ครั้งหนึ่งในชีวิตของลูกผู้ชาย การได้บวชถือเป็นมหากุศล อันยิ่งใหญ่ ผลบุญจะแผ่ไปถึง บุคคลผู้ใกล้ชิด และลบล้างกรรมชั่วในอดีตได้ ตามแต่กำลังการบำเพ็ญตน หรือหากท่านยินดี ที่จะดำรงสถานภาพของสมณเพศ ไปจนตลอดชีวิต ก็นับว่า เป็นการอุทิศตน ช่วยธำรงค์ไว้ซึ่งการสืบต่อ ของศาสนาพุทธ ไปจนตราบชั่วกาลนาน สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ก็ถือว่ามีส่วนสำคัญในการคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมจะมาอยู่ในสมณเพศ การหละหลวมในการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ที่จะมาบวชให้คนทั่วไปเขากราบไหว้ นับถือ มีส่วนทำให้สถาบันศาสนาสั่นคลอน ดังจะเห็นได้จากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นว่า คนเคยต้องโทษจำคุกในคดีอาญามาบวชเป็นพระแล้วก็นอกจากจะไม่อยู่ในศีลแล้วยังก่อคดีอุกฉกรรจ์อีกจนได้ การบวช คือการยกฐานะจากผู้นับถือพระรัตนตรัย ขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนตรัยเป็นหนทางสู่พระนิพพานการบวชเป็นสิ่งที่กระทำได้ยาก กว่าจะมีการ บวช ต้องถึงพร้อมด้วยองค์ประกอบหลายประการ ผู้บวชจะต้องเป็นสัมมาทิฎฐิ, ผู้บวชจะต้องเกิดเป็นมนุษย์ไม่พิการและเป็นชายเท่านั้น การบวชนั้นมีอานิสงส์มาก บุคคลใดได้อุปสมบทตนเองในพระพุทธศาสนา ด้วยศรัทธาเลื่อมใสจะได้อานิสงส์ ๖๔ กัป บิดามารดาได้อานิสงส์ ๓๒ กัป บุคคลใดได้บรรพชาบุตรของตนก็ดีบุตรของผู้อื่นก็ดี ก็จะไม่ไปสู่อบายภูมิ

อุปสมบท แปลว่า การเข้าถึง คือการบวช เป็นศัพท์เฉพาะในพระพุทธศาสนา อุปสมบท ปัจจุบันใช้หมายถึงการบวชเป็นภิกษุและภิกษุณี เรียกเต็มว่า อุปสมบทกรรม หรือ อุปสัมปทา คู่กับคำว่า บรรพชา ซึ่งหมายถึงการบวชเป็นสามเณร อุปสมบท เป็นสังฆกรรมอย่างหนึ่ง เป็นพิธีการคัดเลือกบุคคลเข้ามาเป็นศาสนทายาทในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงวางหลักเกณฑ์และระเบียบปฏิบัติไว้รัดกุมและละเอียดมาก ทั้งนี้เพื่อให้ได้ศาสนทายาทที่ดีไว้สืบสานพระพุทธศาสนา

บวช หมายถึงการถือเพศเป็นนักบวช เช่น เป็นภิกษุ เป็นสามเณร เป็นฤๅษีชีไพร นัยว่ามาจากคำว่า บรรพชา

บวช แปลกันว่า งดเว้นจากการทำชั่วต่างๆ ด้วยการสละโลกีย์ทิ้งเหย้าเรือนไปถือเพศเป็นนักบวช เป็นสมณะ เป็นภิกษุสามเณร เป็นต้น เพื่อขัดเกลากิเลสและเพื่อความหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งมวล ในปัจจุบัน การสละเหย้าเรือนไปถือศีลปฏิบัติธรรมที่วัดหรือสถานที่ปฏิบัติธรรมในระยะยาวบ้าง ชั่วคราวบ้างก็นิยมเรียกว่า บวช เช่นบวชชี บวชชีพราหมณ์ บวชเนกขัมมะ

บรรพชา แปลว่า การงดเว้นจากความชั่ว หมายถึงการบวชเป็นนักบวช

บรรพชา เดิมใช้หมายถึงการบวชเป็นนักบวชทั่วไป เช่น เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบรรพชา สาวกบรรพชา และเรียกนักบวชเช่นนั้นว่า บรรพชิต แต่ ในสมัยปัจจุบัน คำนี้ใช้เรียกเฉพาะการบวชเป็นสามเณรเท่านั้น ส่วนการบวชเป็นพระภิกษุว่า อุปสมบท

ความจริงการบวชเป็นพระภิกษุนั้นจะต้องผ่านขั้นตอนการเป็นสามเณรก่อนแล้วจึงอุปสมบท ดังนั้น จึงเรียกรวมกันว่า บรรพชาอุปสมบท

ผู้ที่จะบวชเป็นสามเณรหรือพระได้ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

๑. เป็นสุภาพชนที่มีความประพฤติดีประพฤติชอบ ไม่มีความประพฤติเสียหาย เช่นติดสุราหรือยาเสพติดให้โทษเป็นต้น และไม่เป็นคนจรจัด

๒. มีความรู้อ่านและเขียนหนังสือไทยได้

๓. ไม่เป็นผู้มีทิฏฐิวิบัติ

๔. ไม่เป็นคนล้มละลาย หรือมีหนี้สินผูกพัน

๕. เป็นผู้ปราศจากบรรพชาโทษ และมีร่างกายสมบูรณ์ อาจบำเพ็ญสมณกิจได้ ไม่เป็นคนชราไร้ความสามารถหรือทุพพลภาพ หรือพิกลพิการ

๖. มีสมณบริขารครบถ้วนและถูกต้องตามพระวินัย

๗. เป็นผู้สามารถกล่าวคำขอบรรพชาอุปสมบทได้ด้วยตนเอง และถูกต้องไม่วิบัติ

ต่อไปนี้เป็นลักษณะต้องห้ามสำหรับผู้จะบวชได้แก่

๑. เป็นคนทำความผิด หลบหนีอาญาแผ่นดิน

๒. เป็นคนหลบหนีราชการ

๓. เป็นคนต้องหาในคดีอาญา

๔. เป็นคนเคยถูกตัดสินจำคุกฐานเป็นผู้ร้ายสำคัญ

๕. เป็นคนถูกห้ามอุปสมบทเด็ดขาดทางพระศาสนา

๖. เป็นคนมีโรคติดต่ออันน่ารังเกียจ เช่นวัณโรคในระยะอันตราย

๗. เป็นคนมีอวัยวะพิการจนไม่สามารถปฏิบัติกิจพระศาสนาได้

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•พุธ•ที่ 10 •เมษายน• 2013 เวลา 19:58 น.• )