ร้อยเรียงร้อยเรื่องเมืองลอง ตอนที่ ๑๔ วิพากษ์ตำนานของเมืองนครลำปาง ๑๐ เรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับเมืองลอง (ต่อ)

๓. ตำนานพระธาตุจุมพิต

ตำนานพระธาตุจุมพิต หรือตำนานพระธาตุจอมพิง หรือ ตำนานพระธาตุจอมปิง (ต่อไปจะใช้พระธาตุจอมปิงเพื่อสะดวกต่อการเข้าใจ) เป็นตำนานที่ไม่มีการดำเนินเรื่องตามแบบจารีตการเขียนตำนานทั่วไป คือไม่มีส่วนที่เป็นการกล่าวถึงการเสด็จมาของพระพุทธเจ้า หรือพระเจ้าอโศกมหาราช แต่เริ่มต้นเรื่องที่เกิดเหตุการณ์ไม่ย้อนเวลาไปไกลเหมือนเป็นนิทานหรือเรื่องเล่าดังปรากฏในตำนานฉบับอื่นๆ คือเริ่มกล่าวถึงนันทประหญา(ออกเสียง “นันต๊ะผญ๋า”)

ชาวจุมพิต(ชาวบ้านจอมปิง) อยู่ทางทิศใต้ของเมืองลำปางได้ไปบวชเรียนที่วัดสวนดอก เมืองเชียงใหม่ เมื่อสึกออกมาได้เป็นพระพี่เลี้ยงให้กับเจ้าราชบุตรคำลก เจ้าราชบุตรพระองค์ที่ ๖ ของพญาสามประหญาฝั่งแกน(พญาสามฝั่งแกน) กษัตริย์ล้านนาพระองค์ที่ ๘ (พ.ศ.๑๙๔๕ - ๑๙๘๔) ราชวงศ์มังราย เมื่อเจ้าราชบุตรคำลกได้ขึ้นเสวยราชเป็น “พระเจ้าติโลกราช” กษัตริย์ล้านนาพระองค์ที่ ๙ ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้นันทประหญาเป็นเจ้าเมืองหัวเมืองหนึ่ง แต่นันทประหญาไม่รับโดยให้เหตุผลว่าตนชรามากแล้ว จึงขอกลับมาอยู่บ้านเกิดที่บ้านจุมพิต (บ้านจอมปิง)เป็นเฒ่าเมืองจุมพิต(เมืองจอมปิง) ตอนต่อมาเมื่อมาอยู่ที่บ้านจุมพิต(เมืองจุมพิตนคร) ได้มีชาวเมืองแพร่ชื่อว่าอ้ายจอมแพร่ มาค้าขายที่นี้เป็นประจำจนคุ้นเคยกัน อ้ายจอมแพร่จึงตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้บ้านของเฒ่าเมืองนันทประหญา ตำนานในตอนนี้ทำให้เห็นว่าการค้าขายในสมัยพระเจ้าติโลกราช ที่มีพ่อค้าเมืองแพร่ใช้เส้นทางการค้าผ่านอำเภอเกาะคาปัจจุบันด้วย และอาจเป็นการสะดวกในการขนส่งสินค้าระหว่างทางใต้กับทางเหนือจึงตั้งบ้านที่เกาะคา เพื่อเป็นการสะดวกที่จะลงไปเมืองแพร่หรือขึ้นไปทางเมืองลำพูนและเมืองเชียงใหม่ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางการค้าแหล่งใหญ่ของล้านนา จนอ้ายจอมแพร่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีจนสามารถสร้างวัดได้ดังที่ตำนานกล่าว คือหลังจากที่อ้ายจอมแพร่มาอยู่แล้ว ก็ชวนกันกับนันทประหญาสร้างวัด และในช่วงนี้ตำนานกล่าวเชื่อมโยงเข้ากับเรื่องของพระนางจามเทวีอีกตามจารีตตำนานในลำปาง แต่ไม่ได้ใช้วิธีกล่าวพรรณนายกพระราชประวัติพระนางจามเหมือนตำนานพระธาตุลำปางหลวงหรือตำนานพระธาตุเสด็จ แต่กล่าวพาดพิงถึงเพียงสั้นๆ ว่านันทประหญาสร้างวัดบนที่พระนางจามเทวีสร้างเจดีย์ครอบพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งเป็นการอ้างถึงความเก่าแก่ของสถานที่ได้อีกรูปแบบหนึ่ง ดังปรากฏในตำนานว่า

“...เมื่อพายลุนขาจิ่งชวนกันสร้างวัดเคียงกันหั้นแล ส่วนนันทประหยาเถ้าเมืองนั้น สร้างแห่งวัดบน ที่นางจามเทวีสร้างเจดีย์กวมธาตุพระเจ้านั้นหั้นแล เหตุว่าท่านหันเจติยะเจ้าหากมีแต่ก่อนหั้นแล...” ส่วนอ้ายจอมแพร่เมื่อได้สร้างวัดเสร็จแล้ว ก็ไปขอพระพุทธรูปที่วัดป่าพร้าว หัวเวียงลำปาง มา ๑ องค์ เรียกว่าพระเจ้าหัวคำ แต่อ้ายจอมแพร่สร้างวัดในที่ลุ่มริมแม่น้ำ น้ำจึงพัดจนพังไปทั้งหมด ดังนั้นนันทประหญาจึงชวนเอาพระพุทธรูปมาประดิษฐานไว้ที่วัดบน แล้วก็ช่วยกันบำรุงรักษาให้เป็นวัดใหญ่แล้วจึงใส่ชื่อวัดว่า “วัดจอมพี่เลี้ยง” ตามชื่อของสองสหาย ต่อมาตำนานได้กล่าวอธิบายถึงที่มาของนามเจ้าเมืองลำปางผู้ให้การอุปถัมภ์วัดและพระธาตุ ว่าหลังจากสองสหายสร้างวัดเสร็จแล้วไม่นาน มีราชาพญาใต้(กษัตริย์อยุธยา)ยกทัพขึ้นมารบเมืองลำปาง แต่บิดาของเจ้าหาญแต่ท้อง เจ้าเมืองลำปางไม่อยู่ที่เมืองลำปาง มารดาของเจ้าหาญแต่ท้องกำลังตั้งครรภ์เจ้าหาญแต่ท้องก็ได้ออกรบแทน และตำนานยังได้ให้ภาพของกลศึกที่ชายาเจ้าเมืองลำปางใช้จนสามารถขับไล่กองทัพของกษัตริย์อยุธยาได้ และอธิบายที่มาของชื่อสถานที่ที่ชายาเจ้าเมืองลำปางชนช้างกับกษัตริย์อยุธยาจนตกน้ำเป็นที่สนุกยิ่ง จึงพากันเรียกขานที่ตรงนี้ว่า “มหาสนุก” หลังจากนี้พระเป็นเจ้าพญาคำลก หรือพระเจ้าติโลกราช เมืองเชียงใหม่ได้ทรงทราบ จึงยกกองทัพมากับบิดาของเจ้าหาญแต่ท้องมาขับไล่ข้าศึกจนแตกพ่าย หลังจากนั้นพระเจ้าติโลกราชจึงถามถึงพี่เลี้ยงนันทประหญา เมื่อทรงทราบก็เสด็จไปที่บ้านจุมพิตโดยให้นางราชเทวีและข้ารับใช้รออยู่ที่นี่ ส่วนพระองค์กับบิดาเจ้าหาญแต่ท้องก็ยกทัพไล่ตามข้าศึกอีก นางราชเทวีที่รออยู่ก็ได้สร้างครอบพระธาตุให้ใหญ่กว่าองค์เดิม เมื่อพระเจ้าติโลกราชทรงยกทัพกลับมาแล้วก็ทรงร่วมสร้างด้วย และพระองค์ยังได้ทรงอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ แล้วจึงทรงขนานนามใหม่ว่า “วัดจอมพิงไชยมงคล” เพราะพระองค์ทรงชนะข้าศึกอยุธยาเป็นครั้งแรกเมื่อทรงครองราชย์ถือเป็นนิมิตหมายอันดี อีกทั้งที่นี้เป็นจอมดอย เป็นชัยภูมิที่ดีชนะข้าศึก และชาวเมืองพิงค์มาสร้างไว้ หลังจากที่สักการะบูชาแล้วก็เสด็จกลับเมืองเชียงใหม่ ส่วนนันทประหญาก็อยู่ดูแลอุปถัมภ์วัดพระธาตุจอมปิงนี้จนถึงแก่อสัญกรรมเมื่ออายุได้ ๘๐ ปี แล้วจึงเอาข้าวของเครื่องใช้ของนันทประหญาไปฝังไว้หน้าวัดพระธาตุจอมปิง

ตำนานในตอนนี้ใช้เจ้าหาญแต่ท้องเป็นแกนของเรื่อง ทั้งที่เจ้าหาญแต่ท้องยังไม่ได้ถือกำเนิด ตำนานตอนนี้สันนิษฐานว่าคงรับมาจากเรื่องที่เล่าถึงชาติกำเนิดและความสามารถของเจ้าหาญแต่ท้องมาประกอบ ถึงแม้ตำนานตอนนี้จะไม่ได้กล่าวสรรเสริญเจ้าหาญแต่ท้องไว้โดยตรง แต่ก็แสดงให้เห็นว่าเจ้าหาญแต่ท้องมิใช่มีเพียงบิดาที่มีความเก่งกล้าสามารถ แม้แต่มารดาก็ยังมีความสามารถมากในการรบ อันเป็นการเน้นย้ำให้เห็นว่าบุตรที่กำเนิดจากบุคคลทั้งสองต้องมีความเก่งกล้าอย่างแน่นอน พร้อมเป็นการอธิบายที่มาของชื่อเจ้าหาญแต่ท้อง และที่สำคัญก็คือตำนานแฝงไว้เป็นการยกย่องว่าเจ้าเมืององค์นี้มีความกล้าหาญมาตั้งแต่อยู่ในท้อง ขณะเดียวกันตำนานฉบับนี้ให้ความสำคัญต่อบทบาทของสตรีเป็นพิเศษ ทั้งตอนที่กล่าวถึงวีรกรรมของมารดาเจ้าหาญแต่ท้องชนช้างกับกษัตริย์อยุธยา และนางราชเทวีของพระเจ้าติโลกราชทรงสร้างครอบพระธาตุจอมปิงองค์เดิมให้สูงใหญ่ขึ้น ส่วนเนื้อเรื่องของตำนานนี้ มีความขัดแย้งกับตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่และแย้งกันเองกับตำนานในถ้องถิ่นเช่นตำนานพระธาตุลำปางหลวง คือเรื่องที่มารดาของเจ้าหาญแต่ท้องออกรบ และต่อมาพระเจ้าติโลกราชและบิดาของเจ้าหาญแต่ท้องตามมาช่วย หากพิจารณาเรื่องการสงครามถือว่าเป็นสงครามต้นรัชกาลของพระเจ้าติโลกราช เพราะกล่าวถึงในช่วงของบิดาเจ้าหาญแต่ท้อง ก็คือเจ้าหมื่นลกนคร(เจ้าหมื่นด้ง) มีศักดิ์เป็นพระปิตุลา(อาว์) ของพระเจ้าติโลกราช เจ้าหมื่นลกนครมาเป็นเจ้าเมืองลำปางก่อนที่พระเจ้าติโลกราชจะทรงเสด็จขึ้นครองราชย์ในพ.ศ.๑๙๘๔ สงครามในช่วงแรกเริ่มของรัชกาลพระเจ้าติโลกที่เกี่ยวข้องกับอยุธยา คือ ท้าวซ้อย เจ้าเมืองฝาง ผู้เป็นพระราชอนุชาของพระเจ้าติโลกราช ได้ขัดแย้งกันเรื่องที่ท้าวซ้อยลักลอบพาพญาสามฝั่งแกน พระราชบิดามาพักที่เมืองฝาง หลังจากที่พระเจ้าติโลกราชชิงราชสมบัติแล้วได้ขับให้ไปอยู่เมืองสาด ภายหลังท้าวซ้อยหนีไปพึ่งหมื่นเซริงสามไขรหาญ เจ้าเมืองเทิง หมื่นเซริงสามไขรหาญจึงส่งหนังสือไปอยุธยาขอกองทัพขึ้นมาตีเมืองเชียงใหม่

หากพิจารณาจากตำนานพระธาตุจอมปิง โดยโครงเรื่องการทำสงครามในครั้งนี้ เจ้าหมื่นลกนครได้อยู่ที่เมืองเชียงใหม่จริงแต่ไม่ได้เป็นเจ้าเมืองลำปางและอยู่ที่ลำปาง ด้วยเหตุผลที่ว่าพระเจ้าติโลกราชทรงตั้งให้เป็นหมื่นสามล้าน เสนาบดีผู้ใหญ่ ช่วยราชการที่เมืองเชียงใหม่ หลังจากที่ทรงขึ้นครองราชย์ไม่นาน ขณะเดียวกันช่วงเวลานี้ยังมีเนื้อความที่ขัดแย้งกันเนื่องจากหมื่นแก้ว หรือ เจ้าหาญแต่ท้องโตเป็นบุรุษหนุ่มแล้วไม่ใช่อยู่ในครรภ์ของมารดา และได้รับตำแหน่งขึ้นเป็นหมื่นกืยหาญแต่ท้อง เจ้าเมืองลำปางแทนบิดาแล้ว ดังตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่า “...เจ้าพระญาติโลกราชะว่า คูค็หื้อแก่อาวแล ว่าอั้น หมื่นลกนคอรค็มาเปนหมื่นสามล้าน อยู่ปำเรินเจ้าพระญาติโลกอยู่เชียงใหม่ หื้อหมื่นแก้วผู้ลูกกินเมืองนคอรแทนชื่อหมื่นคืยหานแต่ท้องกินเมืองคืยแล...” นอกจากนี้หมื่นหาญแต่ท้อง(หมื่นแก้ว)ยังได้ร่วมออกรบครั้งนี้ด้วย ส่วนที่ตำนานพระธาตุจอมปิงกล่าวว่ากองทัพอยุธยายกทัพมาถึงเมืองลำปางนั้นมีความเป็นไปได้ เนื่องจากตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่าหมื่นสามล้านตั้งทัพอยู่ที่เมืองลำพูน “...เจ้าหมื่นสามล้านไพตั้งทัพอยู่ละพูน ขุนต่างเมืองทัง ๕ ฅนคือ หมื่นมอกลองกินเมืองพล้าว หมื่นคอมกินเชียงราย หมื่นฅำอย าดกินเชียงแสน หมื่นแก้วลูกหมื่นสามล้านกิน นคอร หมื่นยี่ลอกินเมืองฝาง...”

ในส่วนที่ตำนานพระธาตุจอมปิงกล่าวถึงการยกทัพมาของพระเจ้าติโลกราชพร้อมกับบิดาเจ้าหาญแต่ท้องนั้น คงเป็นการแต่งเสริมเนื้อความเข้าไปเพื่อเชื่อมโยงกับต้นเหตุการณ์สร้างพระธาตุจอมปิง แต่ไม่ปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ว่าพระเจ้าติโลกราชทรงเสด็จนำทัพหรือมีนางราชเทวีติดตามทัพมาด้วย เมื่อพิจารณาตรวจสอบประวัติของเจ้าหาญแต่ท้อง กับเหตุการณ์ที่กล่าวในตำนานพระธาตุจอมปิง โดยใช้ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่และตำนานในพื้นที่คือตำนานพระธาตุลำปางหลวง เจ้าเมืองหาญแต่ท้องโตเป็นผู้ใหญ่แล้วไม่ใช่อยู่ในครรภ์ของมารดา เพราะตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ได้กล่าวว่าหลังจากที่พระเจ้าติโลกราชได้ขึ้นครองราชย์แล้วไม่นาน(พระเจ้าติโลกราชทรงขึ้นครองราชย์ พ.ศ.๑๙๘๔) ก็ได้ตั้งเจ้าหาญแต่ท้องเป็นเจ้าเมืองลำปาง และตำนานพระธาตุลำปางหลวงก็กล่าวถึงเจ้าเมืองลำปางนามว่าหาญแต่ท้องมาสร้างพระธาตุลำปางหลวงขึ้นในพ.ศ.๑๙๙๒ ดังนั้นจึงเป็นการขัดแย้งกับตำนานพระธาตุจอมปิงที่เจ้าหาญแต่ท้องยังอยู่ในครรภ์ เพราะตำนานก็ระบุว่าอยู่ในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราชเช่นกัน ตอนท้ายของตำนานพระธาตุจอมปิง ได้กล่าวถึงเจ้าอาวาสและประวัติโดยย่อ จนถึงกาลที่พระธาตุจอมปิงพังทลายได้มีร้อยยี่พวกเรือนหลวงสร้างวิหารครอบไว้ และกล่าวถึงเจ้าหาญสีทัตถะมหาสุรมนตรี เจ้าเมืองลำปาง ได้ให้อนุญาตสร้างพระอุโบสถในปีพ.ศ.๒๐๕๑ (จุลศักราช ๘๗๐)(ศักราชคลาดเคลื่อน) พร้อมกับเป็นผู้อุปถัมภ์สร้างวิหารหลวงในปีพ.ศ.๒๐๕๔ (จุลศักราช ๘๗๓) )(ศักราชคลาดเคลื่อน) ต่อจากนั้นพระธัมมจัณฑามณีจินตาได้ชักชวนกันสร้างโคหา(ซุ้มโขง)พระเจ้าในปีพ.ศ.๒๐๖๙ (จุลศักราช ๘๘๘) และในปีพ.ศ.๒๐๗๖(จุลศักราช ๘๙๕)(ศักราชคลาดเคลื่อน เพราะพระเมืองแก้ว ทรงขึ้นครองราชย์ระหว่างพ.ศ.๒๐๓๘ – ๒๐๖๘) พระมหาสวามีธัมมจินดากับพระญาณวงศาจะทำการบูรณะพระธาตุจจอมปิงจึงให้คนไปกราบทูลพระเมืองแก้ว กษัตริย์ล้านนาว่าจะมีการบูรณะ พระเมืองแก้วจึงพระราชทานคนและข้าวของมาร่วมบรรจุไว้ในปีพ.ศ.๒๐๘๓ (จุลศักราช ๙๐๒) พระเมืองแก้วหล่อพระพุทธรูปแล้วพระราชทานให้ไว้ที่วัดพระธาตุจอมปิง และตำนานได้กล่าวถึงพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่ได้อุปถัมภ์วัดพระธาตุจอมปิง แต่หากพิจารณาปีพุทธศักราชที่พระเมืองแก้วครองราชย์มีความคลาดเคลื่อน เพราะพระเมืองแก้ว ทรงขึ้นครองราชย์ระหว่างพ.ศ.๒๐๓๘ – ๒๐๖๘ ดังนั้นหากยึดศักราชตามตำนานพระธาตุจอมปิงพ.ศ.๒๐๗๖ จะตรงกับรัชสมัยของพระเมืองเกษเกล้า(พญาเกสเชษฐราช) เป็นกษัตริย์ล้านนา(พ.ศ.๒๐๖๙ – ๒๐๘๑ และพ.ศ.๒๐๘๖ – ๒๐๘๘) และพ.ศ.๒๐๘๓ ตรงกับรัชสมัยของท้าวซาย เป็นกษัตริย์ล้านนา(พ.ศ.๒๐๘๑ – ๒๐๘๖)

จากการตรวจสอบวิพากษ์ตำนานพระธาตุจอมปิงแล้วกล่าวคือ ตำนานฉบับนี้มีความเหมือนกับตำนานพระธาตุเสด็จและตำนานพระธาตุลำปางหลวง เพราะเป็นตำนานที่อยู่ในเขตวัฒนธรรมการเขียนตำนานร่วมกัน และได้ต้นแบบการเขียนตำนานมาจากตำนานพระธาตุลำปางหลวง เพราะถ้าพิจารณาจากเค้าโครงเรื่องแล้ว ทั้งสามเรื่องจะโยงถึงพระนางจามเทวีเพื่ออ้างความเก่าแก่ของชุมชนและของพุทธสถาน และจุดสำคัญของเรื่องจะเน้นอยู่ที่ประวัติและวีรกรรมของเจ้าหาญแต่ท้อง เจ้าเมืองลำปาง ถึงแม้ว่าตำนานพระธาตุจอมปิงไม่ได้กล่าวว่าเจ้าหาญแต่ท้องเป็นผู้สร้างหรือบูรณะพระธาตุ แต่ก็ได้ใช้ชื่อเจ้าหาญแต่ท้องเป็นแกนสำคัญของเรื่องดังได้กล่าวมาแล้ว ทั้งนี้สันนิษฐานว่าความคิดของคนในยุคนั้นเห็นว่าเจ้าหาญแต่ท้องมีลักษณะเป็นผู้เก่งกล้าการรบพร้อมทั้งเป็นผู้ที่อุปถัมภ์พุทธศาสนา ซึ่งเป็นคุณลักษณะของธรรมราชาเหมือนพระเจ้าอโศกมหาราชที่ตำนานแทบทุกเรื่องจะเชื่อมโยงกล่าวถึง เพียงแต่เจ้าหาญแต่ท้องมีลักษณะย่อลงมาเป็นธรรมราชาของท้องถิ่น ตำนานในบริเวณนี้จึงมีการนำเอาประวัติของเจ้าหาญแต่ท้องมาเชื่อมเข้ากับตำนานสถานที่ต่างๆ ดังที่ปรากฏ

ร้อยเรียงร้อยเรื่องเมืองลอง ตอนที่ ๑๕ วิพากษ์ตำนานของเมืองนครลำปาง ๑๐ เรื่อง ที่เกี่ยวเนื่องกับเมืองลอง

๔. ตำนานพระธาตุปางม่วง

ตำนานพระธาตุปางม่วงเป็นตำนานที่ยังคงโครงเรื่องแบบนิทานท้องถิ่น หรือคงรูปแบบเรื่องเล่าไว้สูง คือเริ่มต้นกล่าวถึงการเสด็จมาของพระพุทธเจ้า ได้โปรดยักษ์ปู่กับหลานที่นั้น และได้ประทานเกศาไว้ให้บูชา พร้อมกับประทานพุทธทำนาย และในตอนนี้เป็นตอนที่ตำนานกล่าวอธิบายถึงที่มาของชื่อสถานที่ต่างๆ ในปัจจุบัน โดยเชื่อมโยงเข้ากับการเสด็จมาของพระพุทธเจ้า ดังเช่น ห้างฉัตร มาจากที่พระอินทร์กางฉัตรให้กับพระพุทธเจ้า เป็นต้น แต่เป็นที่น่าสังเกตคือตำนานจะกล่าวว่าชื่อทั้งหลายเหล่านี้ที่ปรากฏในตำนานไม่ว่าจะเป็น ห้างฉัตร หรือ เวียงตาน ล้วนแต่ต้องมีการเรียกเพี้ยนจากหลายๆ คำจนกลายมาเป็นชื่อปัจจุบัน ที่แสดงให้เห็นว่ามีเค้าโครงเรื่องจากเรื่องเล่าที่ลากความโยงเข้ากับชื่อสถานที่ปัจจุบัน ในตอนพุทธทำนายมีการกล่าวในอนาคตจะมีนางเศรษฐีผู้หนึ่ง ได้สร้างวิหารหลวง วัดพระธาตุลำปางหลวงเสร็จแล้วก็จะมาสร้างที่นี้ให้รุ่งเรือง และเจ้าเมืองกุกุตตะระลำปางก็จะมาก่อพระธาตุให้สูงใหญ่กว่าเดิม แล้วก็กล่าวแนะนำการขึ้นไหว้พระธาตุ อานิสงส์ของการได้ไหว้พระธาตุและทำบุญที่วัดพระธาตุปางม่วง เมื่อพิจารณาเนื้อความตอนหลังที่กล่าวถึงอานิสงส์มีความคล้ายคลึงกับที่ปรากฏในตำนานพระแก้วดอนเต้า โดยตำนานพระธาตุปางม่วงนี้สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลการเขียนมาจากตำนานพระเจ้าเลียบโลก เพราะในตอนท้ายของตำนานได้กล่าวถึงการเสด็จกลับของพระพุทธเจ้าไปตามบ้านน้อยเมืองใหญ่ต่อไป “...คันว่าพระพุทธเจ้าทำนวายฉันนี้แล้ว ก็สระเด็จไปตามลำดับบ้านน้อยเมืองใหย่ก็มีวันนั้นแล...”

๕. ตำนานวัดพระแก้วดอนเต้า

ตำนานวัดพระแก้วดอนเต้าเป็นตำนานที่เป็นแบบธรรมเทศนา จุดประสงค์ของการแต่งคือเพื่อกระตุ้นเตือนผู้คนไม่ให้ปล่อยศาสนสถานและศาสนวัตถุต่างๆ ภายในวัดพระแก้วดอนเต้าทรุดโทรม เพราะเนื้อหาของตำนานเน้นย้ำตรงจุดนี้อย่างเห็นได้ชัดเจน ตำนานพระแก้วดอนเต้าเริ่มต้นกล่าวนำถึงสาเหตุที่พระพุทธเจ้าเสด็จมา และพระพุทธเจ้าก็ตรัสถึงตอนเสวยชาติเป็นนกแขกเต้าอยู่ป่าหิมพานต์ซึ่งเป็นที่อันประเสริฐ ซึ่งป่าหิมพานต์ในอดีตที่ตำนานกล่าวถึงก็คือพื้นที่ของวัดพระแก้วดอนเต้าในปัจจุบัน แล้วก็เสด็จมาพร้อมกับพุทธสาวก เมื่อมาถึงก็พรรณนาให้เห็นว่าพบยักษ์แล้วจึงเทศนาให้ฟัง หลังจากนั้นก็ประทานพระเกศาธาตุให้ไว้บูชา ต่อมาก็ตรัสพุทธทำนายเกี่ยวกับวัดพระแก้วดอนเต้า และชี้ให้เห็นถึงโทษไม่ดูแลรักษาพระธาตุและถาวรวัตถุต่างๆ ภายในวัดพระแก้วดอนเต้า ตอนต่อมาได้เล่าถึงประวัติพระแก้วดอนเต้า แล้วจึงกล่าวถึงอานิสงส์การทำบุญที่วัดพระแก้วดอนเต้า และการถวายคัมภีร์ตำนานพระแก้วดอนเต้า ดังที่กล่าวมาแล้วว่าตำนานพระแก้วดอนเต้ามีลักษณะโครงเรื่องเป็นพระธรรมเทศนา ที่ต้องการเน้นให้เห็นบุญบาป และโทษของการที่ไม่บำรุงรักษาพระธาตุ วิหาร ถาวรวัตถุต่างๆ ภายในวัดทิ้งให้เสื่อมโทรม แต่ที่น่าสังเกตก็คือตำนานพระแก้วดอนเต้านี้ ได้กล่าวชื่อเมืองกุกุตนครตลอดทั้งเรื่องมากกว่าที่ตำนานเรื่องอื่นๆ ของเมืองลำปาง และเรียกชื่อเมืองลัมภกัปปนคร(ลำปางหลวง)เป็นเมืองลัมพะกุกกุตนคร โดยชื่อเมืองกุกกุฏนคร(เมืองไก่)นี้หมายถึงเมืองลำปาง สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการอพยพเคลื่อนย้ายของชาวเชียงแสนเข้ามาอยู่เมืองลำปาง หรือเกิดจากการติดต่อสัมพันธ์กันของพระภิกษุสงฆ์ระหว่างเมืองเชียงแสนกับเมืองลำปาง จึงส่งอิทธิพลการแต่งตำนานและชื่อเมืองกุกกุฏนครให้กับตำนานเมืองลำปางดังได้กล่าวมาแล้ว

๖. ตำนานเมืองละคร

ตำนานเมืองละคร หรือตำนานศรีล้อมเมืองนคร เริ่มกล่าวนำเชื่อมให้เห็นถึงม่อนพญาแช่ โดยที่ม่อนพญาแช่ก็มีตำนานของตนเช่นกัน และมีการหยิบยืมเนื้อความของกันและกันด้วยซึ่งจะกล่าวต่อไป จากนั้นตำนานก็ได้กล่าวถึงการเสด็จมาของพระพุทธเจ้า และมาพบยักษ์ที่เข้าตลาดชุมนุมกัน เนื้อความตอนนี้หยิบยืมมาจากตำนานพระแก้วดอนเต้า แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของการเขียนตำนาน แต่ที่ต่างกันออกไปคือตำนานเมืองลครได้กล่าวถึงที่มาของเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองกุกกุฏนคร แต่ตำนานพระแก้วดอนเต้าไม่ได้กล่าวถึงถึงแม้ว่าจะปรากฏชื่อเมืองกุกกุฏนครอยู่หลายแห่งในตำนานก็ตาม เมื่อพรรณนาถึงที่มาของชื่อเมืองกุกกุฏรัฏฐะหรือกุกกุฏนครแล้ว ก็กล่าวถึงพุทธทำนายว่าเมืองกุกกุฎรัฏฐะนี้จะมีฤาษีเอาต้นศรีมหาโพธิ์มาปลูก แล้วก็กล่าวถึงอานิสงส์ที่บำรุงรักษาต้นศรีมหาโพธิ์ต้นนี้ และกล่าวถึงโทษที่ไม่เคารพต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งมีเนื้อความคล้ายคลึงกับโทษที่ไม่บำรุงรักษาพระธาตุ วิหาร ถาวรวัตถุต่างๆ ของตำนานพระแก้วดอนเต้า และมีการมีพุทธทำนายถึงความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในอนาคต เช่น เมืองเก่าร้างและมีการสร้างเมืองใหม่ หรือจะมีพญาจุลจักรพัตตะราช จะรวมคนหลายชาติหลายภาษาให้เป็นเมืองเดียวกันใช้ภาษาเดียวกัน สันนิษฐานว่าตำนานหมายถึงการปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งรวมประเทศราชล้านนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยามประเทศ ตอนท้ายได้กล่าวเตือนให้เคารพยำเกรงต้นศรีมหาโพธิ์ที่เวียงดิน และกล่าวถึงฤาษีทั้ง ๕ องค์ที่ช่วยกันแต่งตำนานนี้ เมื่อสังเกตโดยภาพรวมตำนานเมืองลครนี้ เป็นตำนานที่ตัดเอาเนื้อความของตำนานม่อนพญาแช่มาตั้งแต่ตอนพระอินทร์เนรมิตเป็นไก่เผือกจนจบ แล้วก็เสริมตรงตอนเริ่มต้นตำนานและช่วงท้ายของตำนานเข้าไป

ภาพบน วัดพระแก้วดอนเต้า (ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ภูเดช แสนสา