หลักปฏิบัติ ๕ ประการ การยืนยันความศรัทธาด้วยการปฏิบัติ ความศรัทธาทั้ง ๖ ประการที่กล่าวมาก่อนหน้านี้เป็นหลักการสำคัญพื้นฐานของอิสลามที่มุสลิมจะต้องมีอยู่ประจำใจแต่ความศรัทธาเพียงอย่างเดียวนั้นยังไม่เป็นการเพียงพอเพราะในอิสลามความศรัทธาที่แท้จริงจะต้องแสดงผลของมันออกมาให้เห็นเป็นการปฏิบัติในชีวิตประจำวันและเพื่อให้แน่ใจว่าคนที่มีความศรัทธาในหลักการ๖ประการดังกล่าวยังคงยืนยันในความศรัทธานั้นอย่างมั่นคงอัลลอฮ์. ก็ได้ทรงวางภารกิจสำคัญให้เขาต้องปฏิบัติ ๕ ประการหรือที่เรียกกันว่าหลักการอิสลาม ๕ ประการนั่นคือ

๑.การกล่าวคำปฏิญาณตนว่า “ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮ. มุฮัมมัด รอซูลุลลอฮ.” คำปฏิญาณ นี้เป็นถ้อยคำที่ผู้ยอมรับอิสลามทุกคนจะต้องกล่าวออกมา เป็นการยืนยันด้วยวาจาว่าตัวเองมีความศรัทธาดังที่กล่าวมาข้างต้นและพร้อมที่จะปฏิบัติตามบทบัญญัติและเงื่อนไขต่าง ๆ ที่อัลลอฮ์.ได้ทรงกำหนดไว้ในคัมภีร์กุรอานและคำสอนของท่านศาสดามุฮัมมัด ถึงแม้คำปฏิญาณดังกล่าวจะเป็นคำพูดเพียงประโยคสั้น ๆ แต่ถ้อยคำนี้แหละที่ทำให้สังคมอาหรับป่าเถื่อน ในสมัยท่านศาสดามุฮัมมัด ต้องเปลี่ยนแปลงและส่งผลให้อิสลามได้กลายเป็นอู่อารยธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก คำปฏิญาณดังกล่าวนี้หมายความว่ามุสลิมจะไม่ยอมเคารพกราบไหว้หรือสักการะบูชาพระเจ้าอื่นใด ไม่ว่าพระเจ้านั้นจะเป็นวัตถุที่มนุษย์ทำขึ้นมาหรือคนที่อุปโลกน์ตัวเองหรือถูกอุปโลกน์เป็นพระเจ้า หรือแม้แต่สิ่งใดหรือใครก็ตามที่อ้างว่าตัวเองมีคุณสมบัติบางอย่างเหมือนอัลลอฮ์. แล้วเรียกร้องต้องการให้คนอื่นสักการะบูชาตนเอง ดังนั้นอิสลามจึงห้ามมุสลิมแสดงกิริยากราบแบบมือและหัวจรดพื้นแก่วัตถุหรือบุคคลใด ๆ แม้แต่พ่อแม่ของตัวเอง เพราะกิริยาการกราบอันถือว่าเป็นกิริยาที่แสดงถึงความสูงสุดในการเคารพสักการะนั้นจะถูกสงวนไว้ใช้กับ “อัลลอฮ์.” ผู้ทรงเป็นพระเจ้าที่แท้จริงแต่เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น แต่นั่นมิได้หมายความว่าอิสลามห้ามมิให้เคารพเชื่อฟังและทำความดีต่อพ่อแม่

การที่อิสลามห้ามกราบไหว้บูชาวัตถุและบุคคลเช่นนั้น ก็เพราะอิสลามถือว่ามนุษย์เป็นสิ่งถูกสร้างที่ประเสริฐที่สุดและมนุษย์ทุกคนมีฐานะแห่งความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกันในสายตาของอัลลอฮ์ เมื่อมนุษย์เป็นสิ่งถูกสร้างที่ประเสริฐที่สุดแล้ว หากมนุษย์ยังไปสักการะบูชาหรือกราบไหว้วัตถุธรรมชาติหรือสิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์ทำขึ้นมาหรือสักการะบูชามนุษย์ด้วยกันเอง นั่นก็หมายความว่ามนุษย์กำลังลดฐานะแห่งความเป็นมนุษย์ในสายตาของพระองค์ลง เมื่ออิสลามห้ามสักการะหรือกราบไหว้พระเจ้าอื่นใดแล้ว อิสลามก็สั่งให้มุสลิมเคารพภักดีอัลลอฮ์.แต่เพียงพระองค์เดียว ทั้งนี้เพราะพระองค์เท่านั้นที่ทรงเป็นพระเจ้าที่แท้จริง ผู้ทรงสร้างทุกสรรพสิ่งในสากลจักรวาลรวมทั้งตัวมนุษย์เองด้วย และพระองค์ไม่มีผู้ใดมาเป็นภาคีร่วมกับพระองค์

คำปฏิญาณตอนที่สองที่กล่าวว่า “มุฮัมมัด เป็นรอซูลของอัลลอฮ์.” นั้นหมายความว่าเมื่อใครยอมรับอัลลอฮ์.ว่าเป็นพระเจ้าของเขาแล้วเขาจะต้องยอมรับว่ามุฮัมมัด เป็นรอซูลหรือผู้นำสารของอัลลอฮ์. (กุรอาน-) มาประกาศยังมนุษยชาติและจะต้องเชื่อฟังคำสั่งสอนของศาสดามุฮัมมัด ด้วย เมื่อท่านศาสดามุฮัมมัด ประกาศคำปฏิญาณนี้ออกมา ความหมายของคำปฏิญาณนี้ได้ทำให้บรรดาพวกผู้นำชาวมักก๊ะฮ.เริ่มหวั่นวิตกทันที เพราะคนเหล่านี้รู้ดีว่าท่านศาสดามุฮัมมัด กำลังประกาศให้คนรู้ว่าอัลลอฮ์.ต่างหากที่เป็นใหญ่และเป็นผู้ทรงอำนาจ มิใช่พวกหัวหน้าชาวมักก๊ะฮ. และถ้าใครยอมรับคำปฏิญาณนี้ก็หมายความว่าบุคคลนั้นจะต้องยอมรับความเป็นผู้นำของศาสดามุฮัมมัด นอกจากนั้นแล้วมันยังหมายความว่าความเชื่อ ศาสนา ประเพณี วิถีการดำรงชีวิตแบบเก่าที่พวกเขาเคยปฏิบัติสืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษจะต้องถูกทำลายลงด้วย นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมพวกหัวหน้าชาวมักก๊ะฮ.ถึงได้ต่อต้านท่านศาสดามุฮัมมัด ตั้งแต่ท่านเริ่มประกาศอิสลาม

๒.การนมาซหรือละหมาด การละหมาดคือการแสดงความเคารพสักการะและการแสดงความขอบคุณต่ออัลลอฮ์.ซึ่งจะกระทำวันละ ๕ เวลา คือ ตอนรุ่งอรุณ ตอนบ่าย ตอนตะวันคล้อย ตอนดวงอาทิตย์ตกดิน และในยามค่ำคืน โดยในการละหมาดทุกครั้งมุสลิมทุกคนจะหันหน้าไปทางก๊ะอ.บ๊ะฮ.ซึ่งอยู่ในนครมักก๊ะฮ. และหน้าที่ในการละหมาดนี้เป็นหน้าที่ของมุสลิมทุกคนตั้งแต่เริ่มมีความรู้สึกทางเพศ (สำหรับผู้ชาย) และเริ่มมีประจำเดือน (สำหรับผู้หญิง) ซึ่งเป็นวัยที่อิสลามถือว่าเริ่มเข้าสู่วัยแห่งความเป็นผู้ใหญ่แล้ว

การละหมาดเป็นสิ่งยืนยันความศรัทธาที่ปรากฎให้เห็นทางภายนอกได้ชัดเจนที่สุดเพราะเป็นการปฏิบัติที่มีรูปแบบ และคนที่จะดำรงรักษาการละหมาดของตัวเองได้ครบ ๕ เวลาต่อวันนั้น จะต้องเป็นคนที่มีความผูกพันต่ออัลลอฮ์.และรำลึกถึงพระคุณของพระองค์อยู่ตลอดเวลา อันที่จริงแล้ว การปฏิบัติศาสนกิจที่อิสลามกำหนดให้มุสลิมปฏิบัติมิได้เป็นพิธีกรรมอันลึกลับที่ยากต่อการปฏิบัติ หากแต่เป็นภารกิจที่ปฏิบัติอย่างเปิดเผย สะดวกและง่ายต่อผู้ปฏิบัติ การละหมาดนอกจากจะมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการแสดงความเคารพภักดีและเป็นการแสดงความขอบคุณต่ออัลลอฮ์.แล้ว คัมภีร์กุรอานยังได้กล่าวอย่างไว้ชัดเจนอีกว่า “แท้จริงการละหมาดจะยับยั้งจากความชั่วช้าและความลามก” ทั้งนี้เนื่องจากคนที่ละหมาดนั้นจะเป็นคนที่รำลึกถึงอัลลอฮ์.และจะเชื่อว่าอัลลอฮ์.จะทรงเห็นการกระทำของเขาทั้งในที่ลับและในที่เปิดเผย ดังนั้น ความเกรงกลัวอันนี้จะช่วยยับยั้งเขามิให้ปฏิบัติความชั่ว

๓.การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน การถือศีลอดในอิสลาม คือ การงดเว้นจากการกิน การดื่ม การเสพสิ่งต่าง ๆ การมีความสัมพันธ์ทางเพศฉันสามีภรรยา ตลอดจนการอดกลั้นอารมณ์ใฝ่ต่ำทั้งหลายและการนินทาว่าร้ายผู้อื่นตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนถึงดวงอาทิตย์ตก การถือศีลอดเป็นหลักปฏิบัติอีกประการหนึ่ง ซึ่งอิสลามกำหนดให้มุสลิมทุกคนที่ศรัทธาในอัลลอฮ์.และมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ทั้งชายหญิงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติเป็นเวลา ๒๙ – ๓๐ วัน ในเดือนรอมฎอนซึ่งเป็นเดือนที่เก้าตามปฏิทินอิสลาม การถือศีลอดมิได้เพิ่งจะเริ่มมีในสมัยของศาสดามุฮัมมัด แต่มีมาตั้งแต่ก่อนสมัยของท่านเสียอีก แม้แต่ศาสดามูซา (โมเสส) และศาสดาอีซา (เยซู) ก็เคยถือศีลอดด้วยเช่นกัน คัมภีร์กุรอานได้กล่าวยืนยันถึงเรื่องนี้พร้อมกับบอกวัตถุประสงค์ของการถือศีลอดให้เราทราบว่า :-

“บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย การถือศีลอดได้ถูกกำหนดแก่สูเจ้าเช่นเดียวกับที่เคยถูกกำหนดแก่บรรดาก่อนหน้าสูเจ้า ทั้งนี้เพื่อที่สูเจ้าจะได้ยำเกรงพระเจ้า”ที่การถือศีลอดมีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกมุสลิมให้เกิดความยำเกรงพระเจ้าก็เพราะในเวลาปกติ อัลลอฮ์.ทรงอนุมัติให้มุสลิมกินและดื่มได้อย่างเสรี แต่เมื่อถึงเดือนรอมฎอน เมื่ออัลลอฮ์.ทรงมีบัญชาให้ละเว้นจากการกินดื่ม มุสลิมก็ละเว้นทันที นี่เป็นบทเรียนที่สอนมุสลิมให้ยำเกรงเละเชื่อฟังอัลลอฮ์. การถือศีลอดยังเป็นการฝึกให้ผู้ถือศีลอดซื่อสัตย์ต่อตัวเองและพระเจ้า กล่าวคือ ขณะที่ถือศีลอดเขาอาจจะแอบกินอาหารและดื่มน้ำในระหว่างการถือศีลอดก็ได้โดยที่ไม่มีใครรู้ แต่ด้วยความเชื่อในพระเจ้าว่าพระองค์ทรงเห็นและทรงรู้การกระทำของเขาทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ดังนั้น เขาก็จะไม่ทำในสิ่งที่ขัดต่อความสำนึกของตัวเอง นอกจากนั้นแล้ว การถือศีลอดยังเป็นการแสดงออกถึงความเสมอภาคกันในบรรดาผู้ศรัทธาด้วย เพราะในเดือนถือศีลอด มุสลิมผู้ศรัทธาไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใดต่างต้องงดจากการกินดื่มเหมือนกันหมด ความจริงแล้ว ในระหว่างการถือศีลอดนั้น การอดอาหารและน้ำเป็นเพียงมาตรการที่จะช่วยย้ำเตือนจิตสำนึกของผู้ถือศีลอดให้ระลึกถึงพระเจ้า และลดความต้องการทางอารมณ์ให้ต่ำลง ดังนั้น ถ้าผู้ใดถือศีลอดแล้วยังคล้อยตามอารมณ์ใฝ่ต่ำทำความชั่วอยู่ สิ่งที่เขาผู้นั้นจะได้รับจากการถือศีลอดก็คือความหิวกระหายธรรมดาตลอดทั้งวัน ซึ่งไม่มีผลต่อการฝึกฝนหรือการขัดเกลาทางด้านจิตวิญญาณของเขาแต่ประการใด

สำหรับคนชราที่ร่างกายอ่อนแอ ผู้ป่วยที่แพทย์วินิจฉัยว่าการถือศีลอดจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย กรรมกรที่ทำงานหนักในเหมืองแร่ หญิงมีครรภ์แก่ก็ได้รับการยกเว้นเช่นกัน และมิต้องชดใช้ แต่มีเงื่อนไขว่า ผู้ที่ได้รับการยกเว้นจะต้องบริจาคอาหารที่ตัวเองกินเป็นประจำหนึ่งมื้อให้แก่ผู้ยากจนเป็นการทดแทนในแต่ละวันที่มิได้ถือศีลอด ในระหว่างการถือศีลอด มุสลิมสามารถกลืนน้ำลายได้ถ้าหากว่าน้ำลายนั้นสะอาดและไม่มีเศษอาหารติดอยู่

๔.การจ่ายซะกาต การจ่ายซะกาต คือ การจ่ายทรัพย์สินในอัตราที่ศาสนากำหนดไว้จำนวนหนึ่งจากทรัพย์สินที่สะสมไว้เมื่อครบกำหนดเวลา โดยจะต้องจ่ายทรัพย์สินนี้ให้แก่คนที่มีสิทธิ์ได้รับ ๘ จำพวกตามที่คัมภีร์กุรอานได้กำหนดไว้อันได้แก่ ๑) คนยากจน ๒) คนที่อัตคัดขัดสน ๓) คนที่มีหัวใจโน้มมาสู่อิสลาม ๔) ผู้บริหารการจัดเก็บและจ่ายซะกาต ๕) ไถ่ทาส ๖) ผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ๗) คนพลัดถิ่นหลงทาง ๘) ใช้ในหนทางของอัลลอฮ์. ความจริงแล้วคำว่า ”ซะกาต” โดยทางภาษาแปลว่า “การซักฟอกการทำให้สะอาดบริสุทธิ์ และการเจริญเติบโต” และคำว่า “ซะกาต” นี้ได้ถูกกล่าวควบคู่กับการละหมาดในคัมภีร์กุลอานไม่ต่ำกว่า ๒๐ ครั้งด้วยเหตุนี้ มุสลิมที่ปฏิบัติละหมาดแต่ไม่ยอมจ่ายซะกาตนั้น ความเป็นมุสลิมของเขาจึงยังไม่สมบูรณ์

วัตถุประสงค์ที่อิสลามกำหนดให้มุสลิมจ่ายซะกาตก็คือเพื่อเป็นการยืนยันถึงความศรัทธา นอกจากนั้นแล้วการจ่ายซะกาตก็ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อซักฟอกทรัพย์สินและจิตใจของผู้จ่ายให้มีความสะอาดบริสุทธิ์ ขณะเดียวกันก็เพื่อเป็นการสร้างความเจริญให้แก่สังคมอีกด้วย ที่กล่าวว่าซะกาตมีวัตถุประสงค์เพื่อซักฟอกทรัพย์สินและจิตใจของผู้จ่ายซะกาต ก็เพราะอิสลามถือว่าทรัพย์สินที่มุสลิมหามาได้นั้นถึงแม้ว่าจะหามาด้วยความสุจริตก็ตาม ถ้าหากทรัพย์สินที่สะสมไว้นั้นยังไม่ได้นำมาจ่ายซะกาต ทรัพย์สินนั้นก็ยังไม่บริสุทธิ์ เพราะซะกาตเป็นสิทธิ์ของคน ๘ ประเภทดังกล่าว การไม่จ่ายซะกาตก็คือการยักยอกทรัพย์สินของคนเหล่านั้น ขณะเดียวกัน การจ่ายซะกาตก็จะช่วยชำระจิตใจของผู้จ่ายให้หมดจดจากความตระหนี่ถี่เหนียวและความโลภซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสกปรกทางใจอย่างหนึ่ง หากเรามองหลักการจ่ายซะกาตจากแง่สังคม เราจะเห็นว่าบรรดาผู้มีสิทธิได้รับซะกาตนั้นมักจะเป็นผู้ที่เป็นปัญหาในสังคม ดังนั้นการนำซะกาตไปให้แก่คนเหล่านี้จึงเป็นการแก้ปัญหาสังคมที่ถูกจุด ขณะเดียวกัน ถ้าเรามองจากทางด้านเศรษฐกิจ เราจะเห็นว่าซะกาตจะทำให้คนยากจนคนอานาถาในสังคมมีอำนาจซึ้อเพิ่มขึ้น เพราะมีการถ่ายเททรัพย์สินจากคนรวยไปสู่คนจน และเมื่อคนเหล่านี้มีอำนาจซื้อก็จะส่งผลให้มีการผลิตสนองตอบความต้องการ ทำให้มีการจ้างงานและมีการกระจายรายได้ทางเศรษฐกิจติดตามมา ดังนั้น จึงอาจพูดได้ว่าการจ่ายซะกาตนอกจากจะเป็นการแสดงออกถึงความศรัทธาแล้ว ยังเป็นการแสดงความเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์. โดยผ่านทางการช่วยเหลือสังคมด้วย

ซะกาตมี ๒ ประเภท คือ

ซะกาตฟิตเราะฮ. คือ ซะกาตที่มุสลิมที่สามารถจะเลี้ยงตัวได้ต้องจ่ายให้แก่คนยากจนหรือคนอนาถาในเดือนรอมฎอนอันเป็นเดือนถือศีลอด โดยจ่ายเป็นอาหารหลักที่คนในท้องถิ่นกินกันเป็นประจำซึ่งได้แก่ข้าวสารประมาณ ๓ ลิตร (หรืออาจให้เป็นเงินที่มีมูลค่าเท่ากับข้าวสารจำนวนดังกล่าว) สำหรับผู้ที่เป็นหัวหน้าครอบครัวนั้นจะต้องรับผิดชอบการจ่ายซะกาตฟิตเราะฮ.นี้ แทนสมาชิกในครอบครัวด้วย หากยังไม่ได้จ่ายซะกาตฟิตเราะฮ. อัลลอฮ์.ก็จะยังไม่รับการถือศีลอดของเขา

ซะกาตมาล หรือ ซะกาตทรัพย์สิน เป็นซะกาตที่จ่ายจากทรัพย์สินที่สะสมไว้หลังจากการใช้จ่ายครบรอบปีแล้ว ในอัตราที่ต่างกันตามประเภทของทรัพย์สินตั้งแต่ร้อยละ ๒.๕ ไปจนถึง ๒๐

๕.การทำหัจญ์ การทำหัจญ์ คือ การเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจที่นครมักกะฮ.ในเดือนซุลฮิจญะฮ.ตามวันเวลาและสถานที่ที่ถูกกำหนดไว้ หลักการข้อนี้ถือเป็นหน้าที่สำหรับมุสลิมทั้งชายหญิงทุกคนที่มีความสามารถในด้านร่างกาย ทรัพย์สิน และเส้นทางการเดินทางมีความปลอดภัยหากใครได้ศึกษาถึงประวัติศาสตร์อิสลามแล้ว จะพบว่าการทำหัจญ์เป็นพิธีกรรมทางศาสนาเก่าแก่ที่มีมาก่อนสมัยของศาสดามุฮัมมัด จากหลักฐานในคัมภีร์กุรอาน การทำหัจญ์เริ่มต้นขึ้นเมื่อตอนที่อัลลอฮ์ ได้บัญชาให้ศาสดาอิบรอฮีมและอิสมาอิลผู้เป็นลูกชายร่วมกันสร้าง “บัยตุลลอฮ.” (บ้านของอัลลอฮ์. ) ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับการเคารพภักดีต่อพระองค์ เมื่อสร้างเสร็จแล้ว พระองค์ก็ทรงบัญชาให้ศาสดาอิบรอฮีมเรียกร้องเชิญชวนมนุษยชาติให้มาร่วมกันแสดงความจงรักภักดีต่อพระองค์ที่บ้านดังกล่าว ดังนั้น ในเดือนซุลฮิจญะฮ. ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของปฏิทินอิสลาม มุสลิมทุกชาติทุกเผ่าพันธุ์จากทั่วโลกนับล้านคนจะเดินทางไปร่วมกันแสดงความเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์.ที่บ้านของพระองค์ หลังจากสมัยของท่านศาสดาอิบรอฮีมแล้ว ด้วยความโง่เขลาและความหลงผิดของผู้คน รูปแบบของการทำหัจญ์ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เช่น แทนที่ผู้คนจะเคารพบูชาอัลลอฮ์.แต่เพียงพระองค์เดียว พวกเขากลับเอารูปปั้นเทวรูปต่าง ๆ ที่พวกเขาบูชามาตั้งไว้รอบ ๆ ก๊ะอ.บ๊ะฮ. เพื่อสักการะบูชาในระหว่างการทำหัจญ์ และในพิธีการเดินรอบก๊ะอ.บ๊ะฮ.นั้น พวกเขาหลายคนได้เปลือยกายเดินรอบก๊ะอ.บ๊ะฮ.และอื่น ๆ อีกมากมายที่ท่านศาสดาอิบรอฮีมไม่ได้ทำแบบอย่างไว้ จนกระทั่งมาถึงสมัยของท่านศาสดามุฮัมมัด หลังจากที่ท่านเข้ายึดมักก๊ะฮ.ได้แล้ว ท่านได้สั่งให้ทำลายรูปปั้นบูชาต่าง ๆ รอบก๊ะอ.บ๊ะฮ.ลงจนหมดสิ้น และท่านได้แสดงแบบอย่างการทำหัจญ์ที่ถูกต้องให้บรรดาผู้ที่ศรัทธาในอัลลอฮ์.ปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น การทำหัจญ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจึงเป็นหัจญ์ที่มีแบบอย่างมาจากท่านศาสดามุฮัมมัด หากใครได้ศึกษาถึงรายละเอียดของหลักการและการปฏิบัติหัจญ์ เขาจะทราบได้ทันทีว่าหัจญ์เป็นบทบัญญัติทางศาสนาที่ถูกกำหนดให้มุสลิมถือปฏิบัติเพื่อยืนยันถึงความศรัทธาในอัลลอฮ์. ที่ต้องอาศัยความเสียสละทั้งทรัพย์สินและเวลา ความอดทนทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ การให้อภัยและความสำนึกทางประวัติศาสตร์ตลอดจนความศรัทธามั่นต่อพระผู้เป็นเจ้าไปพร้อม ๆ กัน

การทำหัจญ์ นอกจากจะเป็นการแสดงความเคารพภักดีและยืนยันในความศรัทธาต่ออัลลอฮ์. แล้ว ยังสอนมนุษย์ทุกคนให้รู้สำนึกว่าในสายตาของอัลลอฮ์. แล้ว มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน เพราะในการทำหัจญ์ ผู้ทำหัจญ์ทุกคนไม่ว่าจะมาจากชนชั้น เผ่าพันธุ์ ภาษา หรือจะมีฐานะอย่างไรก็ตาม ทุกคนจะต้องห่อหุ้มร่างกายด้วยผ้าสีขาวเพียงสองชิ้นเหมือนกันหมดทุกคน จะต้องปฏิบัติพิธีการต่าง ๆ เหมือนกันหมดและทุกคนต่างก็ประกาศความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮ์.เหมือนกันหมด สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดตั้งแต่ต้น อาจกล่าวสรุปได้ว่าหลักศรัทธา ๖ ประการนั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคน ส่วนหลักปฏิบัติ ๕ ประการที่อิสลามกำหนดไว้ให้มุสลิมปฏิบัตินั้นมิใช่เป็นหลักปฏิบัติทั้งหมดในอิสลาม หากแต่มันเป็นเพียงวินัยบัญญัติอย่างน้อยที่สุดที่อิสลามกำหนดไว้ให้มุสลิมปฏิบัติเพื่อยืนยันถึงความศรัทธาของเขาเท่านั้น อันที่จริงแล้วอิสลามยังมีบทบัญญัติอื่น ๆ ที่กำหนดให้มุสลิมปฏิบัติอีกมากมายที่จะเป็นการแสดงออกถึงความศรัทธาในทุกย่างก้าวของชีวิต กฎบัญญัติห้ามในอิสลาม (ฮะรอม) ในมัซฮับซุนนีและชีอะหฺ ทั้งในมัซฮับซุนนีและชีอะหฺมีกฏบัญญัติห้าม (ฮะรอม) ดังต่อไปนี้ การตั้งภาคีต่ออัลลอหฺ การแหนงหน่ายต่อความเมตตาของอัลลอหฺ การหมดหวังในความเมตตาต่ออัลลอหฺ การเชื่อว่าสามารถรอดพ้นจากการลงโทษของอัลลอหฺ การสังหารชีวิตผู้ไม่มีความผิด การเนรคุณต่อมารดาและบิดา การตัดขาดจากญาติพี่น้อง การกินทรัพย์สินของลูกกำพร้าโดยอธรรม การกินดอกเบี้ย การผิดประเวณี การรักร่วมเพศระหว่างชาย การใส่ร้ายผู้บริสุทธิ์ว่าทำผิดประเวณีหรือรักร่วมเพศ การดื่มสุราเมรัยหรือทำการใดที่เกี่ยวข้องกับสุราเมรัย การเล่นการพนัน การอยู่กับการละเล่นบันเทิง การฟังหรือขับร้องเพลงและเล่นดนตรี การพูดเท็จ การสาบานเท็จ การเป็นพยานเท็จ การไม่ยอมให้การหรือเป็นพยาน การผิดสัญญา การทำลายไม่รับผิดชอบสิ่งที่ได้รับมอบหมาย การขโมยลักทรัพย์ การหลอกลวง การรับประทานอาหาร หรือดื่มเครื่องดื่มที่ได้มาโดยทุจริตวิธี การไม่ยอมจ่ายหนี้หรือเหนี่ยวรั้งทรัพย์สินของผู้อื่น การหนีจากสงครามศาสนา การกลับคืนสู่อวิชชาหลังจากได้เรียนรู้สัจธรรมอิสลามแล้ว การฝักใฝ่กับผู้อธรรม การไม่ช่วยเหลือผู้ถูกอธรรม การเรียนและทำคุณไสย ความฟุ่มเฟือย ความเย่อหยิ่งทรนง การต่อสู้กับศรัทธาชน การรับประทานซากสัตว์ เลือด เนื้อสุกร และสัตว์ที่ไม่ได้ถูกเชือดตามหลักศาสนา การละทิ้งการนมาซ การไม่จ่ายซะกาต การไม่ใยดีต่อการทำฮัจญ์ การละทิ้งกฎบัญญัติศาสนา เช่น การถือศีลอด ญิฮาด การสั่งทำความดี การห้ามทำความชั่ว การภักดีต่อบรรดาอิมาม การผละตนออกจากศัตรูบรรดาอิมาม การทำบาปเล็กบาปน้อยจนเป็นกิจวัตร การนินทากาเล การยุยงให้ผู้คนแตกแยกกัน การวางแผนหลอกลวงผู้อื่น การอิจฉาริษยา การกักตุนสินค้าจนทำให้ข้าวยากหมากแพง การตั้งตัวเป็นศัตรูต่อศรัทธาชน การรักร่วมเพศระหว่างหญิง การเป็นแมงดาหรือแม่เล้าติดต่อให้แก่โสเภณี การยินยอมให้ภรรยาและบุตรีผิดประเวณี การสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง การทำการอุตริในศาสนา การพิพากษาคดีด้วยความฉ้อฉล การทำสงครามในเดือนต้องห้ามทั้งสี่ คือ ซุลกออิดะหฺ ซุลฮิจญะหฺ มุฮัรรอม และรอญับ นอกจากจะเป็นฝ่ายถูกรุกราน การล่วงละเมิดสิทธิของศรัทธาชนด้วยการล้อเล่น ลบหลู่ ดูหมิ่น เหยียดหยาม ด่าทอ การหักห้ามกีดกันผู้อื่นเข้าสู่สัจธรรม การเนรคุณต่อคุณงามความดีของอัลลอหฺ การก่อเหตุวุ่นวายในสังคม การขายอาวุธแก่ที่ก่อความไม่สงบสุข การใส่ร้ายผู้อื่น การไม่ให้ความเคารพต่ออัลลอหฺ การลบหลู่ดูหมิ่นต่อกะอฺบะหฺ การลบหลู่ดูหมิ่นต่อมัสยิด การที่บุรุษสวมใส่ผ้าไหม การใช้ภาชนะทำด้วยทองคำและเงิน

ศาสนาสอนว่า กิจการงานต่าง ๆ ที่จะทำนั้น มีความเหมาะสมกับตนเองและสังคม ขณะเดียวกัน ต้องออกห่างจากการงานที่ไม่มีที่สร้างความเสื่อมเสียอย่างสิ้นเชิง ส่วนการประกอบคุณงามความดีอื่น ๆ การถือศีลอด การนมาซ และสิ่งที่คล้ายคลึงกับสิ่งเหล่านี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงการเป็นบ่าวที่จงรักภักดี และปฏิบัติตามบัญชาของพระองค์ กฎเกณฑ์และคำสอนของศาสนา ทำหน้าที่คอยควบคุมความประพฤติของมนุษย์ ทั้งที่เป็นหลักศรัทธา หลักปฏิบัติและจริยธรรม

...ที่มา...www.jalannanbaru.com ....

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•พุธ•ที่ 28 •พฤศจิกายน• 2012 เวลา 17:43 น.• )