เมืองลองจากจารึก พงศาวดาร และวรรณกรรม (ต่อ) ดาบเหล็กลอง (ที่มา : ภูเดช แสนสา) ๒. เมืองลองจากพระราชพงศาวดาร ส่วนหลักฐานที่เป็นพระราชพงศาวดารในช่วงแรก ไม่มีการกล่าวถึงเมืองลองเลย จนกระทั่งปรากฏในพระราชพงศาวดารอยุธยาว่าในปีศักราช ๑๐๒๒ (พ.ศ.๒๒๐๓) รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ กษัตริย์อาณาจักรอยุธยา ได้ขึ้นมาตีเมืองเชียงใหม่แต่รู้ว่าพญาแสนหลวง เมืองเชียงใหม่ส่งคนมาล่อลวงทัพขึ้นไป จึงได้ตีเมืองลำปางและเมืองเถินก่อนเพราะทั้งสองเมืองขึ้นตรงต่อเมืองเชียงใหม่ ซึ่งส่งเชคกายแลแหงกับชายฉกรรจ์ก็ออกมาสวามิภักดิ์กับอยุธยา ส่วนเจ้าฟ้าหลวงลายข้า เจ้าเมืองลำปาง หนีไปพึ่งเจ้าเมืองเชียงใหม่ พอยึดเมืองลำปางและเมืองเถินได้แล้ว ก็ได้ให้พระยานครราชสีมา พระราชสุภาวดี พระสุพรรณบุรีไปตีเมืองตัง(ต้า) และพระยามหาเทพ ขุนหมื่นข้าหลวง แลพลห้าร้อยคนไปตีเมืองลอง ก็ได้แสนเมืองลองกับชายฉกรรจ์ ส่วนทางเมืองต้าได้สังฆราชาเขมราช หมื่นจิตร กับไพร่ ๖๘ คน มาไว้เมืองพิษณุโลก การที่นำเจ้าเมืองลองและไพร่พลไปเมืองพิษณุโลกนี้ น่าจะให้ลงไปเพื่อให้โอวาทแล้วกลับมาครองเมืองดังเดิมเหมือนเมืองอื่นๆ ไม่น่าจะกวาดต้อนลงไปด้วย เพราะดังจากที่สั่งให้เรียกคนในเมืองลำปางที่กระจัดกระจายหนีหายให้เข้ามาอยู่ในเมืองดังเดิม โดยไม่กวาดต้อนลงไปอยุธยาด้วย

๓. เมืองลองจากวรรณกรรม วรรณกรรมต่างๆ สะท้อนการรับรู้ของคนภายนอกเกี่ยวกับเมืองลอง เป็นเมืองมีทรัพยากรต่างๆ เช่นเหล็กที่ดีและศักดิ์สิทธิ์ ตลอดจนถึงดินไฟที่มีคุณภาพดี เนื่องจากเหล็กถือว่าเป็นทรัพยากรที่สำคัญมากในอดีต กรอปกับแหล่งเหล็กในล้านนามีจำนวนน้อย ดังนั้นเหล็กจึงถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ ดังในปี พ.ศ.๒๔๒๗ ได้มีการตราพิกัดอัตราภาษีเพื่อบังคับใช้ในหัวเมืองเชียงใหม่ ก็ตราว่าเหล็กเป็นอากรต้องห้าม การซื้อขายและใช้จะต้องขออนุญาตเสียภาษี ๑ แถบ

ในส่วนของเมืองลองก็เป็นเมืองที่มีแร่เหล็กที่เรียกกันว่าเหล็กลอง บ่อเหล็กนี้ตั้งอยู่บนเขาด้านทิศตะวันตกของเมืองลอง(ระหว่างบ้านนาตุ้มและบ้านแม่ลอง ตำบลบ่อเหล็กลอง อำเภอลอง) เหล็กลองมีการนำไปใช้อย่างแพร่หลายในอดีต ถือว่าเป็นเหล็กที่มีคุณภาพดีและมีพลังความศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นจึงปรากฏในคำประหญาหรือคำสุภาษิตของล้านนาว่า “เหล็กดีเหล็กเมืองลอง ตอง(ทองเหลือง)ดีตองพะยาว” จากหลักฐานที่ปรากฏจะรับรู้กันมากในเมืองลำปางและแพร่ คือจะปรากฏในวรรณกรรมของกวีในอดีตที่ได้แต่งไว้ คือ พญาพรหมโวหาร (เจ้าหนานพรหมินทร์, ๒๓๔๕ – ๒๔๓๐) กวีประจำราชสำนักลำปาง(ภายหลังเป็นกวีประจำราชสำนักเชียงใหม่) และศรีวิไชย(โข้)(๒๔๐๐ – ๒๔๘๒) กวีเมืองนครแพร่

เหล็กลองที่ปรากฏในงานวรรณกรรมที่พบทุกชิ้น จะกล่าวว่าเป็นเหล็กที่มีคุณภาพดีและมีความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งก็สอดคล้องกับความเชื่อของคนในเมืองลองเองที่ยังเหนียวแน่นจวบจนกระทั่งปัจจุบัน และจากการสัมภาษณ์ตระกูลช่างตีมีด ดาบ ที่บ้านขามแดง อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ว่ามีดที่ทำจากบ่อเหล็กเมืองลอง เอาเส้นผมวางบนคมมีดแล้วเป่า เส้นผมจะขาดออกจากกันทันที เหล็กลองที่ปรากฏในงานวรรณกรรมของพญาพรหมโวหาร คือ คร่าวสี่บทหรือคคร่าวร่ำนางชม สันนิษฐานว่าแต่งขึ้นในช่วงพ.ศ.๒๓๘๐ – ๒๓๙๐ กล่าวว่า

“...สิบเบี้ยฝ่ายน้ำ น้องใฝ่จงถือ ห้าเบี้ยมามื คว่างซัดรีบห้าว น้องเกาะสองมือ นายทือสองส้าว ขาวดำเอาคู่เชื้อ ชาติเหล็กพิวดำ บ่จัดเลือกเนื้อ ปืนเก่าเกื้อโบราณ บ่แกล้งว่าน้อง เพื่อนพ้องสงสาร เจ้าแสงเดือนบาน ดั่งฤาเยียะได้...”  (กล่าวเปรียบเทียบว่าไม่เห็นแก่คนใกล้ย่อมไร้ค่า เหมือนกับเหล็กน้ำหนึ่งไม่รู้เลือกที่จะฟัน ก็ไม่ต่างกับปืนเก่าแก่คร่ำคร่า)

“...ยินเกรงกลัว เจ้าอาวเจ้าน้า กลัวท่านถ้า ฅอยคองจิ่งอย่อนลด มาวันสิบสอง น้องฅำฟอง ไขจาตอบถ้องจักขัดขวาง บ่เมือสู่ห้อง กลัวเหล็กเมืองลอง ว้องคัด...” แต่เมื่อกล่าวถึงเหล็กที่มาจากต่างประเทศ(กวีเรียกว่าฝรั่งเศส) ก็รับรู้ว่าเป็นเหล็กไม่มีคุณภาพหรือมีความศักดิ์สิทธิ์ แสดงให้เห็นว่ายังไม่ค่อยมีการยอมรับคุณภาพของเหล็กจากต่างประเทศซึ่งปรากฏในคำจ่มของพระยาพรหมโวหาร

“...เตมว่าเหล็กจำจอดบ้อง ดีเหมือนแฅ่งข้องใบตอง เตมว่าเชือกกองท่านง่าน พรหมค็บ่พร่านตกใจ...บ่ใช่ว่าฅนปุมใสท้องเปล่า ชาติงูเห่างูจอง...” หรือแม้แต่กวีรุ่นหลังศรีวิไชย(โข้)ชื่อว่าหลวงปู่หมู บ้านปงป่าหวาย ตำบลปงป่าหวาย อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ก็กล่าวไว้เช่นกัน

“...ชาตพร้ากาดเช็ก(เจ๊ก) บ่ถ้ามาถือ เถือเนื้อกระบือ มันบ่ใช่เข้า มันบ่เหมือน พร้าโต้พ่อเถ้า ชาตหัวเหล็กลอง อย่างเค้า...” และเหล็กลองที่ปรากฏในวรรณกรรมของศรีไจยโข้ก็กล่าวถึงคุณภาพและความศักดิ์สิทธิ์ของเหล็กลองที่นำมาใช้ทำแซ่(กลอนประตูและหน้าต่าง) คือ ฮ่ำประตูคุ้มเจ้าหลวง(เมืองนครแพร่)

“จักอ่านนับ ประตู๋หับไข สะลอกนอกใน นับไปหมดเสี้ยง มีเจ็ดสิบสอง เหล็กลองกล๋มเกลี้ยง จดจันเจียง แซ่ไว้... ...ยศถามากนัก จนเถิงลูกหลาน เมฆะวิมาน ห้าเอ็ดว่าอั้น ห้าสิบสอง เหล็กลองไหลดั้น ข่ามคงกะพัน มากนัก... ....ถ้วนเจ็ดสิบสอง เหล็กลองแข็งนัก ต๋ำหนักมิ่งแก้ว มงคล...” นอกจากเมืองลองจะมีแร่เหล็กเป็นที่รับรู้ของคนในเมืองลำปางและเมืองแพร่ ดังที่ปรากฏในวรรณกรรมของกวีทั้งสามท่าน ก็ปรากฏในค่าวซอเจ้าเจ็ดตน มีข้อความในหน้าแรกว่า “เจ้า ๗ ตน พับเรื่องค่าวเจ้า ๗ ตนเป็นของเจ้านครเชียงใหม่” ก็ยังปรากฏเหล็กลองที่ใช้ทำอาวุธในเมืองลำปาง ในตอนที่กล่าวถึงทดสอบหนานทิพย์ช้างเพื่อเลือกเป็นผู้นำต่อสู้กับท้าวมหายศ เมืองลำพูน

“...หื้อคนทังหลาย เอาแส้ค้อนไม้ มาตีต่อหน้า คนชุมสไบแผ่นทุ้ม ลวดชุมสูญหาย กลายเป็นแมว นอนหงายล้องหง้องเอาดาบเหล็กลอง ฟันลงหื้อต้อง บ่ห่อนไป ถูกเนื้อ...” เหล็กเป็นทรัพยากรสำคัญของเมืองลองมาแต่โบราณ ดังนั้นการรับรู้ของผู้คนที่ใกล้เคียงโดยเฉพาะเมืองลำปางและแพร่ย่อมมีมากกว่าเมืองอื่นๆ เหตุที่เป็นที่รับรู้มากในลำปางนั้นก็เป็นเพราะว่าเมืองลองเป็นเมืองขึ้นของเมืองลำปางและต้องส่งส่วยเหล็กให้กับเมืองนครลำปางปีละ ๔๐ หาบ(๒,๔๐๐ กิโลกรัม) และเมืองต้า ๘ หาบ(๔๘๐ กิโลกรัม) และนอกจากนี้การใช้เหล็กทำมีด ดาบ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ในอดีตของเมืองนครลำปางเมื่อประมาณ ๒๐๐ ร้อยปีที่ผ่านมาก็ต้องมาขุดเอาแร่เหล็กจากเมืองลอง แต่การรับรู้เรื่องเหล็กลองของคนเมืองแพร่เกิดจากอะไรต้องทำการค้นคว้าต่อไปว่ารับรู้เพราะมีการส่งส่วย หรือมีการมาขุดแร่เหล็กที่เมืองลองบ้างหรือไม่ นอกจากแร่เหล็กแล้วเมืองลองก็ยังมีเรื่องของป่าไม้สัก และผ้าซิ่นตีนจกซึ่งจะเป็นข้อมูลที่ช่วยเสริมให้เห็นภาพการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของเมืองลองครอบคลุม มากยิ่งขึ้นแต่เนื่องจากจำกัดด้วยข้อมูลในขณะนี้ก็จะค้นคว้ารวบรวมข้อมูลในโอกาสต่อไปนอกจากทรัพยากรเหล็กแล้ว ในเขตเมืองลองและเมืองต้ายังเป็นที่รับรู้ว่ามีดินไฟคุณภาพดี อาจเป็นไปได้ว่าดินไฟเหล่านี้ในอดีตเมื่อครั้งสงครามมีการผลิตที่นี้อย่างมาก ดังปรากฏในฮ่ำบอกไฟของวัดศรีบุญเรือง เมืองแพร่ โดยศรีวิไชย(โข้)เป็นผู้แต่ง

“...เจ้าต๋ำราเดิมเก๊าเหง้า จุดไฟสีสายมวนเข้า ควันเต๊าปื้นเกี๋ยดิน ยกจากก๊างขัดหมิน บินเปี่ยงไปลอยฝ้า เพราะเป๋นดินเมืองต้า ผ่ากั๋นกับเมืองลอง ดินไฟถ้ำผาก๋อง เกยทดลองเจื้อได้ ถ้าเป๋นดินไฟใต้ แฝงใฝ่เกลื๋อสินเธาว์ หินส้มแกว่นก๋วนเก๋า มาล่อขายเอาตื้นตื้น ก็คงเสียทีบ่ขึ้น เพราะดินไฟเฝ่าขืนไป ถ้าสมคะเณใจ๋ เป๋นดินไฟเมืองต้า สะหยองขึ้นลอยฟ้า...” สรุป เมืองลองเป็นเมืองขนาดเล็ก ที่ตั้งอยู่เป็นเมืองกันชนระหว่างอาณาจักรสุโขทัยและอาณาจักรล้านนา เนื่องจากหลักฐานที่ได้จากจารึกต่างๆ ทั้งของสุโขทัยและน่าน ต่างก็แสดงให้เห็นว่าอาณาเขตของอาณาจักรสุโขทัยไม่ครอบคลุมถึงเมืองลอง แต่ว่าส่งผ่านวัฒนธรรมต่างๆ เข้ามาถึงตามลำน้ำยม ส่วนจารึกอักษรสุโขทัยในเมืองลองเองทั้ง ๒ หลักก็ชำรุดมาก จึงนำมาใช้ในทางประวัติศาสตร์ได้น้อย พอที่สันนิษฐานได้ว่าเจ้าเมืองลองในช่วงร่วมสมัยสุโขทัยมีตำแหน่งเป็นขุนเหมือนเมืองตรอกสลอบ

หลักฐานจากพระราชพงศาวดาร ก็มีการกล่าวถึงเพียงช่วงสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ที่ทรงยกทัพมาตีได้เมืองนคร(ลำปาง) เมืองเถิน เมืองลอง และเมืองต้า ซึ่งไม่ได้ให้ข้อมูลมากนักแต่ก็ทำให้เห็นว่าช่วงนี้เจ้าเมืองลองมีตำแหน่งเป็นแสน และจำนวนไพร่พลของเมืองลองคงมีไม่มากนัก เพราะกองทัพอยุธยาใช้กำลังเพียงห้าร้อยคนก็ตีเมืองลองแตก ส่วนหลักฐานจากวรรณกรรมส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของการรับรู้ถึงว่าเมืองลองเป็นเมืองที่มีทรัพยากรสำคัญ คือเหล็ก และดินไฟ ซึ่งถือว่าเป็นทรัพยากรสำคัญที่ใช้ในการสงครามในอดีต

ภูเดช แสนสา

จารึกเจ้าฟ้าหลวงลายข้า  เจ้าเมืองลำปาง กัลปนาเขตอุโบสถวัดพระธาตุศรีดอนคำ พ.ศ.๒๒๐๑ (ที่มา :  พิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุศรีดอนคำ)

คุ้มเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๕ (ที่มา :  Laos  folk – lore  Farther India)