เราได้รับบทเรียนอะไรบ้าง จากโรงเรียนเราะมะฎอน ? ตอนที่ 3 บทเรียนด้านจรรยามารยาท

7. การระวังคำพูด มีหะดีษหลายบทที่กล่าวถึงมารยาทอันงดงามข้อนี้ และข้อพึงปฏิบัติเกี่ยวกับคำพูดขณะถือศีลอด เพื่อให้การถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนและการปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านั้น ได้รับการพัฒนาจนกลายเป็นอุปนิสัยและจรรยามารยาทติดตัวไปตลอดชีวิต มีรายงานจากอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«الصِّيَامُ جُنَّةٌ، فَإِذَا كانَ يَوْمُ صَومِ أَحَدِكُم فَلا يَرْفث، وَلا يَصْخَب» [رواه البخاري]

ความว่า “การถือศีลอดนั้นเป็นโล่ป้องกัน ดังนั้นในวันที่คนหนึ่งคนใดในหมู่ท่านถือศีลอด ก็อย่าได้พูดจาลามก หรือเอะอะโวยวาย” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์)

หะดีษบทนี้ได้ส่งเสริมให้ผู้ศรัทธาระมัดระวังคำพูด และหลีกเลี่ยงคำพูดที่แข็งกระด้าง หยาบโลน หรือลามกอนาจาร และปรากฏในรายงานหะดีษอีกบทหนึ่งว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«لَيْسَ الصِّيَامُ عَنِ الطَعَامِ وَالشَرَابِ، وَإِنَّمَا مِنَ اللَغْوِ وَالرَفَثِ» [رواه ابن حبان]

ความว่า “การถือศีลอดนั้นมิใช่แค่เพียงการงดเว้นอาหารและเครื่องดื่ม แต่ต้องงดเว้นสิ่งไร้สาระและคำพูดที่ลามกอนาจารด้วย” (บันทึกโดย อิบนุ หิบบาน) และในหะดีษอีกบทหนึ่งท่านกล่าวว่า

«مَنْ لَمْ يَدَعْ قَوْلَ الزُوْرِ وَالعَمَلَ بِهِ، وَالجَهْلَ، فَلَيْسَ للهِ حَاجَةٌ فِي أَنْ يَدَعَ طَعَامَهُ وَشَرَابَهُ» [رواه البخاري]

ความว่า “ผู้ใดไม่งดเว้นคำพูดและการกระทำที่เป็นการโกหกมดเท็จและสิ่งไร้สาระ การอดอาหารและน้ำของเขาก็มิได้เป็นที่ต้องการของอัลลอฮฺแต่อย่างใด” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์)

เราะมะฎอนจึงเปรียบได้ดังโรงเรียนที่มุสลิมจะเรียนรู้การระมัดระวังคำพูด และฝึกฝนมารยาทการสนทนาพูดคุย ตลอดจนการหลีกเลี่ยงปัญหาความวุ่นวายต่างๆ ที่มักจะมีลิ้นเป็นต้นเหตุสำคัญ เคยมีผู้ถามท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่ามุสลิมคนใดประเสริฐที่สุด? ท่านตอบว่า

«مَنْ سَلِمَ المُسْلِمُوْنَ مِنْ لِسَانِهِ وَيَدِهِ» [رواه البخاري ومسلم]

ความว่า “คือผู้ที่พี่น้องมุสลิมต่างปลอดภัยจากลิ้นและมือของเขา” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ และมุสลิม) และในหะดีษอีกบทหนึ่ง ท่านกล่าวว่า

«مَنْ يَضْمَنْ لِيْ مَا بَيْنَ لِـحْيَيْهِ، وَمَا بَيْنَ رِجْلَيْهِ؛ أَضْمَنْ لَهُ الجَنَّةَ» [رواه البخاري]

ความว่า “ผู้ใดสามารถรักษาสิ่งที่อยู่ระหว่างกระดูกขากรรไกร(ลิ้น) และสิ่งที่อยู่ระหว่างขาของเขา(อวัยวะเพศ)ได้ ฉันขอรับประกันว่าเขาจะได้เข้าสวรรค์” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์)

การระวังรักษาลิ้นให้พูดแต่สิ่งที่ดีนั้นถือเป็นการรับประกันอย่างหนึ่งว่าจะได้รับสรวงสวรรค์ตอบแทน ดังนั้น บทเรียนข้อนี้จึงเป็นบทเรียนล้ำค่ายิ่งที่ผู้ศรัทธาได้รับจากการถือศีลอด ทั้งนี้ หากว่าผู้ถือศีลอดสามารถระมัดระวังคำพูดของตนเองเป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็ม มิให้กล่าวถ้อยคำที่หยาบคาย ติฉินนินทา ยุแยงให้ผู้อื่นทะเลาะกัน ตลอดจนคำพูดที่ไร้สาระ หรือโกหกหลอกลวง แน่นอนว่าสิ่งดังกล่าวจะช่วยให้เขาสามารถควบคุมระวังคำพูดของเขาในเดือนอื่นๆ ได้

8. งดเว้นการตอบโต้ด้วยสิ่งที่ไม่ดี บทเรียนข้อนี้มีหะดีษเป็นหลักฐานสนับสนุน นั่นคือคำกล่าวของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ว่า

«فَإِنِ امْرًؤٌ سَابَهُ أَحَدٌ أَوْ قَاتَلَهُ، فَلْيَقُلْ: إِنِّي امْرُؤ صَائِمٌ» [رواه البخاري]

ความว่า “ถ้าหากว่ามีผู้ใดด่าทอต่อว่าเขา หรือชวนทะเลาะเบาะแว้ง ก็ให้เขากล่าวแต่เพียงว่า: ฉันเป็นผู้ที่ถือศีลอด” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์)

มารยาทข้อนี้นอกจากจะช่วยเตือนสติผู้ถือศีลอดมิให้พลั้งเผลอตอบโต้ผู้ที่ด่าว่าตนด้วยถ้อยคำที่ไม่ดีไม่งามอันเป็นผลให้การถือศีลอดของเขาไม่สมบูรณ์แล้ว ยังฝึกให้เขาเป็นคนรู้จักให้อภัยจนกลายเป็นนิสัยที่ติดตัวต่อเนื่องไปแม้กระทั่งหลังสิ้นสุดเดือนเราะมะฎอน โดยเขาจะสามารถยกโทษ ให้อภัย และมีความอดทนอดกลั้น และด้วยมารยาทอันประเสริฐนี้ เขาจะได้รับผลบุญและรางวัลอันยิ่งใหญ่ซึ่งอัลลอฮฺได้ทรงสัญญาไว้สำหรับผู้ที่ชอบให้อภัยแก่ผู้อื่น ผู้ศรัทธานั้นนอกจากจะระวังรักษาคำพูดและหลีกเลี่ยงการด่าทอผู้อื่นขณะถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนแล้ว จำเป็นที่เขาจะต้องตอบโต้ผู้อื่นด้วยวิธีการที่ดีด้วย ดังที่อัลลอฮฺตรัสถึงคุณลักษณะของ ‘อิบาดุรเราะหฺมาน’ หรือบ่าวซึ่งเป็นที่รักของพระองค์ว่า

﴿ وَإِذَا خَاطَبَهُمُ ٱلۡجَٰهِلُونَ قَالُواْ سَلَٰمٗا ٦٣ ﴾ [الفرقان: ٦٣]

ความว่า "และเมื่อพวกเขาโง่เขลากล่าวทักทายพวกเขา พวกเขาจะกล่าวว่า ศานติ หรือสลาม" (อัล-ฟุรกอน: 63)

เดือนเราะมะฎอนจึงเป็นดังโรงเรียนที่ช่วยขัดเกลาและส่งเสริมมารยาทข้อนี้ ด้วยการให้ผู้ถือศีลอดกล่าวตอบผู้ที่มาหาเรื่องแต่เพียงว่า إنّي صَائِمٌ (ฉันถือศีลอด) วันหนึ่งระหว่างที่ท่านอุมัรฺ บิน อับดุลอะซีซ เราะหิมะฮุลลอฮฺ เดินทางพร้อมด้วยองครักษ์ประจำตัวผ่านสถานที่หนึ่งซึ่งมืดมาก ท่านได้เดินชนชายผู้หนึ่งโดยมิได้เจตนา ชายผู้นั้นจึงกล่าวตวาดขึ้นมาว่า “นี่คุณบ้าหรือไง?” ท่านอุมัรฺ กล่าวตอบแต่เพียงว่า “เปล่า” จังหวะนั้นองครักษ์ของท่านก็พุ่งเข้าหาชายคนดังกล่าวเพื่อจะทำการสั่งสอน แต่ท่านอุมัรฺ บิน อับดุลอะซีซ ได้ห้ามไว้พร้อมกล่าวว่า “ช้าก่อน เขาเพียงแต่ถามว่าฉันบ้าหรือเปล่า ซึ่งฉันก็ตอบเขาไปแล้ว” คำตอบของท่านอุมัรฺ บิน อับดุลอะซีซ ดังกล่าวนี้คือมารยาทเดียวกับสิ่งที่อิสลามสอนให้ผู้ถือศีลอดพึงยึดถือ และคำพูดเช่นนี้คือสิ่งที่อิสลามส่งเสริม กล่าวคือเป็นคำพูดที่ไม่นำพาไปสู่การทะเลาะเบาะแว้ง หรือก่อให้เกิดความวุ่นวาย เช่นนี้แหละคือลักษณะของผู้ศรัทธา ไม่ว่าจะเป็นมารยาทหรือคำพูดของเขาล้วนนำมาซึ่งสันติและความสงบสุข

9. การให้อภัย เราะมะฎอนคือเดือนแห่งความเมตตาและการให้อภัย ในเดือนนี้อัลลอฮฺจะทรงประทานความเมตตาอย่างเหลือล้น และจะทรงอภัยให้แก่ปวงบ่าวของพระองค์ โดยในทุกค่ำคืนของเดือนเราะมะฎอนจะมีผู้คนจำนวนมากได้รับความเมตตาให้รอดพ้นจากไฟนรก พระองค์ทรงให้สัญญาว่าจะให้อภัยแก่ผู้ที่ถือศีลอดและยืนละหมาดยามค่ำคืนของเดือนเราะมะฎอนอย่างมุ่งมั่นและหวังในผลบุญ และทรงกำหนดให้ ‘ลัยละตุลก็อดรฺ’ เป็นคืนแห่งการอภัยโทษ ความหมายอันยิ่งใหญ่เหล่านี้เป็นแรงผลักดันและฝึกฝนให้ผู้ศรัทธากลายเป็นผู้ที่ชอบให้อภัยและมีเมตตาต่อผู้อื่น ทั้งนี้ ผู้ที่ชอบให้อภัยผู้อื่นนั้น เป็นผู้ที่สมควรจะได้รับการอภัยจากอัลลอฮฺมากกว่าคนทั่วไป เพราะพระองค์ทรงชอบการให้อภัย ดังที่พระองค์ตรัสว่า

﴿ فَٱعۡفُ عَنۡهُمۡ وَٱصۡفَحۡۚ إِنَّ ٱللَّهَ يُحِبُّ ٱلۡمُحۡسِنِينَ ١٣ ﴾ [المائ‍دة: ١٣]

ความว่า "จงอภัยให้แก่พวกเขาเถิด และเมินหน้าเสีย แท้จริง อัลลอฮฺนั้นทรงชอบผู้ทำดีทั้งหลาย" (อัล-มาอิดะฮฺ: 13)

ทั้งนี้ การตอบแทนของอัลลอฮฺนั้นจะขึ้นอยู่กับการกระทำ กล่าวคือผู้ใดให้อภัยผู้อื่น อัลลอฮฺก็จะทรงให้อภัยแก่เขา ผู้ใดยกโทษให้ผู้อื่น อัลลอฮฺก็จะทรงยกโทษให้แก่เขา บทเรียนจากเดือนเราะมะฎอนข้อนี้ถือเป็นข้อคิดสำคัญสำหรับผู้ศรัทธา เรื่องการให้อภัยต่อความผิดพลาดของผู้อื่น และการมีความเมตตาต่อผู้ที่กระทำผิด อัลลอฮฺตรัสชื่นชมผู้ที่มีลักษณะเช่นนี้ว่า

﴿ وَٱلۡكَٰظِمِينَ ٱلۡغَيۡظَ وَٱلۡعَافِينَ عَنِ ٱلنَّاسِۗ وَٱللَّهُ يُحِبُّ ٱلۡمُحۡسِنِينَ ١٣٤ ﴾ [آل عمران: ١٣٤]

ความว่า "และบรรดาผู้ข่มโทษและบรรดาผู้ให้อภัยแก่เพื่อนมนุษย์ และอัลลอฮฺนั้นทรงรักผู้กระทำดีทั้งหลาย" (อาล อิมรอน: 134)

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อาทิตย์•ที่ 22 •กันยายน• 2013 เวลา 14:45 น.• )