เราได้รับบทเรียนอะไรบ้าง จากโรงเรียนเราะมะฎอน ? ตอนที่ 2 บทเรียนด้านการอบรมขัดเกลา

5. ความอดทน เราะมะฎอนคือเดือนแห่งการอดทน ดังจะเห็นว่าจุดเด่นสำคัญของเดือนนี้คือ การควบคุมอารมณ์ความต้องการด้านอาหารควบคู่ไปกับความต้องการทางเพศ ในเดือนนี้ผู้ศรัทธาจะควบคุมตัวเองมิให้กระทำสิ่งที่เป็นการละเมิดข้อห้ามต่างๆ เพื่อให้การถือศีลอดของเขาเป็นการถือศีลอดที่เต็มเปี่ยมด้วยศรัทธาและหวังในผลบุญ อันจะส่งผลให้เขาได้รับผลบุญที่ผู้ถือศีลอดพึงได้รับ

ผู้ถือศีลอดต้องอดทนต่อความหิวกระหาย อดทนต่อการงดเว้นสิ่งที่ไร้สาระ และคำพูดโป้ปดหรือหยาบคาย และเขายังต้องมีความอดทนในการอ่านอัลกุรอาน และละหมาดตะรอวีหฺ หรือกิยามุลลัยลฺ โดยมุ่งมั่นที่จะได้รับการอภัยในบาปความผิด และได้มาซึ่งความพอพระทัยของพระผู้อภิบาล ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

« إِنَّ اللهَ فَرَضَ عَلَيْكُم صِيَامَ رَمَضَان ، وَسَنَنْتُ لَكُم قِيَامَهُ ؛ فَمَنْ صَامَهُ وَقَامَهُ إِيْمَانًا وَاحْتِسَابًا خَرَجَ مِنْ ذُنُوْبِهِ كَيَوْمِ وَلَدَتْهُ أُمُّهُ » [رواه النسائي]

ความว่า “แท้จริงอัลลอฮฺได้ทรงบัญญัติให้การถือศีลอดเดือนเราะมะฎอนเป็นข้อบังคับที่พวกท่านต้องปฏิบัติ และฉันก็ได้วางแนวทางการละหมาดยามค่ำคืนในเดือนนี้ให้พวกท่านได้ยึดเป็นแบบอย่าง ดังนั้น ผู้ใดถือศีลอดและละหมาดยามค่ำคืนในเดือนนี้ด้วยใจที่เปี่ยมศรัทธาและหวังในผลบุญตอบแทน เขาจะหลุดพ้นจากบาปความผิดต่างๆ (กระทั่งปราศจากบาปใดๆ) เหมือนเมื่อครั้งที่มารดาของเขาให้กำเนิดเขาออกมา” (บันทึกโดยอันนะสาอีย์)

เมื่อเดือนเราะมะฎอนผ่านพ้นไป ผู้ศรัทธาจะพบว่าตัวเขานั้นมีความพร้อมที่จะอดทนในการเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ เคยชินกับการหักห้ามใจให้หลีกห่างจากอารมณ์ใฝ่ต่ำ และสามารถดำรงตนอยู่ในความดีงามและออกห่างจากสิ่งที่เป็นการฝ่าฝืนได้อย่างไม่ยากลำบาก ซึ่งนี่ก็เป็นบทเรียนสำคัญข้อหนึ่งที่เราจะได้เรียนรู้จากเดือนเราะมะฎอน

ความอดทนนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ณ อัลลอฮฺ โดยถือเป็นครึ่งหนึ่งของการศรัทธา และยังเป็นสาเหตุให้ผู้ศรัทธาได้รับผลบุญอย่างไร้ขีดจำกัดด้วย ดังนั้น การบรรลุซึ่งเป้าหมายสำคัญนี้ในเดือนเราะมะฎอน จึงถือเป็นผลลัพธ์ที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งซึ่งผู้ถือศีลอดพึงได้รับจากการถือศีลอด แม้เราะมะฎอนจะผ่านพ้นไป แต่ความอดทนของเขาในการประกอบคุณงามความดี หรืออดทนที่จะไม่กระทำสิ่งที่เป็นการละเมิดฝ่าฝืน ก็มิได้สิ้นสุดไปด้วย

เขาเคยอดทนต่อความหิวกระหายในเดือนเราะมะฎอนเพียงเพราะหวังในผลบุญจากอัลลอฮฺเช่นไร ในเดือนอื่นๆ เขาก็จะอดทนหลีกเลี่ยงสิ่งที่หะรอมต้องห้ามอย่างหนักแน่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน บาปความผิดต่างๆ หรือการกระทำใดๆ ที่เป็นการฝ่าฝืนและเป็นสิ่งชั่วร้าย เขาจะยึดมั่นในความอดทน เพราะความอดทนทำให้ศรัทธาของเขาสมบูรณ์ ทั้งยังเป็นหนทางสู่ความรอดพ้นปลอดภัยและประสบความสำเร็จ ดังที่อัลลอฮฺตรัสว่า

﴿وَٱلۡعَصۡرِ ١ إِنَّ ٱلۡإِنسَٰنَ لَفِي خُسۡرٍ ٢ إِلَّا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ وَعَمِلُواْ ٱلصَّٰلِحَٰتِ وَتَوَاصَوۡاْ بِٱلۡحَقِّ وَتَوَاصَوۡاْ بِٱلصَّبۡرِ ٣ ﴾ [العصر: ١، ٣]

ความว่า "ขอสาบานด้วยกาลเวลา แท้จริงมนุษย์นั้น อยู่ในการขาดทุน นอกจากบรรดาผู้ศรัทธาและกระทำความดีทั้งหลาย และตักเตือนกันและกันในสิ่งที่เป็นสัจธรรม และตักเตือนกันและกันให้มีความอดทน" (อัล-อัศรฺ: 1-3)

6. การต่อสู้ การต่อสู้ถือเป็นอีกบทเรียนสำคัญอีกประการหนึ่งที่เราได้รับจากโรงเรียนเราะมะฎอน ตลอดเดือนเราะมะฎอนผู้ถือศีลอดต้องยืนหยัดต่อสู้ไม่ว่ากับตัวเอง อารมณ์ใฝ่ต่ำ หรือชัยฏอน พยายามข่มจิตใจมิให้เตลิดไปกับสิ่งชั่วร้าย และขจัดความรู้สึกนึกคิดที่ชักจูงไปในทางที่ไม่ดีงาม เพื่อที่เขาจะได้รับผลบุญของการถือศีลอดอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด

การต่อสู้ระหว่างถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนดังที่กล่าวมานี้ ถือเป็นส่วนสำคัญที่สุดประการหนึ่งที่จะช่วยให้มีความมั่นคงหนักแน่นในศาสนา อัลลอฮฺตรัสว่า

﴿ وَٱلَّذِينَ جَٰهَدُواْ فِينَا لَنَهۡدِيَنَّهُمۡ سُبُلَنَاۚ وَإِنَّ ٱللَّهَ لَمَعَ ٱلۡمُحۡسِنِينَ ٦٩ ﴾ [العنكبوت: ٦٩]

ความว่า "และบรรดาผู้ต่อสู้ดิ้นรนในทางของเรา แน่นอน เราจะชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องแก่พวกเขาสู่ทางของเรา และแท้จริงอัลลอฮฺทรงอยู่กับผู้กระทำความดีทั้งหลาย" (อัล-อันกะบูต: 69)

ด้วยเหตุนี้ ผู้ถือศีลอดจะสัมผัสกับผลลัพธ์ของการฝึกฝนตนเองให้ยืนหยัดต่อสู้ได้อย่างรวดเร็วและชัดเจน โดยเขาสามารถที่จะประกอบอิบาดะฮฺได้อย่างไม่ยากลำบาก ไม่ว่าจะเป็นการระลึกถึงอัลลอฮฺ การอ่านอัลกุรอาน หรือการปฏิบัติสิ่งต่างๆ ที่เป็นฟัรฎูและสุนัตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ยิ่งเขาต่อสู้เอาชนะตัวเองได้มากเพียงไร ก็ยิ่งส่งผลชัดเจนต่อความสามารถของเขาในการประกอบคุณความดี

นี่คืออีกบทเรียนหนึ่งที่มุสลิมผู้ชาญฉลาดจะได้รับและนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตของเขาหลังเดือนเราะมะฎอน ทั้งนี้ การจะปฏิเสธแรงชักจูงของจิตใจใฝ่ต่ำ อารมณ์ความรู้สึก ชัยฏอนมารร้าย หรือสิ่งล่อลวงเย้ายวนใจต่างๆ ในโลกดุนยาได้นั้น ต้องอาศัยการยืนหยัดต่อสู้อย่างแน่วแน่ ไม่ว่าในเดือนเราะมะฎอนหรือเดือนอื่นๆ เดือนเราะมะฎอนจึงเป็นเสมือนโรงเรียนที่เปิดโอกาสให้ผู้ศรัทธาได้ทบทวนความตั้งใจที่จะต่อสู้เอาชนะจิตใจตัวเอง และเตรียมพร้อมสำหรับการเดินหน้าต่อไปอย่างยืนหยัดและมั่นคง เมื่อเดือนเราะมะฎอนผ่านพ้นไปเขาก็จะยังคงยืนหยัดต่อสู้ โดยหวังผลตอบแทนในโลกอาคิเราะฮฺและความเมตตาของพระผู้อภิบาล อัลลอฮฺตรัสว่า

﴿ لَقَدۡ خَلَقۡنَا ٱلۡإِنسَٰنَ فِي كَبَدٍ ٤ ﴾ [البلد: ٤]

ความว่า "โดยแน่นอนเราได้บังเกิดมนุษย์มาเพื่อเผชิญความยากลำบาก" (อัล-บะลัด: 4)

นักอรรถาธิบายอัลกุรอานกล่าวว่า หมายถึง เขาจะต้องต่อสู้ตรากตรำกับสิ่งต่างๆ ในโลกดุนยาและในอาคิเราะฮฺ ซึ่งการต่อสู้ตรากตรำนี้ครอบคลุมทุกช่วงอายุของมนุษย์ ดังปรากฏในหะดีษซึ่งท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

« أَفْضَلُ الجِهَادِ أَنْ تُجَاهِدَ نَفْسَكَ وَهَوَاكَ في ذَاتِ اللهِ عزَّ وَجَلّ » [رواه أبو نعيم]

ความว่า “การญิฮาดต่อสู้ที่ประเสิรฐที่สุด คือการที่ท่านต่อสู้กับตัวเองและอารมณ์ความรู้สึก เพื่ออัลลอฮฺ” (บันทึกโดยอบู นุอัยมฺ)


•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•จันทร์•ที่ 09 •กันยายน• 2013 เวลา 14:41 น.• )