เมืองลองจากจารึก พงศาวดาร และวรรณกรรม (ต่อ) และหลังจากปีที่โอนอำเภอลองจากจังหวัดลำปางมาขึ้นกับจังหวัดแพร่ เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๔ สำนึกเรื่องนี้ของคนเมืองลองก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง เช่น “...จันทยสรัสสะภิกขุ เขียนปลางเมื่ออยู่ปฏิบัตวัดสรีดอนไชยแม่ลองแก้วกว้าง ทางกลางเมืองลองวันนั้นแล...” ต่างไปจากเมืองขึ้นอื่นๆ ของลำปาง เช่น เมืองแจ้ห่ม จากการสำรวจจารึกท้ายคัมภีร์ใบลานวัดผาแดงหลวง พบว่าคนภายในเมืองจะระบุตำแหน่งของเมืองแจ้ห่มเป็น “หัวเมืองนคร” คือเป็นหัวเมืองของเมืองลำปาง เช่น “...กัญจนภิกขุลิขิตปางเมื่อปฏิบัตสำราญครูบาหลวงอินทะ วัดผาแดงแก้วกว้าง ทางหัวเวียงนคอรไชย...”

“...สวาธุเจ้าพรหมเขียนไว้ค้ำชูสาสนาพระโคตมะ เมื่อปางอยู่(วัด)บ้านม่วงแก้วกว้าง ท่าท้างหัวเวียงนคอร...”

“...ตนภิกขุเขียนปางเมื่อปฏิบัตวัดหลวงแช่ห่มหัวเมืองนคอร...” หรือจารึกท้ายคัมภีร์ใบลานของวัดดอนแท่น ตำบลดอนมูล อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ ก็ระบุถึงตำแหน่งวัด(หมู่บ้าน)ว่าอยู่ส่วนด้านทิศใต้ของจังหวัดแพร่ เช่น

“...ปลางเมื่อปฏิบัตวัดดอนแท่น เมืองมานด่านใต้ ชื่อข้าไธ้ว่ารัสสะภิกขุไชยมงคล เป็นเจ้าอธิการ...”

“...ปลางข้าอยู่ปฏิบัตครูบาเจ้าคันธาวงส์ วัดสรีดอนแท่น เมืองมานใต้ ชื่อข้าไธ้ตน หน้อยสามเณรอาธะ วังฅำ เขียนไว้ค้ำชูสาสนา...” หรือระบุว่าอยู่กับเมืองแพร่โดยตรง เช่น

“...สุกแก้วสามเณรเขียนแล ปลางเมื่อข้าอยู่ปฏิบัติวัดสรีดอนแท่น เมืองแพร่ วันนั้นแล...”

แสดงให้เห็นว่าคนในเมืองลองตั้งแต่อดีต มาจนถึงเป็นหน่วยของอำเภอที่ขึ้นอยู่กับจังหวัดลำปางหรือภายหลังมาขึ้นอยู่กับจังหวัดแพร่ ก็ยังมีสำนึกเรื่องความเป็นคนเมืองลองสูงมาก แต่จุดที่ทำให้สำนึกความเป็นคนเมืองลองลดน้อยลงไปหรือไม่อย่างไร ก็จะต้องทำการศึกษาอย่างละเอียดและต้องสำรวจครอบคลุมถึงวัดที่ตั้งตอนเหนือเมืองลองต่อไป แต่ที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือคนที่อยู่ในเมืองต้าจะมีสำนึกร่วมเรื่องความเป็นคนเมืองลองหรือไม่ เพราะเท่าที่พบจารึกท้ายคัมภีร์ใบลานของวัดม่อน(ต้าม่อน) ที่วัดนาตุ้ม มีจำนวน ๒ ผูกยังไม่พบกล่าวถึงว่าวัด(หมู่บ้าน)นี้อยู่ส่วนไหนของเมืองลองแต่จะระบุว่าเป็นเมืองต้า ซึ่งจะต้องเก็บหลักฐานและศึกษาต่อไป

“...อะหังนามะไชยเทพภิกขุลิขิตตะแล ปางเมื่ออยู่ปฏิบัตวัดม่อน เมืองต้า วันนั้นแล...”

“...สุนันทะสามเณรลิขิตตะแล ปางเมื่อข้าอยู่วัดเมืองต้าม่อน...”

ส่วนคนในเมืองลำปางเองก็ไม่ได้สำนึกว่าเมืองลองเป็นส่วนอันหนึ่งอันเดียวกับเมืองลำปาง ดังพบจารึกท้ายคัมภีร์ใบลานระบุว่า

“...อะหังนามะปัญญัตติข้าชื่อว่าพระนายอภิไชย...ปางเมื่อข้าได้แต้มปฏิบัติวัดสรี-ดอนไชยนาหมาโก้งโท่งล้อมแลข้าแต้มค้ำชูสวาธุเจ้าชุมพู วัดวังเฅียนไชยแก้วกว้างท่าท้างริมยมที่ข้างริมยม วันนั้นแท้แล...บ้านเกิดแห่งข้าแท้ดีอยู่ละคอร(ลำปาง)ย้อนว่าได้เปนพระเภ้แล...”

นอกจากนี้จารึกท้ายคัมภีร์ใบลานยังให้ข้อมูลว่าแต่ละปีเกิดอะไรขึ้นภายในวัด หมู่บ้าน ตลอดจนถึงเมืองลองและเมืองใกล้เคียง ซึ่งนับได้ว่าเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญอย่างมากเมื่อจะทำการศึกษาเมืองเล็กๆ ที่ขาดเอกสารหลักฐานจากภายนอกกล่าวถึงโดยตรง ส่วนจารึกจากพื้นที่ภายนอกที่กล่าวถึงเมืองลองเท่าที่พบในขณะนี้มีแผ่นเดียว คือจารึกบนแผ่นไม้วัดบ่อสลีของครูบาคุณา (สันนิษฐานว่าอยู่ ตำบลบ่อสลี อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่) ที่แสดงถึงการรับรู้ว่าเมืองลองเป็นเมืองพระธาตุ ดังปรากฏคำไหว้พระธาตุในเมืองลองจำนวน ๓ องค์ คือ พระธาตุร่องอ้อ(ศรีดอนคำ) พระธาตุขวยปู และพระธาตุพูทับ ร่วมกับคำไหว้พระธาตุอื่นๆ คือ พระธาตุหริภุญชัย พระธาตุลำปางหลวง พระธาตุพนม พระธาตุช่อแฮ พระธาตุขิงแกง พระธาตุเสด็จ พระธาตุดอนเต้า พระธาตุดอยตุง พระธาตุดอยสุเทพ พระธาตุจอมยอง และพระธาตุหงสา โดยจุดประสงค์ของผู้จารึกคือ “...เขียนใส่แป้นไว้หื้อกุลบุตรทั้งหลาย ได้อ่านได้เรียนไว้ไหว้ไปทุกค่ำเช้าแลงงาย...”

นอกจากนั้นจารึกที่เกี่ยวข้องกับเมืองลองโดยตรงยังไม่พบ จากจารึกสุโขทัยทั้งหมดเท่าที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ก็เพียงแต่ทำให้ทราบว่าเมืองลองเป็นเมืองกันชน หรือปลายแดนของอาณาจักรสุโขทัยและอาณาจักรล้านนา โดยในสมัยของพ่อขุนศรีนาวนำถมก็มีการสันนิษฐานว่าอาณาเขตด้านเหนืออยู่ในแนวเขาพลึงที่เป็นเขากั้นเมืองแพร่กับอาณาจักรสุโขทัย และเท่าที่จารึกสุโขทัยกล่าวถึงอาณาเขตด้านเหนือของอาณาจักรสุโขทัยในสมัยพ่อขุนรามคำแหง(พ.ศ.๑๘๒๒ – ประมาณพ.ศ.๑๘๔๒) คือศิลาจารึกหลักที่ ๑ ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง

“...เบื้องตีนนอน รอดเมืองแพร่ เมืองม่าน เมืองน.. เมืองพลัว พ้นฝั่งของเมืองชวาเป็นที่แล้ว ปลูกเลี้ยงฝูงลูกบ้านลูกเมืองนั้นชอบด้วยธรรมทุกคน”

รอดเมืองแพร่และเมืองม่านหรือเมืองมานนี้ ถ้าหากเป็นเมืองเดียวกับเมืองมานที่ตั้งอยู่บริเวณอำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ในปัจจุบัน อาณาเขตด้านเหนือของอาณาจักรสุโขทัยช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ไม่ถึงเมืองลองแต่มีอาณาเขตติดเขตเมืองลอง สมัยพ่อขุนรามคำแหงนี้เป็นยุคที่อาณาจักรสุโขทัยมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลมากที่สุด ในสมัยต่อมาศิลาจารึกหลักที่ ๓ ศิลาจารึกนครชุมเมื่อ พ.ศ.๑๙๐๐ ก็มีการกล่าวถึงเมืองฝางที่มีอาณาเขตติดต่อกับเมืองลอง(ในอดีตยังไม่มีอำเภอเด่นชัยกั้นมีแต่เป็นป่าเขา)

“...ศักราช ๑๒๗๙ ปีระกา...คำนี้กล่าวคันสเล็กสน้อยแลคำอันพิสดารไซร้ กล่าวไว้ในจารึกอันมีในเมืองสุโขทัย...นักพระมหาธาตุพู้นแล จารึกอันหนึ่งมีในเมือง...อันหนึ่งมีในเมืองฝาง อันหนึ่งมีในเมืองสระหลวง(พิษณุโลก) ...”

หรือจารึกหลักที่ ๓๘ ศิลาจารึกกฏหมายลักษณะโจร พ.ศ.๑๙๔๐ รัชกาลพระมหาธรรมราชาที่ ๒

“...ราชสีมาทั้งหลายนี้ไซร้ กลางเมืองสุโขทัยอันเป็นประธาน กึ่งในเมื(อง)...ทํเนปร(เป็นต้นว่า) เชลียง กำแพงเพชร ทุ่งย้าง ปากยม สองแคว...”

หรือจารึกนน.๑ จารึกคำปู่สบส สันนิษฐานว่า พ.ศ.๑๙๓๕ ตรงกับพญาคำตัน เป็นกษัตริย์น่าน(พ.ศ.๑๙๒๗ – ๑๙๓๗)

“...กูผู้ชื่อพระญาฤาไทย...อันหนึ่งบ้านเมืองเราทั้(ง)หลายและเมืองแพร่ เมืองงาว เ...(น่)าน เมืองพลัว ปู่พระญาดูดั่งเดียว...”

จากจารึกต่างๆ ทำให้เห็นว่าเมืองลองเป็นเมืองกันชนหรือเมืองต่อแดนระหว่างอาณาจักรสุโขทัยและล้านนา เพราะอาณาจักรสุโขทัยเมื่อขยายอาณาเขตขึ้นมาด้านเหนือสุดก็ถึงเมืองแพร่ เมืองมาน เมืองน่าน เมืองพลัว ในสมัย พ.ศ.๑๙๓๕ ก่อนที่พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์เมืองเชียงใหม่จะยึดเมืองน่านได้ เมืองน่านก็มีอำนาจเหนือเมืองแพร่ เมืองงาว และเมืองปัว ดังนั้นในช่วงนี้สุโขทัยจึงมีอาณาเขตไม่ถึงเมืองแพร่ และถ้าหากว่าเมืองมานคือเมืองที่อยู่ในเขตอำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ ดังจารึกท้ายคัมภีร์ใบลานวัดดอนแท่น อำเภอสูงเม่น กล่าวว่า

“...ปลางเมื่อปฏิบัตวัดดอนแท่น เมืองมานด่านใต้ ชื่อข้าไธ้ว่ารัสสะภิกขุไชยมงคล เป็นเจ้าอธิการ...”

กรอปกับภายในเขตอำเภอสูงเม่นมีเจดีย์แบบสุโขทัย ที่วัดพระหลวง และมีลำห้วยแม่มานไหลผ่านเป็นหลักฐานสนับสนุนถึงชื่อเมืองมาน จึงสันนิษฐานว่าอาณาเขตสุโขทัยไม่ได้มาถึงเมืองลอง แต่ว่าส่งอิทธิพลทางด้านศิลปวัฒนธรรมนั้นได้แผ่เข้ามาถึงตามแม่น้ำยม เพราะอย่างน้อยก่อนที่พระเจ้าติโลกราชจะยึดเมืองแพร่ได้ในปี พ.ศ.๑๙๘๖ เมืองลองย่อมอยู่ในอาณาจักรล้านนาแล้ว เนื่องจากมีทรัพยากรที่สำคัญคือเหล็กที่ใช้ทำอาวุธในสงคราม อีกทั้งเป็นฐานที่ตั้งทัพและทางยกทัพผ่านไปเมืองแพร่ให้กับทัพพระเจ้าติโลกราช ส่วนหลักฐานตำนานภายในเมืองลองที่ระบุปีศักราชย้อนหลังไกลที่สุดว่าในปี พ.ศ.๒๑๖๙ เมืองลองก็ได้เป็นเมืองที่ขึ้นกับเมืองลำปาง และเมืองลำปางก็ขึ้นตรงกับเมืองเชียงใหม่

ภูเดช แสนสา

วัดหลวงเมืองมาน หรือ วัดพระหลวง อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่