยู่ที่วัดแจ้ง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพระเทพปัญญาสุธีเป็นประธานศูนย์ โดยให้ฝ่ายการศึกษาสงเคราะห์ กองศาสนศึกษา กรมการศาสนา (ปัจจุบันสำนักพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม กรมการศาสนากระทรวงวัฒนธรรม) มีหน้าที่ดูแลและรับผิดชอบสนองงานสำนักงานบริหารการศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์แห่งประเทศไทย ตามควรแก่กรณี

สามเณรกิตตินันท์ ปัญญาโถ วุฒิกำลังศึกษา มจร. วข. แพร่ปีที่ ๑ นธ.เอก

นายวีระยุทธ แพทย์สมาน วุฒิ ปริญญาตรี นธ.เอก  ( ครูสอน ร.ร.วังฟ่อนวิทยา )

พระอนุกูล อธิปญฺโญ วุฒิปริญญาตรี นธ.เอก

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•จันทร์•ที่ 08 •สิงหาคม• 2011 เวลา 15:42 น.• )