เมืองลองจากจดหมายเหตุ เมืองลองได้ผ่านเรื่องราวทั้งดีและร้ายมาหลายยุคหลายสมัย และเศษเสี้ยวของเหตุการณ์เหล่านี้ก็ถูกบันทึกไว้บนแผ่นกระดาษเก่าๆ ที่เรียกในปัจจุบันว่าจดหมายเหตุ ซึ่งถือว่าเป็นเอกสารที่มีคุณค่าต่อประวัติศาสตร์ ทำให้เห็นภาพของการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เนื่องจากเอกสารต่างๆ ของล้านนา คือ พื้นเมือง และตำนานต่างๆ มักจะบันทึกเหตุการณ์จบลงก่อนพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ดังนั้นเหตุการณ์ต่อจากนี้จึงต้องใช้เอกสารจดหมายเหตุมาเติมเต็มให้สมบูรณ์ แม้ว่าเอกสารเหล่านี้จะเต็มไปด้วยคติและความคิดของส่วนกลางก็ตาม แต่ก็ให้ข้อมูลได้ชัดเจนและใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุดจึงถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ยากแก่การละเลยไม่นำมาประกอบการศึกษา

สิ่งที่ช่วยเก็บเรื่องราวต่างๆ ของล้านนาในอดีตไว้ ทั้งทางด้านการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม นอกจากเอกสารของท้องถิ่น เช่น พื้นเมือง หรือตำนานต่างๆ แล้ว เอกสารที่ช่วยเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปในช่วงตั้งแต่สมัยล้านนาเป็นประเทศราชของสยาม จนกระทั่งรวมเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยก็คือ จดหมายเหตุ แม้ว่าจดหมายเหตุจะเต็มไปด้วยคติความคิดของส่วนกลาง แต่กระนั้นจดหมายเหตุก็ยังเป็นสิ่งที่เก็บเรื่องราวในช่วงนั้นๆ ได้ชัดเจน และใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด มีเอกสารจากเมืองต่างๆ ของล้านนาที่ส่งไปส่วนกลางและถูกจัดเก็บเป็นส่วนหนึ่งของเอกสารจดหมายเหตุ ดังนั้นเอกจดหมายเหตุจึงมีคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์อย่างมาก
เมืองลอง เป็นเมืองที่มีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับเมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำพูน เมืองนครลำปาง เมืองนครน่าน และเมืองแพร่ อีกทั้งเมืองลองเป็นเมืองที่ขึ้นตรงกับเมืองนครลำปางอีกชั้นหนึ่ง ดังนั้นเรื่องราวที่บันทึกไว้ในเอกสารจดหมายเหตุในช่วงรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ ราชวงศ์จักรีจึงไม่ปรากฏเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองลองเลย มาปรากฏครั้งแรกในเอกสารจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๓ ระบุว่าเมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำพูน และเมืองนครลำปาง ใช้เมืองลองเป็นเส้นทางเดินทัพผ่านไปทางเมืองนครแพร่ เมื่อคราวเจ้าอนุวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเวียงจันทน์ทำการต่อต้านสยาม ทางสยามจึงเกณฑ์กำลังไพร่พลจากหัวเมืองประเทศราชล้านนาในปีพ.ศ.๒๓๗๐ ประกอบด้วยเมืองนครเชียงใหม่ ๕,๓๐๐ คน เมืองนครลำพูน ๒,๐๐๐ คน เมืองนครลำปาง ๕,๘๐๐ คน เมืองนครน่าน ๕,๐๐๐ คน และเมืองนครแพร่ ๑,๐๐๐ คน สันนิษฐานว่าเมืองลองก็ถูกเกณฑ์ร่วมในส่วนกองทัพเมืองนครลำปางครั้งนี้ด้วย
หลังจากนี้ก็ไม่ปรากฏเรื่องราวของเมืองลองในจดหมายเหตุอีกเลย จนกระทั่งในรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมาจึงปรากฏมีการเขียนบันทึกเรื่องเมืองลองอีกครั้ง ทั้งศุภอักษรจากเมืองนครลำปาง ใบบอกจากเมืองลอง ศุภอักษรและสารตราที่มาจากสยาม ซึ่งเป็นหลักฐานที่นำมาใช้และวิเคราะห์ให้เห็นภาพประวัติศาสตร์ของเมืองลองได้ดีพอสมควร
๑. ระบบการเมืองการปกครองของเมืองลองจากจดหมายเหตุ
เมืองลองในอดีตเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางด้านจุดยุทธศาสตร์ทางการรบ โดยเฉพาะในช่วงรัชกาลของพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ล้านนาองค์ที่ ๙ (พ.ศ.๑๘๙๔ – ๒๐๓๐) ราชวงศ์มังราย ดังปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ว่าในปีพ.ศ.๒๐๐๒ เจ้าหมื่นด้งนคร เจ้าเมืองลำปาง (โดยพระเจ้าติโลกราชนำทัพหลวงมาสมทบด้วย)ตีกองทัพอยุธยาที่ข้ามเขาพลึง เมืองแพร่เข้ามา จนแตกข้ามเขาพลึงกลับไป ดังระบุว่า
“...หมื่นด้งยู้ไล่ข้ามเขาพิงไพ หมื่นด้งไล่ไพเถิงเขาพิงแล้วลงช้างนั่งอยู่ หื้อเขาตัดเอาหัวเอาตีนชาวใต้ นายช้าง นายมล้า ตายมากนัก ชาวใต้ลวดถอยหนีฅืนนับเสี้ยงหั้นแล...”
เมื่อพิจารณาทางภูมิศาสตร์แล้ว สันนิษฐานว่าบริเวณที่ทำการสู้รบในครั้งนี้อยู่บริเวณเมืองลองและป่าทึบก่อนถึงเขาพลึง จะเห็นได้ว่าเมืองลองเป็นเมืองหน้าด่านด้านตะวันออกให้กับเมืองนครลำปางมาตั้งแต่อดีต จนกระทั่งเมืองนครลำปางเป็นเมืองประเทศราชของสยาม ก็ยังถือว่าเมืองลองเป็นเมืองข้าด่านเมืองนครลำปาง แต่ในช่วงราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนปกครองล้านนานี้ แม้เมืองนครลำปางจะถือว่าเมืองลองเป็นเมือง”ข้าด่าน”อยู่ แต่เหตุรบทัพจับศึกกับเมืองทางด้านนี้ก็ไม่บ่อยครั้ง อีกทั้งเส้นทางการเดินทัพและการติดต่อต่างๆ ก็นิยมใช้เส้นทางผ่านเมืองศรีสัชนาลัย ผ่านเมืองเถินเข้าสู่เขตเมืองนครลำปาง มากกว่าจะผ่านเมืองพิษณุโลก เมืองพิชัย เมืองทุ่งยั้ง ข้ามเขาพลึงผ่านเขตเมืองลองเข้าสู่เมืองนครลำปาง เพราะทางลำบากและเป็นป่าเขาสูง หน้าที่สำคัญในช่วงสมัยนี้ของเมืองลองจึงกลายมาเป็นเมืองพระบรมธาตุ และเหตุที่เจ้านครลำปางองค์ต่างๆ แต่งตั้งเจ้าเมืองลอง ก็เพื่อให้รักษาพระบรมธาตุในพระราชอาณาเขตเมืองลอง คือ ธาตุลองอ้อ(พระธาตุร่องอ้อ หรือศรีดอนคำ) ธาตุเลมลี่(พระธาตุแหลมลี่) ธาตุขวยปู และธาตุปูทับ
๑.๑ ระบบการเมืองการปกครองของเมืองลองในยุคจารีต
ตำแหน่งเจ้าเมืองและแสนท้าวเมืองลอง เมืองลองมีการปกครองโดยเจ้าเมืองเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดภายในเมือง มียศตำแหน่งเป็น “แสนหลวงเจ้าเมือง” และผู้ที่อยู่ใต้การปกครองจะมียศเป็น แสนหลวง แสน ท้าว และหมื่น ยศตำแหน่งเจ้าเมืองแสนท้าวในเมืองลองผู้ที่มีสิทธิ์รับรองแต่งตั้งคือ เจ้าผู้ครองนครลำปาง ดังแสนหลวงเจ้าเมืองลองคนก่อน(ต่อมาคือพญาไชยชนะชุมพู, เกิดพ.ศ.๒๓๕๕) บิดาขอพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ(แสนหลวงขัติยะหรือแสนหลวงคันธิยะ) เจ้าเมืองลองคนสุดท้าย(พ.ศ.๒๔๓๕ – ๒๔๔๕) ได้รับการรับรองแต่งตั้งจากเจ้าหลวงวรญาณรังษี เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์ที่ ๙ (พ.ศ.๒๓๙๓ –๒๔๑๖) ซึ่งเมื่อเจ้าผู้ครองนครลำปางจะทำการแต่งตั้งเจ้าเมืองและขุนนางต้องมีตราราชลัญจกรของเจ้าผู้ครองนครลำปาง เจ้าอุปราช และเจ้าราชวงษ์ ร่วมประทับแต่งตั้ง โดยขุนนางภายในเมืองลองมีสิทธิ์คัดเลือกผู้ที่จะขึ้นเป็นเจ้าเมืองลอง ก่อนที่จะส่งรายชื่อให้เจ้าผู้ครองนครลำปางรับรองแต่งตั้งอีกครั้ง เนื่องจากตำแหน่งเจ้าเมืองลองสืบสายตระกูลกันมาอยู่แล้ว ดังนั้นก็จะคัดเลือกบุตรหลานหรือญาติพี่น้องของเจ้าเมืองลองนั่นเอง คล้ายกรณีของเมืองประเทศราชเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ และน่าน ที่เจ้านายมีสิทธิ์คัดเลือกผู้ที่เหมาะสมจะเป็นเจ้าผู้ครองนครจากบุตรหลานหรือญาติพี่น้อง แล้วเสนอชื่อให้กษัตริย์ที่สยามรับรองแต่งตั้ง ดังเห็นได้จากแสนหลวงเจ้าเมืองลองและแสนท้าวกรมการเมืองลอง ได้ขอให้แต่งตั้งเจ้าหนานขัติยะ(เจ้าหนานคันธิยะ) ผู้เป็นบุตรชายเป็นเจ้าเมืองลองแทน ดังให้เหตุผลไว้คือ
“...ข้าพุทธิเจ้าแสนหลวงเจ้าเมืองลอง พร้อมกรมการแสนท้าวเมืองลอง...ข้าพุทธิเจ้าเปน คนชะราภาบอายุถึง ๗๘ ปี แก่หลงใหลไปบ้างแล้ว ข้าพุทธิเจ้าแลกรมการปรึกษาพร้อมกันเห็นว่า นายหนานคันทิยะบุต เปนคนสักสีมั่นคง เหนควนจะรับราชการแทนบิดาฉลองพระเดชพระคุณต่อไปได้...”
ที่แตกต่างไปจากเมืองประเทศราชใหญ่ๆ คือตำแหน่งแสนท้าวทุกตำแหน่งต้องได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าผู้ครองนครลำปางเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติแล้วเจ้าเมืองลองก็แต่งตั้งแสนท้าวภายในเมืองลองเองเหมือนกัน เนื่องจากเจ้านครลำปางไม่ได้ควบคุมในทุกๆ ด้านของเมืองลองอย่างเคร่งครัดปล่อยให้ปกครองกันเอง เพียงแต่มีพันธะคือให้ส่งส่วยเหล็กปีละครั้งและเกณฑ์ไพร่พลเมื่อมีศึกสงครามเท่านั้น

ภูเดช แสนสา

วิหารหลวงหลังเก่าของวัดพระธาตุศรีดอนคำ ปัจจุบันสร้างหลังใหม่ผูกพัทธสีมาเป็นอุโบสถ (ที่มา :  วัดพระธาตุศรีดอนคำ)

 

แม่เฒ่าบัวคำ  โลหะ เชื้อสายเจ้านายเมืองเชียงแสน ที่ถูกกวาดต้อนมาอยู่เมืองลอง ภรรยาพ่อหนานปัญญาเถิง สะใภ้พญาขัณฑสีมาโลหะกิจ เจ้าเมืองลองคนสุดท้าย (ที่มา :  ประไพ  วิบูลยศรินทร์, ถ่ายประมาณพ.ศ.๒๔๗๐ – ๒๔๘๐)

 

ร้อยเรียงร้อยเรื่องเมืองลอง ตอนที่ ๒๖

เมืองลองจากจดหมายเหตุ (ต่อ)

ในส่วนกลุ่มผู้ปกครองในเมืองลองนั้นไม่มีการแบ่งหน้าที่อย่างชัดเจนว่ามีจำนวนกี่คน ซึ่งต่างจากเมืองประเทศราชใหญ่ๆ ที่มีกลุ่มเจ้าขัน ๕ ใบ เจ้านายบุตรหลาน และกรมการพญาแสนท้าวอีก ๓๒ คน หรือเมืองขึ้นอื่นๆ เช่น เมืองเชียงราย ขึ้นเมืองนครเชียงใหม่ หรือเมืองสะเอียบ ขึ้นเมืองน่าน ที่มีพญาแสนท้าว ๑๒ คน ดังปรากฏในจดหมายเหตุดังนี้

“...อภิวันทานะคาถาพ่อเมืองตุม พระยากลางแหงหลวง เมืองกวาน เปนเค้าท้าวขุนสองบ้านสองเมือง ไปยื่นถวายถึงเจ้าคันทะยะเปนเค้าเจ้าท้าวพระยาพร้อมเหนือสนามสิบสองตน ในเมืองพันธมะติรัตนอณาเขตรเดชธานีในเมืองเชียงรายจุตนจุคน...”

“...แลเจ้าพระยาแสนท้าว ๑๒ ขุน ในเมืองสเอียบป่าเลา...”

การลำดับตำแหน่งการบังคับบัญชาภายในเมืองลองนั้น ตำแหน่งแสนหลวงเจ้าเมืองจะมีอำนาจสูงสุด รองลงมาคือตำแหน่งแสนหลวง ซึ่งตำแหน่งแสนหลวงนี้สันนิษฐานว่ามีอำนาจรองจากแสนหลวงเจ้าเมืองไม่มาก เท่าที่ปรากฏในเอกสารจดหมายเหตุมีเพียง ๒ คน คือแสนหลวงธานี และแสนหลวงขัติยะ(บุตรชายของเจ้าเมืองลอง) ตำแหน่งรองลงมาคือแสน รองลงมาคือท้าว และหมื่นตามลำดับ โดยตำแหน่งแสนท้าวและหมื่นที่ช่วยเจ้าเมืองลองปกครองในส่วนกรมการเมืองลอง จะมีตำแหน่งสูงกว่าแสนท้าวและหมื่นที่เป็นเฒ่าบ้านหรือหลัก(ผู้ใหญ่บ้านในปัจจุบัน)อำนาจหรืออาชญาของเจ้าเมืองลองมีสิทธิ์ที่จะสั่งประหารหรือสั่งจับตายคนภายในเมืองได้ แดนประหารของเมืองลองเรียกว่าป่าดำ(อยู่ใต้สุสานบ้านห้วยอ้อในปัจจุบัน) วิธีการประหารคือเอาปูนคาดคอ มีเพชฌฆาต ๑ คนสามารถลงดาบฟันคอได้ ๓ ดาบ ถ้ายังไม่ตายให้ใช้หลาวแทงจนตาย

ในส่วนตำแหน่งแสนท้าวที่มีความสำคัญในเมืองลองมี ๓ ตำแหน่งคือ หมื่นกลางโรงหรือหมื่นโรง แสนบ่อ และพ่อเมือง เนื่องจากตำแหน่งทั้ง ๓ นี้จะต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับบ่อเหล็กโดยตรงทั้งควบคุมการขุดเหล็ก ส่งส่วยเหล็ก และเลี้ยงผีอารักษ์บ่อเหล็ก ดังนั้นทั้ง ๓ ตำแหน่งนี้แม้ว่าระบบเจ้าผู้ครองนคร เจ้าเมืองต่างๆ ในล้านนาจะยกเลิกไปแล้ว แต่ตำแหน่งทั้ง ๓ ยังถูกแต่งตั้งมาจนปัจจุบันสามารถเรียงลำดับช่วงรอยต่อยุคที่เจ้านครลำปางแต่งตั้งและผีอารักษ์บ่อเหล็ก(พ่อเฒ่าหลวง)แต่งตั้งดังนี้

หมื่นกลางโรงหรือหมื่นโฮง บ้านนาตุ้ม (เจ้านครลำปางแต่งตั้งก่อน พ.ศ.๒๔๔๒) (ผีพ่อเฒ่าหลวงแต่งตั้ง)คนต่อมาหมื่นธิ บ้านนาตุ้ม (ช่วงพ.ศ.2460)

แสนบ่อ บ้านห้วยอ้อ (เจ้าผู้นครลำปางแต่งตั้งก่อนพ.ศ.๒๔๔๒) (ผีพ่อเฒ่าหลวงแต่งตั้ง)คนต่อมาคือนายศรี คำก้อน บ้านร่องบอน

พ่อเมืองชื่น บ้านดอนทราย (เจ้าผู้ครองนครลำปางแต่งตั้งก่อนพ.ศ.๒๔๔๓) (ผีพ่อเฒ่าหลวงแต่งตั้ง) คนปัจจุบันคือ นายแสน โค้ด้วง บ้านนาตุ้ม

ผลประโยชน์และหน้าที่ของเมืองลองต่อเมืองนครลำปางและไพร่เมืองลองต่อเมืองลองในยุคจารีตเดิมเมืองลองมีอิสระมากในการปกครองบ้านเมืองของตน เนื่องจากเจ้านครลำปางจะไม่เข้ามาเกี่ยวข้องการเมืองการปกครองภายในเมืองลอง ดังนั้นจึงมีพันธะต่อกันที่กำหนดว่าให้ส่งส่วยเหล็กทุกๆ ปี ปีละ ๔๐ หาบ(๒,๔๐๐ กิโลกรัม) ส่วนสีผึ้งและสิ่งของอื่นๆ (ซิ่นตีนจก ผ้าห่มของยาง ฯลฯ)แล้วแต่จะมีน้ำใจจัดหาไปให้ เมื่อมีการเก็บค่าตอไม้เจ้าเมืองลองต้องส่งค่าต่อไม้ต้นละ ๑ แถบ และส่งไพร่พลช่วยรบเมื่อมีศึกสงคราม ซึ่งก็คล้ายกับพันธะที่เมืองประเทศราชใหญ่ๆ ของล้านนาที่มีต่อสยาม คือส่งเครื่องราชบรรณาการและส่งกองทัพช่วยเหลือราชการสงคราม แต่แตกต่างกันที่เมืองใหญ่ๆ ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการ ๓ ปีต่อครั้ง และอำนาจเจ้าเมืองลองมีน้อยกว่ามาก การส่งส่วยเหล็กนี้แต่ละเมืองก็จะมีเมืองขึ้นหรือหมู่บ้านส่งสวยเหล็กให้กับเมืองหลัก เช่น เมืองนครเชียงใหม่ มีลัวะตอบ่อเหล็ก เมืองนครน่าน มีเมืองอวน ส่งส่วยเหล็กปีละ ๓๐ หาบ(๑,๘๐๐ กิโลกรัม) บ้านวัวแดงปีละ ๒๐ หาบ(๑,๒๐๐ กิโลกรัม) เป็นต้น

การทำส่วยเหล็กของเมืองลองจะเริ่มในเดือน ๓ เหนือ ขึ้น ๓ ค่ำ (ประมาณเดือนพฤศจิกายน) เพราะเป็นวันที่เริ่มเลี้ยงผีบ่อเหล็กและเปิดบ่อเหล็กเพื่อเริ่มทำการขุด ในวันก่อนหน้านี้ ๑ วัน เจ้าผู้ครองนครลำปางจะมาพักอยู่ที่ศาลากลางน้ำวังถ้ำ (ปัจจุบันอยู่บ้านนาตุ้ม หมู่ที่ ๒ ตำบลบ่อเหล็กลอง) แล้วพอรุ่งเช้าก็จะขึ้นไปเลี้ยงผีบ่อเหล็กบริเวณเขาหลังบ้านนาตุ้ม ซึ่งถือว่าเป็นประเพณีที่จะต้องมาทุกปีเมื่อจะทำส่วยเหล็กเจ้าเมืองลองจะเกณฑ์ไพร่ไปขุดเหล็ก ไพร่คนหนึ่งเกณฑ์เอาเหล็กหนัก ๑๒ ชั่ง เมื่อไพร่ขุดเหล็กมาส่งครบ ๔๐ หาบแล้ว เจ้าเมืองลองก็จะแต่งให้แสนท้าวในเมืองลองคุมไปส่งให้กับเจ้านครลำปาง วันเวลาที่นำส่วยเหล็ก ของสินน้ำใจอื่นๆ และค่าตอไม้ขอนเจ้าไปส่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเดือน ๘ เหนือ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เป็นวันเจ้านายและขุนนางเข้าเคารวะเจ้าผู้ครองนครลำปางเหมือนกับเมืองแจ๋ม(อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่) ก็จะส่งส่วยต่างๆ เช่น ผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่มไปส่งให้กับเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ไปดำหัวเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในปีใหม่เดือน ๗ เหนือ

ในส่วนของป่าไม้แต่เดิมมา เจ้านครลำปางและเจ้านายบุตรหลานก็ไม่ได้ทำอย่างเป็นล่ำเป็นสันและเป็นระบบ เพียงแต่เจ้านครลำปางแบ่งปันป่าไม้ให้เจ้านายบุตรหลาน และแล้วแต่เจ้านายแต่ละคนจะใช้บ่าวไพร่ของตนไปตัดฟันชักลากขายคนละ ๑๐๐ ต้น ๒๐๐ ต้น ดังเมืองลองก็เช่นกันตั้งแต่เจ้าเมือง บุตรหลาน และแสนท้าวกรมการก็ทำป่าไม้เลี้ยงชีพ โดยล่องน้ำยมไปขายกับกรุงเทพฯ หรือบางครั้งก็ขายที่เมืองสวรรคโลก ต่อมาเมื่อมีคนพม่าและคนในบังคับเข้ามารับตัดฟัน และคนต่างเมืองมาทำมากขึ้น เจ้านครลำปางจึงให้เก็บค่าตอไม้ต้นละรูเปีย ส่วนการเก็บเงินค่าตอไม้ภายในเมืองลองนั้นกำหนดเก็บตอละ ๑ แถบ(รูปี) ๑ หวิ้น ส่งให้กับเจ้าผู้ครองนครลำปาง ๑ แถบ เจ้าเมืองลองและขุนนางได้ ๑ หวิ้น แต่ในสมัยเจ้าหลวงพรหมมาภิพงษ์ธาดา(เจ้าหนานพรหมวงศ์) เป็นเจ้าผู้ครองนครลำปางองค์ที่ ๑๐ (พ.ศ.๒๔๑๖ – ๒๔๓๕) หากเจ้าเมืองลองและขุนนางเก็บค่าตอไม้ส่งเองก็ยังคงได้ตอละ ๑ หวิ้น แต่ถ้าปีไหนเจ้าหลวงพรหมมาภิพงษ์ธาดาทรงแต่งขุนนางมาชำระเร่งเงินค่าตอไม้ที่เมืองลองเอง ใน ๑ หวิ้นจะแบ่งเป็น ๓ ส่วน เป็นของขุนนางเมืองนครลำปางที่มาชำระเร่งเงินค่าตอไม้ส่วนหนึ่ง เจ้าเมืองลองและขุนนางในเมืองลองได้ ๒ ส่วน

ป่าไม้ในเมืองลองจะสามารถตัดฟันไม้ยาว ๕ - ๖ วา(๑๐ - ๑๒ เมตร) ต้นใหญ่ ๗ - ๘ กำลงมา(เส้นรอบวง ๑๔๐ – ๑๖๐ เซนติเมตร) ส่วนต้นไม้ที่ใหญ่และยาวกว่านี้ตามป่าสูงป่าดอนก็มีอยู่แต่ก็ไม่สามารถที่จะชักลากได้ เพราะเป็นห้วยเป็นเขามาก พวกนายร้อยไม้ก็เลยไม่ทำการตัดฟัน ปีหนึ่งๆ นายร้อยไม้ตัดฟันไม้ขอนสักล่องตามแม่น้ำยมไปขายทางเมืองสวรรคโลกจำนวน ๑,๐๐๐ ต้น บางปี ๘๐๐ ต้น และบางปีก็ ๗๐๐ ต้น เจ้าเมืองลองและขุนนางได้เก็บค่าตอไม้ส่งให้กับเจ้าผู้ครองนครลำปางปีละ ๕ ชั่ง(๔๐๐ บาท) ๖ ชั่ง(๔๘๐ บาท) บางปีก็ ๗ ชั่ง(๕๖๐ บาท)แล้วแต่จำนวนไม้ที่ตัดฟัน เมื่อครบปีเมืองลองส่งส่วยเหล็ก(เหล็กลอง)หนัก ๔๐ หาบ(๒,๔๐๐ กิโลกรัม) ส่วนเมืองต้าซึ่งเป็นเมืองขึ้นของเมืองลองส่งส่วยเหล็ก(เหล็กต้า)หนัก ๘ หาบ(๔๘๐ กิโลกรัม) ปีหนึ่งส่วยเหล็กที่เจ้าผู้ครองนครลำปางได้รับหนัก ๔๘ หาบ(๒,๘๘๐ กิโลกรัม) ค่าตอไม้เมืองลองบางปี ๙ ชั่ง(๗๒๐ บาท) บางปี ๑๐ ชั่ง(๘๐๐ บาท) ส่วนเมืองต้าบางปี ๗ ชั่ง(๕๖๐ บาท) บางปี ๘ ชั่ง(๖๔๐ บาท) บางปีก็ไม่ได้ เมื่อได้ส่วยเหล็กและเงินค่าตอไม้จากเมืองลองและเมืองต้าแล้ว(รวมกับส่วยจากที่อื่นๆ) เจ้าผู้ครองนครลำปาง เจ้านายบุตรหลาน และขุนนางเมืองนครลำปาง ก็จะนำมาแบ่งเป็น ๔ ส่วน

ส่วนที่ ๑ เป็นของเจ้าผู้ครองนครลำปาง

ส่วนที่ ๒ เป็นของเจ้าอุปราชและเจ้าราชวงษ์ โดยจะนำมาแบ่งอีกให้เป็น ๓ ส่วน เจ้าอุปราชได้ ๒ ส่วน และเจ้าราชวงษ์ได้ ๑ ส่วน

ส่วนที่ ๓ เป็นของเจ้านายที่ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรและเจ้านายที่ได้รับราชการ

ส่วนที่ ๔ เป็นของขุนนางและเสมียน

ภูเดช แสนสา

ร้อยเรียงร้อยเรื่องเมืองลอง  ตอนที่  ๒๗

เมืองลองจากจดหมายเหตุ  (ต่อ)

๒.  ความขัดแย้งระหว่างเมืองลองกับเมืองนครลำปาง

ความขัดแย้งกันระหว่างเมืองลองกับเมืองนครลำปาง  เริ่มต้นจากการเปลี่ยนเจ้าผู้ครองนครลำปางองค์ใหม่  หลังจากที่เจ้าหลวงวรญาณรังษีทรงได้ถึงแก่พิราลัยในปีพ.ศ.๒๔๑๖ เจ้าอุปราช(เจ้าหนานพรหม์วงศ์)ได้เป็นเจ้าหลวงพรหมมาภิพงษ์ธาดา  เจ้าผู้ครองนครลำปางแทน  แต่เดิมตั้งแต่เจ้าในราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนครองนครลำปาง  ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีความขัดแย้งกันกับเจ้าเมืองลองแต่อย่างใด  เริ่มมาปรากฏในสมัยเจ้าหลวงพรหมมาภิพงษ์ธาดาได้เป็นเจ้าผู้ครองนครลำปาง

เมื่อพิจารณาจากสายสาแหรกของเจ้าผู้ครองนครลำปางแต่ละองค์แล้ว  ตั้งแต่หลังพระเจ้าหอคำดวงทิพย์เป็นต้นมาจนถึงเจ้าหลวงวรญาณรังษีจำนวน ๔ องค์  ล้วนแต่เป็นราชบุตรของเจ้าหลวงคำสม  แต่พอมาถึงเจ้าหลวงพรหมาภิพงษ์ธาดาถือว่าเป็นองค์เดียวที่เป็นราชบุตรของพระเจ้าหอคำดวงทิพย์  และได้เป็นเจ้าผู้ครองนครลำปาง  ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างตัวเจ้าเมืองมีผลอย่างมากต่อความสัมพันธ์ระหว่างเมืองนครลำปางกับเมืองลอง  เพราะหลังจากสมัยเจ้าหลวงพรหมมาภิพงษ์ธาดาแล้ว  ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองนครลำปางและเมืองลองก็ดีดังเดิม  เนื่องจากเจ้าผู้ครองนครลำปางองค์ต่อมาคือเจ้าหลวงนรนันทไชยชวลิตวราวุธ(เจ้าน้อยทนันไชย)  เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์ที่  ๑๑  (พ.ศ.๒๔๓๕ – ๒๔๔๐)  เป็นราชบุตรของเจ้าหลวงวรญาณรังษี  และเจ้าหลวงบุญวาทย์วงษ์มานิต(เจ้าน้อยบุญทวงศ์  ณ  ลำปาง) เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้าย(พ.ศ.๒๔๔๐ – ๒๔๖๕)  เป็นราชบุตรของเจ้าหลวงนรนันทไชยชวลิตวราวุธไม่ปรากฏว่ามีความขัดแย้งกันแต่อย่างใด  ดังปรากฏว่าเจ้านรนันทไชยชวลิตวราวุธ  ทรงได้แต่งตั้งแสนหลวงขัติยะ(เจ้าหนานคันธิยะ)ขึ้นเป็นพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ  เจ้าเมืองลอง  และให้แสนหลวงเจ้าเมืองลองคนเก่าผู้เป็นบิดาเป็นพญาไชยชนะชุมพู  เจ้าเมืองลองจางวาง  และปรากฏว่าเจ้าผู้ครองนครลำปางและเจ้านายบุตรหลานขุนนางในเมืองนครลำปาง  ได้บูรณะพระธาตุต่างๆ ในเมืองลองร่วมกับขุนนางในเมืองลอง  เช่น  บูรณะพระขวยปูในปีพ.ศ.๒๔๔๖  และบูรณะพระธาตุไฮสร้อยในปีพ.ศ.๒๔๕๐  เป็นต้น

มูลเหตุของความขัดแย้ง

๑. เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๒๔  เจ้าหลวงพรหมมาภิพงษ์ธาดา  เริ่มให้ขุนนางในเมืองนครลำปางเข้ามาเร่งเก็บเงินค่าตอไม้ในเมืองลองเอง  ซึ่งแต่เดิมมาจนถึงเจ้านครลำปางองค์ก่อนคือเจ้าหลวงวรญาณรังษี  จะไม่มาก้าวก่ายเรื่องภายในเมืองลอง  เพียงแค่เก็บส่วยเหล็กและค่าตอไม้ดังที่กล่าวมาข้างต้น  แต่ถึงสมัยเจ้าพรหมมาภิพงษ์ธาดา  จึงทำให้เจ้าเมืองลองและแสนท้าวในเมืองลองสูญเสียผลประโยชน์ที่ควรได้

๒. เจ้าหลวงพรหมมาภิพงษ์ธาดาอนุญาตให้  พม่า  เงี้ยว  และต่องสู้  เข้ามาทำป่าไม้ในเมืองลอง  ก็ไม่แจ้งให้เจ้าเมืองลองทราบ  คนเหล่านี้ก็เข้าไปตัดฟันไม้ในเมืองลองตามชอบใจ  และเงินค่าตอไม้ก็ไม่เสียให้เจ้าเมืองลองและแสนท้าว  เมื่อเจ้าเมืองลองให้แสนท้าวไปห้ามปราม  ก็บอกว่าเจ้านครลำปางอนุญาตถ้าเจ้าเมืองลองไม่ให้ทำก็จะทำ (จะเห็นว่าเจ้าเมืองลองถือว่าป่าไม้ในเมืองลองตนก็เป็นเจ้าของป่าเหมือนกัน)  เจ้าเมืองลอง  จึงให้บุตรชายคือเจ้าหนานขัติยะทำเรื่องลงไปกรุงเทพฯ ในเดือน(ม.ค.) ๓ ปีมะเมีย พ.ศ.๒๔๒๕

๓. ในเดือน(พ.ย.) ๑๒ ปีมะเมีย พ.ศ.๒๔๒๕  เจ้านายหนานขัติยะ  ได้ทำเรื่องร้องลงไปกรุงเทพฯ  กล่าวโทษเจ้านครลำปางและเจ้านายท้าวพระยาอีกจำนวน  ๗  ข้อ คือ

(๑) เดือน(มี.ค.) ๕ ปีมะเมีย  พระยาไชยสงคราม(เจ้าเรียวคำ)  ราชบุตรเจ้าหลวงพรหมมาภิพงษ์ธาดา  บังคับเอาช้างของเจ้าหนานขัติยะกับนายขำ คนบ้านหนองโรง  แขวงเมืองสวรรคโลก 1 เชือก  กับช้างของแสนศิริกับนายขำ ๑ เชือกไปขายให้เงี้ยว  แล้วพระยาไชยสงครามเอาช้างมาเปลี่ยนให้แสนศิริแต่ตัวเล็กกว่า  ส่วนของเจ้าหนานขัติยะก็ไม่ให้เงิน (ซื้อช้างมาราคา ๙๑๗ แถบ)

(๒) เดือน(๘ ปีมะเมีย พระยาไชยสงครามมีหนังสือให้แสนหลวงซื้อกระบือตัวผู้ฉกรรจ์ให้ทุกปี  ในราคาตัวละ ๑๔ แถบ ๑๕ แถบ  แต่ราคากระบือที่ราษฎรซื้อขายในเมืองลอง ตัวละ ๔๐ แถบ ๕๐ แถบ  โดยขู่ว่าถ้าเจ้าเมืองลองไม่ซื้อให้ก็จะเอาโทษ  เจ้าเมืองลองจึงซื้อมอบให้เจ้ากลิ้งไป  ๑๘ ตัว

(๓) เจ้าหลวงพรหมาภิพงษ์ธาดา  ให้เก็บเอาช้างพังที่ตกลูกของราษฎรในเมืองลองซึ่งถือว่าเป็นช้างรกคอกไปหมด

(๔) เจ้าพรหมาภิพงษ์ธาดา  เอาช้างของยางแดงที่อาศัยอยู่ในเมืองลองราคา ๑,๐๐๐ แถบ  แต่ก็ไม่ชำระเงินค่าช้างให้

(๕) เจ้าราชบุตร  บุตรเขยเจ้าหลวงพรหมมาพิพงษ์ธาดา  บังคับให้เจ้าเมืองลองเอาช้างของหมื่นอรุณ  ๑  เชือก ราคา ๙ ชั่งไปส่งให้  ถ้าไม่ทำตามก็จะทำโทษ  เจ้าเมืองลองกลัวอาญาจึงนำไปส่งให้แต่ได้ราคาช้างเพียง  ๗๕๐  แถบ

(๖) เจ้าบุรีรัตน์  ราชบุตรเจ้าหลวงพรหมาภิพงษ์ธาดา  เข้ามายิงโค ๑ ตัวของราษฎรแต่ไม่จ่ายเงินให้  แล้วยิงเป็ดไก่ของราษฎร  และข่มเหงราษฎรต่างๆ

(๗) เจ้าพรหมาภิพงษ์ธาดาให้จีนมีชื่อมาเก็บภาษี ๑๒ สิ่งกับราษฎรในเมืองลอง  เจ้าเมืองลองไม่ยอมเพราะไม่เคยมีธรรมเนียมเก็บภาษีในเมืองลอง  เจ้าพรหมาภิพงษ์ธาดาโกรธจึงแต่งทนายมาบังคับเจ้าเมืองลองว่าเก็บภาษีปิดบังไว้จะเอาโทษ  เจ้าเมืองลองกลัวอาญาจึงให้เก็บภาษีในเมืองลองและเมืองต้าเรือนละ ๒ หวิ้นกับ ๑ เฟื้อง  ราษฎรได้รับความเดือดร้อนจะอพยพไปอยู่เมืองแพร่เมืองน่าน  เจ้าเมืองลองจึงพูดจาเกลี้ยกล่อมราษฎร  และบอกว่าจะให้นายหนานขัติยะส่งเรื่องไปกรุงเทพฯ  ขอเป็นเมืองขึ้นกรุงเทพฯ  ถวายดอกไม้เงินดอกไม้ทอง  ราษฎรจึงรอฟังอยู่

เหตุการณ์ความขัดแย้งต่างๆ และความดิ้นรนของเจ้าเมืองลองเพื่อจะขึ้นกับกรุงเทพฯ เป็นเมืองส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองและเครื่องราชบรรณาการ

จะเห็นว่าความขัดแย้งต่างๆ เริ่มมีขึ้นในสมัยเจ้าพรหมาภิพงษ์ธาดาเป็นเจ้านครลำปาง  เนื่องจากบุตรหลานได้ประพฤติตนไม่เหมาะสม  ต่างกับเจ้าหลวงวรญาณรังษีที่ไม่ปล่อยให้บุตรหลานมาทำความเดือดร้อนให้กับเมืองลอง  ถ้าต้องการช้างม้าในแขวงเมืองลองก็จัดซื้อเอากับเจ้าของตามราคา ดังนั้นเจ้าเมืองลองจึงให้นายหนานขัติยะทำเรื่องกล่าวโทษลงไปกรุงเทพฯ จำนวน ๒ ฉบับ  ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอเจ้าฟ้ามหามาลากรมพระบำราบปรปักษ์  ผู้สำเร็จราชการกรมมหาดไทย ได้มีลายพระหัตถ์ทูลรัชกาลที่ ๕  พ.ศ.๒๔๒๖  ความว่าฉบับแรกของแสนหลวงเจ้าเมืองลองไม่มีข้อความสำคัญนัก (เพราะเป็นเรื่องเสียอำนาจและเสียผลประโยชน์ป่าไม้ของเจ้าเมืองลองและแสนท้าว)  แต่เรื่องราวนายหนานขัติยะที่มาร้องกล่าวโทษเจ้านครลำปาง  เจ้านายบุตรหลานและท้าวพญา  เมื่อเดือน ๑๒ ปีพ.ศ.๒๔๒๕ มีความสำคัญมากกว่า (เพราะว่าถ้าไม่รีบจัดการราษฎรในเมืองลองและเมืองต้าก็จะอพยพหนีไปอยู่เมืองน่านเมืองแพร่  และจะขัดแย้งมากยิ่งขึ้น)  รัชกาลที่ ๕ จึงโปรดเกล้าฯ  มีศุภอักษรให้พระยาราชสัมภารากร  เชิญขึ้นไปที่เมืองนครลำปาง  และมีท้องตราถึงเมืองลอง  ลงวันอังคาร  ขึ้น ๕ ค่ำ  เดือน ๓ พ.ศ.๒๔๒๖  ให้พระยาราชสัมภารากรหาเจ้าหนานขัติยะมาพบเจ้าผู้ครองนครลำปาง  เจ้าบุรีรัตน์  เจ้าราชบุตร  พระยาไชยสงคราม  นายกลิ้ง  หนานยศ  ไปชำระความ  ณ  ศาลเมืองเชียงใหม่  และให้ข้าหลวงบอกส่งตัวโจทก์  จำเลย  และถ้อยคำสำนวนลงไปกรุงเทพฯ  จะได้โปรดเกล้าฯ ตัดสินโดยยุติธรรม

แสนหลวงเจ้าเมืองลองจึงมีใบบอก  ลงวันพฤหัสบดี  ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๘ พ.ศ.๒๔๒๖  ตอบรับท้องตรา  และว่าทำราชการขึ้นเมืองนครลำปางเหลือสติกำลัง  จึงจะขอขึ้นกับกรุงเทพฯ  เป็นเมืองส่งเครื่องราชบรรณาการ(๓ ปีครั้ง) และทำส่วยเหล็กปีละ ๔๐ หาบส่งให้กรุงเทพฯ ทุกปี  ดังนั้นแสนหลวงเจ้าเมืองลอง  แสนอินทจักร  แสนสิทธิ  และแสนอำนาจ  จึงนำเครื่องราชบรรณาการประกอบด้วย  ต้นไม้ทอง  สูง ๑ ศอก ๑ คืบ สี่ชั้นๆ ละ ๖ กิ่งรวมยอดเป็น ๕ กิ่ง  มีใบ ๒๐๐ ใบ  ดอก  ๒๕  ดอก  เป็นทองคำหนักสองหาบ  ต้นไม้เงินเท่ากันหนัก ๒ ตำลึง ๒ บาท สีผึ้งหนัก ๒๐ ชั่ง  ดาบ ๑ คู่  หอก ๑ คู่  ทวน ๑ คู่  ง้าว  ๑ คู่  เหล็กก้อนหนัก  ๔๐  หาบ  ลงมาถวายในปี พ.ศ.๒๔๒๖

การที่จะยกเอาเมืองลองไปขึ้นกรุงเทพฯ โดยตรงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก  เพราะถ้าทำเช่นนั้นก็เป็นการสร้างความกระทบกระเทือนและความขัดแย้งให้กับเจ้านายในล้านนา  ทั้งเมืองนครเชียงใหม่  นครลำพูน  และนครลำปาง  เพราะทั้งสามเมืองเป็นเชื้อสายสืบวงษ์กระกูลติดเนื่องกันมาเป็นบ้านพี่เมืองน้อง  ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นที่ทราบดีของรัชกาลที่ ๕ ดังตรัสว่า

“...แสนหลวงเมืองลอง  ซึ่งคุมเครื่องราชบรรณาการมาอยู่กรุงเทพฯ นี้...ก็เหนว่าควรจะให้เฝ้าเสียสักเวลาหนึ่ง  ถวายของต่างๆ ตามที่มีมาด้วยก็ได้  แต่ต้นไม้เงินทองนั้นหม่อมฉันไม่อยากจะรับเลย...จะให้คืนกลับไปก็ดูไม่ควร  ถ้ากระไรคิดยักย้ายอย่างไรให้เปนถวายพระแก้วเสียได้ก็ดี  การที่จะเอาเมืองลองมาขึ้นกรุงเทพฯ นั้นคงเอามาเปนแน่  แต่อยากทำให้งาม  อย่าให้เปนฟังความข้างเดียว...”

เพราะถ้าหากยกเมืองลองขึ้นกับกรุงเทพฯ  เมืองขึ้นอื่นๆ ของเมืองนครเชียงใหม่  นครลำพูน  และนครลำปาง ก็จะได้เอาอย่างขอขึ้นโดยตรงกับกรุงเทพฯ บ้าง  เรื่องนี้ก็เป็นที่หวาดหวั่นกันตลอดทั้งเมืองนครเชียงใหม่  และเมืองนครลำพูน  ซึ่งเจ้าพรหมาภิพงษ์ธาดา  เจ้านครลำปาง  ถึงกับบ่นกับกรมหมื่นพิชิตปรีชากรว่า “ถ้ายกเมืองลองไปแล้ว  ก็เหมือนกับไม่เลี้ยงเมืองนครลำปางเหมือนกัน  เพราะเมืองอื่นๆ ก็จะพากันเป็นดังเมืองลองสิ้น”  ดังนั้นกรมหมื่นพิชิตเห็นว่าเรื่องเมืองลองติดพันหลายเรื่องจึงงดไว้ก่อน  เพราะมีเรื่องสำคัญที่ต้องจัดการคือ

(๑) จัดการป่าไม้แลการซื้อขายไม้แลล่องไม้ขอนสักในหัวเมืองฝ่ายเหนือและสามหัวเมืองลาว

(๒) การตั้งศาลชำระความต่างประเทศตามข้อหนังสือสัญญาใหม่

(๓) การเก็บภาษีอากรใน ๓  หัวเมืองเหนือ  จะต้องจัดให้คล้ายกับธรรมเนียมในกรุงเทพฯ

(๔) การโปลิต(ตำรวจ)แลทหารซึ่งจะรักษาด่านทางแลราชการ

(๕) การรักษาโคกระบือ

ส่วนเรื่องเล็กๆ น้อยที่ต้องจัดการคือ(เรียงตามลำดับ)

ให้มีข้าหลวงอยู่ประจำเมืองนครลำปาง

ให้มีกงสุลสยามที่เมืองมรแมน

จัดการเก็บภาษีขาเข้า-ออก ทางเมืองตาก

นำตราเครื่องราชอิศริยยศพระราชทานพระยาสุจริตรักษา

จัดราชการเมืองลองต่อไป

ภูเดช  แสนสา

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อาทิตย์•ที่ 01 •มิถุนายน• 2014 เวลา 11:07 น.• )