วันพฤหัสบดี ที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๔ หมู่บ้านวังฟ่อนได้ทำพิธีตักบาตรเทโวโรหนะ ซึ่งเป็นประเพณีที่จัดขึ้นทุกปี เพื่อเป็นการระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เสด็จลงจากสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์หลังจากเทศนาอภิธรรมปิฎกโปรดพุทธมารดา เทโว ย่อมาจากคำว่า เทโวโรหนะ ซึ่งแปลว่า การหยั่งลงจาก เทวโลก หมายถึง การเสด็จลงจากเทวโลกของพระพุทธเจ้า ตามตำนาน กล่าวว่า เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ทรงเทศนาโปรดประชาชนในแคว้นต่าง ๆ ของอินเดียตอนเหนือ ตั้งแต่ เมืองราชคฤห์ เมืองพาราณสี เมืองสาวัตถี ตลอดถึงเมืองกบิลพัสดุ์ ซึ่งเป็นบิตุภูมิของพระองค์ ทรงเทศนาโปรดพระประยูรญาติทั้งหลายถ้วนหน้า แล้วทรงปรารถนาจะสนองพระคุณมารดา ซึ่งหลังประสูติพระองค์ ได้ ๗ วัน ก็สิ้นพระขนม์ และได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต ฉะนั้นในพรรษาที่ ๗ หลังจากตรัสรู้พระพุทธองค์จึงเสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เทศนาพระอภิธรรมปิฎกโปรดพระพุทธมารดาอยู่พรรษาหนึ่ง ถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ จึงเสด็จลงจาก สวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาประทับที่เมืองสังกัสสะประชาชนพากันไปเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อทำบุญตักบาตรอย่างหนาแน่น
การตักบาตรเทโวนี้ บางวัดทำในวันออกพรรษา คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ บางวัดก็ทำในวันรุ่งขึ้น คือวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ทั้งนี้ แล้วแต่ความตกลงร่วมใจทั้งทางวัดและทางบ้าน พิธีที่ทำนั้นทางวัดอัญเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานในบุษบก ซึ่งตั้ง อยู่บนล้อเลื่อนหรือคานหาม มีบาตรขนาดใหญ่ใบหนึ่งตั้งไว้หน้าพระพุทธรูป มีคน ลากล้อเลื่อนไปช้า ๆ นำหน้าพระสงฆ์ สามเณร ซึ่งถือบาตรเดินเรียงไปตามลำดับ พุทธศาสนิกชนต่างก็นำข้าว อาหารหวานคาว มาเรียงรายกันอยู่เป็นแถวตามแนวทางที่รถบุษบกเคลื่อนผ่าน คอยตักบาตร อาหารที่นิยมตักในวันนั้น นอกจากข้าวและอาหารคาวหวาน ธรรมดาแล้วก็จะมีข้าวต้มลูกโยนด้วย ซึ่งบางท่านสันนิษฐานว่าในครั้งนั้นผู้คนรอใส่บาตรกันแออัดมาก เข้าไม่ถึงพระ จึงใช้ข้าวก่อ หรือปั้นโยนลงบาตร
ประเพณีการตักบาตรเทโวนี้ เนื่องมาจากการเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา เมื่อมีเหตุการณ์อะไรปรากฏในตำนาน ก็จะปรารภเหตุนั้นๆ เพื่อบำเพ็ญบุญกุศลเช่นการถวายทาน รักษาศีล เป็นต้น ตักบาตรเทโวจึงเป็นการทำบุญอย่างมโหฬารของพุทธศาสนิกชน นับแต่นั้นมา

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•พฤหัสบดี•ที่ 13 •ตุลาคม• 2011 เวลา 09:22 น.• )