เมืองลองจากจารึก พงศาวดาร และวรรณกรรม ๑. เมืองลองจากจารึกต่างๆ เมืองลองก็เป็นเมืองหนึ่งที่อุดมไปด้วยหลักฐานต่างๆ แต่ทว่าหลักฐานเหล่านี้ได้กระจัดกระจายอย่างมาก ดังเช่นจารึกในเมืองลองจารึกที่เป็นอักษรสุโขทัยมีจำนวน ๒ หลัก แต่ชำรุดเสียหายมากอีกทั้งไม่ระบุปีศักราชไว้ พอสันนิษฐานได้เพียงว่าในสมัยสุโขทัยเจ้าเมืองลองมีตำแหน่งเป็นขุนเช่นเดียวกับเจ้าเมืองตรอกสลอบ ดังที่ปรากฏในศิลาจารึกว่า “...ออกขุน (เนี)ยรพาน ก่อน...” นอกจากนั้นจารึกเก่าที่สุดก็เป็นจารึกในพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ที่กล่าวถึงการทำบุญและเหตุการณ์ต่างๆ ไว้ ดังที่มีจารึกฐานพระพุทธรูปไม้ และจารึกท้ายคัมภีร์ใบลาน ที่เป็นการบันทึกเหตุการณ์ร่วมสมัยภายในเมืองลอง

แต่ว่าเป็นข้อมูลที่กระจัดกระจายมากต้องใช้เวลาพอสมควรในการรวบรวม จากข้อมูลในขณะนี้ก็ทำให้ทราบถึงความคิดของคนในเมืองลองที่รับรู้เกี่ยวกับเมืองลอง ว่าสถานะของเมืองลองในสำนึกของคนในเมืองลองเองในอดีตมีความสำนึกว่าเป็นเมืองหนึ่งที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเมืองที่ใหญ่กว่า ดังที่ปรากฏในจารึกท้ายคัมภีร์ใบลาน(คำส่อ)ของวัดพระธาตุไฮสร้อยและวัดนาตุ้ม(นาทุ้ม) ที่จะระบุว่าวัด(หมู่บ้าน)ที่ตนอยู่นั้นตั้งอยู่ส่วนไหนของเมืองลอง จากการสำรวจจารึกท้ายคัมภีร์ใบลานของวัดนาตุ้มจำนวน ๑๑๒ ผูก ได้กล่าวถึงที่ตั้งว่าอยู่ส่วนไหนของเมืองลอง จำนวน ๘ ผูก และจารึกท้ายคัมภีร์ใบลานวัดไฮสร้อย จำนวน ๑๒๓ ผูก ได้กล่าวว่าตั้งอยู่ส่วนไหนของเมืองลอง จำนวน ๑๕ ผูก จากการสำรวจยังไม่พบการบอกตำแหน่งว่าเมืองลอง เป็นส่วนไหนหรืออยู่ทางด้านไหนของเมืองลำปางและแพร่ จารึกท้ายคัมภีร์ใบลานที่กล่าวไว้พบเก่าที่สุดคือ พ.ศ.๒๓๔๖ และใหม่สุดคือพ.ศ.๒๔๗๖ เช่น

“...เผือข้าทัง ๒ เขียนยามเมื่ออยู่ปฏิบัตครูบาวัดโท่งแล้งหางเมืองลองวันนั้นแล...”

“...ภิกขุคุนาเขียนปลางเมื่ออยู่ปฏิบัตวัดนาทุ้มแก้วกว้างหางเมืองลองฅ้อใต้...”

“...อะหังนามะชื่อแห่งข้าว่าหนานธัมมกิติ เขียนค้ำชูครูบาใบฎีกาวัดไรส้อยกิ่งย้อยแก้วกว้าง ท่าท้างกลางเมืองลอง วันนั้นแล...”

จารึกท้ายคัมภีร์ใบลานวัดนาตุ้ม(คำส่อ) หมู่ ๒ บ้านนาตุ้ม ตำบลบ่อเหล็กลอง อำเภอลอง จังหวัดแพร่

(๑) โวหารเทสนาจริยาปิฏกะ จ.ศ.๑๑๙๗ (พ.ศ.๒๓๗๘)

“...ภิกขุคุนาเขียนปลางเมื่ออยู่วัดนาทุ้ม(นาตุ้ม)แก้วกว้าง หางเมืองลองฅ้อใต้...”

(๒) นันทสิงหปกรณ์ ผูกที่ ๘ จ.ศ.๑๑๙๘ (พ.ศ.๒๓๗๙)

“...ข้าเขียนปางเมื่อมาสถิตสำราญกับด้วยครูบาหลวงสุยะ วัดนาทุ้ม เมืองลองร่องใต้ วันนั้นแล...”

(๓) อานิสงส์มหาชาติ ฉบับช่อฟ้ายองปลี จ.ศ.๑๒๖๒ (พ.ศ.๒๔๔๓)

“...ธัมม์วัดนาทุ้มไชยแก้วกว้าง ที่กลางเมืองลอง อยองท่าฝั่งแม่ลอง อยู่ที่ป่าพล้าวป่าลานชุมรุมหั้นแลนา...”

(๔) กุมารบัน ฉบับจริยา พ.ศ.๒๔๗๖

“...จันทยสรัสสะภิกขุ เขียนปลางเมื่ออยู่ปฏิบัตวัดศรีดอนไชยแม่ลองแก้วกว้าง ทางกลางเมืองลอง วันนั้นแล...”

(๕) อังคุตรนิกาย ผูกที่ ๗

“...อังคุตรนิกายวัดนาทุ้ม เมืองลองแฅว้นใต้...”

(๖) นันทเสน ผูกต้น

“...ข้าแต้มปลางเมื่อปฏิบัตสาธุเจ้าอินทวิไชย เมืองลองแก้วกว้าง วัดนาทุ้มแล...”

(๗) อานิสงส์ปิฏกะ

“...นามะข้าชื่อว่านารทะ ปางเมื่ออยู่ปฏิบัตวัดนาทุ้มแก้วกว้าง หางเมืองลอง วันนั้นแล...”

(๘) จริยาปิฏกะ ผูกที่ ๔

“...ผู้ข้าเขียนปางเมื่อปฏิบัตครูบาสุยะ อยู่วัดนาทุ้มแก้วกว้าง อยู่หางเมืองลอง วันนั้นแล...”

จารึกท้ายคัมภีร์ใบลานวัดไฮสร้อย(คำส่อ) หมู่ที่ ๕ บ้านไฮสร้อย ตำบลปากกาง อำเภอลอง จังหวัดแพร่

(๑) โวหารพุทธเสนกะ ผูกที่ ๔ จ.ศ.๑๑๖๕ (พ.ศ.๒๓๔๖)

“...เผื่อข้าทั้ง ๒ เขียนยามเมื่อปฏิบัตครูบาวัดโท่งแล้ง (วัดทุ่งแล้ง ต.ทุ่งแล้ง) หางเมืองลอง วันนั้นแล...”

(๒) อภิธัมมา จ.ศ.๑๒๔๕ (พ.ศ.๒๔๒๖)

“...เขียนยามเมื่ออยู่ปฏิบัตครูบาหลวงสุวัณณ์ วัดไผ่ล้อม (ต.หัวทุ่ง) แก้วกว้าง กลางเมืองลอง วันนั้นแล...”

(๓) มูลสิกขา จ.ศ.๑๒๗๒ (พ.ศ.๒๔๕๓)

“...นามะว่าจันทยส.....ปลางเมื่ออยู่ปฏิบัตพระธาตุเจ้าขวยปู (ต.แม่ปาก อ.วังชิ้น) แลครูบานันทาเจ้าวัดแม่ปากไชยแก้วกว้าง ทัดท้างหางเมืองลอง วันนั้นแล...”

(๔) มูลสิกขา จ.ศ.๑๒๗๒ (พ.ศ.๒๔๕๓)

“...ข้าเขียนปลางเมื่ออยู่ปฏิบัตพระธาตุเจ้าขวยปู แลปฏิบัตครู(บา)นันทา เจ้าวัดขวยปูค็ว่า แม่ปากค็ว่า(ตำบลแม่ปาก อำเภอวังชิ้น ในปัจจุบัน) เขียนเอามาค้ำชูอารามแม่จอก (ตำบลห้วยอ้อ อำเภอลอง ในปัจจุบัน) ไชยแก้วกว้าง ทาดท้างหางเมืองลอง วันนั้นแล ธัมม์วัดแม่จอก”

(๕) หิมพานต์ ฉบับจริยา จ.ศ.๑๒๗๔ (พ.ศ.๒๔๕๕)

“...ข้าได้เขียนธัมม์ผูกนี้ปางเมื่อปฏิบัตสวาธุเจ้าอินทวิไชย วัดนาทุ้ม (วัดนาตุ้ม ตำบลบ่อเหล็กลอง) แก้วกว้าง หางเมืองลอง...”

(๖) ชูชกะ ฉบับจริยา จ.ศ.๑๒๗๔ (พ.ศ.๒๔๕๕)

“...ข้าแต้มธัมม์ผูกนี้ปางเมื่อปฏิบัตสวาธุเจ้าอินทวิไชย วัดนาทุ้มแก้วกว้าง หางเมืองลองแล...”

(๗) มัทรี ฉบับไผ่แจ้เรียวแดง จ.ศ.๑๒๗๔ (พ.ศ.๒๔๕๕)

“...อหังนามะชื่อแห่งข้าว่าหนานธัมมกิติ เขียนค้ำชูครูบาใบฎีกาวัดไรส้อย (วัดไฮสร้อย ตำบลปากกาง) กิ่งย้อยแก้วกว้าง ท่าท้างกลางเมืองลอง วันนั้นแล...”

(๘) มหาราช ฉบับจริยา จ.ศ.๑๒๗๔ (พ.ศ.๒๔๕๕)

“...ข้าได้เขียนธัมมืผุกนี้ปางเมื่อปฏิบัตสาธุเจ้าอินทวิไชย วัดนาทุ้มแก้วกว้าง หางเมืองลอง...”

(๙) สุวัณณะกัสสะโป เต่าน้อยอองคำ จ.ศ.๑๒๘๓ (พ.ศ.๒๔๖๔)

“...อหังนามะจันธิมาใบฎีกา ปางเมื่อสถิตวัดไรส้อยกิ่งย้อย ริมน้ำยมวังท่าครัว ท่าท้างกลางเมืองลอง วันนั้นแล...”

(๑๐) สุวัณณะเต่าคำ ผูกที่ ๒ จ.ศ.๑๒๘๓ (พ.ศ.๒๔๖๔)

“...ครูบาจันธิมาปางเมื่อปฏิบัตอยู่วัดพระธาตุไรส้อยกิ่งย้อย วังทะครัวแก้วกว้าง ท่าท้างกลางเมืองลอง วันนั้นแลเจ้าเฮย...”

(๑๑) อภิธัมมากัญแจ จ.ศ.๑๒๙๑ (พ.ศ.๒๔๗๒)

“ครู(บา)จันธิมา วัดไรส้อย เขียนหื้อครูบาหลวงชุมพู วัดวังเฅียน...ปลีน้ำแม่ยมขึ้นมาถ้วมบ้านพงท่าช้าง กลางเมืองลอง วันนั้นแล...”

(๑๒) สุตันตะ

“ข้าเขียนปลางเมื่ออยู่ปฏิบัตวัดนาทุ้ม เมืองลอง วันนั้นแล...”

(๑๓) ชูชกะ ฉบับไม้ไผ่แจ้เรียวแดง

“...นามะกอรแห่งข้าว่าอภิยะสามเณร ได้ 4 วสา......ปางเมื่ออยู่สถิตวัดไรส้อยไรย้อย อยู่ปฏิบัตครูบาจันธิมาพระใบฎีกา วัดไรย้อยดอนแท่น กลางเมืองลองไชย วันนั้นแล...”

(๑๔) เสฏฐี ผูกที่ ๔

“...ตนข้าชื่อว่าอรินทะสามเณร เขียนปางเมื่ออยู่สถิตสำราญเมืองลอง วัดท่งแล้ง (วัดทุ่งแล้ง ตำบลทุ่งแล้ง) วันนั้นแล...”

(๑๕) สุวัณณะเมฆะ ผูกที่ ๓

“ข้าเขียนธัมม์ผูกนี้ปางเมื่อปฏิบัตวัดนาทุ้มไชยแก้วกว้าง หางเมืองลอง วันนั้นแล...”

 

ภูเดช แสนสา

ศิลาจารึกเมืองลอง ประมาณพ.ศ.๑๙๐๐ – ๒๐๐๐

 

ศิลาจารึกเมืองลอง(จารึกเนียรพานนิราส) ประมาณพ.ศ.๑๙๐๐ – ๒๐๐๐